สังคมไทยกับการเปลี่ยนยุคสมัย



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มกราคม 2559

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมพังทลายก็คือ การเสียพลังความยืดหยุ่นไป เมื่อโครงสร้างสังคมและแบบลักษณะทางพฤติกรรมกลายเป็นของตายตัว จนไม่สามารถปรับตัวให้รับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป สังคมนั้นก็ไม่สามารถจะสร้างสรรค์ขบวนวิวัฒนการทางวัฒนธรรมได้ นั่นย่อมหมายถึงจุดพังทลายและจุดจบของอารยธรรมสายนั้น ในขณะที่อารยธรรมที่กำลังเติบโตจะสำแดงพลังความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวหลากหลายคล่องแคล่ว อารยธรรมที่กำลังจะตายจะแสดงออกซึ่งการยึดถือรูปแบบที่ตายตัว และขาดพลังสร้างสรรค์ที่จะค้นคิดวิธีการใหม่ๆ ที่จะมาแก้ปัญหา การขาดความยืดหยุ่นของสังคมที่กำลังจะพังทลาย จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสูญเสียความสมานฉันท์ในหมู่สมาชิก ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความบาดหมางและความพินาศของสังคมนั้นในที่สุด”

ตัวเอนข้างบนนี้ เป็นข้อสรุปที่อยู่ในหนังสือ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษเล่ม ๑ ของฟริตจ๊อป คาปร้า ที่เขาสรุปจากงานเขียนของอาร์โนลด์ ทอยน์บี้ เรื่อง Study of History


ความขัดแย้งหนักหนาสาหัสที่เกิดในสังคมไทยในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะหาทางออกได้จนบัดนี้นั้น น่าจะเป็นสัญญาณบอกถึงว่าสังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ระบบคุณค่า อุดมการณ์ โครงสร้างสถาบันต่างๆ ชุดหนึ่งกำลังจะพังทลายลง เพื่อปิดยุคสมัยหนึ่งลงและนำไปสู่ความวุ่นวายพักใหญ่ ก่อนระบบคุณค่าใหม่ อุดมการณ์ใหม่ และโครงสร้างใหม่จะสถาปนาตัวเองขึ้นในสังคมไทยหรือเปล่า

โครงสร้างของสถาบันหลักที่กำลังพังทลายลงและมีผลต่อประชาชนจำนวนมากอย่างมหาศาล คือสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา


จากการได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลนครที่ก้าวหน้าบางแห่ง เพื่อปฏิรูปการศึกษา เราพบว่านักเรียนเทศบาลเมืองใหญ่แห่งนั้นกว่าร้อยละ ๕๐ มาจากครอบครัวบ้านแตกสาแหรกขาด ทำให้สถาบันครอบครัวที่เคยมีระบบคุณค่าชุดหนึ่งสำหรับหล่อหลอมเยาวชน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเยาวชนได้อีกต่อไป ตอนนี้ที่พึ่งของเยาวชนคือสื่อสาธารณะ โทรศัพท์มือถือ ร้านเกม และอบายมุขอื่นๆ เรื่องมั่วสุมทางเพศและการท้องก่อนวัยที่สังคมคาดหวัง จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา เราพบว่ามีการส่งภาพการร่วมเพศแบบต่างๆ เข้ามือถือของเยาวชนเป็นประจำ ในหลายท้องที่ ผู้ใหญ่ในครอบครัวฝ่ายหญิงสนับสนุนกามกิจแบบนี้ด้วย เพราะพอมีเรื่องราวเกิดขึ้น ก็จะเป็นที่มาของรายได้อีกทางหนึ่ง

สถาบันครอบครัวของเราเป็นไปได้ขนาดนี้แล้วหรือ

เมื่อเราสอบถามกับคนทำงานเยาวชนจากภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ เราพบว่าสิ่งที่พบเห็นในเทศบาลนครแห่งนั้นเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งเมืองและชนบท

สาเหตุเฉพาะหน้าก็คือ พ่อแม่ต้องทำงานรับจ้าง และหลายครั้งรับจ้างกันคนละทิศคนละทาง เมื่อนานวันเข้าก็พบคนใหม่ เริ่มความสัมพันธ์ใหม่ ลูกก็ถูกส่งกลับมาที่ปู่ย่าหรือตายาย ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็ถูกถอนรากออกจากชุมชนชนบทมาอยู่ชุมชนใหม่ในเมือง เพื่อง่ายแก่การทำมาหากิน หรือเพราะสูญเสียที่ดินในชนบท ขาดแรงงาน ฯลฯ

สถาบันโรงเรียนและสถาบันวัดส่วนใหญ่หมดสภาพเป็นที่พึ่งของเยาวชนมานานพอสมควรแล้ว

เทศบาลนครที่ผมกล่าวถึง มีผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดก้าวไกล ได้ลงแรงลงทุนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างชาญฉลาดประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว โดยใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีเข้าไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แต่เขาพบว่าองค์ประกอบต่างๆ ของระบบการศึกษาเองที่กำหนดจากส่วนกลางมากเหลือเกิน ตกอยู่ในลักษณะติดยึดกับรูปแบบและระเบียบปฏิบัติที่ตายตัวมาก โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาและครู เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาตีบตัน

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ คุณค่าหลักในชีวิตของครูและผู้บริหารสถานศึกษาและสำนักศึกษาคือการขึ้นเงินเดือน การหาเงินนอกหน้าที่การงาน และการเลื่อนตำแหน่ง ความห่วงใยหลักของท่านเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่เยาวชนอีกต่อไป อุปสรรคที่รองลงมาคือการทำตามระเบียบและสิ่งที่เคยทำๆ กันมา และการทำแบบเช้าชามเย็นชาม การปฏิรูปนำความยุ่งยาก ทำให้ต้องทำงานเพิ่ม ต้องเตรียมตัวเพิ่ม

ผมเคยสงสัยว่า ๑๐ ปีที่หลายฝ่ายช่วยกันทุ่มเท ทำไมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบทั้งที่มีโรงเรียนเทศบาลที่นั่นเพียงสิบกว่าแห่ง นอกจากนี้ ยังมีมิตรสหายบางท่านที่เข้าไปเล่นกับอำนาจจากส่วนกลางเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจะข้างบน แต่แล้วก็พบทางตัน ก่อนหน้านั้นเรายังเคยมีข้าราชการประจำกระทรวงศึกษาระดับปลัดกระทรวงที่มีความคิดความอ่านทางการศึกษาไม่แพ้พวกเราที่อยู่นอกระบบ แต่แล้วก็ทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันเพื่อให้การศึกษาของชาติดีขึ้นทั้งระบบ

หรือความตายของระบบการศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง ถึงความตายของระบบใหญ่ทั้งระบบตามข้อสรุปของทอยบี้ข้างต้น

แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เทศบาลนครแห่งนั้นทำล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และไม่ควรทำต่อ ในทางตรงกันข้าม ผมเห็นว่าควรทำต่อเนื่อง และทำอย่างจริงจังกว่านี้ด้วย

ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับครูจำนวนหนึ่งที่ยังมีจิตวิญญาณครูอย่างแท้จริง ที่ได้กำลังใจจากการขับเคลื่อนดังกล่าว และครูรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะใช้กระบวนการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่จะเป็นต้นแบบของระบบใหม่ในอนาคตได้

ที่เป็นปัญหาของระบบใหญ่อีกอย่างก็คือ พอเปลี่ยนนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีด้านการศึกษา การขับเคลื่อนทางการศึกษาก็แผ่วลง แม้นายกฯ คนใหม่จะกล้าทำหลายอย่างมากกว่านายกเทศมนตรีคนก่อน แต่ความสนใจหลักไม่ได้อยู่ที่การศึกษา และความเข้าใจด้านการศึกษาของคนรับผิดชอบใหม่ก็ไม่ลึกซึ้งพอ เพราะไม่ได้เห็นปัญหาของระบบใหญ่แบบองค์รวม

สำหรับความตายของสถาบันศาสนานั้น ผมจะยังไม่พูดถึงในเนื้อที่อันจำกัดนี้ เพียงแต่อยากจะพูดว่าสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อวัดเป็นที่พึ่งไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ที่พึ่งก็คือสื่อช่องทางต่างๆ ที่มุ่งเอาประโยชน์จากชาวบ้าน และถ่ายทอดค่านิยมที่เป็นไปในทางเพิ่มความโลภ การแข่งขัน การใช้สารเคมี อาหารแดกด่วน การอวดความร่ำรวย ฯลฯ

ผลก็คือสถาบันหลักของประชาชน คือบ้าน วัด และโรงเรียน พากันโยกโอนเอนโงนเงน บ้างก็ล้มระเนระนาดไปแล้ว

พูดกันตามจริง สถาบันหลักต่างๆ ของโครงสร้างระดับบน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ สถาบันสงฆ์ สถาบันทหาร ตำรวจ สถาบันศาล สถาบันสื่อสารมวลชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันทางการเมือง ฯลฯ ต่างก็อยู่ในสภาวะระส่ำระสายเช่นเดียวกันใช่หรือไม่ แม้ว่าจะมีคนพยายามปฏิรูปกันมากมายก็ได้ผลเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกันมิใช่หรือ

นี่เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนยุคสมัยหรือเปล่า

ในสภาพสับสนอลหม่านของการเปลี่ยนผ่านโดยทั่วไป ประชาชนคนธรรมดาจะถูกถึงเข้าพวกของขั้วอำนาจใหญ่ๆ ที่แย่งชิงผลประโยชน์กัน บ้างจะรักษาโครงสร้างเก่าที่ตายแล้ว บ้างพยายามสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมา ในการช่วงชิงการนำ ต่างฝ่ายมักจะถือว่ากำลังทำสงครามกัน ในแว่นของสงคราม ทุกอย่างมักจะถูกมองผ่านแว่นขาวหรือดำ ถ้าไม่ใช่พวกข้า เอ็งเลว เอ็งผิด วิจารณญาณถูกลบออกจากพจนานุกรมของสังคม การใส่ร้ายป้ายสี การห้ำหั่นกันก็เกิดขึ้น ถ้าเลวร้ายลงเรื่อยๆ กลียุคและสงครามกลางเมืองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสถานการณ์เช่นนี้ กลุ่มที่ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ และพยายามใช้สติปัญญาแยกแยะเรื่องราวต่างๆ ก็จะถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของทั้งสองฝ่าย

แต่ทางออกระยะยาวอาจจะอยู่ที่คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ ที่พยายามสร้างต้นแบบใหม่ๆ ขึ้นจากจุดต่างๆ ทั่วสังคม อย่างเช่นเทศบาลนครที่ผมกล่าวถึงข้างต้น

ข่าวดีก็คือ การริเริ่มใหม่ดังกล่าวมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทยในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา ในเกือบแทบทุกด้าน ถ้ามีการถอดบทเรียนกันอย่างจริงจัง และสานทอกันข้ามงานเฉพาะด้าน คำตอบสำหรับสังคมในอนาคตอาจจะอยู่ที่ต้นแบบเหล่านี้ มากกว่าจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกตะวันตกที่ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายเชื่อถือกันก็ได้

Back to Top