ธันวาคม 2016

การสนทนาที่ “ดีต่อใจ”



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2559

เร็วๆ นี้ผมได้พูดคุยกับรุ่นน้องที่ทำละครด้วยกันคนหนึ่ง หลังๆ ผมพบว่าเขาเอาใจออกห่างและไม่สนใจจะเข้ามาทำงานให้กับกลุ่มสักเท่าใด เขาเป็นนักคิดที่เยี่ยมยอดแต่ก็ปิดบังความรู้สึกของตนเองโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อต้องแบทเทิลกันด้วยคำพูด น็อตบางตัวก็หลุดออก เขาก็เก็บอาการไม่อยู่

“ผมผิดหวังในตัวพี่ กลุ่มละครที่ทำงานด้านผู้ถูกกดขี่ แต่พี่กลับเป็นคนที่กดขี่เสียเอง”

การสาดกระสุนใส่กันด้วยคำพูดนั้น คนเราทำโดยไม่รู้ตัว เราไม่รู้ว่าอะไรสั่งให้ทำ และถ้อยคำที่ใช้ก็เปิดเผยความคิดที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเรา คำว่า “ผิดหวัง” นั่นคือ “ยาพิษ” เราดีๆ นั่นเอง ไม่ต่างอะไรกับการผสมยาพิษในน้ำเปล่าให้เขาดื่ม เพราะมันได้แฝงฝังคำตำหนิเอาไว้โดยมิเปิดเผยฐานที่มั่นแห่งความรู้สึกของตนเอง

ผมตอบง่ายๆ ว่า “ผมรู้สึกเสียใจ ในการกระทำของเขาครั้งนี้ ที่ทำโดยไม่ปรึกษาและละเลยความคิดเห็นของคนในทีม” ฟังดูเผินๆ ดูเหมือนว่าผมกำลังสาดกระสุนใส่เขา แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะผมกำลังแบ่งปันความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่ต้องโยนอารมณ์ซึ่งเหมือนเศษชิ้นเนื้อเน่าๆ ให้เป็นภาระแก่เขา

สิ่งที่เขาทำต่อไปก็คือการตั้งคำถามให้กับการกระทำของผม เช่น

“ผมขอถามถึงจุดยืนของพี่ว่า พี่ทำเพื่อสังคมจริงหรือ?”

อ่านต่อ »

บริษัทมหาชนสู่กระบวนการทางจิตตปัญญาเต็มรูปแบบ (๒)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2559

การทำงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อไปสู่องค์กรแห่งจิตตปัญญาเต็มรูปแบบนั้น ผมจะหล่อหลอมปัญญาทั้งสามแบบไปด้วยกัน คือ “สูตะ” คือการฟัง การอ่าน “จินตะ” คือการคิดค้น การสร้างและเชื่อมโยงแผนที่ในเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน และ “ภาวนา” คือการใคร่ครวญลงลึก ผ่านการกระทำและประสบการณ์

เรื่องการอ่านและการสร้างแผนที่ ผมกลับไปที่แนวคิดของเคน วิลเบอร์ เรื่อง I, WE, IT ในเรื่อง IT หรือโครงสร้างขององค์กร ผมมองไปที่วิวัฒนาการองค์กรสีเทอควอยซ์1 และใช้หนังสือ Reinventing Organizations ของ Frederic Laloux เป็นหลัก ซึ่งเชื่อมโยงเรื่อง WE หรือวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาด้วย โดยเครื่องมือด้านซอฟต์ไซด์ (soft side) หรือไม้อ่อนของการพัฒนาองค์กร จะใช้เครื่องมือทางจิตตปัญญา เช่น ไดอะล็อกและการสืบค้นด้านบวก เป็นต้น ซึ่งรู้จักกันดีในเมืองไทยอยู่แล้ว

แต่ Reinventing Organizations อาจเป็นอีกสองสามขั้นบันไดไปข้างหน้าที่ยังยากแก่การเข้าใจอยู่ เพราะเป็นซอฟต์ไซด์มากไปสำหรับองค์กรที่คุ้นเคยกับฮาร์ดไซด์ (hard side) ผมเลยหาหนังสืออีกเล่มสองเล่มเพื่อมาตอบโจทย์ดังกล่าว เพราะผมคิดว่าหน้าที่ของปัญญาชนคือการระบุทางออกหรือคำตอบให้แก่ยุคสมัย ในที่นี้คือการหาคำตอบให้แก่องค์กรที่ต้องการจะเป็นองค์กรจิตตปัญญาอย่างสมบูรณ์แบบ ว่าพวกเขาจะเป็นได้อย่างไร และในกรณีที่พวกเขายังไม่สามารถขบเคี้ยว ย่อยความเป็นองค์กรสีเทอควอยซ์ไปเป็นสารอาหารได้ เราอาจจะหาสะพานที่ช่วยให้ขบเคี้ยว กลืนกิน และย่อยเข้าไปได้ในที่สุด และต้องเป็นการระบุที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมและเสียเวลามาก ผมค้นหาและได้หนังสือมาเล่มหนึ่งที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างซอฟต์ไซด์กับฮาร์ดไซด์เข้าหากันได้เป็นอย่างดี คือ Good to Great ของ จิม คอลลินส์ (Jim Collins) Good to Great

จิม คอลลินส์ กับทีมสิบกว่าคนทำวิจัย ๕ ปี เพื่อคัดเลือกบริษัทจากฟอร์จูน 500 ให้เหลือ ๑๑ แห่ง ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ไม่ว่าสถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างไรก็ตาม และสามารถส่งต่อไม้ให้คนรุ่นต่อไปเข้ามาบริหารด้วยความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันด้วย หนึ่งในสิบเอ็ดบริษัทคือ เจเนอรัลอิเล็กทริก (GE) ซีอีโอคือ แจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ผู้เขียนหนังสือ Winning ซึ่งผมพบว่ามันเป็นสะพานที่จะมาหลอมรวมซอฟต์ไซด์กับฮาร์ดไซด์ได้อย่างกลมกลืนและเนียนมากๆ ได้ทั้งประสิทธิภาพ การดูแลคนอย่างเป็นองค์รวม คือได้ความสุข ได้ความหมายของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ด้วย

อ่านต่อ »

เรียนรู้อยู่กับความตาย



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2559

"คนที่หันหลังให้ความจริง จะถูกความจริงโบยตี ความตายคือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อระลึกความจริงนี้ได้ต้องเผชิญ ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย"

ส่วนหนึ่งของการบรรยายโดยพระไพศาล วิสาโล ในหลักสูตรอบรมการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ ‘Book of memorial’ 19 พฤศจิกายน 2559 ที่จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา กระตุ้นเตือนให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความจริงข้อนี้ในชีวิตที่มักจะหลงลืมกัน

ประมาณสองเดือนที่แล้ว ผู้เขียนเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์หลักสูตรอบรมเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพของเครือข่ายพุทธิกาปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยความสนใจส่วนตัวที่มองว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพเป็นงานเขียนที่ทำให้เข้าใจชีวิตของผู้ตาย และสภาพสังคมที่แวดล้อมชีวิต ประกอบกับหลักสูตรนี้จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องความตายมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัดสินใจสมัครเข้ารับการอบรม

การอบรมจัดระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน และ 4 ธันวาคม 2559 ในระยะเวลา 3 วัน แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ในวันแรก เป็นการเรียนรู้เรื่องความตาย ผ่านการบรรยาย “เรื่องความตายในทรรศนะพระไพศาล วิสาโล” โดยพระไพศาล วิสาโล หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจ ที่ทำให้เกิดกระบวนการใคร่ครวญกับชีวิตและความตาย

การบรรยายของพระไพศาล วิสาโล กระตุกให้เราคิดว่า ควรเตรียมตัวรับกับความตายที่พร้อมจะมาเยือนเมื่อไรก็ได้ การเตรียมตัวที่สำคัญ คือ การเตรียมสติ ซึ่งต้องให้เวลากับการเตรียม และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พระไพศาลเปรียบเทียบความตายกับการสอบไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความตาย คือการสอบไล่ครั้งสุดท้ายของวิชาชีวิต ไม่มีทางแก้ตัว ตกแล้วตกเลย ที่สำคัญคือไม่รู้จะสอบเมื่อไร และคนส่วนใหญ่ไม่ให้เวลากับการเตรียม”

กิจกรรมไพ่ไขชีวิต ทำให้เราทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และวางแผนสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จก่อนตาย ขณะที่สมุดเบาใจ คือ การแสดงเจตจำนงในการ “ตายดี” ด้วยการวางแผนการดูแลรักษา การจัดการร่างกาย และงานศพด้วยตนเอง โดย ปทานุกรมความตาย ที่จัดทำโดยโครงการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้วิถีสู่การตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา อธิบายความหมายของการ “ตายดี” ไว้ว่า เป็นการตายที่ปลอดจากความทุกข์ทรมานที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งของผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษา

เจตจำนงในการตายดี นอกจากเป็นความประสงค์ส่วนตัวแล้ว ยังเป็นสิทธิของบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

การเรียนรู้ในช่วงนี้ จึงทำให้เห็นว่าเรื่องความตาย นอกจากเป็นการใคร่ครวญทบทวนชีวิตในระดับบุคคลแล้ว ยังเป็นสิทธิของทุกคนในการเลือกที่จะ “ตายดี” ด้วย

ช่วงที่สองอยู่ในวันที่ 2 และ 3 ของการอบรม เป็นการเรียนรู้เรื่องการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ ครูในช่วงนี้ คือ คุณอรสม สุทธิสาคร และคุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ซึ่งมาให้ความรู้ผ่านการบรรยาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งในเชิงประเด็นและเทคนิคการเขียน เช่น การตั้งชื่อเรื่อง การแบ่งหัวข้อ การเขียนบรรยายให้เห็นภาพ ควบคู่ไปกับการยกตัวอย่างหนังสืออนุสรณ์งานศพแบบต่างๆ รวมทั้งให้ผู้เข้าอบรมฝึกเขียนในประเด็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต

ผู้เขียนพบว่า การปูพื้นฐานให้ใคร่ครวญเรื่องความตายมาจากการอบรมช่วงแรก มีความหมายอย่างมากกับช่วงฝึกเขียน เพราะทำให้การเขียนเป็นกระบวนการสืบค้นเข้าไปในชีวิตของตนเอง หรือคนที่เราเขียนถึงในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น

หลังจากอบรมวันที่ 2 ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องกลับไปทำ “การบ้าน” คือ เขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพส่งกลับมาให้ครูตรวจภายใน 1 สัปดาห์ และมาพบกันอีกครั้งในการอบรมวันที่ 3 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานเขียน โดยเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการแนะนำของครูทั้ง 2 ท่าน และวงคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนของแต่ละคน รวมทั้งปิดท้ายด้วยการเสริมเทคนิคการเขียน เพื่อนำไปพัฒนางานต่อไป

ก่อนจบการอบรมมีการเปิดวงให้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 วัน เสียงสะท้อนจากนักเรียนรุ่นแรกพบว่า ประทับใจกับกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการเข้าใจเรื่องการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ แต่ทำให้เกิดการใคร่ครวญเรื่องความตายทั้งจากประสบการณ์ของตนเอง และเรียนรู้จากเพื่อนผ่านกระบวนการกลุ่ม

การอบรมเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ จึงเป็นการเรียนรู้อยู่กับความตาย ที่เหมาะสมกับผู้ที่ใช้การเขียนเป็นกระบวนการใคร่ครวญชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นหลักสูตรที่เปิดพื้นที่ให้คนรักการเขียนได้ลองมาสัมผัส มาเรียนรู้ เปรียบเหมือน “หลักสูตรเบื้องต้น” เรื่องความตาย ซึ่งอาจพัฒนาความสนใจไปสู่การเรียนรู้เรื่องความตายในระดับลึกต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากสังคมกระแสหลัก คำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น และเป็นคำถามเชิงท้าทาย คือ ทำไมจึงต้องเรียนรู้เรื่องความตาย และการเรียนรู้เรื่องความตายมีความสำคัญอย่างไร

การตอบคำถามนี้ นอกจากการมีประสบการณ์ตรงผ่านการอบรมแล้ว กระบวนกรที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเผชิญความตายอย่างสงบ จากเครือข่ายพุทธิกา กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ไว้ ในชุดความรู้การอบรมและกระบวนกรแนวจิตตปัญญาศึกษา เล่ม 8 การเผชิญความตายอย่างสงบ จัดทำโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ว่า

“ความเข้าใจเรื่องความตาย และการเตรียมตัวเผชิญความตายอย่างสงบ ไม่ใช่เรื่องของเราแต่เพียงคนเดียว หากเป็นเรื่องของสังคมโดยรวมด้วย เราต้องช่วยกันศึกษาเผยแพร่ให้คนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้อง เห็นความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ช่วยให้มีความรู้เรื่องชีวิตหลังความตาย ให้ตระหนักอย่างลึกซึ้งในความงามและคุณค่าของชีวิตและความตาย ช่วยให้คนในสังคมมีความรัก ความเอื้ออาทรและเมตตาต่อกัน”

การเรียนรู้เรื่องความตายจึงมีความสำคัญเชื่อมโยงทั้งในระดับบุคคล และระดับสังคม เมื่อแต่ละบุคคลตระหนักว่าความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องเผชิญ จะทำให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาชีวิตที่เดินผ่านไปในทุกขณะ นำไปสู่การเลือกดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า และเมื่อวิธีคิดนี้ต่อประกอบเป็นภาพรวมของสังคมแล้ว จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ลดการเบียดเบียน และเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น

สงครามชีวิต สนามรบในจิต



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2559

เราเคยบ้างไหมลืมตาตื่นขึ้นมาแต่ละเช้าแล้วแทบจะอยากหลับตาลง ด้วยความเหนื่อยล้าในใจครอบงำ เมื่อจำต้องนึกถึงหน้าตาของผู้คนที่จะต้องผจญด้วยในวันนั้นๆ นับตั้งแต่หน้าของคนที่นอนอยู่ข้างๆ หน้าของลูกเล็กเด็กแดงหรือเติบใหญ่ในห้องข้างบน จนถึงหน้าผู้คนที่ต้องทำงานด้วยจะเป็นลูกน้องหรือลูกพี่ก็ตาม ยังไม่รวมไปถึงหน้าญาติพี่น้องอย่างน้อยบางคน หรือหน้าคนรถคนรับใช้ หรือแม้แต่ยามหน้าหมู่บ้านก็ตาม

หน้าแต่ละคนที่ต่างเชื้อชวนให้เราหงุดหงิดรำคาญใจ จนเหมือนเป็นอริปฏิปักษ์ฝ่ายตรงกันข้ามในยามศึก ที่กระตุ้นให้เราจำต้องสวมเสื้อเกราะและจับอาวุธเข้าต่อกรกับเจ้าของใบหน้าเหล่านั้น

แต่ละคนต่างเรียงหน้ากันเข้ามาตั้งแต่เราตื่นนอนจนกลับไปล้มลงนอน ราวกับเป็นข้าศึกที่แสนจะไม่นึกคิดอะไรให้ใกล้เคียงกับที่เราคาดหวังและต้องการ ต่างก็ทำอะไรตามใจชอบอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ของเราเลย เราอยากให้ทำอะไรให้เสร็จไปโดยเร็ว แต่ละคนก็ยืดยาดเชื่องช้า หรือในทางตรงกันข้าม เราอยากให้ทำอะไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็มีแต่คนเร่งรัดเร่งรีบ เราอยากจะพูดอะไรตรงไปตรงมาให้เข้าใจตรงตามใจเรา ก็มีแต่คนอ่อนไหวรู้สึกโดนกระทบหัวใจง่ายเหลือเกิน หรือในทางตรงกันข้าม เราอยากให้ใครต่อใครทะนุถนอมใจเรา ก็มีแต่คนพูดจาฟาดฟันเชือดเฉือน เราอยากให้ใครต่อใครสุภาพมีสัมมาคารวะ เราก็เจอแต่คนเอะอะปึงปังทำอะไรใส่หน้าเราจนหน้าชา หรือในตรงกันข้าม เราเป็นคนตรงไปตรงมา ก็เจอแต่คนต่อมน้ำตาตื้น พูดอะไรนิดหน่อยก็น้ำหูน้ำตาไหล น่ารำคาญ จนรู้สึกว่า วันๆ ใบหน้าทั้งหลายรอบตัวนั้นกำลังระรานเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

อ่านต่อ »

Back to Top