บ่มเพาะสู่การเป็นกระบวนกรชั้นเซียน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2559

ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผมนึกถึงอะไรบ้าง

ตอนนี้ผมอายุหกสิบสองร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือน แม้จะยังเล็กๆ น้อยๆ แต่เราควรอยู่ในความไม่ประมาท ผมจึงอยากทำงานให้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันภาระต่างๆ โดยเฉพาะกับการดูแลคนรอบข้างที่ยังมีอยู่ เลยใคร่ครวญว่าในเมื่อคงทำงานน้อยลงไม่ได้ มาดูว่าจะทำงานให้สอดคล้องกับวัยมากขึ้นได้อย่างไร


สร้างงานต้นฉบับ

ผมเป็นคนหนึ่งที่กล้าเอาตัวเองลงมาเล่นกับความฝันความเชื่อต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอด คือการเรียนรู้นอกสถาบันการเรียนรู้ทั้งหลาย ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธความรู้ ไม่ปฏิเสธหนังสือหนังหา ไม่ปฏิเสธครู โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสก็จะเรียนจากปราชญ์และครูทั้งจากตัวของพวกท่านเองหรือหนังสือของท่าน จะเรียนอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์คือลองผิดลองถูก และเรียนอย่างศิลปินคือลงไม้ลงมือ และเรียนอย่างมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยในงานที่เราเลือกสรร และเพื่อความเข้มข้นก็จะย่นย่อลงให้เป็นเรื่องเดียว

เรื่องเดียวที่ผมเรียนและสอนคือ "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" หรือ transformative learning แต่เรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายแวดวง และถ้าจะให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกระจายไปทั่วไทยอย่างได้ผล ผมจึงย่อเรื่องให้แคบเข้ามาอีก โดยมุ่งสู่การสร้างกระบวนกรที่มีความสามารถ คือการสร้างกระบวนกรชั้นเซียน


เส้นทางการบ่มเพาะสู่การเป็นกระบวนกรชั้นเซียน

คิดใคร่ครวญในช่วงทำเวิร์กช็อปกระบวนกรภาคปฏิบัติที่ผ่านมาว่า การบ่มเพาะกระบวนกรชั้นเซียน จะต้องทำอะไรบ้าง แล้วได้แนวทางว่าดังต่อไปนี้

หนึ่ง ผู้จะมาเป็นกระบวนกรชั้นเซียนต้องเริ่มต้นจากค้นพบเสียงของตัวเอง สามารถเลือกเดินเส้นทางชีวิตของตัวเอง รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเลือกและไม่กล่าวโทษผู้อื่นหรือเงื่อนไขภายนอกหนึ่งใดของชีวิต

สอง เขาจะต้องค้นพบ flow หรือ มณฑลแห่งพลัง อันเป็นสภาวะของจิตที่เป็นสมาธิ เป็น optimum learning state หรือสภาวะที่จิตสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด สามารถบ่มเพาะจิตให้อยู่ในสภาวะนี้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำกระบวนการ

สาม เขาจะต้องเรียนรู้กระบวนการเยียวยาตัวเอง เพื่อถ่างขยายโลกภายในให้กว้างขวางและลุ่มลึกยิ่งขึ้น เพราะเมื่อยังมีปมหรือความปั่นป่วนภายใน จิตของเขาจะคับแคบ ไม่อาจเป็นภาชนะอันกว้างใหญ่ลุ่มลึกได้ การเยียวยาตัวเองแต่ละครั้งจะถ่างขยายจิตใจให้กว้างขวางลุ่มลึกยิ่งขึ้นโดยลำดับ

สี่ เขาต้องเรียนรู้ที่จะก้าวย่างสู่ความไม่รู้ สามารถดำเนินงานด้วยญาณทัศนะ บ่มเพาะตัวเองที่จะฟังเสียงกระซิบของญาณทัศนะได้จนเป็นวิถี คือทำงานได้ด้วยสายธารของญาณทัศนะที่ส่งผ่านมาทางจิตไร้สำนึก

ห้า เขาจะต้องสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกขังอยู่ในมายาการไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบของตัวเอง อันสามารถนำไปสู่สุขุมรสหรือความอ่อนไหวเป็นพิเศษที่จะรับรู้อารมณ์ของคนอื่นและสามารถรับรู้วาระของกลุ่มได้

หก เขาจะต้องสามารถเข้าถึงโลกภายในของผู้คน และสามารถใช้ภาษาอันสอดคล้องกับโลกภายในของพวกเขา

เจ็ด เขาจะต้องอ่านได้อย่างแตกฉานและสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีพลังและแหลมคม

สำหรับข้อเจ็ด ผมเองได้พยายามเชื่อมโยงหลอมรวมพุทธธรรม ประสาทวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาแนวลึก เพื่อก่อประกอบองค์ความรู้ที่มีพลังอันเอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ในสายพุทธ ผมพบว่า สู่ชีวิตอันอุดม ที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แปลมาจาก Understanding Our Mind ของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ มีประโยชน์มาก ส่วนประสาทวิทยาศาสตร์ ผมตามอ่านมาตลอดช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา อัพเดตงานวิจัยใหม่อันเชื่อมโยงพุทธธรรมกับการเยียวยา โดยเฉพาะเรื่องสมาธิกับการเยียวยา ซึ่งในปัจจุบัน จิตบำบัดทุกสายหันมาสนใจที่จะหลอมรวมเอาการนั่งสมาธิหรือการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะแบบพุทธเข้าไปในการรักษาเยียวยา

ในสายจิตวิทยาแนวลึก ผมพบว่าวอยซ์ไดอะล็อก (Voice Dialogue) ของดร.ฮัลกับดร.ซิดรา สโตน เป็นการศึกษาที่สามารถลดละอัตวาทุปาทานในความสัมพันธ์ได้จริง และก่อเกิดผลดีในทางปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด วอยซ์ไดอะล็อกสามารถเข้าไปในทำงานกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในทุกๆ บริบท และตอนนี้ยังมีครูสายตรงของวอยซ์ไดอะล็อก คือเจมมี่ แพนกายามาสอนเรื่องนี้ที่เมืองไทยทุกๆ ต้นปี

นอกจากนี้ผมยังพบ IFS (Internal Family System) หรือระบบครอบครัวภายใน ว่าด้วยจิตวิทยาตัวตนคล้ายๆ กันและมีประสิทธิภาพในการเยียวยาปมได้ไม่แพ้กัน ความแตกต่างของทั้งสองระบบให้ความได้เปรียบที่แตกต่างกัน ถ้าสามารถเรียนรู้ทั้งสองสายจะเป็นประโยชน์มากต่อคนที่ต้องการเป็นกระบวนกรระดับเซียน

เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผมขอยกข้อเขียนที่แปลมาจากนักจิตวิทยาสายคาร์ล ยุงท่านหนึ่ง คือ โรเบิร์ต เอ. จอห์นสัน ดังนี้

“ใน active imagination เหตุการณ์จะเกิดในระดับจินตนาการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในจิตสำนึกหรือจิตไร้สำนึก แต่อยู่ตรงกลางอันเป็นที่บรรจบของทั้งสอง ที่มาพบกันอย่างเท่าเทียมและสรรสร้างประสบการณ์ชีวิตใหม่ที่ประกอบด้วยมูลธาตุจากทั้งสอง จิตสำนึกสองระดับไหลมาบรรจบกันในสนามแห่งจินตนาการ เฉกเช่นแม่น้ำสองสายไหลมารวมกัน พวกเขาต่างเสริมสร้างกัน ทำงานร่วมกัน ผลที่ออกมาคือทั้งหมดนี้จะหลอมรวมสู่ความเป็นเอกภาพ ไดอะล็อกระหว่างจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกก่อให้เกิดการข้ามผ่าน คือ the self หรือตัวตนคนนั้นของเราที่เป็นการสังเคราะห์ของทั้งสอง”

และขอขยายความข้อสามว่าด้วยเรื่องของ flow ซึ่งผมเห็นว่าต้องทำงานควบคู่ไปกับการเยียวยา ดุจดั่งคนเดินคล้องแขนกันไป

ดังนั้น flow มณฑลแห่งพลัง optimum learning state (สภาวะที่สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด) กับชีวิตและงานกระบวนกร จากประสาทวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นว่าภาพการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปฏิบัติธรรม หรือความสามารถในการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะในทุกๆ บริบทของชีวิต มีธรรมชาติเป็นเช่นไร

อย่างแรก หากเราใช้วงจรสมองของเรา มันจะยิงประจุไฟฟ้าซึ่งจะทำให้เซลล์ที่ยิงประจุไฟฟ้าเชื่อมต่อกันเป็นวงจร ยิ่งใช้มากขึ้น วงจรนั้นจะเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และเสถียรมากขึ้น กล่าวคือการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะจะค่อยๆ เสริมสร้างวงจรสมองส่วนนี้ให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้การดำรงอยู่ในปัจจุบันง่ายขึ้น จนกระทั่งเป็นธรรมชาติ เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ความเข้มแข็งของวงจรนี้ทำให้สมาธิของเราแก่กล้าขึ้น การดำรงอยู่ในปัจจุบันของเราจะเป็นสนามพลังที่เข้มข้น อันเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับกระบวนกรชั้นเซียน ความตื่นรู้อย่างเข้มข้นนี้สำคัญยิ่งต่อการเยียวยาตัวเอง การเยียวยาผู้อื่น และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้กระบวนการทั้งหลายดำเนินไปด้วยดี และสามารถสำแดงออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Back to Top