มกราคม 2016

พุทธศาสนาเป็นมากกว่าสิ่งปลอบประโลมใจ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม 2559

ผู้คนเข้าวัดหรือนับถือพุทธศาสนาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหลักย่อมได้แก่การแสวงหาสิ่งปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่ชีวิต หลายคนเข้าวัดเพื่อหวังว่าบุญกุศลจะช่วยเสริมสร้างสิริมงคลหรือปัดเป่าอันตราย บ้างก็มาสะเดาะเคราะห์เพราะหวังว่าโรคร้าย หนี้สิน และเคราะห์กรรมทั้งปวงจะมลายไป ประสบแต่ความมั่งมีศรีสุข ได้รับความสำเร็จ ส่วนคนที่สูญเสียคนรัก ก็หวังว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์จะช่วยให้ผู้ล่วงลับไปสู่สุคติ ไม่เพียงการมาวัดจะช่วยคลายความเศร้าโศกเท่านั้น หากยังช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับคนรัก ด้วยการทำบุญอุทิศให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก หรือลูกในท้อง

คนจำนวนไม่น้อยมาวัดเพราะปรารถนาน้ำมนต์และวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความเชื่อว่าได้มาแล้วจะแคล้วคลาดจากอันตราย ประสบความสุขความเจริญ มีหลายคนที่ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่แค่มาวัด ได้กราบพระพุทธรูป เห็นพระพักตร์อันสงบอิ่มเอิบ ความร้อนใจก็บรรเทาลง เกิดกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไป

กล่าวได้ว่าหน้าที่หลักประการหนึ่งของพุทธศาสนาในสังคมไทยก็คือ การให้ความหวังและกำลังใจ รวมทั้งช่วยให้สบายใจ นี้คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าหาวัดและนับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพุทธศาสนายังมีบทบาทหลักอีกประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้เลย นั่นคือ การกระตุก เขย่า และกระทุ้งจิตใจของผู้คน เพื่อให้พ้นจากความหลงและความประมาทด้วย

ในขณะที่พุทธศาสนาให้ความหวังแก่เราว่า เมื่อทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศล ก็จะประสบความสุขความเจริญ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็เตือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความสุขความเจริญนั้นไม่เที่ยง ลาภและยศนั้นมีแล้วก็หมด มาแล้วก็ไป ความมั่งมี อำนาจ และความสำเร็จ แม้ให้ความสุขแก่เราก็จริง แต่ก็เจือไปด้วยทุกข์ ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจหากยึดติดถือมั่น เราจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ

อ่านต่อ »

สังคมไทยกับการเปลี่ยนยุคสมัย



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มกราคม 2559

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมพังทลายก็คือ การเสียพลังความยืดหยุ่นไป เมื่อโครงสร้างสังคมและแบบลักษณะทางพฤติกรรมกลายเป็นของตายตัว จนไม่สามารถปรับตัวให้รับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป สังคมนั้นก็ไม่สามารถจะสร้างสรรค์ขบวนวิวัฒนการทางวัฒนธรรมได้ นั่นย่อมหมายถึงจุดพังทลายและจุดจบของอารยธรรมสายนั้น ในขณะที่อารยธรรมที่กำลังเติบโตจะสำแดงพลังความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวหลากหลายคล่องแคล่ว อารยธรรมที่กำลังจะตายจะแสดงออกซึ่งการยึดถือรูปแบบที่ตายตัว และขาดพลังสร้างสรรค์ที่จะค้นคิดวิธีการใหม่ๆ ที่จะมาแก้ปัญหา การขาดความยืดหยุ่นของสังคมที่กำลังจะพังทลาย จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสูญเสียความสมานฉันท์ในหมู่สมาชิก ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความบาดหมางและความพินาศของสังคมนั้นในที่สุด”

ตัวเอนข้างบนนี้ เป็นข้อสรุปที่อยู่ในหนังสือ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษเล่ม ๑ ของฟริตจ๊อป คาปร้า ที่เขาสรุปจากงานเขียนของอาร์โนลด์ ทอยน์บี้ เรื่อง Study of History


ความขัดแย้งหนักหนาสาหัสที่เกิดในสังคมไทยในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะหาทางออกได้จนบัดนี้นั้น น่าจะเป็นสัญญาณบอกถึงว่าสังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ระบบคุณค่า อุดมการณ์ โครงสร้างสถาบันต่างๆ ชุดหนึ่งกำลังจะพังทลายลง เพื่อปิดยุคสมัยหนึ่งลงและนำไปสู่ความวุ่นวายพักใหญ่ ก่อนระบบคุณค่าใหม่ อุดมการณ์ใหม่ และโครงสร้างใหม่จะสถาปนาตัวเองขึ้นในสังคมไทยหรือเปล่า

โครงสร้างของสถาบันหลักที่กำลังพังทลายลงและมีผลต่อประชาชนจำนวนมากอย่างมหาศาล คือสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา

อ่านต่อ »

บ่มเพาะสู่การเป็นกระบวนกรชั้นเซียน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2559

ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผมนึกถึงอะไรบ้าง

ตอนนี้ผมอายุหกสิบสองร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือน แม้จะยังเล็กๆ น้อยๆ แต่เราควรอยู่ในความไม่ประมาท ผมจึงอยากทำงานให้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันภาระต่างๆ โดยเฉพาะกับการดูแลคนรอบข้างที่ยังมีอยู่ เลยใคร่ครวญว่าในเมื่อคงทำงานน้อยลงไม่ได้ มาดูว่าจะทำงานให้สอดคล้องกับวัยมากขึ้นได้อย่างไร


สร้างงานต้นฉบับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่กล้าเอาตัวเองลงมาเล่นกับความฝันความเชื่อต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอด คือการเรียนรู้นอกสถาบันการเรียนรู้ทั้งหลาย ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธความรู้ ไม่ปฏิเสธหนังสือหนังหา ไม่ปฏิเสธครู โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสก็จะเรียนจากปราชญ์และครูทั้งจากตัวของพวกท่านเองหรือหนังสือของท่าน จะเรียนอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์คือลองผิดลองถูก และเรียนอย่างศิลปินคือลงไม้ลงมือ และเรียนอย่างมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยในงานที่เราเลือกสรร และเพื่อความเข้มข้นก็จะย่นย่อลงให้เป็นเรื่องเดียว

เรื่องเดียวที่ผมเรียนและสอนคือ "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" หรือ transformative learning แต่เรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายแวดวง และถ้าจะให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกระจายไปทั่วไทยอย่างได้ผล ผมจึงย่อเรื่องให้แคบเข้ามาอีก โดยมุ่งสู่การสร้างกระบวนกรที่มีความสามารถ คือการสร้างกระบวนกรชั้นเซียน


เส้นทางการบ่มเพาะสู่การเป็นกระบวนกรชั้นเซียน

คิดใคร่ครวญในช่วงทำเวิร์กช็อปกระบวนกรภาคปฏิบัติที่ผ่านมาว่า การบ่มเพาะกระบวนกรชั้นเซียน จะต้องทำอะไรบ้าง แล้วได้แนวทางว่าดังต่อไปนี้

หนึ่ง ผู้จะมาเป็นกระบวนกรชั้นเซียนต้องเริ่มต้นจากค้นพบเสียงของตัวเอง สามารถเลือกเดินเส้นทางชีวิตของตัวเอง รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเลือกและไม่กล่าวโทษผู้อื่นหรือเงื่อนไขภายนอกหนึ่งใดของชีวิต

สอง เขาจะต้องค้นพบ flow หรือ มณฑลแห่งพลัง อันเป็นสภาวะของจิตที่เป็นสมาธิ เป็น optimum learning state หรือสภาวะที่จิตสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด สามารถบ่มเพาะจิตให้อยู่ในสภาวะนี้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำกระบวนการ

อ่านต่อ »

โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มกราคม 2559

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผมโชคดีได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับศาสตราจารย์ ดร.มานาบุ ซาโตะ (Manabu Sato) แห่งมหาวิทยาลัยกักคุชุอิน (Gakushuin University) เรื่อง “โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้” (School as Learning Community) ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งที่ท่านจะนำเสนอนั้น ทั้งในเชิงแนวคิดและแนวปฏิบัติ มีความใกล้เคียงและไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา จึงอยากให้ผมไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผมได้อยู่ร่วมด้วยทั้งวัน รู้สึกดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการส่วนตัวกับท่าน ดีใจที่มีนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง มีแนวคิดในทิศทางใกล้เคียงกัน และทุ่มเทเผยแพร่แนวปฏิบัติลงไปในสถานศึกษาทั้งที่ในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในโลก จนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ National Academy of Education in the United States และเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว

ระหว่างวันมีเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องหลายคนที่เคยอบรมและร่วมงานด้านจิตตปัญญาศึกษากับผมมาก่อน เข้ามาคุยและถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของตนเองว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติของเอสแอลซี (SLC: School as Learning Community) คล้ายกับจิตตปัญญาศึกษามากไหม

ผมก็ตอบตามตรงว่า เท่าที่ฟังและอ่านจากเอกสารที่แจก มีความใกล้เคียงกันในหลายเรื่อง แต่นี่เป็นการพบกันเป็นครั้งแรก และวันเดียว ยังไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ มีบางจุดบางประเด็นที่ผมยังไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่ คงต้องไปศึกษาผลงานของท่านเพิ่มเติมเพราะน่าสนใจจริงๆ

จุดเน้นประการแรกที่เหมือนกันของเอสแอลซีและจิตตปัญญาศึกษา คือการให้ความสำคัญกับเรื่อง “การเรียนรู้ (Learning)” ที่มีความหมายแตกต่างไปจากการเรียนรู้ที่เราเคยใช้และเข้าใจกันโดยทั่วๆ ในวงการศึกษา

อ่านต่อ »

Back to Top