ความเป็นพลเมืองไทย กับ ความเป็นพลเมืองโลก คุณธรรมไทย กับ คุณธรรมโลก



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2558

ในเดือนเมษายนปีนี้ ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเรื่องการประเมินความเป็นพลเมืองไทยสองครั้ง ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ และเป็นรองประธานคณะทำงานประเมินความเป็นพลเมืองไทยของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน

คณะกรรมการทั้งสองชุดได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง และแนวทางในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ

จากการพูดคุยและพิจารณาเอกสารที่ทีมงานนำมาแลกเปลี่ยนกัน ผมพบว่ายังมีความคลุมเครือและสับสนพอควรเกี่ยวกับคำ และความหมายของคำที่ใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดจะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็ในนิยามปฏิบัติการสำหรับการทำงานครั้งนี้


ตัวอย่างของคำและชุดคำเหล่านั้น เช่น

ก. ความเป็นพลเมือง (Civic/ Civil/ Citizenship) ความเป็นพลเมืองไทย ความเป็นพลเมืองโลก

ข. สำนึก/ จิตสำนึก (Mindedness/ Awareness/ Consciousness) พลเมือง ในแต่ละระดับ เช่นไทย อาเซียน โลก/ นานาชาติ/ สากล (World/ Global/ International/ Universal)

ค. คนไทย (Thai people/citizen) ความเป็นไทย (Thainess) ความเป็นคนไทย

ง. คุณธรรม (Virtue/ Moral/ Goodness) จริยธรรม (Ethic/ Conduct /Moral)

จ. คุณธรรมไทย คุณธรรมโลก คุณธรรมสากล

จากการพูดคุยและการศึกษาเอกสารเบื้องต้น ผมพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้

๑.มีการใช้คำหลักสลับ/ทดแทนกัน เหมือนมีความหมายเดียวกัน เช่น

๑.๑ สำนึกพลเมือง จิตสำนึกพลเมือง จิตสำนึกความเป็นพลเมือง

๑.๒ โลก นานาชาติ สากล

๑.๓ คุณธรรม จริยธรรม คุณธรรมจริยธรรม ความดี ความงาม ความดีงาม

๒. มีความไม่แน่ใจว่าคำภาษาอังกฤษบางคำ เมื่อแปลเป็นไทยแล้วใช้คำไหนจึงจะถูกต้องมากกว่า เช่นคำว่า Literacy มีบางคนใช้คำว่าการอ่านออกเขียนได้หรือการรู้หนังสือ แต่เมื่อไปรวมกับคำอื่นก็กลายเป็นคำใหม่ เช่น การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ความฉลาดทางการเมือง (Political Literacy) เป็นต้น

๓. ในเรื่องคุณธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นพลเมืองไทย ควรใช้แนวทางตามทฤษฎีของโคลเบิร์ก (Kohlberg’s Moral Reasoning) เป็นจุดเริ่มต้นดีหรือไม่

โดยส่วนตัว ผมมีข้อเสนอให้คณะกรรมการทั้งสองชุดพิจารณาดังต่อไปนี้คือ ในประเด็นแรก คณะกรรมการควรเลือกคำหลักในแต่ละชุดคำ แล้วกำหนดนิยามปฏิบัติการของคำหลักให้ชัดเจน และใช้ตลอดการทำโครงการ ไม่ใช้สลับหรือทดแทนกัน

ข้อ ๑.๑ ผมเสนอให้ใช้คำว่า จิตสำนึกความเป็นพลเมือง (Citizenship Consciousness) เพื่อเน้นว่านี่เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของความเชื่อหรือคุณค่าที่ยึดถือ ซึ่งเป็นมิติภายในที่ส่งผลต่อการคิด การพูด และการกระทำซึ่งเป็นพฤติกรรมและเป็นมิติภายนอก อีกทั้งคำนี้ยังสอดคล้องกับชื่อโครงการด้วย

ในข้อ ๑.๒ คำว่าโลก (World/ Global) ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปบ่งบอกถึงระดับ เช่น พลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน พลเมืองโลก ส่วนคำว่านานาชาติ (International) บ่งบอกความแตกต่างหลากหลายและระดับ ส่วนคำว่าสากล (Universal) บ่งบอกการรับรู้และการยอมรับร่วมกันเช่นกติกาสากล ในขณะที่คำว่าสากลสื่อถึงการมีตัวร่วมที่เหมือนหรือตรงกันหรือยอมรับร่วมกัน คำว่าโลกและนานาชาติสื่อถึงภาพรวม การรวม การรับรู้ และการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในงานวิจัยและการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองโดยทั่วไป เราพบการใช้คำว่าพลโลก และความเป็นพลเมืองโลก แต่ไม่พบการใช้คำว่าพลเมืองสากลหรือความเป็นพลเมืองสากล โดยนัยนี้ สิทธิมนุษยชนเรายอมรับและใช้เป็นหลักสากล ไม่ใช้หลักโลก เรามีศาลโลก ไม่มีศาลสากล แต่คำตัดสินของศาลโลกถือเป็นกติกาสากล

ในข้อ ๑.๓ คำว่าคุณธรรม (Virtue/ Moral) มีความหมายแตกต่างแต่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับคำว่าจริยธรรม สำหรับผม คุณธรรมเป็นมิติภายใน เป็นคุณค่าที่ยึดถือ เป็นความดี (Goodness) ความงาม (Aesthetics) ภายในบุคคล (Individual/ personal) ซึ่งจะสะท้อนออกมาเป็นการคิด การพูด และการกระทำที่ดีงามตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของสังคม ส่วนจริยธรรม (Ethics) เป็นเรื่องส่วนรวมที่กลุ่มคนร่วมกันกำหนดว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรหรือไม่ควรประพฤติปฏิบัติ เป็นเกณฑ์ที่ตกลงร่วมกัน (Collective/ Interpersonal) ในสังคม เป็นมิติภายนอก เช่นจรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ

ในประเด็นที่สอง (ข้อ ๒) หากยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันในวงวิชาการและวิชาชีพ ก็คงต้องพึ่งพาและอิงกับราชบัณฑิตสภา

ในประเด็นที่สาม (ข้อ ๓) หากจะอิงกับทฤษฎีคุณธรรมของโคลเบิร์ก เนื่องจากโครงการนี้จะประเมินเด็กนักเรียนอายุ ๑๕ ปี ซึ่งจะอยู่ในระดับที่สอง (Conventional Level) ของพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก คือ ในช่วงอายุระหว่าง ๑๐-๑๖ ปี จะมีตัวชี้วัดสองตัวที่สอดคล้องกับขั้นการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบิร์ก คือ หลักการทำตามความเห็นของผู้อื่น (Interpersonal Concordance) และหลักการทำตามกฎระเบียบของสังคม (Law and Order) แต่หากจะพิจารณาใช้ความเป็นไทยและคุณธรรมไทยเป็นหลัก ผมเสนอให้ใช้คุณธรรมเรื่องการทำความดีและการละเว้นความชั่ว และ/หรือคุณธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพราะแนวคิดนี้ก็สามารถพัฒนาและปรับใช้เป็นกรอบคุณธรรมสากลได้

ทั้งหมดที่นำเสนอนี้ ผมต้องการไม่ใช่แค่นำเสนอความเห็นส่วนตัวให้คณะกรรมการโครงการเท่านั้น แต่ต้องการนำเสนอให้นักวิชาการและผู้ที่สนใจใช้ประกอบการศึกษาวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในวงกว้าง

หากเราสามารถสร้างและพัฒนาเครื่องมือและวิธีการวัดและการประเมิน ที่เป็นนวัตกรรมในเรื่องนี้ขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพ น่าจะเป็นตัวแบบที่เป็นประโยชน์ในวงวิชาการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับโลก ตลอดจนอาจพัฒนาไปสู่ความเป็นสากลได้ในที่สุด

Back to Top