เมษายน 2015

เติมชีวิตจึงมีชีวา



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2558

“เชสเมมโมเรียล” เป็นบ้านพักคนชราในรัฐนิวยอร์กที่ได้มาตรฐาน ตอนที่บิล โทมัสไปเป็นผู้อำนวยการใหม่ๆ เมื่อ ๑๖ ปีก่อน มีคนชราอยู่ประมาณ ๘๐ คน ทั้งหมดอยู่ในภาวะทุพพลภาพ ช่วยตัวเองแทบไม่ได้ ๔ ใน ๕ เป็นอัลไซเมอร์หรือมีความบกพร่องทางการรับรู้ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของที่นั่น

บิลเป็นหมอหนุ่มวัย ๓๐ ต้นๆ ที่คุ้นเคยกับโรคภัยไข้เจ็บของคนชราเป็นอย่างดี เพราะโรงพยาบาลเก่าของเขานั้นมีคนชราเข้ามารับการรักษาอยู่เป็นประจำ แต่ทันทีที่ย้ายไปทำงานที่นั่น เขารู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่อยู่รอบตัว ผู้คนดูซึมเซา ห่อเหี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ทีแรกเขาคิดว่าเป็นเพราะความผิดปกติในร่างกาย จึงสั่งตรวจสุขภาพคนชราทุกคนอย่างจริงจัง ทั้งสแกน ตรวจเลือด และเปลี่ยนยา แต่ผ่านไปหลายสัปดาห์เขาก็ยังไม่พบสาเหตุ

จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ข้อสรุปว่า ตัวการที่ทำให้ผู้คนที่นั่นไร้ชีวิตชีวามี ๓ ประการ ได้แก่ ความเบื่อหน่าย ความอ้างว้าง และความรู้สึกสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง วิธีเดียวที่จะจัดการกับสาเหตุดังกล่าวก็คือ การเติมชีวิตเข้าไปในบ้านพักคนชรา เขาจึงเสนอให้เอาพรรณไม้สีเขียวมาใส่ไว้ในทุกห้อง รื้อสนามหญ้าแล้วปลูกผักปลูกดอกไม้แทนที่ เท่านั้นยังไม่พอเขายังเสนอให้เอาสัตว์เข้าไปเลี้ยงในนั้น ไม่ใช่แค่หมาหรือแมวตัวเดียว แต่หลายตัว รวมทั้งนกนานาชนิดด้วย

อ่านต่อ »

ความเป็นพลเมืองไทย กับ ความเป็นพลเมืองโลก คุณธรรมไทย กับ คุณธรรมโลก



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2558

ในเดือนเมษายนปีนี้ ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเรื่องการประเมินความเป็นพลเมืองไทยสองครั้ง ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ และเป็นรองประธานคณะทำงานประเมินความเป็นพลเมืองไทยของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน

คณะกรรมการทั้งสองชุดได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง และแนวทางในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ

จากการพูดคุยและพิจารณาเอกสารที่ทีมงานนำมาแลกเปลี่ยนกัน ผมพบว่ายังมีความคลุมเครือและสับสนพอควรเกี่ยวกับคำ และความหมายของคำที่ใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดจะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็ในนิยามปฏิบัติการสำหรับการทำงานครั้งนี้

อ่านต่อ »

การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2558

“การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ”
จาก อย่าเรียนหนังสือคนเดียว
กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๗, หน้า ๒๒



ประสบการณ์ที่หนึ่ง

มีนาคม ๒๕๕๘ ขับรถไปประชุมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เขตอำเภอเมืองของจังหวัดหนึ่ง ไปนั่งฟังเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเล่าเรื่องความสำเร็จที่เขาสามารถประสานให้เทศบาลตำบลและผู้ใหญ่บ้านพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปช่วยกันนำผู้ป่วยโรคจิตที่ขังตัวเองในบ้านนาน ๒ ปีไปรักษาตัว เขาเล่าว่าแรกๆ ไม่มีใครเข้าใจว่าจะทำไปทำไม เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาได้จริงหรือเปล่า ด้วยความเพียร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นจึงเดินเท้าไปอธิบาย ทำหนังสือขอรถยนต์ เจรจากับทุกคนที่เกี่ยวข้องให้นำผู้ป่วยออกมารักษาจนได้ ปัจจุบันผู้ป่วยดีขึ้นมากและกำลังหางานทำ

ประเด็นของเรื่องคือ ผมทำแบบที่เจ้าหน้าที่คนนี้ไม่ได้ คือประสานงานชุมชน เวลาผมไปนั่งฟังจึงฟังด้วยความชื่นชม ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตตามที่ได้เรียนมา พอจะมีประโยชน์อยู่บ้างคือ ช่วยยืนยันว่าโรคจิตเป็นโรคที่รักษาได้ พบที่ไหนก็ขอให้มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย ขอให้รู้ว่าผู้ป่วยโรคจิตเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่ง มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาและรักษาได้ด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเผยแพร่ความรู้นี้ออกไปให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเข้าใจ

มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมากคือ คนไข้โรคจิตคนหนึ่งขโมยพระพุทธรูปจากวัดไปทิ้งน้ำ ชาวบ้านโกรธผู้ป่วยมากเพราะหลังจากนั้นทุกคนเป็นหวัดเรื้อรังกันหมด และเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ช่วยประสานการแก้ปัญหาอีกเช่นกัน

อ่านต่อ »

Back to Top