กันยายน 2011

หวังสะอาด ไยสาดโคลน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2554

เย็นวันหนึ่ง ทันทีที่พ่อรู้ว่าลูกชายวัยรุ่นมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนร่วมโรงเรียนจนต้องหามส่งโรงพยาบาล พ่อก็ตำหนิลูกว่าทำอย่างนั้นได้อย่างไร ลูกให้เหตุผลว่าตนถูกเจ้าหมอนั่นก่อกวนที่โรงเรียนเป็นประจำ เขาพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย แต่กลับทำให้นักเรียนเกเรนั้นได้ใจ จึงรังควาญเขาหนักขึ้น บ่ายวันนี้เจ้าหมอนั่นก็มาเยาะเย้ยถากถางเขาอีกต่อหน้าผู้คนนับสิบ คราวนี้เขาทนไม่ได้ จึงต่อยและเตะมันจนหมอบ

ลูกไม่รู้สึกผิดเลยกับการทำเช่นนั้น พ่อจึงถามลูกว่า หากพ่อแม่ของเด็กคนนั้นฟ้องตำรวจจะทำอย่างไร ลูกโต้กลับว่า “เจ้านั่นมันเลวมาก สมควรแล้วที่เจ็บตัว” พ่อพยายามชี้แจงด้วยเหตุผล ลูกก็ไม่ฟัง เถียงตลอด สุดท้ายพ่อก็พูดเสียงดังว่า “ครอบครัวของเราจะไม่แก้ปัญหาด้วยกำลัง” ลูกจึงพูดสวนขึ้นมาว่า “ถ้าเป็นครอบครัวของเรา ต้องยิงมันทิ้ง”

พ่อคิดไม่ถึงว่าลูกจะพูดเช่นนั้น จึงบันดาลโทสะ ตบหน้าลูกอย่างแรง กว่าพ่อจะรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ความเจ็บปวดก็เกิดขึ้นกับลูกทั้งกายและใจไปแล้ว

พ่อต้องการสอนลูกให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่พอลูกไม่เชื่อพ่อ พ่อกลับใช้ความรุนแรงกับลูก เป็นความรุนแรงที่เกิดจากความต้องการให้ลูกใช้สันติวิธี

น่าคิดว่า อะไรทำให้พ่อทำสิ่งตรงข้ามกับความเชื่อของตน คำตอบก็คือ นอกจากพ่อจะไม่พอใจที่ลูกคิดต่างจากพ่อแล้ว ยังโกรธที่ความคิดเห็นของตนถูกโต้แย้งและท้าทายซึ่ง ๆ หน้า

เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความคิดความเชื่ออะไรก็ตาม แม้นดีวิเศษเพียงใด แต่หากเรายึดติดถือมั่นกับมันแล้ว ก็ย่อมเป็นทุกข์และทนไม่ได้ที่ความคิดนั้นถูกปฏิเสธ เพราะเหมือนกับว่าตัวตนนั้นถูกปฏิเสธหรือถูกกระทบไปด้วย จึงขุ่นเคืองใจ และหากไม่รู้ทันอารมณ์ดังกล่าว ปล่อยให้มันลุกลามเป็นความโกรธ ถึงจุดหนึ่งก็ลืมตัวและพร้อมที่จะระบายความโกรธ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ออกไปโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งตรงข้ามกับความคิดความเชื่อนั้น

มิใช่แต่ความคิดความเชื่อในทางสันติวิธีเท่านั้น ที่หากยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ก็ทำให้แสดงความรุนแรงออกไป แม้แต่ความคิดความเชื่อในทางศาสนา ก็สามารถเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะยึดติดถือมั่นในความเชื่อนั้นจนทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ในประวัติศาสตร์มีตัวอย่างมากมายของสงครามและการประหัตประหารเพราะความแตกต่างทางด้านศาสนา ทั้ง ๆ ที่ศาสนาเหล่านั้นพร่ำสอนสันติภาพก็ตาม

แม้กระทั่งในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพุทธศาสนา บ่อยครั้งที่พบว่ามีการใช้ท่าทีที่ไม่เป็นพุทธ ในการตอบโต้รับมือกับบุคคลในศาสนาอื่นหรือผู้ที่ถูกมองว่ากำลังบั่นทอนคุกคามพุทธศาสนา ท่าทีดังกล่าวได้แก่การใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย หรือถึงขั้นใส่ร้าย ปล่อยข่าวลือ หนักกว่านั้นก็คือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้น ท่าทีเหล่านั้นล้วนตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพร้อมจะใช้ท่าทีดังกล่าวอย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องพุทธศาสนา การใช้ท่าทีไม่เป็นพุทธเพื่อธำรงพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนชอบธรรมด้วยเหตุผลว่า พุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐและควรแก่การปกป้องด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้แม้จะเป็นวิธีที่ผิดศีลผิดธรรมก็ตาม นี้ก็ไม่ต่างจากการใช้วิธีรุนแรงเพื่อปกป้องแนวทางสันติวิธี ซึ่งวิญญูชนย่อมรู้ดีว่าเป็นวิธีการที่กลับบั่นทอนสันติวิธีเสียเอง

การใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปกป้องความคิดความเชื่อหรือจุดหมายที่ถือกันว่าดีงามนั้น ได้กลายเป็นกระแสหลักในสังคมไทยไปแล้วก็ว่าได้ ดังนั้นเราจึงเห็นการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อปกป้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ก่อการ (และสนับสนุน) รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะรักษาประชาธิปไตยให้พ้นจากน้ำมือของนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อปิดปากคนที่ตนเชื่อว่ามีอุดมการณ์ที่สวนทางกับประชาธิปไตย ส่วนคนที่ไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ จำนวนไม่น้อยก็หันไปใช้วิธีการอื่นเพื่อกดดันและกีดขวางคนที่คิดต่างจากตน ไม่ให้แสดงความคิดความอ่านที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น ใครที่สนับสนุนรัฐประหารหรืออยู่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยในแบบของตน หรือแม้แต่คิดเห็นไม่เหมือนตนหรือพวกของตน ก็จะถูกรุมด่าทอดูหมิ่นเหยียดหยาม ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือถูกโห่ฮาด้วยอารมณ์เกลียดชัง แทนที่จะโต้เถียงกันด้วยเหตุผล อันเป็นวิถีทางประชาธิปไตย

จริงอยู่เรามีสิทธิที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเหล่านั้น แต่อย่าลืมว่าประชาธิปไตยหมายถึงการให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทั้งปวง รวมทั้งความเห็นที่ล้าหลังหรือไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยตราบใดที่มิได้ดูถูกเหยียดหยามใคร หากใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แม้จะทำเพื่อประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในที่สุดวิธีการดังกล่าวกลับบ่อนเซาะประชาธิปไตยเสียเอง

จะว่าไปแล้ว เชื่ออะไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับเชื่ออย่างไร แม้จะเชื่อสิ่งที่ดีมีเหตุผล แต่หากเชื่ออย่างยึดติดถือมั่นหรืองมงายหัวปักหัวปำ ก็อาจก่อผลเสียได้ เพราะการเชื่ออย่างนั้นมักทำให้ตนใจแคบ ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นคิดต่างจากตน ยิ่งมีความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเชื่อนั้นประเสริฐเลิศล้ำ ใครที่ไม่เชื่อเหมือนตน ก็มักจะถูกตราหน้าได้ง่าย ๆ ว่า เป็นคนโง่ หรือเป็นคนเลวไปเลย และเมื่อใดก็ตามที่ตัดสินเขาแล้ว ก็ง่ายที่เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการเลว ๆ หรือชั่วร้ายกับเขา ก็ไม่รู้สึกผิด เหตุผลก็เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” เป็นเพราะเหตุนี้คนไทยไม่น้อยจึงเห็นด้วยกับการสังหารโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในนามของการพิทักษ์ชาติศาสน์กษัตริย์ เมื่อเช้าวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ รวมทั้งสนับสนุนการฆ่าตัดตอนพ่อค้ายาเสพติด และเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงกลางกรุงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น อาทิ กรณีประท้วงที่ตากใบปี ๒๕๔๗

ความดีนั้น หากยึดติดถือมั่นมาก ก็อาจทำให้เผลอทำเลวได้ โดยเฉพาะเมื่อทำในนามของความดี ยิ่งยึดติดถือมั่นว่าตนเป็นคนดีด้วยแล้ว ก็พร้อมจะทำอะไรกับคน (ที่ตนตัดสินว่า) เลวได้ ทั้งนี้เพราะมั่นใจว่าที่ทำไปนั้นเพื่อธำรงความถูกต้อง แต่บ่อยครั้งมันกลับเป็นการทำเพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเองมากกว่า หรือเพื่อกำจัดคนที่คุกคามความเชื่อของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการทำเพื่อ “ตัวกู ของกู” แรงจูงใจดังกล่าวอาจถึงขั้นผลักดันให้จัดการกับคนที่คิดต่างจากตนด้วยซ้ำ คือไปไกลถึงขั้นเห็นว่าคนที่ไม่เชื่อความดีอย่างตนนั้นเป็นคนชั่ว ดังนั้นจึงสมควรที่จะใช้วิธีการใด ๆ กับเขาก็ได้ แม้จะทำในนามของความถูกต้อง แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นการทำเพื่อค้ำจุนปกป้องความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวตน เพราะในส่วนลึกจะรู้สึกอยู่เสมอว่า “ตัวกู” หรือ “ความเชื่อของกู” นั้นถูกบีบคั้นคุกคาม ตราบใดที่คน “เลว” เหล่านั้นยังเห็นแย้งหรือคิดต่างจากตนไม่หยุดหย่อน

เป็นเพราะทำทุกอย่างเพื่อตัวกูของกูโดยสำคัญผิดว่าทำเพื่อความถูกต้อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจากความถูกต้อง และสวนทางกับความดีหรือความคิดความเชื่อที่ตนเองเชิดชู ขณะเดียวกันก็ส่งผลร้ายกลับมาที่ตนเอง เพราะเมื่อใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องกับผู้อื่น ก็ย่อมถูกเขาตอบโต้กลับมาด้วยความโกรธเกลียด หากไม่รู้ทันตนเอง ก็จะถลำเข้าไปในวงจรแห่งการจองเวรแก้แค้น จนเดือดเนื้อร้อนใจและบอบช้ำทุกฝ่าย

จะเชื่ออะไรก็ตาม พึงระวังอย่าให้กลายเป็นความยึดติดถือมั่นมากเกินไป จริงอยู่ปุถุชนย่อมมีความยึดติดถือมั่นเป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยก็ควรมีสติรู้เท่าทันว่าที่เรากำลังจะทำไปนั้น เป็นการทำเพื่อสนองความยิ่งใหญ่มั่นคงแห่งตัวกู หรือเพื่อความดีงามที่ตนเองเชิดชูยกย่อง และแม้แน่ใจว่าทำเพื่อความดีงาม ก็ควรระมัดระวังไม่เผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้น ๆ ซึ่งจะกลายเป็นการบั่นทอนสิ่งนั้นไปโดยไม่รู้ตัว พึงระลึกว่าตัวการที่จะผลักดันให้เราเผลอทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีงามนั้นก็คือ ความโกรธเกลียด(และกลัว) ที่มีคน “เลว” เป็นเป้าหมาย จนพร้อมจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพื่อตอบโต้หรือขจัดเขาออกไป ไม่ให้มาคุกคามความดีที่เราเชิดชู

นอกจากการมีสติรู้เท่าทันตนเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันมิให้การกระทำของเรานั้นแทนที่จะส่งผลดี กลับส่งผลเสียต่อตนเองและความดีงามที่เราเชิดชู นั่นก็คือ การใช้วิธีการที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความดีงามที่มุ่งหมาย แม้ในยามที่ต้องต่อสู้กับ “ศัตรู” หรือผู้ที่จ้องทำลายสิ่งดีงามที่เราเชิดชูด้วยวิธีการอันเลวร้ายก็ตาม เพราะหากเราใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อเอาชนะคนเหล่านั้นแล้ว ในที่สุดเราจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง ถึงแม้จะกำจัดเขาได้สำเร็จก็ตาม มีคำกล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราต่อสู้กับอสูรร้าย พึงระวังว่าเราจะกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง” ใช่หรือไม่ว่า ตำรวจที่พร้อมจะใช้วิธีการใด ๆ กับโจร ไม่เว้นแม้กระทั่งวิธีการนอกกฎหมายหรือโหดร้ายป่าเถื่อน ในที่สุดกลับมีนิสัยหรือพฤติกรรมเยี่ยงโจรเสียเอง

ในระดับบุคคลฉันใด ในระดับประเทศก็ฉันนั้น หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยา สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเทกำลังและทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อตอบโต้แก้แค้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เป็นเหตุให้คนเกือบ ๒,๘๐๐ คนต้องตายในวันนั้น ความเลวร้ายของกลุ่มดังกล่าวถูกยกเป็นเหตุผลรองรับความชอบธรรมที่สหรัฐจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้เพื่อปราบคนกลุ่มนั้นให้สิ้นซาก ถึงกับยกทัพไปก่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก จนผู้บริสุทธิ์ล้มตายกว่าแสนคน มากกว่าที่ตายในเหตุการณ์ ๑๑ กันยาถึง ๕๐ เท่า ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาดเกือบสิบล้านคน แต่ผลร้ายไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในอีกมุมหนึ่งของโลกเท่านั้น หากยังเกิดกับชาวอเมริกันด้วยกัน ไม่จำเพาะแต่ทหารที่บาดเจ็บล้มตายหรือกลับมาในสภาพที่บอบช้ำทางจิตใจ (แม้ร่างกายจะครบถ้วน) เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็เต็มไปด้วยความหวาดผวาและถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและคุณค่าที่คนอเมริกันเชิดชู อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่กลับอนุญาตให้มีการทรมานผู้ต้องหา ตัดสิทธิที่จะแก้ต่างในศาลพลเรือน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ถูกดังฟังโทรศัพท์อย่างแพร่หลาย กลายเป็นว่ายิ่งต่อสู้กับพวกผู้ก่อการร้าย สหรัฐอเมริกากลับถอยห่างจากหลักการที่ตนเชิดชูไกลขึ้นทุกที และมีพฤติกรรมโน้มไปในทางเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายที่ตนหมายกำจัดให้สิ้นซาก ยิ่งต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกากลับบั่นทอนคุณค่าดังกล่าวเสียเอง

หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยาผ่านไปสิบปี สหรัฐอเมริกากลับมีสถานะที่ตกต่ำลงในสายตาของชาวโลก ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นในทางประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพราะความต้องการเอาชนะศัตรูโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นวิธีการใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการจมปลักในสงครามที่ยากจะถอนตัวได้ และงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปจนก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจอเมริกันอยู่ในขณะนี้

กรณีของสหรัฐอเมริกานั้นตรงข้ามกับกรณีของนอรเวย์ ซึ่งประสบความสูญเสียครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์จากเหตุก่อการร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่แทนที่รัฐบาลจะหันมาใช้วิธีการไล่ล่าปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาซึ่งเชื่อว่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีนอรเวย์กลับประกาศว่า “เราจะรับมือกับการโจมตีครั้งนี้ด้วยประชาธิปไตยที่มากกว่าเดิม เปิดกว้างกว่าเดิม และมีมนุษยธรรมยิ่งกว่าเดิม” แม้ว่าการก่อการร้ายนี้มีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ขวาจัดที่กำลังแพร่หลายผ่านสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ตมากมาย แต่รัฐบาลกลับมองว่า “การกดห้ามความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องอันตราย เราต้องยอมรับว่ามีความคิดเห็นสุดโต่งอยู่ในหมู่ผู้คน ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

ใช่หรือไม่ว่านี้คือวิธีที่พึงกระทำในการต่อสู้กับสิ่งเลวร้าย การยืนหยัดในความถูกต้อง มั่นคงในหลักการที่ดีงาม เป็นวิธีการเดียวที่จะเอาชนะสิ่งเลวร้ายและปกป้องสิ่งดีงามที่เราเชิดชู อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรย้ำก็คือ แม้เราจะมั่นใจว่าคุณค่าและหลักการที่เรายึดถือนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ควรมองคนที่ไม่ได้ยึดถือคุณค่าและหลักการเหล่านั้นว่าเป็นคนเลว พึงมองว่าเขาเพียงแต่คิดต่างจากเรา แม้ความคิดนั้นเราจะมองว่าเป็นอันตราย แต่ก็ไม่ควรใช้กำลังหรืออำนาจกับผู้ที่มีความคิดดังกล่าว หากควรต่อสู้กันด้วยเหตุผล และควรให้คนเหล่านี้มีพื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็นตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากเราเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยคือคุณค่าสูงสุดที่พึงปกป้อง ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่มีความคิดสวนทางกับระบอบดังกล่าว ในทำนองเดียวกันหากเราเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คือคุณค่าสูงสุดที่พึงธำรงรักษา ก็ควรเคารพสิทธิของคนที่ไม่ได้ซาบซึ้งในคุณค่าดังกล่าว การปิดปากหรือข่มขู่คนที่คิดต่างจากเราไม่ว่าด้วยอำนาจ พละกำลัง หรือคำด่าทอหยามเหยียดไม่ว่าในนามของประชาธิปไตยหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อสิ่งที่เราต้องการปกป้องด้วย พึงระลึกว่า “ความคิดเห็นเหล่านี้เราไม่สามารถบังคับให้สงบเสียงจนตายหายไป หากแต่จะต้องมีการโต้เถียงจนตายหายไปต่างหาก”

จิตกับพลังแห่งการเยียวยา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2554

เมื่อปี ค.ศ.๑๙๒๐ เด็กชายชาวจีนคนหนึ่งถือกำเนิดในซิงหนิง หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ถึงแม้ความเป็นอยู่จะแร้นแค้น แต่มารดาของเขาก็สู้อุตส่าห์ทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้เล่าเรียนหนังสือวิชาศิลปศาสตร์ของจีน ซึ่งเขาก็เรียนจนจบอย่างรวดเร็วเกินวิสัยคนธรรมดา ต่อมาเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มเขาก็ได้เล่าเรียนวิชาของตะวันตกผ่านทุนเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยจงซาน ในเมืองกวางโจว เมื่อเรียนจบมาทำงานจนอายุ ๓๖ ปีจึงล้มป่วยเป็นโรคไต หมอได้ผ่าเอาไตของเขาออกข้างหนึ่ง ส่วนข้างที่เหลือก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ สุดท้ายบรรดานายแพทย์แผนตะวันตกผู้ที่ให้คำปรึกษากับเขาก็พากันยกธงขาว ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาพยายามไปหาแพทย์จีนแผนโบราณแต่การรักษาก็ไร้ผลเช่นกัน ตอนนั้นน้ำหนักเขาลดลงจาก ๖๕ กิโลกรัม เหลือเพียง ๔๐ กิโลกรัม! หมอบอกว่าเขาว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมาก็เพียงห้าเดือน แต่เขาคนนี้ไม่เพียงมีอายุยืนยาวไปมากกว่านั้น เขายังมีสุขภาพแข็งแรงเหนือคนทั่วไป ชายผู้นี้ทุกคนรู้จักเขาในนาม โหลว จี้ หง (Luo Ji-Hong) ปรมาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาไทจี๋ฉวน (ไท่เก็ก) จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีเรื่องเล่าว่าในระหว่างที่เขาถูกคุมขังในคุกในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ผู้คุมเอาพลั่วตีเข้าที่ตัวเขา ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำอันตรายเขาไม่ได้ พลั่วนั้นกลับกระเด็นหลุดจากมือผู้คุมไปไกล จนผู้คุมที่ตีเขาเกิดอาการกลัวและวิ่งหนีไป...

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้พบกับพี่สาวคนหนึ่งในเวิร์คชอปที่ผมได้นิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน จังหวัดมุกดาหาร มาเป็นวิทยากรกระบวนการพัฒนาจิต พี่คนนี้สมมุติว่าชื่อพี่บุญรักษ์ เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ด้วยอาการเจ็บป่วยของเธอทำให้สามีทิ้งเธอไปอยู่กับผู้หญิงอื่น ส่วนลูกชายวัยรุ่นก็กลายเป็นเด็กมีปัญหา ผลการเล่าเรียนที่เคยดีกลับแย่ลง เริ่มแสดงอาการก้าวร้าว ทุกวันเธอต้องพึ่งมอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวดและเพื่อให้นอนหลับ เธอมีอาการนอนไม่หลับเพราะคิดมากกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คิดโทษตัวเองและคนอื่นให้วุ่นวาย หน้าที่การงานของเธอก็ถูกโยกย้ายไปในแบบที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อได้พบพระอาจารย์ เธอก็เล่าเรื่องให้อาจารย์ฟัง อาจารย์จึงพูดว่า

“เป็นมะเร็งสิดี รักษาดียังไงมันก็ตาย!”

เธอรู้สึกอึ้งไปเล็กน้อย แล้วพระอาจารย์ก็หันไปพูดกับทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นว่า

“ส่วนพวกเราที่ไม่ป่วยเป็นอะไรก็ต้องตายแน่ทุกคน เพราะร่างกายมันเป็นรังของโรค”

คำพูดอาจารย์เหมือนทำให้เธอได้สติ! เย็นวันนั้นเมื่อเธอกลับมาบ้าน เธอเขียนบนกระจกเงาที่ใช้แต่งหน้าทุกวัน เป็นถ้อยคำเพื่อให้อภัยและไม่ถือโกรธสามีที่ทิ้งเธอไป หลังจากนั้นนอนหลับสนิทเป็นครั้งแรกในรอบปีโดยไม่ใช้ยามอร์ฟีน วันต่อมาเธอรีบโทร.มาบอกผม เพื่อขอเข้ารับการอบรมเรื่องการฝึกสติในชีวิตประจำวัน เธอแทบจะเป็นนักเรียนดีเด่น พระอาจารย์บอกอะไรก็ทำตามโดยไม่เกี่ยงงอน ไม่ลังเลสงสัย หลังจากนั้นพี่บุญรักษ์ก็ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในชีวิตของเธอ

หลังจากสองสามเดือนผ่านไป พี่บุญรักษ์กลับไปตรวจ หมอบอกว่าเธอไปทำอะไรมา เพราะผลการตรวจบอกว่าเชื้อมะเร็งหายไป ทุกวันนี้เธอเหมือนได้ชีวิตใหม่ เธอเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ไม่เป็นคนอมทุกข์ ไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น หน้าที่การงานที่เหมือนจะมีอุปสรรคก็กลับดีขึ้น มีคนแอบเอาของขวัญมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของเธอ แต่ก่อนมีแต่คนหวาดกลัวเธอ เพราะในตำแหน่งหัวหน้างาน เธอเคร่งครัดกับงานเอกสาร และมักจะส่งเอกสารกลับไปแก้ใหม่ทั้งหมดถ้าส่งมาไม่ถูกใจ ลูกเริ่มกลับมาน่ารักเหมือนเดิม เห็นว่าไม่นานมานี้เธอกำลังพบรักใหม่

เรื่องราวของอาจารย์ โหลว จี้ หง กับพี่บุญรักษ์เหมือนกันตรงไหน มันไม่ใช่ปาฎิหาริย์ แต่เป็นผลของการฝึกปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนอบรมจิตใจ โหลว จี้ หง ฝึกวิชาไทจี๋ฉวน หรือรำมวยจีนแบบมวยภายใน ซึ่งให้ความสำคัญกับใช้จิตที่เบาละเอียดไปควบคุมการทำงานของร่างกาย พี่บุญรักษ์ใช้วิธีการทำความรู้สึกตัวด้วยการให้จิตมาประกอบอยู่กับการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบทยืน เดิน นั่ง นอน หรือที่เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ ทั้งสองอย่างนี้ได้ไปสร้างให้เกิดสมดุลย์ภายในร่างกายใหม่ ซึ่งไปมีผลลึกลงไปถึงระดับของการสร้างเซลล์ใหม่ เราเองเคยชินกับการคิดนึกว่าร่างกายเป็นเครื่องจักรที่ผลิตเซลล์หรือสารเคมีใหม่ออกมาเรื่อยๆ จนกว่าเราจะตาย แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของเราในขณะกำลังสร้างเซลล์ใหม่ ในขณะที่ให้กำเนิดจุลชีวิตในร่างกาย ถ้าจิตใจเราย่ำแย่ เราจะผลิตเซลล์ที่มีคุณภาพ หรือสุขภาพดีได้อย่างไร แค่เพียงเราเครียดกับการงาน ร่างกายก็แสดงสัญญาณมาให้เรารู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างความรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ หรืออาการที่มากขึ้น เช่น โรคกระเพาะอาหาร ปวดศรีษะไมเกรน และถ้าปล่อยเอาไว้มากเข้าก็ไปถึงโรคมะเร็ง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง โรคหัวใจเฉียบพลัน ฯลฯ

คนมักจะให้ความสำคัญกับสมองในฐานะศูนย์บัญชาการร่างกาย แต่ในศาสนาพุทธมองว่าสมองคือก้อนไขมันก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญไปมากกว่าตับไต หรืออวัยวะภายในอื่นๆ ในร่างกาย พูดง่ายๆ มันคือรูปวัตถุเท่านั้น ส่วนวิชาไทจี๋ฉวนของจีนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสมอง แต่ให้ความสำคัญกับ “อี้” ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ “จิต” ที่เราใช้สั่งร่างกายนั่นเอง องค์ความรู้ทางตะวันออกให้ความสำคัญกับจิตใจซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ วัดไม่ได้ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบความรู้ของวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน แต่วิทยาศาสตร์แบบนั้นก็อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ในโลกหลายอย่างไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือเรื่องของพี่บุญรักษ์ และเรื่องของ โหลว จี้ หง ซึ่งหลังจากการฝึกรำมวยเพียงเดือนเดียว อาการเลือดออกในไตของเขาก็หายไป หกเดือนให้หลังเขากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหรืออาจจะยิ่งกว่าเดิม น้ำหนักของเขาเพิ่มขึ้น อาการของความเจ็บป่วยที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นไม่มีหลงเหลือ เขาเอาร่างกายใหม่ที่ฟิตเปรียะกลับไปเย้ยหมอคนที่ห้ามไม่ให้เขาฝึกรำมวย ท่ามกลางความพิศวงงงงวยของนายแพทย์ผู้นั้น...เรื่องแบบนี้เราจะอธิบายว่าอย่างไร

เมื่อไม่อาจจะอธิบายเรื่องแบบนี้ด้วยความเข้าใจร่างกายแบบแยกส่วน โดยมีสมองเป็นผู้บัญชาการ นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่พยายามมองหาคำอธิบายที่ไม่คับแคบ ดร. โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ส ได้พูดถึงสนามพลังชีวิตโฮโลกราฟฟิคที่มาจากการเต้นของหัวใจ ดร.​เม วาน โฮ นักชีวเคมีผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์​ เคยพูดถึงสนามพลังควอนตัมที่มองไม่เห็นซึ่งแทรกผ่านไปทั่วถึงทุกอวัยวะในร่างกาย พวกเขาล้วนเชื่อว่าการมองว่าสมองควบคุมร่างกายนั้นเป็นความคิดที่ล้าสมัย แต่ปัญญาในระดับที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นน่าจะมีส่วนในการควบคุมร่างกายซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทั้งคู่เชื่อว่ามีสนามพลังที่ครอบคลุมดูแลพลังชีวิต และถ้าหากสนามพลังนี้อ่อนพร่องหรือผิดปกติไปก็ย่อมนำมาซึ่งความเจ็บป่วยที่เห็นได้ทางร่างกาย แล้วอะไรหนอที่ทำให้สนามพลังนี้มันผิดปกติไป?

“ร่างกายป่วยได้ แต่อย่าให้ใจป่วย ความคิดที่ไม่ดี ความโกรธเกลียด มันเป็นอาหารให้กับมะเร็ง ถ้าเธอไม่ให้อาหารมันด้วยความคิดที่ทำให้จิตใจเสียหาย แล้วเซลล์มะเร็งมันจะไปเอาอาหารมาจากไหน”

คือสิ่งที่พระอาจารย์พูดกับพี่บุญรักษ์ในวันนั้น ผมยังจำได้ขึ้นใจ เอ๊ะ หรืออาจารย์จะรู้เรื่องสนามพลัง?

โชคดีของชีวิต



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2554

ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย จึงมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้อ่าน ได้เรียนรู้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ได้เห็นพระจริยาวัตรที่งดงามของพ่อหลวงของปวงชาวไทย ที่ทรงเป็นครูต้นแบบ เป็นครูที่แท้จริงของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน

ผมโชคดีมีโอกาสได้พบกับบุคคลมากมาย หลากหลายประเภท ได้ผ่านพบประสบการณ์ร้อนหนาว เศร้า สุข ที่แตกต่าง แต่ล้วนมีส่วนเสริมสร้างให้ผมเติบโต เปลี่ยนผ่านวิถีดำเนินชีวิต ได้เรียนรู้และกล้าที่จะก้าวข้ามการยึดติดกับตนเองและสรรพสิ่ง

โชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวใหญ่ มีความรัก ความห่วงใยให้กันและกัน
“ถ้าพี่น้องคนหนึ่งคนใดย่ำแย่ อดอยาก พวกเราทุกคนเพียงถ่มน้ำลายให้เขากิน เขาก็จะมีชีวิตรอด” คำสอนของเตี่ย-แม่ยังคงก้องกังวานอยู่ในจิตสำนึกของผม เตี่ย-แม่จะคอยพร่ำสอนลูกๆ ให้รักใคร่ กลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด เรื่องความกตัญญูรู้คุณก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ลูกๆ ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก โดยผ่านการเล่านิทาน การเล่าเรื่องจริงและการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ เช่นการส่งเงินที่เก็บออมจากการทำงานหนักของท่านไปให้พ่อแม่ พี่น้องที่อาศัยอยู่ในเมืองจีน

ผมเป็นลูกคนที่ห้า จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน มีพี่ชาย ๑ คน พี่สาว ๓ คน น้องชาย ๑ คน น้องสาว ๑ คน
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (Peace Corps-ออกเสียงว่า พีซคอร์) เป็นครูสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาทำงานในเมืองไทย และต่อมาได้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการฝึกอบรมข้ามวัฒนธรรม แล้วยังโชคดีมีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครชาวอังกฤษ เป็นนักวิจัยให้กับ American Institute For Research (AIR) ทั้งหมดช่วยให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจการทำงานกับคนต่างวัฒนธรรม ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เปิดและเปลี่ยนโลกทัศน์ที่คับแคบของผมให้กว้างขึ้น

ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านพบ ช่วยให้ผมสอบเข้าเรียนระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นรุ่นแรก โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นรวมทั้งหมด ๗ คน (จบที่นี่ ๒ คน ลาออก ๒ คน ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ๓ คนรวมตัวผม)

ยังจำบรรยากาศการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี สั้นๆ คือเข้มข้น จริงจัง รู้สึกบีบคั้นและเคร่งเครียดโดยเฉพาะช่วงที่จะสอบหลังเรียนรายวิชาจบแล้ว ที่ปัจจุบันเรียกว่าการสอบวัดคุณสมบัติ เพราะบรรยากาศถูกทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์มาก แตกต่างกับที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้าที่ผมได้ทุนจุฬาฯ ไปเรียน ผลการสอบครั้งแรกคือ ตกหมดทุกคน มีอยู่หนึ่งวิชาที่มารู้ทีหลังว่าผมได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ตก เพราะได้แค่ ๒ คะแนนจาก ๑๐๐ อาจารย์บอกว่าที่ให้คะแนนเพราะผมเขียนว่าไม่รู้จริงๆ แต่จะไปศึกษาเพิ่มเติม คือกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ ส่วนคนอื่นได้ ๐ เพราะบางคนส่งกระดาษเปล่า บางคนเขียนตอบแต่ตอบผิดแบบไม่รู้ แต่ทุกคนก็สอบผ่านในครั้งที่สอง เพราะครั้งนี้ถ้าไม่ผ่านต้องออกจากโครงการ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของนิสิตที่ต้องผ่านกระบวนการเดียวกันเป็นอย่างดี เพราะตัวผมมีประสบการณ์ตรงสามครั้ง คือที่จุฬาฯ ๒ ครั้ง และที่อเมริกาหนึ่งครั้ง (ใครอยากได้รู้บรรยากาศแบบนี้ก็น่าจะลองมาสมัครเรียนปริญญาเอกที่คณะครุศาสตร์ดู แล้วจะรู้ว่าทุกข์-สุขมีจริง ลูกศิษย์บางคนถึงกับพูดว่า การมาเรียนที่นี่ ทำให้รู้ว่า นรก-สวรรค์นั้นมีจริง)
ผมโชคดีที่ได้เป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเรียนรายวิชาจบ เหลือเพียงแค่ทำวิทยานิพนธ์ สอนได้ปีเดียวก็สอบชิงทุนของจุฬาฯ ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย มินเนโซต้า (University of Minnesota) ที่เดียวกับอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน อาจารย์ทองอินทร์ วงศ์โสธร อาจารย์สมหวัง พิธิยานุวัฒน์.เรียนจบกลับมาด้วยเกรด (ไม่ต้องเฉลี่ย) ๔.๐๐ คือได้ A ทุกวิชา และที่น่าภาคภูมิใจมากก็คือ ผมได้พัฒนาเทคนิคการวิจัยอนาคตขึ้นมาเรียกว่า EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ แล้วนำมาเผยแพร่ที่ประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

ที่มินเนโซต้านี้เองที่ผมได้พบสตรีที่สดใส น่ารักและช่างพูด เธอจะพูดไป ยิ้มไป พูดไปหัวเราะไป เสียงใสตลอด เมื่อรู้ว่าผมเรียนมาทางด้านจิตวิทยาตอนปริญญาโทและปริญญาเอก เธอก็มาขอคำปรึกษา และขอความช่วยเหลือสม่ำเสมอเพราะเธอไปเรียนปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยาเด็ก เธอคือ นส. เครือวัลย์ มโนชัย ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น พูลภัทรชีวิน ตามนามสกุลของสามีที่เป็นคุณพ่อของลูกชายที่หล่อเหลาสองคนคือ ภาณุวัฒน์ (เดฟ) และ ชยภัทร (ดีพ) พูลภัทรชีวิน ผมภูมิใจในตัวลูกชายทั้งสองคนที่ส่อแสดงความมีศักยภาพเป็นคนดี คนเก่ง มีความรับผิดชอบและมีความมุ่งมั่นตามวัย ไม่ทำให้พ่อแม่ห่วงใยจนเกินเหตุ แต่ก็มีบางครั้งที่มีความขัดแย้งและขัดใจกันในครอบครัว

ทั้งภรรยาและลูก คือท่อนแยกของบทเพลงแห่งชีวิตของผม

ทั้งภรรยาและลูกคือครูชีวิตที่ท้าทายของผม ผมยังคงต้องเรียนรู้จากพวกเขาไปตลอดชีวิต...หรือจนกว่าผมกล้าที่จะก้าวข้าม...
ผมโชคดีและภูมิใจมากที่มีโอกาสทำงานช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียน ตชด.(ตำรวจตระเวนชายแดน) โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนมัธยมบ้านนายาว จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นก็ขยายไปพัฒนาครู ตชด.ทั่วประเทศ ได้เรียนรู้จากครู นักเรียน คณะอาจารย์ที่ร่วมเป็นทีมงานและชาวบ้านในหลากหลายมิติ เป็นงานที่ท้าทาย เหนื่อย แต่เหนืออื่นใดมีความสุขใจที่ได้ทำ เป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตและโลกทัศน์ของผมมากทีเดียว

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบไปด้วยปรมาจารย์หลายสาขา ผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่า ปัญญาที่ลุ่มลึก การพูดคุยแต่ละครั้ง ช่วยลดความอหังการ์ของผม ช่วยให้ผมเป็นผู้เรียนรู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ ริเริ่ม พัฒนา และทำงานขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วประเทศภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2)

การเป็นสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์และการทำงานด้านจิตตปัญญาศึกษา เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิตของผม ช่วยให้ผมละเอียดอ่อนและนุ่มนวลกับชีวิตและสรรพสิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกับครอบครัว และลูกศิษย์

ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์ที่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ความต่างของพวกเขาและเธอคือครูอาจารย์ของผม ผมได้เรียนรู้วิธีสอนจากลูกศิษย์ ผมรับรู้และเรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ความสิ้นหวัง ความสมหวัง ความเครียด ความทุกข์ และความสุขของลูกศิษย์ ทั้งหมดช่วยทำให้ผมรู้และเข้าใจความหลากหลายของชีวิตและสรรพสิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งหมดทำให้ผมมีสติและปัญญาเพิ่มมากขึ้น หวังว่าลูกศิษย์ทุกคนจะนำบทเรียนของผมไปเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนชีวิตของตัวเอง ทุกสิ่งที่พบ ทุกสิ่งที่เผชิญคือครูของเราทั้งสิ้น ช่วยให้เราเจริญเติบโตทางปัญญาได้ทั้งสิ้น ตั้งสติแล้วเรียนรู้จากคุณครูทั้งหลาย ไม่มีร้าย ไม่มีดี มีแต่ครูที่รอให้ผู้ใฝ่ศึกษามาเรียนรู้

ผมดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของลูกศิษย์เสมอ

ผมภูมิใจและสุขใจที่ได้ยื่นมือให้ลูกศิษย์จับ ก่อนที่เขาจะถูกกระแสความผิดหวังและความล้มเหลวพัดหายไป แล้วสามารถดึงเขากลับมาบนเส้นทางแห่งความสำเร็จได้

ผมรู้สึกเสียใจที่ลูกศิษย์บางคนต้องออกจากโปรแกรมไปด้วยเหตุที่แตกต่างกัน เสียดายที่ช่วยไม่ได้ เสียดายที่ไม่ได้ช่วย ได้แต่ยืนมองดูลูกศิษย์เดินจากไปด้วยความสะเทือนใจ เสียใจจนน้ำตาซึม เมื่อนึกถึงภาพของคนที่เคยมีความภูมิใจที่สอบเข้ามาเรียนได้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปพร้อมกับความผิดหวัง

เขาและเธอ เดินเข้ามา มุ่งหวังแสวงหา คุณค่าของชีวิต

เขาและเธอ เดินจากไป ด้วยจิตใจไม่คิด จะกลับมา...

ผมโชคดีที่มีลูกศิษย์เป็นครู ช่วยให้ผมได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เตือนสติให้รู้ว่า แก่นแท้และคุณค่าของชีวิตก็คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่นแท้และคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็คือการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ต่อสรรพสิ่ง อย่างต่อเนื่อง อย่างมีสติและปัญญา
และนี่คือคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นครู คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์

ชีวิตคือผลรวมของประสบการณ์ที่ผ่านพบ หากไม่ผูกติดหรือยึดไว้ ชีวิตก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ไหลเลื่อนเคลื่อนไป เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ขอเพียงก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ แล้วจะเกิดปัญญา กล้าที่จะก้าวข้ามความคงที่ ความเป็นตัวกู ของกู
กล้าที่จะก้าวข้ามจากผู้สอน(ผู้ถ่ายทอด) สู่ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

การมีลูกศิษย์ ลูก ภรรยา สิ่งมีชีวิตร่วมโลก และสรรพสิ่งในจักรวาล รวมทั้งตัวเอง เป็นเนื้อหา เป็นวิชา เป็นหลักสูตร เป็นสิ่งประเสริฐที่ชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างผม โชคดีได้มีโอกาสเรียนรู้ เพราะครูของผมคือทุกคนที่ผมพบรวมทั้งตัวผมเอง คือทุกสิ่งที่ผมเผชิญ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ได้หลอมรวมกลายมาเป็นผมในปัจจุบัน ที่เข้าใจว่า ชีวิตครู คือชีวิตคน ที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ครูคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีลูกศิษย์เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และเป็นครูที่ยิ่งใหญ่

ผมโชคดีที่ผมเป็นครูที่มีลูกศิษย์มากมายทั่วประเทศ

ผมโชคดีที่ผมเป็น “ศิษย์มีครู”

ผมโชคดีเหลือเกินที่มีครูเต็มแผ่นดิน เต็มท้องฟ้า เต็มมหานที

ขอบคุณครับคุณครู ที่มอบความโชคดีให้กับชีวิตเล็กๆ อย่างผม

ผู้นำคือผู้หล่อเลี้ยงสมดุลชีวิต



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2554

แนวคิดในการสร้างผู้นำ การพัฒนาระบบ วิธีการและภาวะผู้นำคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเราที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ องค์กร และสังคมทุกภาคส่วน แต่รูปแบบของผู้นำที่พบส่วนใหญ่จะมีลักษณะ “ควบคุม สั่งการ” เป็นลักษณะเด่น

เวลาตั้งคำถามว่า “เราชอบผู้นำแบบไหน” เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นตอบว่า ต้องการ “ผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง” นอกนั้นก็อาจจะบอกว่า “คิดเก่ง ทำเก่ง เป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง มองการณ์ไกล มีคุณธรรม ใจกว้าง กล้าเสี่ยง”

โรงงานผลิตขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย มีพนักงานมากกว่าสองหมื่นคน ผู้นำในโรงงานบอกว่า “ปัญหาที่ลูกน้องมาระบาย ร้อยละ ๘๐ เป็นเรื่องส่วนตัว นอกนั้นเป็นปัญหาเรื่องงาน ปัญหาทางเทคนิคที่ต้องการแก้ไข” ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่า สิ่งที่กวนใจ หรือทำให้ผู้คนทุกข์ร้อนนั้นเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ที่บั่นทอนจิตใจ หรือกำลังใจในการทำงาน และพวกเขาจำต้องพึ่งพาผู้นำ หรือหัวหน้าในการเล่าและระบายความในใจเหล่านี้ ภาวะตึงเครียดทั้งในการทำงานและการดำรงชีวิตในยุคนี้ เรียกร้องให้ผู้นำทุกระดับต้อง “รับฟังเป็น” ไม่ใช่สักแต่สั่งงาน ตามงานแบบบี้เอาบี้เอาอย่างไม่รับฟังข้อจำกัดในการทำงานใดๆ เลย

รูปแบบการเป็นผู้นำแบบเดิมที่บริหารด้วย “ความกลัว” และการสร้างระยะห่าง จนถึงขั้น “เหินห่าง” เพราะเชื่อว่าหากใกล้ชิดเกินไป จะบริหารหรือ “สั่งการ” ไม่ได้ อาจดำเนินมาถึงจุดที่ไม่มีทางไปต่อได้อีกแล้ว เมื่อสังคมมีทางเลือกมากขึ้น ผู้คน “ทน” กับหัวหน้าที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและสั่งการแบบจะเอาแต่ให้ได้งานเท่านั้นน้อยลง รูปแบบหรือโมเดลผู้นำแบบสนใจแต่ “เป้าหมาย” และ “ผลลัพธ์” มากกว่า “คน” ที่กำลังสร้างผลลัพธ์เหล่านั้น อาจเรียกว่าเป็นแบบ “ผู้นำเดี่ยว” เพราะอิงกับอำนาจที่ได้มาจากการแต่งตั้ง

แนวคิดแบบผู้นำเดี่ยว อาศัยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งความอยากและความกลัว ผ่านกระบวนการ สร้าง “แรงกดดัน” (Impulsive) ที่กระตุ้นโหมด “ความกลัว” เช่น กลัวถูกลงโทษ กลัวเสียหน้า กลัวไม่ได้รับการยอมรับ กลัวตกงาน กลัวไม่เติบโต เป็นต้น และพร้อมๆ กันก็สร้างระบบ “แรงจูงใจ” (Incentive) เช่น ระบบค่าตอบแทนแบบต่างๆ ตั้งแต่การให้เงินเดือน การให้เงินพิเศษ เช่น โบนัส หรือการให้รางวัลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งระบบการให้ทั้งคุณและโทษเหล่านี้มีอยู่แล้วในระบบการศึกษามาแต่ไหนแต่ไร และอาจสามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง แต่หากละเลยแรงขับที่อยู่เหนือแรงขับทั้งสอง (ซึ่งอยู่บนฐานของสมองชั้นต้น นั่นคือตอบสนองความต้องการในการเอาตัวรอดและตอบสนองความอยาก) นั่นคือ แรงบันดาลใจ และการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย การเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ก็จะน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ผู้นำที่สามารถสร้างและหล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจในการทำงานของผู้คนในองค์กรจะลดบทบาทของการ “ควบคุม สั่งการ” มาเป็น “หล่อเลี้ยง ดูแล” มากยิ่งขึ้น และจะช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชีวิตและองค์กรไปด้วยพลังของพวกเขาเองอย่างเต็มที่

ผมอยากลองแยกแยะผู้นำทั้งสองแบบ แม้ว่าในหลายกรณีอาจไม่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพียงแค่เพื่อให้เห็นความแตกต่าง นั่นคือผู้นำเดี่ยวมุ่งเน้นเป้าหมายมากกว่าความสัมพันธ์ ใช้เหตุผลมากกว่าใส่ใจความรู้สึก ให้คุณค่ากับการ “ปฏิบัติตาม” มากกว่าส่งเสริม “การคิดเองและการคิดเป็นทำเป็น” ให้คะแนน “ความเชื่อฟัง” มากกว่า “การคิดต่างและการมีส่วนร่วม” สนใจที่จะ “ตรวจตรา” และ “พัฒนาระบบและสร้างระเบียบวินัยที่เข้มงวด” มากกว่าใช้เวลาในการสร้าง “ความไว้วางใจและบรรยากาศที่เป็นมิตรเป็นกันเอง” องค์กรที่มุ่งเน้นอย่างหลัง จะให้ความสำคัญต่อการสร้าง “ภาวะผู้นำร่วม” หรือ “จิตร่วม” ในการทำงานที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของมนุษย์ คุณภาพและสมดุลชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ภายในองค์กรมากกว่าเพียงการเติบโตด้านวัตถุที่วัดผลเชิงปริมาณและมูลค่าเท่านั้น

การสร้างภาวะผู้นำร่วมนี้ ตัวผู้นำเองจะเป็นแกนหลักในการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมที่ส่งเสริมความ ร่วมไม้ร่วมมืออย่างเกื้อกูลเพื่อทดแทนภาวะ “ปกป้อง”และ “การเอาตัวรอด” ไปวันๆ ของชีวิตองค์กร ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนักที่ผู้นำเองจำต้องฝึกฝนขัดเกลาตัวเองอย่างมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง รับผิดชอบและดูแลอารมณ์ลบของตัวเองที่ส่งผลต่อคนอื่นๆ ในวงกว้าง เพราะยิ่งมีตำแหน่งที่สูง ผลกระทบก็ยิ่งมากตามไปด้วย

น่ายินดีที่ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเองเพื่อประโยชน์ต่อผู้คนที่แวดล้อมพวกเขา และได้สังเกตเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการ “สร้างตัวเองใหม่” (Self-reconstructing) คือ

๑) มีหัวใจที่ห่วงใยผู้คน รวมทั้งผู้ใต้การบังคับบัญชาอย่างจริงใจ (Caring) ไม่ใช่ห่วงใยคนที่บ้านและผลตอบแทนที่จะได้รับมากกว่าห่วงใยคนทำงานที่แวดล้อมจริงๆ

๒) มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Commitment)

๓) ฝึกหัดขัดเกลาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ (Consistancy) เพราะมิเช่นนั้นแบบแผนพฤติกรรมเดิมๆ ที่ทำมาจนเป็นนิสัยและฝังรากอยู่ในวงจรสมองอัตโนมัติเดิมๆ จะแสดงตัวเป็นใหญ่ ผู้นำหลายคนที่ผ่านการ “เรียนแล้ว” และ “รู้แล้ว” แต่ทำไม่ได้จริงมีอยู่มากมาย เหมือนตกม้าตาย เพราะมีความเชื่อว่า “ความรู้” แบบคิดได้อธิบายถูกต้องเป็นสิ่งเดียวกับ “ความรู้”ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง

๔) มีชุมชนฝึกหัดและมีผู้ส่งเสริมการฝึกที่ดี (Community of Practice and Coaching) เนื่องจากทักษะการเป็นผู้นำร่วมต้องอาศัยชุมชนที่ส่งเสริมการฝึกฝน การสื่อสารและการอยู่ร่วมล้วนเป็นทักษะสำคัญที่จำต้องอาศัยเพื่อนร่วมฝึก และการเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้

๕) สร้างโอกาสในการ “หยุด” เพื่อทบทวนและใคร่ครวญกับตัวเองอยู่เสมอ (Contemplative) เพื่อรู้เท่าทันการกระทำของตัวเองและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะ “เลือก” เส้นทางหรือพฤติกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คุณค่ามากขึ้น แทนที่จะเลือกทำตามอิทธิพลของวงจรปกป้องตัวเองแบบเดิมๆ

น่าเสียดายที่ทักษะเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “Soft Skill” หรือ ทักษะเชิงจิตใจ โดยอาจละเลยรากฐานที่มาของทักษะเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วดำรงอยู่ใน “วิถีทาง” ฝึกตนของการสร้างผู้นำที่มีคุณธรรม หรือจิตวิญญาณของนักรบนับตั้งแต่โบราณกาลมา เช่น การฝึกศิลปะป้องกันตัวแบบไอคิโด ซามูไร หรือแม้แต่มวยไทย ซึ่งจำต้องอาศัยการเคี่ยวกรำ และขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ได้ง่ายหรือสบายๆ หรืออ่อนละมุนดังชื่อที่เรียก ที่สำคัญเป็นการเรียนผ่านการลงมือทำและใส่ใจกับการฝึกฝนทางกายไปพร้อมๆ กับการฝึกจิต

ตรุงปะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ สร้างหลักสูตรพัฒนาจิตที่เรียกว่า “ชัมบาลา” (Shambhala Training) นั่นคือชุมชนของผู้ฝึกฝนตนเองอย่างกล้าเผชิญหน้ากับชีวิตและตัวเอง พร้อมๆ กับฝึกการรับรู้โลกอย่างละเอียดอ่อนและกรุณา ในไอคิโดหรือศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น เรียกพื้นที่ฝึกว่า “โดโจ” หมายถึง พื้นที่สำหรับการตื่นรู้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในตัวเองที่จำต้องอาศัยการฝึกฝนกับผู้อื่น เพราะโดยมากมนุษย์มีแนวโน้มที่จะหลงลืมที่จะมองเห็นตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็จะเห็นว่า การสร้างสังคมหรือองค์กรที่มีสมดุลชีวิตนั้นจำต้องอาศัยผู้นำที่มุ่งมั่นตั้งใจนำพานาวาชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่นไปในทิศทางที่จะเกื้อกูลกันและกัน และเจริญเติบโตทั้งทางคุณภาพและปริมาณ ทั้งความสำเร็จและความสัมพันธ์ภายในองค์กร โดยเริ่มต้นที่ภายในตัวเองนั่นเอง

การแพทย์ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ด้วย



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2554

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีแพทย์สามสี่คนมาเยี่ยมสถานพยาบาลที่ผู้เขียนปฏิบัติงาน พร้อมกับพยาบาลและเภสัชกรรวมถึงเจ้าหน้าที่การแพทย์จากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดสองแห่งประมาณยี่สิบกว่าคน วัตถุประสงค์คือต้องการมาดูการรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก เลยถือโอกาสคุยเสียสองชั่วโมงเศษๆ พวกแพทย์มีคำถามซึ่งสรุปแล้วมีสามข้อ คือ หนึ่ง การรักษาแบบประคับประคอง (palliative treatment) คืออย่างไร? สอง ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวเลย (โคม่า) จะติดต่ออย่างไร? สาม แพทย์ที่เรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้วควรเรียนฟิสิกส์ใหม่หรือไม่?

ได้ตอบแพทย์ที่ถามไปว่า การรักษาประคับประคอง คือการทำให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์จากอาการทางกายและความทรมานทางจิตใจจากความทุกข์เฉพาะหน้า โดยไม่ได้มุ่งที่จะรักษาโรค และไม่ใช่เป็นการยื้อชีวิตผู้ป่วยด้วย เช่นการให้ยาแก้ปวดเมื่อคนไข้ปวดเจ็บมากๆ เพื่อการลดการเจ็บปวด

สอง ผู้ป่วยที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่มีสติเลยมานานวัน ที่ขาดไปคือสมองที่มีหน้าที่ “เปลี่ยน” จิตไร้สำนึกให้เป็นจิตสำนึก (หรือจิตรู้) และ “รักษา” มันไว้ เมื่อสมองพิการ “การเปลี่ยนกับการรักษา” ก็ขาดหายไป แต่จิต (ไร้สำนึก) ยังมีอยู่ สามารถติดต่อกับจิตร่วมจักรวาลได้ด้วยการทำจิตของเราให้เป็น “หนึ่ง” เช่นด้วยสมาธิ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำถ้าหากทำไม่เป็น โดยการติดต่อได้ด้วยจิตไร้สำนึก ถ้าเป็นจิตไร้สำนึกที่เข้ามาอยู่ในที่ว่างของสมองที่กำลังรอเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกอยู่ อาจจะเป็นการถอนหายใจแรงๆ ถ้าเป็นการติดต่อกับจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล ก็อาจจะเป็นผ้าม่านที่ปลิวไสวโดยปราศจากลม (ดู Arnold Mindel : Process Mind, 2010 ด้วย)

สาม แพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ควอนตัมเมคคานิกส์ อย่างน้อยก็ “ความจริงทางควอนตัม ซึ่งแตกต่างกันมากกับวิทยาศาสตร์ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความจริงที่แท้ เหมือนกับธรรมะที่เป็นเส้นทางในพุทธศาสนา”

มีคำที่เกี่ยวข้องกันในบทความอยู่สองคำ คือคำว่า “การแพทย์” ที่หมายรวมถึงการดูแลสุขภาพ การวินิจฉัย การรักษา ฯลฯ ทั่วทั้งโลก (Health Care) กับ คำว่า “การเปลี่ยนแปลงตัวเอง (transformation)” ในฐานะที่ใหญ่กว่าปัจเจกชนและสถาบัน นั่นคือการเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแพร่สะพัดไปทั่วทุกหัวระแหง ทุกๆ วิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพของคนทั่วทั้งโลกทุกๆ ระบบและองค์กร การเปลี่ยนแปลงตัวเองทางการแพทย์และการสาธารณสุข ส่วนหนึ่งได้เคยนำมาเขียนไปแล้ว แต่อีกส่วนยังไม่ได้เขียน จึงเอาเรื่องทั้งหมดมาเขียนใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยลืม หรือแกล้งทำเป็นลืมเสียเฉยๆ หากไม่ถูกกับจริตของตัว เพราะคิดว่าเชยแหลกที่ไปเอาของเก่าที่เคยโยนทิ้งไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ เพราะแพทย์ “สมัยใหม่” แผนปัจจุบันคิดว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์กายภาพ ไม่วูบวาบหรือ “ขลัง” แถมยังไม่ทำเงินเสียด้วย แพทย์ใหม่ๆ จึง “มัก” ไม่สนใจ โดยลืมนึกไปว่าวิทยาศาสตร์กายวัตถุที่นำโดยนิวโตเนียนฟิสิกส์นั้นเก่าแล้ว มีอายุกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว และทีควอนตัมเมคคานิกส์ที่เหมือนๆ กับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเต๋าเป๊ะๆ แพทย์ไทยกลับไม่สนใจ คงจะนึกว่าศาสนาขัดกับวิทยาศาสตร์กระมัง? ฉะนั้น เมื่อเป็นคนรุ่นใหม่ก็ต้องเลือกวิทยาศาสตร์น่ะสิ!

ในสมัยที่ผู้เขียนอยู่เมืองนอก การแพทย์ยังไม่มีวิกฤติใดๆ เลย (ประชากรโลกมีจำนวนสองพันกว่าล้านคนต้นๆ) การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ระบบจึงไม่มีใครพูดถึง ตรงกันข้าม การแพทย์แผนปัจจุบันหรือสมัยใหม่ “รู้สึก” ว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โรคหลายชนิดทำท่าว่าจะหายไปจากสารบบ อย่างน้อยที่เมืองนอก เช่น กาฬโรค ฝีดาษ และ โปลิโอ ฯลฯ จนกระทั่งอาจารย์แพทย์ทางโรคติดต่อของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในอเมริกาถึงกับพูดว่า “อย่ามาเรียนโรคติดต่ออีกเลย มันกำลังจะหมดสมัยแล้ว”

แต่การแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ก้าวหน้าจริงๆ เลย โดยเฉพาะการป้องกันและการดูแลสุขภาพโดยรวม ที่อเมริกาและยุโรป การแพทย์แผนปัจจุบัน “อย่างแท้จริง รวมทั้งการป้องกันโรค” ดำรงอยู่ได้เพียงสามสิบกว่าปี พอถึงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ก็พังทลายด้วยสาเหตุสามประการ คือ หนึ่ง เพราะความโลภของบริษัทยา และเครื่องมือแพทย์ สอง เพราะโรงเรียนแพทย์และนักเรียนแพทย์เองที่ส่วนมากขาดความสนใจ ไปถึงจงใจละทิ้งอุดมการณ์ของฮิปโปเครติส (บิดาแห่งการแพทย์ ชาวกรีก) และพ่อแแม่ของนักเรียนแพทย์ก็เห็นความร่ำรวยมั่งคั่งสำคัญกว่า สาม โรคอันเกิดจากโรงพยาบาลและแพทย์เพิ่มขึ้นมากจากยาชนิดใหม่ๆ และงานที่มากขึ้น ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองข้อแรก ทำให้เกิดสองอย่างขึ้นที่ไม่เคยมีมาก่อนคือ ราคาค่ารักษาพยาบาล “ถีบตัว” เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ผลก็คือ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๑๙๗๐ ถึง ๑๙๙๐ (โดยประมาณ) มีนักธุรกิจจำนวนมากมองเห็นการแพทย์เป็นธุรกิจเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว

ในช่วงต้นของทศวรษที่ ๑๙๙๐ นั้น เมื่อการแพทย์กายภาพหรือสสารวัตถุ แทบจะเป็นอย่างเดียวที่ปกป้องรักษาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของประชาโลก และทำให้บริษัทยารวยไม่รู้เรื่อง ก่อให้เกิดค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่ง จนคนส่วนใหญ่และผู้ยากไร้ทั่วโลกแทบจะไม่มีทางพบแพทย์แผนปัจจุบันได้ มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนเหล่านี้บ่อยครั้งว่าการแพทย์ที่มุ่งเฉพาะกายวัตถุเพียงอย่างเดียวน่าจะไม่พอ แม้ภายในประเทศที่รวยที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาเอง การแพทย์ “สมัยใหม่” แผนปัจจุบันก็กำลังเกิดวิกฤติอย่างแรง และมีคนร่ำรวยส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เสียงเรียกร้องได้พุ่งเป้าไปที่จิตวิญญาณที่รวมถึงเจ้าพ่อเจ้าแม่ผีป่านางไพรและพระเจ้า โดยประสงค์ให้แพทย์ใช้ “ศิสปะ” มากกว่าการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว

เสียงเรียกร้องของประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นธรรมดาที่ผู้นำมักเป็นผู้เปลี่ยนก่อน อเมริกาและประเทศในยุโรปคือหัวหอกของการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตที่มองไม่เห็นและหลายคนคิดว่าไม่มีจริง ในปีค.ศ.๑๙๙๑ คนอเมริกันต้องแปลกใจที่มีผู้สนใจการทำสมาธิกันอย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปิดศูนย์กลางการทำสมาธิขึ้นที่แมสซาชูเซ็ต (Contemplative Center in the Community) และในปีค.ศ.๑๙๙๒ กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา (NIH) ได้เปิดศูนย์การแพทย์ทางเลือก หรือการแพทย์เสริม โดยมีทุนวิจัยเป็นเงินสองล้านเหรียญ การแพทย์ทางเลือกหรือการแพทย์องค์รวม ซึ่งจะดูแลผู้ป่วยนอกจากร่างกาย (ทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ แล้วยังขยายไปถึงครอบครัว สังคมรอบๆ ตัว รวมถึงฐานะทางการเงินของครอบครัวด้วย ไม่ใช่รักษาโรคอย่างเดียว) การแพทย์ทางเลือกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในยุโรป อเมริกา ดังจะเห็นได้ว่าโรงเรียนแพทย์ที่มีหลักสูตรการแพทย์ทางเลือกได้ขยายตัวจากเพียงสามแห่งในปีค.ศ.๑๙๙๓ เป็นโรงเรียนแพทย์แทบทั้งหมด (ที่ตอบมาในปีค.ศ. ๒๐๐๖) และเงินสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือกของกระทรวงสาธารณสุขอเมริกาเพิ่มเป็น ๑๒๓ ล้านเหรียญ โดยในปีนั้นมลรัฐกว่าครึ่งหนึ่งในอเมริกามีประชาชนไปหาแพทย์ทางเลือกมากกว่าไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน

จิตวิทยาที่เป็นบวกที่หมายถึงความคิด จิตอารมณ์ที่มองโลกในด้านดี เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งของอเมริกาผู้ที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปบ้างแล้วเริ่มนำไปปฏิบัติตั้งแต่ปีค.ศ.๒๐๐๐ เป็นต้นมา เมื่อมีการเปลี่ยนนายกสมาคมในปีนั้น และได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาทางจิตให้เป็นไปในด้านบวก คือเน้นความสุขทางจิตมากกว่าการไปพิจารณาเรื่องพฤติกรรมและพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น สมาคมได้พูดถึงและเน้นที่ความสุขของบุคคลโดยคิดว่า ความสุข คือ นิสัยใจคอความเคยชิน บวกกับ เงื่อนไขที่ผูกมัดตัว บวกกับ ทำ (งาน) ได้ตามใจที่ตนชอบ เช่นการทำสมาธิ โยคะ ไท้เก๊ก เป็นต้น

ปัจจุบัน ชาวตะวันตกทำสมาธิกันมากยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นการปฏิบัติจิตที่มีผลต่อการรักษา ผลของการวิจัยทั้งหมดบอกเหมือนๆ กันว่าการปฏิบัติสมาธิขจัดอารมณ์ที่แปรปรวน ภาวะซึมเศร้า ใจร้อนกระวนกระวาย ฯลฯ ได้ดีที่สุด ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๙๘ จอห์น คาบัต-ซิน ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติอานาปานสติ (Mindfulness meditation) ขึ้นในทุกเมืองใหญ่ และขณะนี้มีแทบจะทุกรัฐในอเมริกา

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก โดยนายแพทย์ไมเคิล มิลเลอร์ แห่งศูนย์การแพทย์โรคหัวใจที่แมรีแลนด์ คือการให้ผู้ป่วยดูภาพยนตร์ตลก ผลการวิจัยบอกชัดเจนว่า หนังตลกและการหัวเราะอย่างสุดๆ นั้นมีค่าสำหรับคนเป็นโรคหัวใจยิ่งกว่าการออกกำลังกายโดยการเต้นแอโรบิกเสียอีก ตรงไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องเจ็บกล้ามเนื้อ เพราะการศึกษาเอนโดธิเลียม (เซลล์เยื่อบุผิวของผนังหลอดเลือด) ของเส้นเลือดแดงที่หัวใจบอกเช่นนั้น “ผมไม่ได้บอกให้เลิกการออกกำลังกาย เพียงบอกว่าการหัวเราะอย่างสุดๆ นั้นมีคุณค่าพอๆ กับการเต้นแอโรบิก และผลการวิจัยบอกเราเช่นนั้น จะให้ดีผมคิดว่า เพื่อป้องกันโรคหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน ควรให้คนไข้ออกกำลังกายสักครึ่งชั่วโมงแล้วให้หัวเราะจริงๆ สักสิบห้านาที”

Back to Top