พฤศจิกายน 2016

ประชาธิปไตยและความยั่งยืน



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559

เมื่อผมเขียนเรื่อง “ข้อคิดจากการไปเกาหลี” ในคราวก่อนนั้น (ตีพิมพ์ในมติชน เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙) ได้รับเกียรติจากคอลัมนิสต์ชื่อดัง คือคุณอธึกกิต สว่างสุข (เจ้าของนามปากกา ใบตองแห้ง) กรุณาเขียนถึงด้วยความกรุณา ประเด็นหลักของคุณอธึกกิตก็คือ “คำพูดตรงนี้สะท้อนทัศนะพวกฝ่ายก้าวหน้าในอดีตอย่างชัดเจน ไม่ว่าคนที่ยังอยู่ตรงกลางๆ อย่างอดีตพระประชา หรือพวกเครือข่ายหมอประเวศที่โดดเข้ามาหนุนประชารัฐประหาร พวก NGO พิภพ สมเกียรติ สมศักดิ์ บรรจง ฯลฯ ที่โดดเข้าร่วมพันธมาร ทัศนะที่เหมือนกันคือล้วนไม่เห็นความสำคัญของ "ประชาธิปไตย" เพราะมองแต่ว่ายังไงมันก็ทุนนิยม มันแก้วิกฤติสังคมมนุษย์ไม่ได้ ต้องแก้ด้วยธรรมะ ด้วยการพึ่งตัวเอง ด้วยการตื่นรู้ สร้างสังคมใหม่ขึ้นจากชุมชนฐานรากที่พวกตนไปทำขึ้น”

“วิธีคิดแบบนี้ตรงกันอย่างน่าประหลาด ระหว่างซ้ายเก่ากับสายพุทธ (รสนาโมเดล เคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาแล้วไปสร้างชุมชนวิปัสสนา) คือพวกนี้ปฏิเสธ "รัฐ" ไม่เชื่อเรื่องการสร้างรัฐที่มีระบบ มีหลักเกณฑ์ มีกติกา มีเสรีภาพในการต่อสู้ต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ (อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จริงๆ ก็ไม่ใช่สร้างรัฐ แต่ทำลายรัฐ) หากจะใช้เสรีภาพประชาธิปไตย ก็ใช้เพื่อเป็น "เครื่องมือ" เท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นอุดมคติ”


ผมขอเรียนชี้แจงว่า ผมไม่ได้คิดอย่างที่คุณอธึกกิตตีความนะครับ

ประการแรก ผมเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของประชาธิปไตยทั้งแบบตัวแทนและแบบทางตรง และผมเห็นเผด็จการเป็นสิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง ไม่ว่าเผด็จการฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา หรือเผด็จการโดยธรรม

ประการที่สอง ผมเห็นความสำคัญของ “เรื่องการสร้างรัฐที่มีระบบ มีหลักเกณฑ์ มีกติกา มีเสรีภาพในการต่อสู้ต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์”

อ่านต่อ »

พัฒนราชา: บรมครูแห่งแผ่นดิน



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559

ครู ตามความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป คือผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนหรือลูกศิษย์ในห้องเรียน ในสถานศึกษา

ครูเก่ง คือครูที่มีความรู้ในวิชาที่สอนอย่างลุ่มลึก แตกฉาน เป็นผู้มีเทคนิคการสอนการถ่ายทอดที่ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนใจ ใคร่ติดตาม และเข้าใจในสิ่งที่เรียน

ครูดี คือครูที่มีความรักความเมตตาต่อลูกศิษย์ ช่วยเหลือและพัฒนาลูกศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสมกับสถานภาพและศักยภาพของตนเอง

ครูในอุดมคติ คือครูที่มีคุณสมบัติของครูดีและครูเก่ง

ครูของครู คือผู้ที่สอนลูกศิษย์ให้ไปเป็นครู

ครูของครูที่ดีและเก่ง คือครูที่สอนลูกศิษย์ให้ไปเป็นครูที่ดีและเก่ง
อครูของครูในอุดมคติ คือครูที่มีความสุขในการสอนให้ลูกศิษย์เป็นคนที่มีความสุข ความดี และความเก่ง

ในหลวงของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นยิ่งกว่าครูของครูในอุดมคติในความหมายที่ให้ไว้

อ่านต่อ »

เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความเข้าใจ ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

ไอค์ แลสเซเทอร์ (Ike Lasater) ทนายความผู้มากประสบการณ์ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เขาเดินอยู่ในตัวเมืองซานฟรานซิสโกกับเพื่อนผู้หญิงสองคน ทันใดนั้น ชายคนหนึ่งก็เดินเข้ามาประชิด ท่าทางดูก้าวร้าว มือซ้ายกำหมัดอยู่ข้างตัว ผมเผ้าดูสกปรกเหมือนนอนกลางถนนมา คล้ายจะเมายาหรือเมาเหล้า ไอค์เปลี่ยนเข้าสู่โหมดพร้อมสู้ทันที เพราะคิดว่าชายคนนี้คงจะเข้ามาต่อยเขาแน่ ไอค์คิดว่าเขาเรียนไอกิโดมานักต่อนัก คราวนี้ถึงเวลาล้มเจ้าหมอนี่แล้ว

ไอค์เกือบจะลงมืออยู่แล้ว แต่เขากลับเปลี่ยนใจในชั่วพริบตา เขาตั้งสติและพูดกับชายคนนั้นว่า “เวลาที่คุณเข้ามาใกล้ขนาดนี้ ผมรู้สึกกลัว คุณช่วยถอยออกไปสัก ๒-๓ ฟุตได้ไหม” ชายคนนั้นเบิกตากว้างเล็กน้อย ยืดตัวขึ้นแล้วถอยหลังออกไป

ไอค์ถามต่อว่าเขาต้องการอะไร “ฉันต้องการเงิน” ชายคนนั้นพูดแล้วก็แบมือซ้ายที่กำไว้ออก ในมือมีเหรียญไม่กี่เหรียญ

ไอค์รู้สึกทั้งโล่งใจ ทั้งรำคาญใจ ทั้งงง เขายังไม่อยากให้เงินชายคนนั้น ใจเขายังไม่เปิดพอ ไอค์ตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ และเริ่มรู้สึกสงสัย เขาถามชายคนนั้นว่า “คุณต้องการเงินเพราะคุณอยากได้ความช่วยเหลือใช่ไหม”

ชายคนนั้นหน้าตาอ่อนโยนลง แล้วกล่าวคำเหล่านี้ “ใช่แล้ว ฉันต้องการความช่วยเหลือ ฉันต้องการความใส่ใจ ฉันต้องการความอ่อนโยน ฉันต้องการความรัก”

อ่านต่อ »

Back to Top