สงครามศักดิ์สิทธิ์หรือ?
สงครามชอบด้วยศีลธรรมหรือ? สงครามชอบธรรมหรือ?

โดย เดวิด สปินเลน
วนิสา สุรพิพิธ แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2548

ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ ขอให้ผู้เขียนได้เล่าถึงพื้นเพของตนเองสักเล็กน้อย ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกันอายุ ๖๖ ปี ลุงสองคนของผู้เขียนเคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อท่านกลับบ้าน เราทุกคนมองว่าท่านเป็นวีรบุรุษ ผู้เขียนมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งร่วมรบในสงครามเกาหลี พี่ชายของผู้เขียนเรียนที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐและรับราชการทหารเรือนานกว่า ๒๐ ปี ผู้เขียนเองรับราชการอยู่ในกองทัพบกสหรัฐนานหกปี โดยใช้เวลาสองปีในเวียดนาม เมื่อยังเยาว์วัย ผู้เขียนเป็นเหมือนชายหนุ่มทั่วโลกส่วนใหญ่ที่เชื่อในสิ่งที่ครอบครัวและวัฒนธรรมของตนสั่งสอนมาว่า เรามีหน้าที่ที่จะต้องรับใช้ประเทศชาติของเรา และหากเราตายในสงคราม เราจะได้เป็นวีรบุรุษ

บัดนี้ ผู้เขียนไม่เชื่อสิ่งที่ผู้เขียนถูกสอนมาเมื่อครั้งเยาว์วัยอีกแล้ว ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามชอบด้วยศีลธรรม ผู้เขียนไม่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งชอบธรรม

ผู้อ่านบางท่านอาจคิดได้ทันทีถึงเหตุผลที่ว่าทำไมสงครามจึงเป็นสิ่งชอบธรรม ท่านคงได้รับการสั่งสอน กล่อมเกลา และเสริมสร้างให้เชื่อในสิ่งนี้เช่นกัน ที่จริงแล้วเราทั้งหมดก็เป็นเหมือนๆ กัน ในความเห็นของผู้เขียน เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนหรือด้วยเหตุใดก็ตาม มนุษยชาติต่างก็สูญเสียด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะในสภาพการณ์ใดๆ ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะว่าสงครามทั้งมวลล้วนเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก็เพราะพระพุทธองค์และพระเยซูเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า เราทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และก็เพราะเราแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงอยู่ในตัว ดังนั้นเราจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ทุกประเทศและทุกวัฒนธรรมในโลกให้เกียรติยกย่องสงครามและทหารผู้สิ้นชีพในสงคราม มีอนุสรณ์สถาน สุสานทหาร วันชาติเพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษในสงคราม เมื่อผู้นำมาเยือนประเทศอย่างเป็นทางการก็มักจะต้องเดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานแด่ผู้พลีชีพของประเทศนั้นๆ

ไม่เฉพาะแต่สงครามเท่านั้นที่ลดความเป็นมนุษย์ของเรา ภาพยนตร์ วิดีโอ และเกมคอมพิวเตอร์ล้วนบรรจุความรุนแรง ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน รายการข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยข่าวอาชญากรรมหรือความรุนแรงล่าสุด หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงสุดเต็มไปด้วยภาพถ่ายและบทความอันรุนแรง ซึ่งคนนับล้านก็กระหายใคร่ซื้อมาอ่าน

หากพิจารณาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราจะรู้ว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อสงคราม สงครามไม่ใช่บางสิ่งซึ่งเกิดขึ้นภายนอกตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่ขยายออกไปจากตัวเรา ฝังรากอยู่ในธรรมชาติของเรา และเกิดขึ้นภายในเราทุกคน สงครามเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคจิต-โรคประสาทหมู่ ที่นำแต่ละคนเข้าสู่สภาวะของจิตซึ่งสามารถก่ออาชญากรรมได้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นสภาวะของจิตใต้สำนึกของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดนี้ถูกหยั่งรากลงไปผ่านทางการปลูกฝังทางวัฒนธรรมและการกดขี่ ก่อนกลับขึ้นมาเป็นการฆาตกรรมหมู่ในสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุด ผู้แพ้บางคนถูกนำตัวขึ้นศาลและไต่สวนในข้อหาอาชญากรสงคราม สิ่งนี้ทำให้หมู่คณะหรือทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ และโยนภาระไว้ให้กับบางคน สิ่งนี้ช่วยปลดเปลื้องเราทุกคนที่เหลือออกจากภาพอันน่าสะพรึงกลัวของอาชญากรรมสงคราม “พวกนั้น” เป็นคนลงมือทำ ไม่ใช่ “พวกเรา” แล้วพวกเราส่วนใหญ่ก็หนีพ้นความรับผิดชอบส่วนตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรอง จะต้องมีสงครามต่อไป พร้อมทั้งอาจมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สงครามเป็นการแสดงออกร่วมกันของความทุกข์ของแต่ละคน ถ้าเราต้องการยุติสงครามเราจะต้องตื่นขึ้นและยอมรับความรับผิดชอบส่วนตัว ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เมื่อใดที่กลองแห่งสงครามถูกกระหน่ำ เราจะพบว่า ตัวเองร่วมออกเดินสวนสนามเข้าสู่สงครามท่ามกลางเสียงปลุกเร้าของฝูงชนและเสียงร่ำไห้ของครอบครัวเรา

เป็นเรื่องยากมากที่จะตื่นขึ้น ที่จะยอมรับว่าตัวเองเปี่ยมด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนรอบตัวกำลังใช้ความรุนแรงอยู่ แต่ถ้าเราไม่ทุ่มเทความพยายาม แน่ใจได้เลยว่าจะต้องมีสงครามและความรุนแรงมากขึ้นอีก

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อนแล้ว

ใครไม่คิดอาฆาตว่า

"มันด่าเรา มันทำร้ายเรา"
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา
เวรของเขาย่อมระงับ
แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้

เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว


ธรรมบท หมวดคู่ บทที่ ๔ และ ๕ (จาก พุทธวจนะในธรรมบท โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก)


ความรับผิดชอบที่จะยุติสงครามอยู่ในมือคุณและผม ผู้เขียนตระหนักดีว่าสิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่โปรดระลึกว่าเมื่อ ๑๐๐-๒๐๐ ปีก่อน โลกเกือบทั้งหมดล้วนยอมรับการมีทาส แต่บัดนี้ทุกคนประณามมัน

ดังนั้น ขอให้เราเริ่มต้นด้วยการหยุดรดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงภายในตัวเราและรอบตัวเราเถิด

Back to Top