ธันวาคม 2010

ร่างแห่งเรา เงาแห่งตน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2553

มีคำกล่าวที่คุ้นหูว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” น่าตั้งคำถามว่า “จริงหรือ?”

เราอาจตีความคำกล่าวนี้ได้ว่า เราควบคุมร่างกายและอารมณ์ของเราเองได้หากเรา “ควบคุม” จิตใจหรือความคิดความรู้สึกเราได้ แต่เคยสังเกตไหมครับว่า ความคิดเห็นของเราได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และสภาวะของร่างกายมากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้วกายและจิตเป็นคู่แฝดที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างเท่าเทียม และในทางประสบการณ์นั้น กายเป็นนายจิตเสียเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ว่า “เรา” หรือการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ “ตัวเรา” นั้นดำรงอยู่ใน “จิต” ดังนั้น คำกล่าวนี้เป็น เสียงที่มาจากฝั่งของ “จิต” ที่อยากเป็นนายที่เป็นอิสระจาก “กาย” และอยากเป็นฝ่ายที่สามารถ ควบคุมทิศทางของชีวิตมากกว่า ทัศนะแบ่งแยกทางความคิดอย่างนี้มีมานานทั้งในโลกของศาสนาและวิทยาศาสตร์ที่ ประกาศอำนาจของฝั่งจิตเหนือกาย มนุษย์เหนือธรณีและธรรมชาติ บ้างก็ถึงกับมองร่างกายว่าเป็นความสกปรกและมีความเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วย ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

ในบรรดาวิชาความรู้เพื่อการเข้าใจตัวเองและธรรมชาติของชีวิต (Contemplative Education) ที่บ้านเรามีคำเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษานั้น การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของร่างกายและอารมณ์นั้นกำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ด้วยสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทางกายและจิตที่เป็นผลมาจากสภาพ ชีวิตที่เร่งรีบบีบคั้น และความไม่สามารถจัดการภาวะภายในของตนเองได้ แนวทางออกที่หลอมรวมวิถีแห่งสติและจิตวิทยาสมัยใหม่ หรือแม้แต่กระบวนการเยียวยากายจิตแบบดั้งเดิมของชนเผ่าก็ดูเหมือนจะกลับมาสม สมัยอีกครั้ง

สถาบันสตราสซี่ (Strazzi Institute) เพื่อการแปลงศักยภาพความเป็นผู้นำลงสู่ฐานกายจิต กล่าวไว้ว่า ทุกวันนี้วิธีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมภายนอกนั้น ยังขาดการบูรณาการทุกๆ มิติของความเป็นมนุษย์ในมุมมองของกายสำนึก (Somatic) ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และการแสดงออก รวมถึงเรื่องเล่า เรื่องราว และพลังภายในกายที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แนวปฏิบัติหลายแนวอาจถือเอาร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ในแนวคิดของกายสำนึกถือว่าร่างกายของเราเป็นรากฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะร่างกายเป็นที่ๆ เราสัมผัสถึงพลังแห่งความเชื่อ โลกทัศน์ เรื่องราว แบบแผนพฤติกรรม ชีพจร ปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติทางกาย แรงขับดันภายใน แรงปรารถนาหรือความต้องการของชีวิต สิ่งเหล่านี้ ประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวตน” ในแบบต่างๆ และแสดงออกผ่านรูปร่างและท่าทางที่หลากหลาย เราจะเห็นได้ชัดว่า แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบแบบอัตโนมัตินั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ เนื้อรู้ตัว ซ้ำๆ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อเมื่อเราได้รู้ และเห็นสิ่งเหล่านี้ เราจึงจะเริ่มแยกแยะจากความยึดมั่นว่า "เป็นเรา" และทำความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยเบื้องหลังการเกิดขึ้นของ "ร่าง"ต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นดังเงาสะท้อนทางจิต เราจึงจะเริ่มเป็นอิสระจากการถูกยึดกุมของตัวตนเหล่านี้ได้

เดวิด เวนสต็อค ครูฝึกด้านกายสำนึก (Somatic Coach) ผู้สอนด้านการสื่อสารอย่างสันติ ทั้งยังเป็นผู้ดำรงวิถีชีวิตตามแนวทางปฏิบัติของไอคิโดที่หมายถึง วิถีแห่งรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ซึ่งมาสอนเรื่อง “กายกรุณา” ในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์เดิม (Old Strategies) ที่ แสดงออกเพื่อรักษาและพิทักษ์ความมั่นคงปลอดภัยของตัวตนเอาไว้ โดยมักขัดแย้งกับความตั้งใจหรือความคิดของเจ้าตัว เช่น บางคนไม่รู้จะแสดงความรักทางกายอย่างไร เพราะไม่คุ้นเคยกับการแสดงออก การเรียนรู้ในแนวทางนี้ไม่ใช่การปรับกายให้แสดงออกอย่างสอดคล้องกับจิตใจ หากเป็นการเข้าถึงโลกแห่งจิตไร้สำนึกที่จะแสดงออกผ่านกายได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจกับทั้งกายและจิตและสร้างแนวทางของการหลอม รวมระหว่างสองฐานของชีวิตอย่างเป็นเอกฉันท์ (Somatic Consensus)

ผมเข้าใจว่าแนวทางดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพัฒนาการล่าสุดทางจิตวิทยาของ อาร์โนล มินเดล นักจิตบำบัดสายคาร์ล จุง ที่มีกระบวนการทำงานภายใน เรียกว่างานกระบวนการ (Process Work) ที่ค้นพบว่าจิตไร้สำนึกที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตเรานั้น นอกจากไม่ได้น่ากลัวจนควบคุมไม่ได้ดังที่คิดแล้ว ยังแสดงออกมาผ่านทั้งความฝันและร่างกายของเราตลอดเวลา ร่างกายและพลังละเอียดของชีวิตเหล่านี้คือรูปปรากฏแห่งจิตนั่นเอง ดังนั้นในทางกลับกัน เราจึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์ และจัดการกับจิตไร้สำนึกที่มักควบคุมได้ยาก เช่น ความกลัว ความโกรธ ได้อย่างเป็นมิตรและกรุณา

หรือแม้แต่ศาสตร์ที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน แต่มีพัฒนาการที่แตกต่างอย่าง Voice Dialogue ที่ดอกเตอร์สโตน สามีภรรยาได้ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาและทำความเข้าใจตัวตนต่างๆ ภายในตัวเราที่ดำรงอยู่ใน “เสียงภายใน”และใน “แบบแผนพลัง” ต่างๆ ในกาย ที่ต่างมีระบบคุณค่า มาตรฐาน การตัดสิน และศักยภาพของตัวเอง บางพวกได้รับความเป็นใหญ่ อีกหลายพวกถูกกดทับไว้ไม่ให้มีปากเสียง แต่ก็มิวายจะเล็ดลอดหาช่องออกอย่างไม่ให้เจ้าตัวควบคุมหรือรู้ตัวได้ ผมคิดว่าความหลากหลายในแนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้เรามีทาง เลือกในการหลอมรวมเอาฐานสำคัญของชีวิต นั่นคือ “กาย” มาเป็นรากฐาน ของการเข้าใจตัวเองและชีวิตได้

สื่อสารในองค์กร ย้อนมองดูจิต



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2553

หากเปรียบเทียบองค์กรเป็นดั่งชีวิต การไหลของข้อมูลก็เปรียบเสมือนการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย องค์กรคงจะเติบโตและปรับตัวได้ยาก หากข้อมูลข่าวสารไหลอย่างติดขัดและบิดเบี้ยวอยู่ภายในองค์กร ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน และลิซ่า ลาเฮ เขียนถึงประเด็นนี้ใน ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง (Immunity to Change) โดยอธิบายว่า เส้นทางการไหลของข้อมูลจะเป็นไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าคนในองค์กรมีการ “รับ” และ “ส่ง” ข้อมูลกันอย่างไร

จากทฤษฎีจิตวิทยาของคีแกนซึ่งศึกษา “ระดับความซับซ้อนของจิต” (level of mental complexity) ในคนว่ามีความแตกต่างกันไปตามการวิวัฒน์จิต คีแกนอธิบายระดับความซับซ้อนของจิตไว้ ๕ ระดับ ซึ่งระดับที่ ๑-๒ คือความซับซ้อนของจิตในเด็กและวัยรุ่น ในขณะที่ระดับที่ ๓-๕ เป็นความซับซ้อนของจิตในผู้ใหญ่ ในบริบทขององค์กรจึงยกตัวอย่างเฉพาะระดับที่ ๓-๕ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร อันประกอบไปด้วย จิตตามสังคม (Socialized Mind) จิตประพันธ์ตน (Self-Authoring Mind) และจิตวิวัฒน์ตน (Self-Transforming Mind) ตามลำดับ โดยจะอธิบายว่า แต่ละระดับจิตจะมีการรับและส่งข้อมูลอย่างไร ความรู้นี้จะช่วยให้เราเข้าใจชีวิตขององค์กรจำนวนมาก ว่ามีการไหลของข่าวสารข้อมูลกันอย่างไร โดยดูจากคนในองค์กรซึ่งมีแตกต่างกันไปตามระดับความซับซ้อนของจิต

เราลองมาดูกันสักหน่อยว่า ลักษณะการไหลของข้อมูลภายในองค์กร ที่ประกอบไปด้วยคนที่มีจิตซับซ้อนต่างกันจะเป็นอย่างไร

จิตตามสังคม (Socialized Mind) จิตที่ซับซ้อนในระดับนี้จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับและส่งข้อมูลในระหว่างการทำงาน ถ้าฉันมองโลกจากระดับนี้ ฉันมักจะส่งข้อมูลตามที่ฉันเชื่อว่าคนอื่นอยากได้ยินอะไร ในการส่งข้อมูลของจิตตามสังคม ข้อมูลสำคัญๆ บางทีก็ถูกเก็บเอาไว้ ไม่ให้ใครรู้ กลัวว่าคนจะเครียดกัน และอยากทำให้ทุกคนในองค์กรสบายใจ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง อยากให้ยังรักกันอยู่เหมือนเดิม หรือบางทีข้อมูลบางอย่างอาจถูกดัดแปลงไป เพื่อ “รักษาหน้า” ให้กับเจ้านาย

ในขณะที่การรับข้อมูล จิตตามสังคมจะมีภาครับที่ถูกแทรกแซงโดยความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกัน เพราะความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกันนั้น คือความเป็นความตายของจิตตามสังคมเลยทีเดียว หลายต่อหลายครั้งเราอาจจะได้ยินเสียงบ่นจากลูกน้องว่า “นายอยากได้อะไร ก็บอกสิ จะได้ทำให้” ในขณะที่เจ้านายเองก็บ่นว่า “เธอไปเข้าใจอย่างนั้นได้ยังไง ทั้งๆ ที่ฉันก็บอกไปอย่างนี้” กล่าวคือข้อมูลที่รับไปช่างไกลกันกับความตั้งใจของผู้ส่งข้อมูล ช่องว่างระหว่างการรับส่งข้อมูลนี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความซับซ้อนของจิตนี้เอง

จิตประพันธ์ตน (Self-Authoring Mind) จิตนี้มองโลกต่างจากจิตข้างต้น ถ้าฉันมองโลกจากระดับความซับซ้อนของจิตนี้ ฉันมักจะส่งเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เท่าที่จำเป็นและเพียงพอจะทำให้คนอื่นรับไปทำงานต่อได้ เพื่อให้งานเดินไปอย่างดีที่สุด ตามวาระหรือการออกแบบที่ฉันวางไว้ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม คนส่งข้อมูลจะคิดวางแผน วิเคราะห์ วางกลยุทธ์ไว้แล้วว่าอะไรจำเป็นบ้าง ไม่ว่าความคิดนั้นจะยอดเยี่ยม หรือเต็มไปด้วยจุดบอด หรือเขาจะพูดจาโน้มน้าวใจคนเป็นหรือไม่ก็ตาม ไม่สำคัญ ประเด็นอยู่ที่ว่า คนที่มีจิตประพันธ์ตนจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะส่งข้อมูล เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งผู้ขับเคลื่อนองค์กร ในขณะที่จิตตามสังคมจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ถูกขับเคลื่อนไป

ในภาครับข้อมูล จิตประพันธ์ตนก็จะทำงานคล้ายๆ กันกับภาคส่งข้อมูล กล่าวคือ เขาจะสร้างเครื่องกรองข้อมูลเอาไว้ เพื่อให้ตนรับเอาเฉพาะข้อมูลที่ไล่ความสำคัญตามลำดับจากมากไปน้อย ข้อมูลของใครก็ตามที่สอดรับกับแผนก็จะผ่านการกรองของฉันได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสอดรับกับแผนที่ฉันวางไว้ก็จะต้องใช้เวลาและความพยายามมากขึ้นที่จะผ่านการกรองนี้ได้ จิตประพันธ์ตนจะใช้ได้ดีในยามที่งานมีเวลาจำกัดและเร่งด่วน ที่กล่าวเช่นนี้ได้ ก็เพียงเฉพาะกรณีเปรียบเทียบกับจิตตามสังคมเท่านั้น เพราะมีอีกหลายกรณีที่กรอบความคิดที่ฉันเคยใช้ได้ดีในอดีต มาวันนี้อาจเก่าไปแล้ว หรือกรอบนั้นอาจกรองคุณค่าบางอย่างที่สำคัญทิ้งไป ทำให้แทนที่งานจะดำเนินการไปได้ด้วยดี กลับสะดุดและแสดงผลงานด้อยลงไป

จิตวิวัฒน์ตน (Self-Transforming Mind) โดยเปรียบเทียบกับจิตประพันธ์ตน จิตวิวัฒน์ตนก็มีกรอบการคิดกลั่นกรองข้อมูลเช่นกัน ต่างกันตรงที่เขาจะไม่ติดกรอบคิดนั้น จิตวิวัฒน์ตนจะสามารถถอยออกมา แล้วมองกลับไปที่กรอบคิดนั้นได้ เพราะอะไรจิตนี้จึงมองโลกเช่นนี้? ก็เพราะว่าจิตวิวัฒน์ตนให้คุณค่ากับจุดยืนที่มีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ระมัดระวังว่าจุดยืนนั้นๆ หรือการวิเคราะห์นั้นๆ หรือวาระนั้นๆ อาจกลายเป็นอุปสรรคโดยตัวเอง เพราะจุดยืนหนึ่งๆ เกิดขึ้นตามกาลเทศะ แต่โลกของเราหมุนเวียนเปลี่ยนไป อะไรที่เป็นเหตุเป็นผลในวันนี้ อาจไม่เป็นเหตุเป็นผลในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ดังนั้นคนที่มีจิตวิวัฒน์ตนจะสื่อสารเพื่อไม่ใช่เพียงเพื่อให้แผนที่ได้วางไว้สามารถดำเนินการไปได้เท่านั้น แต่จะสร้างพื้นที่ว่างเผื่อไว้ให้สำหรับการปรับหรือขยายแผนด้วย

ดังนั้นเวลาจิตวิวัฒน์ตนจะส่งข้อมูล ก็จะส่งข้อมูลคล้ายๆ กับจิตประพันธ์ตนส่ง คือเพื่อให้คนอื่นรับไปดำเนินการตามแผน ที่ต่างกันคือ จิตวิวัฒน์ตนจะไม่จำกัดวงอยู่ภายในกรอบการดำเนินการตามแผนเท่านั้น แต่จะเพิ่มการส่งข้อมูลให้คนอื่นรับรู้ว่า เขาก็สามารถร่วมสร้างและร่วมออกแบบแผน ระหว่างทางที่ทำงานด้วยกันได้ เขาจะมองหาข้อมูลที่จะช่วยทีมงานสามารถขยายกรอบให้กว้างขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าหากันมากขึ้น หากจิตประพันธ์ตนจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป็นหลัก จิตวิวัฒน์ตนจะใส่ใจมากขึ้นกับการสร้างแผนที่ใหม่หรือตั้งเข็มทิศใหม่ในการเดินทาง ในขณะที่ภาครับข้อมูลก็มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกัน คือรวมเอาคุณสมบัติที่ดีคือ กรอบการคิดกลั่นกรองของจิตประพันธ์ตนไว้ แต่ไม่ถูกจองจำอยู่ในกรอบคิดนั้น เขาเปิดออกจากกรอบเพื่อรับข้อมูลที่จะบ่งบอกถึงข้อจำกัดของกรอบความคิด หรือแผนที่ออกแบบไว้ เพราะกรอบนั้นอาจกรองเอาสิ่งดีที่มีคุณค่าออกไป และเป็นไปได้ว่าสิ่งที่กรองออกไปอาจเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทั้งระบบ ให้ก้าวขึ้นสู่ศักยภาพใหม่ได้

ปีเตอร์ เซงเก้ เขียน วินัยที่ห้า (The Fifth Discipline) เพื่อตอบโจทย์การยกระดับระบบการบริหารจัดการที่เป็นอยู่ใหม่ทั้งระบบ โดยเน้นไปที่การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เมื่อหันกลับมามองการสื่อสารในองค์กร การเปลี่ยนระบบการสื่อสารในองค์กรทั้งระบบจะเกิดขึ้นได้ ก็โดยอาศัยการวิวัฒน์จิตของคนในองค์กรทั้งยวง คือลูกน้อง/พนักงานเปลี่ยนจากจิตระดับที่ ๓ เป็นจิตระดับที่ ๔ คือการเปลี่ยนจากการสื่อสารที่แปลงข้อมูลเพื่อเอาใจนายหรือตามใจกลุ่ม มาเป็นการสื่อสารที่ขับเคลื่อนได้ในทุกระดับงาน และเจ้านาย/ผู้บริหารเปลี่ยนจากจิตระดับที่ ๔ เป็นจิตระดับที่ ๕ คือการเปลี่ยนจากการสื่อสารที่มุ่งขับเคลื่อนงานโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มาเป็นการสื่อสารที่สนับสนุนการเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่น เรียนรู้ และปรับตัว เท่าทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของโลก

ภาพการไหลของข้อมูลดังกล่าวเป็นอาจเป็นภาพภายนอกของการวิวัฒน์จิต ที่มองเข้าไปยังคนที่มีระดับจิตต่างๆ กันในองค์กร และภาพดังกล่าวอาจสร้างความมุ่งหวังตั้งใจดี และทิศทางที่ชัดว่าองค์กรจะปรับตัวไปอย่างไร แต่ความสามารถทำให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลได้จริง อาจต้องกลับมาวิวัฒน์จิตกันจากภายใน คือกระบวนการทำงานกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเอกซ์เรย์จิต ไปจนพบกับกรอบคิดที่ปิดกั้นตัวเองอยู่ในความซับซ้อนเดิม และทำงานต่อไปจนเกิดการปรับตัวสามารถก้าวข้ามกรอบคิดยกระดับขึ้นสู่ความซับซ้อนที่มากขึ้น ตามแนวทางที่ศาสตราจารย์คีแกนและลาเฮได้คิดค้นและทดลองใช้จริงมาแล้วกับองค์กรทั่วโลก ท่านผู้อ่านที่สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม อาจหาบทความที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้มาอ่านประกอบกันได้ อาทิ “เหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน” และ “Inception ปลูกความคิด ให้ตรงกับความจริง”

สถาปัตยกรรมความเป็นเพื่อน



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553

หากเราเชื่อเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือแนวคิดที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน ดังที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เคยเสนอไว้แล้ว ชีวิตเราทุกคนคงได้รับผลกระทบระดับสึนามิหลายพันระลอกจากเว็บไซต์ยอดนิยม: เฟซบุ๊ก (facebook)

เฟซบุ๊ก หรือที่คนไทยนิยมเรียกมันสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเว็บสุดฮิต ผู้คนในทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านคน เมื่อเขาหายแว้บเข้าไปในโลกเสมือน ไซเบอร์สเปซ หรือ อินเทอร์เน็ต เขาก็มักจะไปชุมนุมอยู่ที่นี่กันมากและนานที่สุด ใช้เวลากับที่นี่มากยิ่งกว่าที่เว็บอื่นๆ

คนไทย ๖๖ ล้านคนที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สูงนักก็ยังเป็นมีบัญชีสมาชิกเฟซบุ๊กถึง ๔ ล้านกว่าราย ทั้งเด็กวัยรุ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงาน ครูอาจารย์ นักวิชาการ ดารานักร้อง แม้กระทั่งนักการเมือง รัฐมนตรีต่างๆ ก็เป็นสมาชิกเช่นกัน เพราะองค์กรเชื่อมโยงงาน ชั้นเรียนเชื่อมโยงบทเรียน การบ้านเข้ากับเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ จะติดต่อกัน หรือส่งงาน ก็ดำเนินการกันผ่านเฟซบุ๊ก นักศึกษาจำนวนไม่น้อยรีบเปิดเว็บไซต์นี้เป็นเว็บแรกเมื่อตื่นนอน คอยเช็คเว็บไซต์นี้บ่อยๆ แม้ในระหว่างเรียน และเปิดเป็นเว็บสุดท้ายก่อนเข้านอน เรียกว่าติดงอมแงมเลยทีเดียว

ประเมินจากจำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้งานจำนวนล้นหลามถึงระดับนี้แล้ว เราจะถือได้ว่าเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จตามพันธกิจหรือความตั้งใจที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ใช่หรือไม่?

ข้อมูลในหน้าเว็บระบุพันธกิจของเฟซบุ๊กไว้ว่า คือ การให้อำนาจในการแบ่งปันแก่ผู้คนและสร้างโลกที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ในเฟซบุ๊กเราเชื่อมโยงผ่านการเป็น “เพื่อน” โดยการขอเป็นเพื่อนกัน และอีกฝ่ายต้องตอบรับ เราสามารถเป็นเพื่อนกัน เลิกเป็นเพื่อน และกลับมาเป็นเพื่อนกันใหม่ ได้โดยผ่านการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

รูปแบบวิธีการเชื่อมโยงอันแสนสะดวกง่ายดายนี้ ทำให้เฟซบุ๊กเป็นสินค้าบริการที่ขายดีมาก ติดตลาดอย่างรวดเร็ว คนซื้อแล้วติดใจ ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีกบ่อยๆ มีขาประจำอย่างรวดเร็วและเหนียวแน่น แต่ละคนต่างไปชักชวนเพื่อนๆ ญาติๆ ให้มาใช้ร่วมกัน เหตุผลที่คนมักพูดถึงเฟซบุ๊กและชักชวนกันเข้าไปก็คือ ใครๆ เขาก็ย้ายไปนั่นหมดแล้ว เหมือนสถานบันเทิงที่คนมักย้ายไปใช้เวลาสังสรรค์กันในแห่งที่กำลังฮิตที่สุด กิจกรรมในเฟซบุ๊กก็แทบจะเทียบได้กับสถานที่จริง อย่างสถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงห้องแสดงงานศิลปะ ผู้คนพากันเข้าเฟซบุ๊กไปเล่นเกม ไปสนทนากัน พบปะเพื่อนใหม่ จับจ่ายใช้สอย แม้กระทั่งเข้าไปชมผลงานภาพถ่าย

เว็บไซต์นี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนมันเป็นเหตุผลในตัวเสร็จสรรพว่าต้องขยายขึ้นเรื่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ดูไปก็คล้ายระบบเศรษฐกิจของโลกที่ดูเหมือนไม่ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องขยายขึ้น โตขึ้น

ในปัจจุบัน เราได้ยินคำโฆษณา ทั้งปากต่อปาก และผ่านสื่อต่างๆ ว่าสินค้าและบริการแต่ละอย่างดีอย่างไร มันทำอะไรได้บ้าง ทำไมคุณควรจะมีมัน และเสพมันมากๆ แต่ว่าเราแทบจะไม่รู้เลยว่า เราควรจะบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เท่าใดจึงจะเหมาะสม

รูปธรรมของการเสพสินค้าบางอย่างมากเกินไปอาจเห็นได้ชัดเจน (เช่น รอบเอวที่เพิ่มขึ้น) แต่บางอย่างก็ไม่ชัดเจน หรือต้องใช้เวลานาน แล้วรูปธรรมของการเสพเครือข่ายสังคมออนไลน์มากเกินไปเล่า มีหรือไม่

แล้วจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนของเราแปรผกผันกับคุณภาพ ความแน่นแฟ้น ความลุ่มลึกของความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างในโลกความเป็นจริงเท่าใด ยิ่งมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมาก เรายิ่งต้องใช้เวลาในการอ่านและเขียนข้อความ (post) เขียนแสดงความคิดเห็น (comment) อัพโหลดและดาวน์โหลดรูป รวมถึงกดปุ่ม “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (Like) มากขึ้นหรือไม่

สมาชิกเฟซบุ๊กหลายคนไปเพื่อเชื่อมโยง เพื่อหาเพื่อนออนไลน์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะยิ่งทำให้เราห่างเหินกับเพื่อนออฟไลน์ของเรา ทำเพื่อนของเราหายหรือตกหล่นหรือไม่

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการของเฟซบุ๊กอาจเป็นเวลาที่เราสามารถใช้ในการทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในชุมชน โอกาสในการทำนุบำรุงสายใยของครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ของเรา หรือความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูดูแลความสัมพันธ์ของเรากับที่ทำงานที่บางครั้งเราใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของวันเสียด้วยซ้ำ

มนุษย์เราล้วนต้องการความสุข เรามักจะคิดว่าจะได้มันผ่านการเสพ เมื่อเราเริ่มเสพไปเรื่อยๆ เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับที่ระบบสินค้าและบริการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา นานๆ เข้าเราอาจลืมไป นึกไม่ออกว่าสาเหตุในการเริ่มต้นเสพของเราคืออะไร

เฟซบุ๊กก็เป็นเช่นนั้น เป็นรูปแบบและระบบใหม่ของการจัดการความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสินค้าและบริการยอดนิยมที่แพร่หลาย เป็นปรากฏการณ์ของความสำเร็จที่เราชื่นชม จนเราอาจละเลยไม่ได้เห็นว่าสาเหตุที่แท้ในการมีมันและการใช้มันนั้น คืออะไร?

ลืมไปว่าพันธกิจที่แท้ของอำนาจในการแบ่งปัน การสร้างโลกที่เปิดกว้าง และการเชื่อมโยงกัน คืออะไร?

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือและภาพยนตร์ที่บอกเล่ากำเนิดของเฟซบุ๊ก และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสะท้อนชวนให้ตั้งคำถามต่อพันธกิจของเฟซบุ๊กนี้ด้วย

หนังสือมีชื่อว่า The Accidental Billionaires: The Founding Of Facebook, A Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal และภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก The Social Network สื่อทั้งสองบอกเล่าประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจของเว็บไซต์ และประวัติของผู้ก่อตั้ง คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน (คูณสามสิบเพราะเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก

เรื่องราวในหนังสือและภาพยนตร์บอกเราว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนเรียนเก่ง สอบข้อสอบที่เทียบเท่ากับข้อสอบโอเน็ต เอเน็ตของไทยได้คะแนนเต็ม แต่เขาเป็นคนขี้อาย ดูอึดอัดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น จริงอยู่ที่สุดท้ายเขาก็ได้ประสบความสำเร็จ แต่บนความสำเร็จนั้นกลับไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ร่วมเดินทางชีวิตด้วยกันมาก่อน มหาเศรษฐีพันล้านผู้สร้างเฟซบุ๊กซึ่งมีพันธกิจเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันกลับถูกเพื่อนเลิกคบ

ไม่แน่ใจว่าควรเรียกว่าน่าขัน ตลกร้าย หรืออย่างไร ที่คนล้มเหลวในเรื่องเพื่อน กลับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการเป็นเพื่อนกันของคนร่วมห้าร้อยล้านคนบนโลก ที่มีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการผลิต “ความใกล้ชิดสนิทสนม” ให้กับผู้คนผ่านการสร้างชีวิตที่สองในหมู่บ้านจัดสรรของโลกเสมือน

เราอาจตีความได้ว่าแรงผลักดันหนึ่งของการสร้างเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เริ่มจากความอยากเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แต่เลือกที่จะเดินทางอ้อม ผ่านการมีชื่อเสียงโด่งดังและมีทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อเฟซบุ๊กเกิดขึ้น เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ สุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกหรือไม่

ผู้คิดค้นและสร้างเฟซบุ๊กก็พยายามใช้มันเพื่อชดเชยช่องว่าง ทดแทนส่วนที่หายไปของชีวิต แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเติมเต็ม หรือจะยิ่งขยายทำให้ช่องว่างมันใหญ่ขึ้น

เฟซบุ๊กดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหรือบริการที่ช่วยเราในมีปฏิสัมพันธ์ มีการเชื่อมโยงกับเพื่อนได้ง่ายๆ แต่บางทีสิ่งที่มนุษยชาติต้องการจริงๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของความง่าย แต่เป็นพันธกิจความสุนทรียภาพ ความประณีตบรรจงที่จะคิด พูด และทำ สิ่งที่เราต้องการคือการนำเอาความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติกลับเข้ามาอยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ของเรา

พันธกิจที่แท้ของมวลมนุษยชาตินั้นคล้ายกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาก ทว่าก็แตกต่างมากเช่นกัน เพราะเป็นพันธกิจการให้อำนาจในการแบ่งปัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล รูปภาพ แต่แบ่งปันความรักความเมตตา ความเอาใจใส่ในความรู้สึกของกัน พันธกิจของการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่การเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่คือการเปิดใจเราให้กว้างขึ้น มีความรักอันไพศาล มีอิสรภาพไปพ้นจากอัตตาและความคิดอันคับแคบ พันธกิจของการเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสาร แต่เป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดอย่างเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

"ตัวตนกับการภาวนา (๒)"
ตอนจิตเสี้ยวกับจิตบริบูรณ์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553

ในทุก ๆ ศิลปะว่าด้วยตัวตนกับการภาวนา ทุกสำนักจะพูดถึงจิตประภัสสรหรือจิตทั้งหมดอันเป็นองค์รวมกับจิตเสี้ยว จิตเสี้ยวเป็นเพียงบางเสี้ยวส่วนของจิตทั้งหมด บางทีมันอาจจะหดตัวด้วยอาการถูกกระทำมาในอดีต มันตกไปอยู่ในโหมดปกป้องในยามที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ในวัยเด็ก มันกลายมาเป็นประวัติบุคคล ที่ดอนฮวน พ่อมดเม็กซิกันแนะนำให้เราลบออกไป รวมถึง ดร.ฮิว เลน แห่ง ฮูปโปโนโปโน ที่นำเสนอวิธีการชะล้างความขุ่นมัวเช่นนี้ออกไปเช่นกัน เหมือนว่าเรามีธรรมชาติเดิมแท้ หรือในพุทธศาสนานิกายเซนใช้คำว่าจิตเดิมแท้อยู่แล้วในส่วนในลึกของเรา ใสสะอาด พร้อมมูลด้วยศักยภาพทั้งหมดทั้งมวล เพียงเราลบความขุ่นมัวออกไป เราก็สามารถเข้าถึงจิตที่ใสพิสุทธิ์นี้

ใน วอยซ์ไดอะล็อค ของ ดร.ฮัล กับ ดร.ซิดรา สโตน สามีภรรยา (คำว่าวอยซ์ไดอะล็อคนี้ เพื่อนผมคนหนึ่ง คือ สมพล ชัยสิริโรจน์ แปลว่า การสนทนากับตัวตนภายใน สมพลเป็นผู้นำองค์ความรู้นี้มาให้ผมได้ศึกษาเล่าเรียนด้วย) กล่าวว่า จิตทั้งหมดคือตัวเรา จิตเสี้ยวได้แบ่งออกไปเป็นตัวตนต่างๆ หลายๆ ตัว และหลายตัวอาจจะก่อเกิดขึ้นมาจากบาดแผลหรือปมในอดีต สโตนสามีภรรยากล่าวว่าตัวตนแต่และตัวมีคู่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับหยินหยาง (ที่จริง คาร์ล จุง ครูของพวกเขาก็เริ่มศึกษาตะวันออก และหลอมรวมองค์ความรู้ตะวันออกเข้ามาในจิตวิทยาบ้างแล้ว) เมื่อเราเข้าไปโอบกอดตัวตนใดตัวตนหนึ่งด้วยความรุนแรง เราก็มักจะเหวี่ยงทิ้งคู่ของมันไป ด้วยอาการเช่นนี้แหละที่เราเริ่มลดทอนจิตของเราให้เหลือเป็นเสี้ยวส่วน และสูญเสียความเป็นองค์รวมไป

ตัวตน อัตลักษณ์หรือความรู้เท่าทัน

อดัม เคิล เขียนไว้ใน Education for Liberation หรือ การศึกษาเพื่อความเป็นไท ว่า ตัวตนมีสามระดับ โดยร้อยเรียงเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ความรู้เท่าทัน ขั้นแรกคือระดับความรู้เท่าทันที่อ่อนที่สุด (ความรู้เท่าทันนี้ เขาใช้คำว่า awareness และใช้ identity สำหรับคำว่าอัตลักษณ์) ในระดับแรกนี้ อัตลักษณ์ไม่ปรากฏชัดเจน คือมีพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปมาอย่างไม่รู้เท่าทันตัวเอง อีกนัยหนึ่งอาจเป็นพฤติกรรมแบบมีชีวิตเป็นไปอย่างเป็นปฏิกิริยา (reactionary) มากกว่าจะเป็นตัวของตัวเอง คนพวกนี้มีมากในผู้ไร้การศึกษา โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาในความหมายที่แท้ คำว่าเปลี่ยนไปมา อาจจะหมายถึงการมีตัวตนหลายตัว ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกัน และตัวตนเหล่านั้น ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นปฏิกิริยากับเหตุการณ์มากกว่าที่จะมีมาจากความรู้ความเข้าใจความเป็นตัวตนของตน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีความรู้เท่าทันน้อย

อัตลักษณ์แบบครอบครอง

ตัวตนระดับที่สองในทัศนะของ อดัม เคิล คืออัตลักษณ์แบบครอบครอง ในระดับนี้ คนจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังกัดและสิ่งที่ตัวเองครอบครอง สังกัดอย่างเช่นจบจากโรงเรียนเตรียมอุดม จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อ และทำงานในองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ส่วนสิ่งที่ตัวเองครอบครองอย่างเช่น นั่งรถหรูยี่ห้อดัง มีบ้านใหญ่โต มีลูกชายหญิงที่เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ในชั้นนี้จะมีความรู้เท่าทันสูงขึ้น อย่างน้อยมากกว่าระดับแรก แต่ยังยึดติดในภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ตัวเองสังกัดหรือครอบครองนั้นๆ และหากประสบเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจจะหล่นไปอยู่ในระดับแรกได้เช่นกัน คือเสียศูนย์ไปเลย ในห้วงเวลาเช่นนั้น โกรธ โลภ หลง อาจจะเป็นยักษ์มารที่มาปรากฏให้เห็นก็เป็นได้

ที่จริงอัตลักษณ์ระดับที่สองนี้ คนเรามักจะใช้ชีวิตเป็นไปตามเสียงของสังคม หากไม่ได้รับฟังเสียงด้านในที่อยู่ลึกลงไป เขาหรือเธออาจจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จตามเสียงของสังคม แต่ก็ปราศจากแรงบันดาลใจ และแรงขับส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้องสถานภาพที่เป็นอยู่ มากกว่าที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยปัญญาและแรงบันดาลใจอย่างแท้จริง ชีวิตจึงมักจะเป็นไปอย่างแห้งแล้งน่าเบื่อหน่าย ความคิดก็มักจะย่ำซ้ำซากอยู่ในกรอบเดิมๆ อยู่กับตำรับตำราที่เรียนมาเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีที่แล้ว

อัตลักษณ์แบบนี้ จะมีบุคลิกภาพมั่นคงกว่าแบบที่หนึ่งซึ่งความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ยังเป็นวุ้นอยู่ แต่แบบที่สองจะมีวินัยมากกว่า เพราะต้องฝึกฝืนตัวเองให้สามารถทำตามความสำเร็จที่สังคมวางกรอบไว้ให้ แต่กระนั้นก็ยังเป็นผู้เลือกใช้คู่ของตัวตนแต่เพียงบางด้าน และอาจเลือกขึ้นมาเพราะถูกกระทำในวัยเด็กจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ได้เช่นกัน การเลือกส่วนใหญ่ก็มาจากปมทางจิตวิทยาที่ถ่ายทอดมาในตระกูลในวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน การเลือกใช้เพียงหนึ่งในตัวตนที่มีมาเป็นคู่ของมันนั้น ทำให้จิตลดทอนลงเป็นเสี้ยว และพอมีตัวตนหลักๆ ที่เป็นเสี้ยวเหล่านี้ พวกเขาก็นำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่คิดว่าสำเร็จได้ แล้วติดแหง็กอยู่ในความเป็นเสี้ยวของจิตเท่านั้นเอง ยังไม่มีโอกาสประสบพบพานจิตอันบริบูรณ์

อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทัน

อัตลักษณ์แบบรู้เท่าทันนั้นเป็นเป้าหมายที่ อดัม เคิล ตั้งไว้เป็นอุดมคติ แต่ใช้คำว่าอัตลักษณ์เป็นบาทฐาน ที่จริงอัตลักษณ์แบบนี้เริ่มหลุดออกจากอัตลักษณ์ไปแล้ว น่าจะเป็นมนุษย์พันหน้าอย่างที่เคยได้ยินมาจากที่ไหนสักแห่ง แต่จำไม่ได้แล้ว มีคนเคยถาม เจมมี่ แพนกายา ศิษย์ของ ดร.สโตน สามีภรรยาว่า ในวอยซ์ไดอะล็อคมีตัวตนทั้งหมดอยู่กี่ตัว เจมมี่ตอบว่ามีอยู่พันล้านตัว คือเราเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในโลกนี้ หรือว่าเราเป็นจักรวาล เราคือความเป็นไปได้ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดด้วยอะไรเลย ในวอยซ์ไดอะล็อคนั้น ความรู้เท่าทันที่พัฒนาขึ้นมาตามลำดับนั้นได้ทำให้เราหลุดออกจากกรงขังของอดีต ความคุ้นชิน ความเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล เป็นเพียงเสี้ยวของจิต แล้วออกไปสู่อิสรภาพ สู่ความเป็นไปได้ เราสามารถปลดตัวเองจากประวัติส่วนตัว ปลดตัวเองจากปัญญาแห่งความรู้ เข้าสู่สายธารแห่งความไม่รู้ เข้าสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้ที่จางจื้อพูดไว้ในหนังสือ มนุษย์ที่แท้

ญาณทัศนะ นิพพาน และปัญญาแห่งความไม่รู้

"ต้อง" เด็กหนุ่มที่มาเรียนปริญญาตรีทางเลือกกับอาศรมหิ่งห้อย กำลังอ่าน เต๋าแห่งฟิสิกส์ ของ ฟริตจอป คราปา ฉบับแปล (ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีการตีพิมพ์มานานแล้ว) เขาสนุกมากกับบทหลังๆ เขาบอกว่าเข้าใจคำว่าญาณทัศนะมากขึ้นจากคำอธิบายของคราปา แล้วเขาถามว่าจะมีท่าทีอย่างไรดีกับคำว่านิพพาน ผมว่าเมืองไทยนี้โชคดี ที่เรามีคนอย่างท่านพุทธทาส ให้เรียนรู้จากท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า นิพพานแปลว่าดับ เย็น เวลาไฟที่ลุกโชนดับลง มันก็เย็น จิตที่มันดับและเย็นลงมันสบาย มันไม่ต้องเรื่องมาก ดับเมื่อไรก็เย็นเมื่อนั้น ดับเย็นเล็กๆ ในชีวิตประจำวันนี้แหละใช้ได้ ท่านกล่าวถึงคำว่านิพพานน้อยๆ เราดับเย็นน้อยๆ ได้ตลอดเวลา ที่นี่เดี๋ยวนี้เอง

ทุกครั้งที่มีญาณทัศนะ มันจะหลุดไปเปลาะหนึ่งๆ มันจะดับเย็นไปครั้งหนึ่งๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เข้าถึงจิตอันบริบูรณ์ทุกทีไป เป็นสุดยอดฆราวาสธรรมแล้ว มันหลุดออกจากกรงขังแห่งจิตเสี้ยว จากตัวตนหรือบุคลิกที่จิตสร้างขึ้นมาเป็นกลไกปกป้องตัวเอง เป็นโหมดปกป้อง เป็นปม เป็นบาดแผล แล้วไปยึดเอาปัญญาแห่งความรู้มาเป็นพวก ทำให้ปัญญาไปรับใช้เป้าหมายอันต่ำทราม และความรู้ก็เป็นเสี้ยวส่วน เหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ แค่คลาดไปก็เป็นอวิชชาแล้ว เราต้องก้าวล่วงไปสู่ปัญญาแห่งความไม่รู้

ดังกฤษณมูรติมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Freedom from the Known คือเราต้องเป็นอิสระมาจากสิ่งที่รู้หรือปัญญาแห่งความรู้

Back to Top