บริษัทมหาชนสู่กระบวนการทางจิตตปัญญาเต็มรูปแบบ (๒)



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2559

การทำงานกับองค์กรต่างๆ เพื่อไปสู่องค์กรแห่งจิตตปัญญาเต็มรูปแบบนั้น ผมจะหล่อหลอมปัญญาทั้งสามแบบไปด้วยกัน คือ “สูตะ” คือการฟัง การอ่าน “จินตะ” คือการคิดค้น การสร้างและเชื่อมโยงแผนที่ในเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน และ “ภาวนา” คือการใคร่ครวญลงลึก ผ่านการกระทำและประสบการณ์

เรื่องการอ่านและการสร้างแผนที่ ผมกลับไปที่แนวคิดของเคน วิลเบอร์ เรื่อง I, WE, IT ในเรื่อง IT หรือโครงสร้างขององค์กร ผมมองไปที่วิวัฒนาการองค์กรสีเทอควอยซ์1 และใช้หนังสือ Reinventing Organizations ของ Frederic Laloux เป็นหลัก ซึ่งเชื่อมโยงเรื่อง WE หรือวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาด้วย โดยเครื่องมือด้านซอฟต์ไซด์ (soft side) หรือไม้อ่อนของการพัฒนาองค์กร จะใช้เครื่องมือทางจิตตปัญญา เช่น ไดอะล็อกและการสืบค้นด้านบวก เป็นต้น ซึ่งรู้จักกันดีในเมืองไทยอยู่แล้ว

แต่ Reinventing Organizations อาจเป็นอีกสองสามขั้นบันไดไปข้างหน้าที่ยังยากแก่การเข้าใจอยู่ เพราะเป็นซอฟต์ไซด์มากไปสำหรับองค์กรที่คุ้นเคยกับฮาร์ดไซด์ (hard side) ผมเลยหาหนังสืออีกเล่มสองเล่มเพื่อมาตอบโจทย์ดังกล่าว เพราะผมคิดว่าหน้าที่ของปัญญาชนคือการระบุทางออกหรือคำตอบให้แก่ยุคสมัย ในที่นี้คือการหาคำตอบให้แก่องค์กรที่ต้องการจะเป็นองค์กรจิตตปัญญาอย่างสมบูรณ์แบบ ว่าพวกเขาจะเป็นได้อย่างไร และในกรณีที่พวกเขายังไม่สามารถขบเคี้ยว ย่อยความเป็นองค์กรสีเทอควอยซ์ไปเป็นสารอาหารได้ เราอาจจะหาสะพานที่ช่วยให้ขบเคี้ยว กลืนกิน และย่อยเข้าไปได้ในที่สุด และต้องเป็นการระบุที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมและเสียเวลามาก ผมค้นหาและได้หนังสือมาเล่มหนึ่งที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างซอฟต์ไซด์กับฮาร์ดไซด์เข้าหากันได้เป็นอย่างดี คือ Good to Great ของ จิม คอลลินส์ (Jim Collins) Good to Great

จิม คอลลินส์ กับทีมสิบกว่าคนทำวิจัย ๕ ปี เพื่อคัดเลือกบริษัทจากฟอร์จูน 500 ให้เหลือ ๑๑ แห่ง ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ไม่ว่าสถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างไรก็ตาม และสามารถส่งต่อไม้ให้คนรุ่นต่อไปเข้ามาบริหารด้วยความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันด้วย หนึ่งในสิบเอ็ดบริษัทคือ เจเนอรัลอิเล็กทริก (GE) ซีอีโอคือ แจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ผู้เขียนหนังสือ Winning ซึ่งผมพบว่ามันเป็นสะพานที่จะมาหลอมรวมซอฟต์ไซด์กับฮาร์ดไซด์ได้อย่างกลมกลืนและเนียนมากๆ ได้ทั้งประสิทธิภาพ การดูแลคนอย่างเป็นองค์รวม คือได้ความสุข ได้ความหมายของการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ด้วย


แจ็ค เวลช์ พูดใน Good to Great ว่า ข้อแรก องค์กรที่จะยิ่งใหญ่ได้ ต้องมีผู้บริหารที่ “ใช่” ถ้าไม่ใช่ต้องเอาลง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวเจ้าของกิจการหรือไม่ก็ตาม สำหรับผมแล้ว แจ็ค เวลช์ พูดได้ดีมากว่า ผู้บริหารที่ “ใช่” นั้น ต้องทำได้ในสองแกน แกนหนึ่งคือความสามารถในการบริหารงานได้อย่างมีผลลัพธ์ อีกแกนหนึ่งคือสร้างทีมได้ อันหลังนี่แหละครับที่เชื่อมโยงกับจิตตปัญญาและไดอะล็อกได้อย่างงดงามหมดจด ดังผมจะอธิบายขยายความต่อไป


การสร้างทีมของแจ็ค เวลช์

เขาหมายถึงอะไรบ้าง หนึ่ง ผู้บริหารต้องนำความสามารถของทีมแต่ละคนออกมาใช้งานได้ จะทำอย่างนั้นได้ แต่ละคนในทีมต้องสามารถพูดกับผู้บริหารได้อย่างตรงไปตรงมา จากความคิดของเขา จากใจของเขา ไม่ใช่พูดเพื่อให้ผู้บริหารสบายใจ เอาอกเอาใจผู้บริหาร ซึ่งอย่างหลังเป็นสัญญาณว่าผู้บริหารคนนี้ “ไม่ใช่”

สอง ผู้บริหารต้องสามารถสร้างทีมห้อมล้อมที่มีคนเก่งกว่าตัวเองได้ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้บริหารยังติดยึดในอัตตาของตนเองอยู่

เพียงสองข้อนี้ ผู้บริหารต้องพัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตน สามารถเห็นจุดบอดข้อจำกัดของตัวเองได้ และต้องฝึกที่จะรับฟังอย่างไม่มีอคติ ไม่ยึดติดในตัวตน เพื่อที่จะเห็นเพชรเม็ดงามต่างๆ ในทีม

สาม จะหาเพชรเม็ดงามๆ ออกมาได้ คงต้องฝึกการฟังอย่างมีวินัยของไดอะล็อก ฟังด้วยความเคารพในความคิด ความรู้สึก และฟังอย่างไม่ยึดติดในอัตตาตัวตนของตัวเอง


อีกหนึ่งความสับสนระหว่าง “hard” กับ “soft”

บางทีหากเราอ่านหนังสือตามตัวอักษรอย่างผิวๆ ไม่ลงลึกไปในระหว่างบรรทัดในที่มาที่ไปของคำ เข้าไม่ถึงเจตนาของผู้เขียน เราจะไปคิดเองว่า “soft” อาจหมายถึงความอ่อนนุ่ม ไร้กระดูก อ่อนยวบ ปราศจากความเข้มแข็ง และอาจจะนึกถึงคนธาตุน้ำ พวกหนูที่ยังไม่พัฒนาในผู้นำสี่ทิศ พวกหนูที่ยอมคน ประนีประนอมโดยปราศจากหลักการ ไม่ยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความหมายของซอฟต์ไซด์ที่เราพูดถึงกัน

ฮาร์ดไซด์ถ้าลงลึกเข้าไปอีก จะเป็นสีส้มในลำดับขั้นวิวัฒนาการขององค์กร เป็นอุตสาหกรรม 1.0 ที่ผลักดันให้คนกระทำการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์โดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึก และลดทอนคนลงเป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่งของเครื่องจักร หากใครไม่สามารถทำงานได้ ให้หาคนมาแทนได้เลย เป็นต้น

แต่ในความเข้าใจคำว่า “hard” แบบตรงตามตัวอักษร จะหมายถึงผู้นำแบบกระทิง ที่ลุยไปข้างหน้า มุ่งความสำเร็จ แบบ "งานได้ผล คนแหลกลาญ" คือ น่าจะเป็นผู้นำทิศเหนือ ธาตุไฟ ที่ยังคงไม่พัฒนา คนแบบนี้ เล่นเป็นทีมไม่เป็น ไม่มีอีคิวพอที่จะครองใจทีมได้ แจ็ค เวลช์ เรียกว่าพวก jerk น่าจะแปลเป็นไทยว่าคนห่วยแตกอะไรทำนองนี้


ความหมายของซอฟต์ไซด์ที่แท้จริง

เวลาเรานำซอฟต์ไซด์เข้ามา จึงไม่ได้หมายความว่า เราจะอ่อนยวบ แต่มันเป็นปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ใหม่ เชื่อมโยงกับควอมตัมฟิสิกส์ กับชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ กับนิวโรไซน์ที่เชื่อว่า ฐานคิด ฐานใจ ฐานกาย หรือสมองสามชั้น อันได้แก่สมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นต่ำ และสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูง จะต้องทำงานอย่างหลอมรวมกลมกลืนกัน

ซอฟต์ไซด์ในบริบทของผู้นำสี่ทิศ ไม่ได้หมายถึงการนำแบบหนูที่ไม่พัฒนา แต่เป็นการหลอมรวม 4 ทิศ 4 ธาตุเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนมากกว่า คือถ้าเป็นกระทิงก็เป็นกระทิงที่พัฒนาแล้ว คือเพิ่มความเป็นหนูเข้ามา คือเพิ่มอีคิวหรือฐานใจ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน สามารถครองใจคนได้ และยังมีทักษะฐานคิด ได้ทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวา คือคิดแบบเจาะลึกของหมีธาตุดินก็ได้ คิดแบบสร้างสรรค์จินตนาการแบบอินทรีธาตุลมก็ได้ด้วย เป็นต้น

เช่นเดียวกัน เมื่อมองจากเรื่องสมองสามชั้น ปัญญาสามฐาน ผู้นำคนนั้นจะสามารถต่อเพลารถทั้งสามตอนเข้าด้วยกัน คือฐานกาย เทียบกับกระทิง ฐานใจ เทียบกับหนู ฐานคิด คือหมีและอินทรี และเชื่อมต่อส่งพลังให้กันและกันได้อย่างราบรื่นกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน



1 อ่านเพิ่มเติมที่ “แถบสีวิวัฒนาการทางสังคม การก่อประกอบองค์กรขึ้นใหม่” โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ ภัทระ กิตติมานนท์, หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2557, http://jitwiwat.blogspot.com/2009/12/blog-post_11.html

Back to Top