มกราคม 2005

สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ?
สงครามชอบด้วยศีลธรรมหรือ? สงครามชอบธรรมหรือ?

โดย เดวิด สปินเลน
วนิสา สุรพิพิธ แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2548

ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ขอให้ผู้เขียนได้เล่าถึงพื้นเพของตนเองสักเล็กน้อย ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันอายุ ๖๖ ปี ลุงสองคนของผู้เขียนเคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อท่านกลับบ้าน เราทุกคนมองว่าท่านเป็นวีรบุรุษ ผู้เขียนมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งร่วมรบในสงครามเกาหลี พี่ชายของผู้เขียนเรียนที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐและรับราชการทหารเรือนานกว่า ๒๐ ปี ผู้เขียนเองรับราชการอยู่ในกองทัพบกสหรัฐนานหกปี โดยใช้เวลาสองปีในเวียดนาม เมื่อยังเยาว์วัย ผู้เขียนเป็นเหมือนชายหนุ่มทั่วโลกส่วนใหญ่ที่เชื่อในสิ่งที่ครอบครัวและวัฒนธรรมของตนสั่งสอนมาว่า เรามีหน้าที่ที่จะต้องรับใช้ประเทศชาติของเรา และหากเราตายในสงคราม เราจะได้เป็นวีรบุรุษ

บัดนี้ ผู้เขียนไม่เชื่อสิ่งที่ผู้เขียนถูกสอนมาเมื่อครั้งเยาว์วัยอีกแล้ว ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามชอบด้วยศีลธรรม ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งชอบธรรม

ผู้อ่านบางท่านอาจคิดได้ทันทีถึงเหตุผลที่ว่าทำไมสงครามจึงเป็นสิ่งชอบธรรม ท่านคงได้รับการสั่งสอน กล่อมเกลา และเสริมสร้างให้เชื่อในสิ่งนี้เช่นกัน ที่จริงแล้วเราทั้งหมดก็เป็นเหมือนๆ กัน ในความเห็นของผู้เขียน เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนหรือด้วยเหตุใดก็ตาม มนุษยชาติต่างก็สูญเสียด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะในสภาพการณ์ใดๆ ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะว่าสงครามทั้งมวลล้วนเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก็เพราะพระพุทธองค์และพระเยซูเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า เราทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และก็เพราะเราแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงอยู่ในตัว ดังนั้นเราจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ทุกประเทศและทุกวัฒนธรรมในโลกให้เกียรติยกย่องสงครามและทหารผู้สิ้นชีพในสงคราม มีอนุสรณ์สถาน สุสานทหาร วันชาติเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษในสงคราม เมื่อผู้นำมาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการก็มักจะต้องเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานแด่ผู้พลีชีพของประเทศนั้นๆ

ไม่เฉพาะแต่สงครามเท่านั้นที่ลดความเป็นมนุษย์ของเรา ภาพยนตร์ วิดีโอ และเกมคอมพิวเตอร์ล้วนบรรจุความรุนแรง ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน รายการข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยข่าวอาชญากรรมหรือความรุนแรงล่าสุด หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงสุดเต็มไปด้วยภาพถ่ายและบทความอันรุนแรง ซึ่งคนนับล้านก็กระหายใคร่ซื้อมาอ่าน

หากพิจารณาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะรู้ว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อสงคราม สงครามไม่ใช่บางสิ่งซึ่งเกิดขึ้นภายนอกตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่ขยายออกไปจากตัวเรา ฝังรากอยู่ในธรรมชาติของเรา และเกิดขึ้นภายในเราทุกคน สงครามเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคจิต-โรคประสาทหมู่ ที่นำแต่ละคนเข้าสู่สภาวะของจิตซึ่งสามารถก่ออาชญากรรมได้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นสภาวะของจิตใต้สำนึกของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดนี้ถูกหยั่งรากลงไปผ่านทางการปลูกฝังทางวัฒนธรรมและการกดขี่ ก่อนกลับขึ้นมาเป็นการฆาตกรรมหมู่ในสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุด ผู้แพ้บางคนถูกนำตัวขึ้นศาลและไต่สวนในข้อหาอาชญากรสงคราม สิ่งนี้ทำให้หมู่คณะหรือทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ และโยนภาระไว้ให้กับบางคน สิ่งนี้ช่วยปลดเปลื้องเราทุกคนที่เหลือออกจากภาพอันน่าสะพรึงกลัวของอาชญากรรมสงคราม “พวกนั้น” เป็นคนลงมือทำ ไม่ใช่ “พวกเรา” แล้วพวกเราส่วนใหญ่ก็หนีพ้นความรับผิดชอบส่วนตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรอง จะต้องมีสงครามต่อไป พร้อมทั้งอาจมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สงครามเป็นการแสดงออกร่วมกันของความทุกข์ของแต่ละคน ถ้าเราต้องการยุติสงครามเราจะต้องตื่นขึ้นและยอมรับความรับผิดชอบส่วนตัว ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เมื่อใดที่กลองแห่งสงครามถูกกระหน่ำ เราจะพบว่า ตัวเองร่วมออกเดินสวนสนามเข้าสู่สงครามท่ามกลางเสียงปลุกเร้าของฝูงชนและเสียงร่ำไห้ของครอบครัวเรา

เป็นเรื่องยากมากที่จะตื่นขึ้น ที่จะยอมรับว่าตัวเองเปี่ยมด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนรอบตัวกำลังใช้ความรุนแรงอยู่ แต่ถ้าเราไม่ทุ่มเทความพยายาม แน่ใจได้เลยว่าจะต้องมีสงครามและความรุนแรงมากขึ้นอีก

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อนแล้ว

ใครไม่คิดอาฆาตว่า

"มันด่าเรา มันทำร้ายเรา"
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา
เวรของเขาย่อมระงับ
แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้

เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว


ธรรมบท หมวดคู่ บทที่ ๔ และ ๕ (จาก พุทธวจนะในธรรมบท โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)


ความรับผิดชอบที่จะยุติสงครามอยู่ในมือคุณและผม ผู้เขียนตระหนักดีว่าสิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่โปรดระลึกว่าเมื่อ ๑๐๐-๒๐๐ ปีก่อน โลกเกือบทั้งหมดล้วนยอมรับการมีทาส แต่บัดนี้ทุกคนประณามมัน

ดังนั้น ขอให้เราเริ่มต้นด้วยการหยุดรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงภายในตัวเราและรอบตัวเราเถิด

ขอเวลาศึกษาหัวใจกันบ้าง

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2548

ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นที่วิสัยทัศน์ หลักสูตร และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทย ที่กำหนดทิศไปในทางสร้างองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานและการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ผู้บริหารและคณาจารย์ทำงานหนักเพื่อพัฒนาสมองคือเชาวน์ปัญญา และพัฒนาความสามารถ (สองมือ) เพื่อให้ปฏิบัติงานในวิชาชีพนั้นๆ ได้อย่างดีเลิศ

แน่นอน การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ คือวิสัยทัศน์ที่เก๋ที่สุดในวงการอุดมศึกษาไทย

มีที่ มีทิศ และมีทาง บ้างหรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหัวใจของนิสิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตอิสระ จิตอาสา ฝึกสติ พัฒนาปัญญาที่มีคุณธรรม และวัฒนธรรมเป็นฐาน

คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นมิได้เป็นพวกใฝ่ต่ำ เลื่อนลอย เหลวไหล อย่างที่พวกผู้ใหญ่ค่อนว่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขามีความดีงามอยู่ในใจอย่างมาก

แบบอย่างวิธีคิดของผู้ใหญ่และสื่อทั้งหลายต่างหากที่ชี้ทิศให้เขาเดินไปสู่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แข่งขันกันไขว่คว้าหาเงินและอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่ดีหรือเลว

นิสิตนักศึกษาหาหนทางที่จะสืบค้นเส้นทางชีวิตอันถูกต้องได้ยากเหลือเกิน จำนวนหน่วยกิตอันมากล้นไม่เหลือสำหรับการศึกษาให้รู้จักตนเองและรู้จักรักผู้อื่น คณาจารย์แต่ละวิชาพากันบ่นว่า เวลาและหน่วยกิตที่มีไม่พอที่ให้นิสิตรู้และเก่งได้ดังใจ

นิสิตนักศึกษาไม่มีทางเลือก กรอบหลักสูตรได้มัดเขาไว้อย่างเหนียวแน่น เธออยากจะไปเดินดูทุ่งนาป่าเขา อยากช่วยคนในสลัมข้างมหาวิทยาลัย เธอไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร (ซึ่งดีแล้ว) แต่กิจกรรมเหล่านั้น มหาวิทยาลัยจะแยกใบรับรองไว้ต่างหาก จะเอามาปนกับหลักสูตรปรกติได้อย่างไรเล่า

เรื่องของการพัฒนาจิตใจ เป็นงานเสริม ไม่ใช่งานหลักของมหาวิทยาลัย แม้แต่คณาจารย์เอง ก็ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาหัวใจของตน

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนวทางการพัฒนาจิตใจให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำธรรมะที่จะสอน ชื่อที่จะเรียก รูปที่จะสอน ความมุ่งหมาย วิธีสอน สถานที่สอน และครูผู้สอน ผู้เขียนจำได้ว่า พระคุณเจ้าเน้นวิธีสอน "ชนิดที่ให้เกิดความรู้สึก สามารถเปลี่ยนนิสัยสันดานของมนุษย์ได้จริง" ท่านเน้นบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ควรมียูนิเวอซิตี เต็มเปิล

ในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๕๐๔) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เสด็จมาเป็น "เพื่อนคุย" กับนิสิตจุฬาฯ และใช้ธรรมะเป็นแนวทางให้คำปรึกษาแก่นิสิตที่มีความทุกข์

นิสิตสมัยนั้น จึงมีผู้ให้ "ทิศ" นำ "ทาง" และมี "ที่" สำหรับพัฒนาหัวใจ

การสร้างหัวใจให้แข็งแกร่งและอ่อนโยนนั้น ต้องไม่ใช้วิธีบังคับและไม่ใช้วิธีการเดียว กิจกรรมที่สร้างขึ้นในการฝึกอบรมจิตใจ ควรหลากหลายและเหมาะกับจริตของนิสิตนักศึกษา เริ่มซึมซับทีละน้อยตั้งแต่วันแรกเข้าจนวันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

คนหนุ่มสาวเมื่อถูกบังคับก็ยิ่งต่อต้าน มหาวิทยาลัยสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดโดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม จัดดุลยภาพของหลักสูตรให้ครบทั้งวิชาการ คุณธรรม และวิชาชีพ มีวิชาเลือกเสรีที่มากพอ

คนหนุ่มสาวมีพลังและอารมณ์แรง ลู่วิ่งในสนามแข่งขันไปสู่เส้นชัยแห่งเงินและอำนาจนั้นแคบยิ่งนัก ถ้าเขาถูกเสี้ยมสอนให้วิ่งเร็วที่สุด เพื่อเอาตัวรอด ผลักไสเหยียบย่ำเพื่อนให้ล้มถลาออกนอกทาง ใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อยกตนให้เด่น ผู้เขียนมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงแรงผลักดันดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหาสังคมคุณธรรมได้อย่างไร

แม้คณาจารย์เองก็เช่นกัน ตั้งแต่ "จบ" การศึกษาปริญญาเอกแล้วก็จบกัน มีเวลาวิเคราะห์และพัฒนาจิตใจของตนเองบ้างหรือไม่ ถ้านิสิตนักศึกษาคือชีวิตของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ก็คือ "ขวัญ" ของสถาบันนั้น

มหาวิทยาลัยกำลังเสียขวัญหรือเปล่า?

มีเรื่องล้อเล่นที่เป็นจริงว่า ภาควิชาหนึ่งมีคณาจารย์ ๑๒ คน จบปริญญาเอกทุกคน แบ่งพวกกันเป็น ๔ กลุ่มกับอีก ๑ คนที่เข้ากับใครไม่ได้ บรรยากาศในภาควิชาอึมครึมและเงียบเหงา ไม่มีใครอาสาสอนแทนอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ หัวหน้าภาควิชานั้นปวดหัวมากเวลาประชุม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ห้องทำงานของผู้เขียนอยู่ติดทางเดินและใกล้ลิฟต์ ใจจะขาดเมื่อได้ยินเสียงนิสิตนินทาอาจารย์ และเพิ่มชื่ออาจารย์ให้เพี้ยนไปอย่างสนุกสนาน

เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในทุกสถาบัน มหาวิทยาลับกำลังทำอะไรอยู่

อันที่จริง โครงการดีๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่มาก เรามีโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร มีวิชาบัณฑิตอุดมคติ มีศาลาธรรม ธรรมสถาน ฯลฯ ทุกมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์และผู้บริหารที่ใฝ่ใจในโครงการเหล่านี้

เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ได้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ทางจิตใจของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นที่อาสาช่วยงานบรรเทาทุกข์พี่น้องร่วมชาติอย่างน่าชมเชย แต่เราจะเรียนรู้จากเหตุการณ์วิกฤตอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนควรมีโอกาสฝึกฝนพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างต่อเนื่องทุกเวลา

ความทุกข์และเพื่อนร่วมทุกข์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง บทเรียนของชีวิตไม่มีวันศึกษาได้จบ

ขอเวลาให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ได้ก้าวพ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ ไปสู่มิติทางสุนทรียภาพ สัมพันธภาพ และมีจิตอิสระ

ขณะที่การอุดมศึกษาไทยกำลังปฏิรูปกันยกใหญ่ เพื่อพัฒนาวิชาการและงานวิจัยไปสู่ระดับเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ผู้เขียนจะเพ้อฝันไปหรือเปล่าว่าใน พ.ศ.๒๕๕๓ หรือ ค.ศ.๒๐๑๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างพากันกำหนดระดับเทียบเคียง (benchmarking) ตามมหาวิทยาลัยไทยในด้านการพัฒนาบัณฑิตให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง

ตัวอย่างดีๆ มีอยู่แล้วในการศึกษาวิถีไทย มีดวงแก้วอยู่แล้วในกำมือ เราจะขว้างทิ้งแล้วมัวก้มลงเก็บก้อนกรวดอยู่หรือ

ร้อยเรียงการเรียนรู้จากสึนามิ

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2548

เมื่อคลื่นคลั่งถั่งโถมมหาศาล ธรรมชาติส่งสัญญาณผ่านความหมาย
ว่าความรักความสุขและความตาย เป็นรอยร่วมเรียงรายใกล้ชิดกัน
เสี้ยวนาทีที่พบก็พลัดพราก แม้ยามยากมีมิตรจิตปลอบขวัญ
เราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ทั้งนั้นรู้เท่าทันอย่าท้อก้าวต่อไป


สุมน อมรวิวัฒน์

********


แม้ต้นไม้จะถูกไฟป่าเผาผลาญจนดำราวกับถ่าน แต่ก็ไม่ยอมล้มหรือตายง่ายๆ เมื่อวันและเดือนผ่านไป ใบอ่อนก็ทยอยกันผลิออกมา ขณะที่ลำต้นก็ค่อยๆ กร้านแกร่ง และยอดก็ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตนั้นไม่เคยยอมแพ้ต่อภัยคุกคามใดๆ หากรอเวลาที่จะหยัดยืนขึ้นใหม่ด้วยความเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม วันนี้แม้เราจะล้มเพราะถูกทุกข์กระหน่ำ แต่ขอให้มั่นใจว่าพรุ่งนี้เราจะสามารถลุกขึ้นได้ใหม่ ไม่มีทุกข์ภัยใดๆ ที่จิรังยั่งยืน ไม่มีราตรีใดที่มืดมนไปตลอด ขอเพียงแต่เราอดทน รู้จักรอคอย มีศรัทธาในชีวิต ระดมสติและปัญญาเพื่อเป็นพลังให้แก่จิตใจ ไม่นานวันใหม่ย่อมมาถึง ทุกข์ภัยย่อมหมดไป แล้ววันนั้นเราจะแย้มยิ้มได้อีกครั้งหนึ่งด้วยใจที่มั่นคงกว่าเดิม

พระไพศาล วิสาโล

********


มหาวิปโยคกับจิตวิวัฒน์

แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์แห่งอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากมหาศาล บางคนสูญเสียพ่อ สูญเสียแม่ สูญเสียลูก สูญเสียสามี สูญเสียภรรยา หรือสูญเสียทั้งหมด การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ถ้าที่ใดมีทุกข์ แล้วมีการร่วมทุกข์ ความทุกข์จะบรรเทาเบาบางลง

มหาวิปโยคแห่งอันดามันได้ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของน้ำใจอย่างท่วมท้น เหมือนดังพระราชนิพนธ์ ร.๖ ที่ว่า
"อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน"


พลังน้ำใจมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ความกรุณาปรานีเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ เป็นจิตสำนึกที่สูง ตรงข้ามกับการหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับการเสพสุขของตัวเอง อันดามันวิปโยคนำมาซึ่งความทุกข์อันใหญ่หลวงของมนุษย์จำนวนมาก และแม้เพราะเหตุนั้น ได้ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความกรุณาปรานีที่ใหญ่กว่าคลื่นสึนามิ คลื่นนี้ได้ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีแผ่ซ่านไปทั่ว

อันที่จริงคลื่นของความทุกข์ที่ซัดกระแทกมนุษย์ทุกรูปทุกนามอยู่ทุกวี่ทุกวันนั้นใหญ่กว่าคลื่นสึนามิทุกลูกรวมกัน ถ้าการสื่อสารของเราจะลดทอนการกระตุ้นให้มนุษย์มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกามสุข หันไปหาวิธีให้มนุษย์ทั้งหมดได้ตระหนักรู้คลื่นของความทุกข์ของมวลมนุษย์ จะเกิดพลังแห่งน้ำใจหลั่งไหลอาบโลกให้ชุ่มเย็น พลังแห่งความกรุณาปรานีเป็น "กำลังเลิศกว่าพลังอื่นทั้งสิ้น" จะเป็นพลังขับเคลื่อนโลกไปสู่ศานติสุข แทนการขับเคลื่อนด้วยโลภจริตเยี่ยงในปัจจุบัน

ประเวศ วะสี


********

โอมาร์ ไคยาม กับภัยพิบัติ


ท่ามกลางกองขยะ สิ่งสลักหักพัง
หลังลิ้มรสช่วงขณะของชีวิต
ดาวตกเดือนดับฤกษ์เดินทาง
แจ้งสว่างที่ไหน - ใครจะรู้? โอ้ - เวลา!


ประสาน ต่างใจ


********


"แม่ธรณี" กับ "แม่คงคา" พลิกตัวพร้อมกันนิดเดียว ก็ยังให้เกิดภัยพิบัติใหญ่หลวงของมนุษย์ สรรพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้มากถึงเพียงนี้
หายนะครั้งนี้ให้บทเรียนล้ำค่าแก่เราว่า มนุษย์มิอาจควบคุม เอาชนะธรรมชาติได้ ดังนั้น เราจึงควรตั้งสติและใช้ปัญญา เรียนรู้เข้าใจโลกธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น
ในการนี้ จำเป็นที่เราจะต้องปรับท่าทีเสียใหม่ให้เคารพและถนอมรักษ์โลกธรรมชาติ ในฐานะที่เขามีชีวิตของเขาเอง มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวงเกิดที่นี่ พึ่งพาอาศัยเขาอยู่ที่นี่ เราจึงต้องรู้เท่าทัน กตัญญูรู้คุณ และไม่ตั้งอยู่ในความประมาท

เอกวิทย์ ณ ถลาง


********


ในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์บอกไว้ชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในจักรวาลนี้ล้วนแล้วแต่ “มีความหมาย” ทิ้งสิ้น “คลื่นสึนามิ” จึงไม่ใช่แค่ “เหตุบังเอิญ” หรือไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั่วๆ ไป
การเกิดคลื่นสึนามิ “สื่อความหมาย” อย่างไรกับพวกเราบ้าง? นอกไปจากความทุกข์และความโศกเศร้าของทั้งผู้สูญเสียเพื่อนคนไทยทั้งชาติรวมไปถึงชาวโลกทั้งหมดนี้
วิทยาศาสตร์ใหม่เชื่อว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิต
การเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิคงจะสามารถเปรียบเสมือนกับ “อาการปวดท้อง” และ “ท้องเสียอย่างรุนแรง” ของโลกใบนี้
ในขณะที่พายุรุนแรง (ไต้ฝุ่น ทอร์นาโด) เปรียบเสมือนเป็น “อาการไข้” ของโลก
ผมเชื่อว่า “สึนามิ” คือสัญญาณเตือนจาก “สิ่งมีชีวิตหนึ่งคือโลก” ว่า เธอกำลังป่วยกำลังปวดท้องกำลังท้องเสียและต้องการการเยียวยาและดูแลรักษาอย่างรีบด่วนเช่นกัน
เธอกำลังมีความทุกข์และทรมานไม่น้อยไปกว่าพวกเราที่กำลังเศร้าโศกและมีความทุกข์กันอยู่ในตอนนี้

นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์


********


จากเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ทำให้เราประจักษ์แล้วว่า ความสุข และความทุกข์นั้น ห่างกันเพียงเสี้ยววินาที จงหันกลับมาสู่ความสุขที่แท้จริง เพื่อตนเองและคนรอบข้าง เพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากความทุกข์ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือธรรมชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน จะเป็นการเจริญเมตตาภาวนา ที่สร้างความสุขอันยิ่งใหญ่และถาวร
จารุพรรณ กุลดิลก


********


สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคลื่นยักษ์อันดามัน
... คือ คลื่นน้ำใจอันมหาศาลของมนุษย์ที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ไม่แบ่งแยกเพศ อายุ ผิวพรรณ วรรณะ จากคนที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็น "คนไทย" และที่ไม่ใช่คนไทย ที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็นคนที่นับถือศาสนาเดียวกันกับเราและที่ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกับเรา หรือที่บางครั้งเราเผลอไปแบ่งว่าเป็นคนที่เราชอบและที่เราไม่ชอบ
... คือ รูปธรรมของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ-สุขภาวะทางปัญญา! น้ำใจอันบริสุทธิ์ การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การทำงานอาสาสมัครถือเป็นตัวอย่างของการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เป็นการเป็นพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ สามารถนำพาประเทศและโลกไปสู่การมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงของคนทั้งหมด
... คือ ปรากฏการณ์จิตวิวัฒน์! ปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ สามารถก้าวข้ามความอึดอัด คับแคบของอัตตา ตัวตน ไปสู่การมีจิตใหญ่ เชื่อมโยงถึงเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ
... คือ ความหวัง ความหวังในการอยู่รอดของมนุษยชาติ ในการเผชิญวิกฤตอื่นที่รอเราอยู่ในอนาคตกันใกล้นี้

สรยุทธ รัตนพจนารถ


********

ทะเลบ้า สึนามิ มติแห่งธรรมชาติ

ทะเลบ้าคนก็บ้าฟ้าบ้าด้วย
ทะเลสวยคนก็สวยช่วยฟ้าใส
ถ้าคนดีทะเลดีฟ้ามีใจ
รักกันไว้ คน น้ำ ฟ้า สัตว์ ป่า ดิน

ฉกฉวยมากสูญเสียมากฝากให้คิด
เมตตาจิตคิดจะให้กลับได้สิน
สินสมบัติของคนดีศรีแผ่นดิน
สินไม่สิ้นรินน้ำใจให้แก่กัน

สึนามิสื่อภัยดำสื่อธรรมชาติ
สึนามิอาละวาดมิคาดฝัน
สึนามิสื่อเตือนภัยให้เท่าทัน
ทะเล ฟ้า ป่า ดิน ฉัน นั้นหนึ่งเดียว

ทำลายน้ำทำลายป่าฆ่าผู้อื่น
หรือหยิบยื่นความทุกข์ใส่ให้คนเสียว
ความทุกข์นั้นผันหาเราเท่ากันเชียว
จึงอย่าเที่ยวทำร้ายเขาเพราะเขลาเลย

ปณิธาน ๓ ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นวิกฤต

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มกราคม 2548

ในสมัยโบราณมนุษย์อยู่กันตามกระเปาะทางวัฒนธรรม (cultural pockets) ตามสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย เรียกว่า มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลายหลายทางวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติ เพราะวัฒนธรรมสัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมซึ่งแตกต่างกัน เช่น คนที่ขั้วโลก คนในทะเลทราย คนในเขตหนาว คนในเขตร้อน คนบนเขา คนริมทะเล ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ เรียกว่าอารยธรรม เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห เป็นต้น

เมื่อชาวยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ แล้วนำวิทยาศาสตร์มาสร้างอาวุธที่มีอำนาจมาก เช่น เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกล ทำให้เกิดอำนาจมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ อารยธรรมใหญ่ๆ ที่มีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ปี อย่างอารยธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีน ไม่สามารถต้านทานอำนาจการยิงอันมหึมาของชาวยุโรปได้ อำนาจอันรุนแรงของชาวยุโรปทำให้โลกมีโครงสร้างใหม่ แทนที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โลกทั้งโลกถูกบังคับให้มีอารยธรรมเดียว จะเรียกว่าโลกาภิวัตน์หรืออะไรก็ตามที แต่แก่นแกนของมันคืออารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยม

อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมได้เข้าครอบงำโลก ทั้งในด้านโลกทัศน์และวิธีคิด การศึกษา โครงสร้างทางสังคมต่างๆ ในอารยธรรมนี้ได้เกิดขนาดเงินอันมโหฬารอย่างที่แต่ก่อนไม่มี และด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เงินจำนวนมหาศาลนี้วิ่งรอบโลกด้วยความเร็วของแสง เงินอันมหึมานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ แต่ไปดูดเงินที่มีน้อยกว่าของส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และมีการจัดการไม่ดีเท่า เงินอันมหึมาได้เข้าทำลายคุณค่าต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โลกที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดก่อให้เกิดระบบซับซ้อน (complex system) ที่ขับเคลื่อนด้วยโลภจริตขนาดใหญ่ สภาพโกลาหล (chaos) และวิกฤตการณ์จึงเป็นปรากฏการณ์ถาวร

คนทั้งโลกถูกโครงสร้างโลกครอบงำ กดทับ บีบคั้น จึงเกิดความเครียด ความทุกข์ ความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดยาเสพติด มีความรุนแรง ขาดอิสรภาพ ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ตนมีเพื่อสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรเป็น อารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมกำลังพาโลกทั้งโลกไปสู่สภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง

นักปราชญ์ตะวันตกได้มองเห็นวิกฤตการณ์ของอารยธรรมวัตถุนิยมบริโภคนิยมแล้วในขณะนี้ แต่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งเห็นมาก่อนใคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ โน่นแล้วที่ใครๆ ยังมองไม่เห็น ท่านได้พยายามตะโกนบอกเพื่อนมนุษย์เป็นอเนกปริยายว่า "วิกฤตแล้วโว้ย" ๆ ท่านผู้นี้เป็นมหาบุรุษร่วมสมัยกับเรา คือท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถร แห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมรณภาพไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ และจะครบ ๑ รอบศตวรรษแห่งชาตกาลในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ฝากปณิธานไว้ ๓ ข้อ โดยความดังนี้

๑. ขอให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของหลักธรรมของศาสนาของตนๆ
๒. ขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา
๓. ขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม


ในช่วงที่โลกก็วิกฤต ไทยก็วิกฤตไปตามโลกด้วยอย่างไม่มีทางออก และเรากำลังจะเข้าสู่ ๑ ศตวรรษแห่งชาตกาลของท่านมหาเถระ คนไทยน่าจะพากันศึกษาปณิธานทั้ง ๓ ประการกันอย่างจริงจัง อันจะทำให้พบทางออกจากวิกฤต

การคิดภายใต้ความครอบงำของสภาพที่ดำรงอยู่ไม่ทำให้พ้นวิกฤตได้ แต่มนุษย์สามารถหลุดจากมายาคติทั้งปวงไปสู่อิสรภาพและประสบความจริง ความงาม ความถูกต้องได้โดยการเข้าถึงศาสนธรรม

ปณิธาน ๓ ประการของอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ อาจถอดออกเป็นการปฏิบัติและการสนับสนุนกรปฏิบัติได้ ๔ ประการ ดังนี้

๑. ทุกคนควรพยายามศึกษาศาสนธรรมของศาสนาที่ตนนับถือให้มากเป็นกิจวัตร จะทำให้พบอิสรภาพ ปัญญา และสันติ

๒. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรส่งเสริมการเจริญสติเป็นวิถีชีวิต โดยส่งเสริมให้มีสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่ดีให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย กับส่งเสริมให้ระบบการศึกษาทุกระดับมีหลักสูตรพัฒนาจิตภาคปฏิบัติ

๓. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตที่จะให้นิสิตนักศึกษามีการพัฒนาจิตด้วยวิธีที่แตกต่างหลากหลายอันถูกจริตของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการสานเสวนา
(dialogue) ระหว่างศาสนาต่างๆ และมีการเผยแพร่การเสวนานั้นให้แพร่หลาย

๔. กรมการศาสนาควรจะทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมข้อ ๑-๓ ข้างต้น รวมทั้งให้มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ

มนุษย์สามารถประสบความสุขและอิสรภาพจากการเข้าถึงธรรม ซึ่งเป็นความสุขอันประณีต ก็จะค่อยๆ ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางจิตใจ (mental transformation) จะไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม อันจักเป็นไปเพื่อความสุขและศานติ

ปีใหม่ขอให้จิตใหญ่กว่าเดิม

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2548

มิตรผู้หนึ่งได้เล่าว่า ระหว่างที่เธอไปอภิปรายที่สถาบันทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ฟังตั้งคำถามขึ้นมาว่า “ขณะนี้กำลังมีการโหมโฆษณาหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คนของเรากำลังถูกดึงเข้ารีตมากขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะทำอย่างไรดี ?” มิตรผู้นี้ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่ถามกลับไปว่า “เรา” นั้นหมายถึงใคร หมายถึงเฉพาะชาวพุทธเท่านั้นหรือ แล้วชาวคริสต์ ชาวมุสลิม หรือคนศาสนาอื่น ไม่ถือว่าเป็น “เรา” ด้วยหรือ ?

เธอยังเล่าอีกว่า ตอนที่มีการปะทะกันอย่างหนักที่สามจังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนนั้น เธอกำลังจัดอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ มีเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งมารายงานข่าวการล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะว่า “ตอนนี้พวกเราตายไปแล้ว ๒ คน ส่วนพวกนั้นตายไปหลายคนแล้ว” เธอได้ยินเช่นนั้นจึงตอบไปว่า “ทั้งหมดที่ตายไปก็ “พวกเรา” ทั้งนั้นแหละ”

ใช่หรือไม่ว่า คนที่ตายในเหตุการณ์ ๒๘ เมษา รวมทั้งที่อำเภอตากใบ ๖ เดือนหลังจากนั้นก็ล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะมีอุดมการณ์อะไร สวมเครื่องแบบหรือไม่ ก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกับเรา ความตายไม่ใช่เป็นแค่ความสูญเสียของญาติพี่น้อง หากยังเป็นบาดแผลของชาติไทยที่อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะสมานได้

แม้นับถือศาสนาต่างกัน จะศรัทธาในหนังสือ “พลังแห่งชีวิต” หรือไม่ ก็เป็น “พวกเรา” ได้มิใช่หรือ เพราะเรายังมีอะไรเหมือนกันอีกมากมาย เช่น เป็นไทยเหมือนกัน ปรารถนาจะอยู่และตายบนผืนแผ่นดินนี้เช่นเดียวกัน รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน

มนุษย์เราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ทุกคนล้วนมีพ่อแม่ มีคนรัก มีความใฝ่ฝัน และมีอะไรต่างๆ อีกมากมายที่เหมือนกัน แต่แทนที่จะมองเห็นความเหมือน ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างที่เป็นคุณสมบัติส่วนน้อย เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความเชื่อ ภูมิลำเนา แล้วเอาความแตกต่างเพียงเล็กน้อยนั้นมาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา จนถึงขั้นเป็นศัตรูกัน

การจดจ่อใส่ใจกับความแตกต่างนั้นทำให้โลกของเราหดแคบลงเรื่อยๆ เพราะถูกแบ่งซอยเป็นลำดับ จากเดิมที่เป็นคนไทยเหมือนกันก็แบ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวพุทธ ส่วนชาวพุทธก็แบ่งเป็นคนเหนือคนกรุงเทพ ฯ จากคนกรุงเทพฯก็แบ่งต่อไปเป็นพวกรักกับพวกรู้ทันทักษิณ จากพวกรักทักษิณก็แบ่งเป็นพวกนักธุรกิจกับพวกข้าราชการ ขณะที่ข้าราชการก็แบ่งเป็นพวกกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ แล้วก็แบ่งเป็นพวกกองนั้นกองนี้ สุดท้ายก็แบ่งเป็นตัวใครตัวมัน มีแต่ “ฉัน” เท่านั้นที่สำคัญ ที่เหลือเป็น “คนอื่น” หมดแม้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

จิตที่นึกถึงแต่ “ฉัน” เป็นจิตที่เล็กและคับแคบอย่างยิ่ง และเป็นจิตที่ทุกข์ง่ายเพราะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่มั่นคงปลอดภัย เนื่องจากเห็นคนอื่นเป็นศัตรูหรือคู่แข่งที่จะมาแย่งชิงผลประโยชน์ของตน จิตเช่นนี้ย่อมง่ายที่จะเบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตนสถานเดียว สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตเล็กและคับแคบเช่นนี้ย่อมหาความสงบได้ยาก

มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณที่ชอบแบ่งเขาแบ่งเราโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่เอาเผ่าพันธุ์มาเป็นเส้นแบ่ง ก็เอาเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือภาษา มาแบ่งแทน หรือไม่ก็เอาความคิดความเชื่อ รสนิยม ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการศึกษามาเป็นเครื่องแบ่งเขาแบ่งเรา ทั้งหมดนี้ก็เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” เป็นแรงขับสำคัญ “ตัวกูของกู” นั้นทำให้เราเอาตนเองเป็นตัวตั้ง อะไรที่แตกต่างไปจากตนก็ผลักออกไปให้เป็น “พวกมัน” และยิ่งผลักออกไปมากเท่าไหร่ ในที่สุดก็มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่หลงเหลืออยู่

ตราบใดที่ยังปล่อยให้ความสำคัญมั่นหมายใน “ตัวกู ของกู” มีอิทธิพลสำคัญในชีวิต ก็ย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ ความไม่มั่นคงปลอดภัย และการเบียดเบียนทำร้ายกัน แม้ว่าเป็นการยากที่จะทำลายความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว แต่เราสามารถควบคุมหรือกำกับมันให้เป็นโทษน้อยลงได้ เช่น ขยายขอบเขตของ “ตัวกู ของกู” ให้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมถึงคนอื่นๆ ให้มากเท่าที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่เอาความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว ฯลฯ มาเป็นเครื่องกีดกั้น เพราะถึงที่สุดแล้วเราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง อีกทั้งความต่างก็มีคุณประโยชน์ไม่ใช่น้อย เสน่ห์ของสวนคือดอกไม้นานาพรรณมิใช่หรือ ใช่หรือไม่ว่าเครื่องปรุงที่หลากหลายย่อมเพิ่มรสชาติให้อาหารน่าลิ้มลอง

หากเราสามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็น “พวกเรา” อาทิเช่น เห็นเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ หรือพี่น้องร่วมบรรพบุรุษเดียวกัน จิตใจของเราจะใหญ่ขึ้น มีเมตตากรุณามากขึ้น และรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม

หากยังไม่สามารถมองเห็นคนทั้งโลกว่าเป็นพวกเราได้ อย่างน้อยก็ควรมองคนทั้งหลายว่าไม่มีอะไรต่างจากเราเลย ล้วนมีความต้องการเช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา มีดีมีชั่วไม่ต่างจากเรา การมองเช่นนี้จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจเขามากขึ้น และคลายความเป็นปฏิปักษ์ลง ในข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งว่า จงทำกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายโดยมองว่า

“เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา

เขาเป็นเพื่อนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารด้วยกันกับเรา.....

เขามีราคะ โทสะ โมหะไม่น้อยไปกว่าเรา

เขาย่อมพลั้งเผลอบางคราวเหมือนเรา.....

เขาก็มักจะกอบโกยและเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเหมือนเรา...

เขามีสิทธิที่จะได้รับอภัยจากเราตามควรแก่กรณี....

เขามีสิทธิที่จะเห็นแก่ตัวก่อนเห็นแก่ผู้อื่น

เขามีสิทธิแห่งมนุษยชนเท่ากันกับเรา สำหรับจะอยู่ในโลก....”

ในยามที่ไฟสงครามกำลังก่อตัวขึ้น สิ่งที่สังคมไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่งได้แก่ จิตที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีที่ว่างสำหรับคนทุกเชื้อชาติศาสนาและอุดมการณ์ โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา เห็นทุกคนไม่ต่างจากตน อีกทั้งรวมเอาทุกผู้คนไว้ในโอบกอดแห่งเมตตาและกรุณาอันไม่มีประมาณ ในท่ามกลางการทำร้ายฆ่าฟันกัน สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือจิตที่พร้อมจะให้อภัย เพราะไม่ปรารถนาให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นไปเกิดกับคนอื่นอีกต่อไป

แม่ของตำรวจผู้หนึ่งซึ่งถูกฆ่าในเหตุการณ์ ๒๘ เมษายน แม้จะเสียใจอย่างยิ่ง แต่แทนที่จะเรียกร้องการแก้แค้น เธอกลับกล่าวว่า “ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน”

เป็นเพราะนึกถึงผู้อื่น เธอจึงอยากให้ความสูญเสียดังกล่าวเกิดกับตนเป็นคนสุดท้าย นี้คือรูปธรรมของจิตใหญ่ที่สังคมไทยกำลังต้องการ

ปีใหม่นี้มาร่วมกันสร้างสันติภาพให้แก่บ้านเมืองด้วยการทำจิตใจให้ใหญ่กว่าเดิมกันเถิด

Back to Top