กุมภาพันธ์ 2012

มอบสิ่งดีที่สุดเพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555

เมื่อคนรักหรือคนใกล้ชิดป่วยหนักจนหมดสติและอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต คนส่วนใหญ่เลือกที่จะยื้อชีวิตหรือยืดลมหายใจของเขาให้นานที่สุด ด้วยการขอร้องให้หมอทำทุกอย่างกับร่างกายของผู้ป่วย แม้นั่นจะหมายถึงการก่อความทุกข์ทรมานแก่เขาอย่างมากก็ตาม เหตุผลนั้นมีหลายประการ เช่น ญาติยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของคนรัก หรือเป็นเพราะยังมีความหวังว่าปาฏิหาริย์อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังมีเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ญาติมีความเข้าใจว่าการทำเช่นนั้นเป็นสิ่งดีที่สุดที่จะสามารถทำให้แก่ผู้ป่วยได้ ยิ่งผู้ป่วยเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ด้วยแล้ว ก็ถือว่านี้เป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผู้มีความกตัญญูจะพึงกระทำในสถานการณ์ดังกล่าว

แต่จริงหรือที่การยื้อชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับเขา การมีลมหายใจยืนยาวอีกไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนด้วยความทุกข์ทรมาน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์เป็นแน่ หากความตายจะต้องมาถึงตัวอย่างแน่แท้แล้ว จะไม่ดีกว่าหรือถ้าเขาจะมีชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างไม่ทุกข์ทรมานและจากไปอย่างสงบ

บ่อยครั้งที่เราพบว่าสาเหตุที่ญาติขอร้องให้หมอยื้อชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่รู้ว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านั้น หลายคนเมื่อรู้ว่ามีวิธีที่ดีกว่าก็เปลี่ยนใจไม่ขอร้องให้หมอทำทุกอย่างกับร่างกายของผู้ป่วย คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ แพทย์อาวุโสและปูชนียบุคคลผู้หนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช (ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว) เล่าว่า เคยดูแลคนไข้ผู้หนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายฉับพลัน อีกทั้งระบบต่างๆ ในร่างกายไม่ทำงานแล้ว วันหนึ่งได้รับแจ้งจากพยาบาลว่า ลูกสาวทั้งสี่คนฝากบอกมาว่า ถ้าแม่หัวใจหยุดเต้น ขอให้ปั๊มหัวใจเต็มที่ ท่านจึงขอพบลูกสาวทั้งสี่คน และชี้แจงว่า ภาวะไตวายนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดกับคนไข้ แม้จะฟอกเลือดให้ คนไข้ก็ไม่ดีขึ้น และอาจเกิดอันตรายขึ้นด้วยซ้ำ

เมื่ออธิบายในทางการแพทย์จบ คุณหมอสุมาลีก็ให้คำแนะนำต่อไปว่า แม้จะไม่ฟอกเลือด ลูกก็ยังสามารถทำอะไรให้แม่ได้อีกมาก ที่สำคัญก็คือ การทำให้แม่มีใจสงบ เช่น คุยกับแม่ในเรื่องบุญกุศล หรือเรื่องที่ท่านฟังแล้วสบายใจ หากท่านจะต้องจากไป ก็จะไปด้วยดี คุณหมอสุมาลียังย้ำว่า แม้แม่จะไม่รู้สึกตัว ก็สามารถได้ยินคำพูดของลูกได้ พอพูดมาถึงตรงนี้ ประกายตาของลูกสาวทั้งสี่ก็วาววับขึ้นมา เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่านี้เป็นสิ่งที่ลูกสามารถทำให้แม่ได้ ทั้งหมดขอตัวไปเยี่ยมแม่ทันที หลังจากพูดคุยกับแม่พักใหญ่ ก็กลับมาบอกพยาบาลว่า ถ้าแม่หัวใจหยุดเต้น ก็ไม่ต้องปั๊มหัวใจแล้ว เขาเข้าใจแล้ว

ทุกวันนี้ผู้คนให้ความสนใจแต่เรื่องของร่างกาย จนมองข้ามความสำคัญของจิตใจไป ดังนั้นเมื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วย จึงคิดถึงแต่การดูแลเยียวยาทางกาย และถ้าหมดหนทางที่จะเยียวยากายได้ ก็จะมุ่งแทรกแซงร่างกายสถานเดียว หรือไม่ก็วางมือไม่ทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้และควรทำเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือทางจิตใจ เช่น ช่วยน้อมใจให้สงบ มีที่พึ่งทางใจหรือพร้อมรับกับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น

การช่วยเหลือด้านจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าหมอ พยาบาล และที่สำคัญก็คือ ญาติมิตร โดยไม่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากไหน ในอดีตการนำจิตใจผู้ป่วยให้ไปอย่างสงบนั้น เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพระภิกษุ แต่ก็มิได้หมายความว่ามีแต่พระภิกษุเท่านั้นที่จะทำเช่นนี้ได้

แท้จริงแล้วหมอ พยาบาล และญาติมิตรก็สามารถทำได้ และในบางกรณีก็ทำได้ดีกว่าพระด้วย เนื่องจากมีความคุ้นเคยใกล้ชิดและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยได้ดีกว่า

หลักการสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยพบกับความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น มีไม่กี่ข้อ และสามารถทำได้ไม่ยาก ได้แก่

๑) ให้ความรักความเมตตาแก่ผู้ป่วย คือมีใจอยากช่วยเหลือเขา พร้อมที่จะแบ่งเบาความทุกข์ของเขาด้วยความเต็มใจ ยินดีรับฟังความทุกข์ของเขา รวมถึงพร้อมที่จะเข้าใจเขา โดยไม่คิดแต่จะสอนเขาหรือแนะนำด้วยความเคยชินติดปากว่าให้ "อดทน" "ทำใจ"หรือปลอบใจว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย" (ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ผู้ป่วยได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่มีความหมาย)

๒) ชวนให้นึกถึงสิ่งดีงาม เช่น นึกถึงพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือ รวมทั้งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ สำหรับคนที่ไกลวัดไกลศาสนา ก็ชวนให้เขานึกถึงความดีที่ได้ทำ หรือสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของเขา ที่ช่วยให้รู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นมีคุณค่า นอกจากนั้นยังอาจชวนเขาทำสังฆทาน หรือแจ้งให้เขาทราบว่าได้ไถ่โคกระบือในนามของเขาเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร

๓) ช่วยให้เขาปล่อยวางความกังวลหรือปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน คู่ครอง งานการ เช่น สามีให้คำมั่นแก่ภรรยาว่าจะดูแลลูกๆ ให้ดี น้องๆ ให้คำมั่นแก่พี่ว่าจะช่วยดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือสร้างความมั่นใจแก่เขาว่าลูกหลานจะอยู่ได้ด้วยดีแม้ไม่มีเขา รวมทั้งมีการขอขมาขออโหสิต่อกันและกัน เพื่อจะได้ไม่มีสิ่งติดค้างใจกัน

๔) สร้างบรรยากาศแห่งความสงบ เช่น สวดมนต์หรือนั่งสมาธิรอบเตียงเขา หรือเปิดเพลงเบาๆ ที่เขาชอบ ไม่ควรมีการร้องไห้ฟูมฟายหรือทะเลาะเบาะแว้งกันในห้อง พึงตระหนักว่าแม้เขาจะอยู่ในภาวะโคม่า ก็ยังสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้

ผู้ป่วยแต่ละคนนั้นมีภูมิหลังเฉพาะตัว อีกทั้งนิสัยใจคอและการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ก็ต่างกัน (รวมทั้งความยึดติดถือมั่น) คนที่น่าจะรู้ดีที่สุดก็คือญาติมิตรที่คุ้นเคย ดังนั้นเมื่อพบว่าคนรักและคนใกล้ชิดเจ็บป่วยใกล้เสียชีวิต ญาติมิตรที่คุ้นเคยจึงเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ใกล้ตายมาก่อน ก็สามารถเรียนรู้หรือหาประสบการณ์ได้ ทั้งจากหนังสือหรือจากผู้รู้
ว่าจำเพาะหนังสือด้านนี้ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ (ล่าสุดก็คือ เพื่อรอยยิ้มเมื่อสิ้นลม ซึ่ง สง่า ลือชาพัฒนาพร กลั่นกรองจากประสบการณ์ยาวนานกว่า ๒๐ ปีของ กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาลผู้เปี่ยมด้วยเมตตาแห่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่)

ที่น่ายินดีก็คือ เร็วๆ นี้เครือข่ายพุทธิกาจะเปิดโครงการ "สายด่วนให้คำปรึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย" ผู้ที่มีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย สามารถติดต่อได้ที่ ๐๒–๘๘๒-๔๙๕๒ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เริ่มตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคมนี้เป็นต้นไป

สนามแม่เหล็กโลกเกี่ยวกับดวงอาทิตย์จริงๆ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555

ก่อนจะลงไปในเนื้อหาสาระของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่เกี่ยวข้องควบคุมสนามแม่เหล็กโลก ในฐานะที่ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางร่วมของพลังงานแม่เหล็กธรรมชาติ ของการแลกเปลี่ยนพลังงานธรรมชาติกับสนามแม่เหล็กโลก ที่ผู้เขียนคิดเอาเองว่าคงมีมานานตั้งแต่เริ่มมีระบบสุริยะ จึงใคร่ขอเล่าเรื่องส่วนตัวสักเล็กน้อย ผู้เขียนเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์โดยมีคอลัมน์เป็นของตัวเองก่อนจะมาร่วมกับชมรมจิตวิวัฒน์กว่า ๙ ปี รวมที่ได้เขียนมาถึงกว่า ๒๐ ปี จึงขอขอบใจหนังสือพิมพ์มติชนที่ได้เอื้อเฟื้อชมรมจิตวิวัฒน์

ผู้เขียนได้เขียนหนังสือเพื่อหาเงินจริงๆ ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ไม่นับการเขียนบทความกับเรื่องสั้นที่ลงในหนังสือต้อนรับน้องใหม่เมื่อยังอยู่ที่จุฬาฯ ทั้งนี้ ต้องขอบใจหมอประเวศ วะสี ที่ได้ให้เงินมาเปล่าๆ ๑ แสนบาทโดยไม่มีอะไรตอบแทน เพราะผู้เขียนไม่มีเงินเลยจริงๆ ในปีนั้น ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ซื้อคอมพิวเตอร์ในราคาเกือบครึ่งหนึ่งของเงินที่หมอประเวศให้มา และนั่นคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้เขียนและการเป็นนักเขียนหน้าใหม่

นิยายที่ผู้เขียนเขียนเรื่องแรกโดยคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาษาอังกฤษ และได้พยายามติดต่อโรงพิมพ์ที่เมืองนอกไม่รู้ว่ากี่แห่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ตอนที่เขียนใหม่ๆ มีหนังสือพิมพ์ที่ผู้เขียนเขียนเป็นประจำทุกอาทิตย์ถึงห้าฉบับจนไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ก็ต้องขอบใจสยามโพสต์ (ไทยโพสต์ในปัจจุบัน) ที่ให้ผู้เขียนได้ตั้งต้นชีวิตใหม่
ที่พูดเรื่องส่วนตัวนั้นก็เพราะรู้ตัวว่าแก่ชรามากแล้ว คงจะเขียนได้ไม่นาน ผู้เขียนเคยบอก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ว่ารู้ตัวว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่ออายุครบ ๘๔ บริบูรณ์ และปีนี้ผู้เขียนก็ครบเวลาที่ว่านั้นแล้ว อีกอย่างหนึ่งผู้เขียนนั้นตาก็มองไม่เห็นแล้วจากโรคแม็คคูล่าดีเจนเนอเรชั่น อันเป็นโรคที่เสื่อมถอยอย่างหนึ่ง การมองไม่เห็นของผู้เขียนจึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนแทบจะพึ่งความจำแต่เพียงอย่างเดียว ฉะนั้นต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยถ้าหากมีอะไรบกพร่อง หรือว่าข้อมูลเก่าเกินไป หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด

ผู้เขียนมีลูกบุญธรรมยี่สิบกว่าคน และเมื่อเร็วๆ นี้ ลูกบุญธรรมที่เป็นศิษย์ของผู้เขียนคนหนึ่งที่กำลังจะเรียนจบปริญญาเอก มหาวิทยาลัยจุฬาฯ เธอได้ถามว่าพลังงานแม่เหล็กโลกที่เป็นธรรมชาติที่โลกของเรามีนั้นมีความสำคัญต่อโลกและชีวิตอย่างไร? และเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์หรือไม่และอย่างไร? ก็ได้ตอบลูกบุญธรรมไปว่า เกี่ยวข้องกับโลกแห่งชีวิตโดยตรง แถมสนามแม่เหล็กของโลกเรายังเป็นผลของดวงอาทิตย์โดยตรงอีกด้วย

ในประการแรกก็ได้เขียนบทความเรื่อง “กรรมกับพลังงานธรรมชาติ” ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มาประมาณสองปีมาแล้ว ซึ่งผู้เขียนได้อ้างอิงถึงเรื่องของความถี่คลื่นที่ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย และได้พูดถึงหนังสือของ อีวาน-เว้นซ์ (Evan-Wentz : Bardo Thodol, 1927) และวัชรยานพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งหนังสือที่พิมพ์มาร่วม ๙๐ ปีในบทที่ว่าด้วยเรื่องมณฑลนั้น ได้บอกอย่างชัดเจนว่าในตัวอ่อนของชีวิตมนุษย์ในครรภ์มารดานั้น (หรือเอ็มบริโอ) มันจะมีสองศูนย์ด้วยกัน – คือศูนย์สมองหรือศูนย์เหนือกับศูนย์หัวใจหรือศูนย์ใต้ – ที่ได้รับพลังงานโดยตรงมาจากใจกลางของดวงอาทิตย์ พลังงานที่จะทำให้ทั้งสองศูนย์ผูกพันกัน พึ่งพาอาศัยกันและกันประหนึ่งโซ่สายที่สัมพันธ์กัน และทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ได้แสดงอย่างชัดแจ้งว่า ศูนย์หัวใจหรือศูนย์ใต้นั้นมีเซลล์สมองอยู่จริงราวๆ หมื่นกว่าตัว (neurons) บังคับควบคุมให้หัวใจเต้นอย่างมีจังหวะ ซึ่งแสดงว่าหัวใจเป็นประหนึ่งสมองย่อยๆ อีกอวัยวะหนึ่งที่ควบคุมโดยพลังงานแม่เหล็กที่มาจากใจกลางของดวงอาทิตย์ สำหรับเถรวาทพุทธศาสนานั้น ผู้เขียนได้เคยถามท่านเจ้าคุณศรีปริยัติโมลี อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย – ซึ่งปัจจุบันหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ – อันเป็นมหาวิทยาลัยพระสงฆ์แห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ผู้เขียนเข้าใจ

ส่วนประการที่สอง ที่ผู้เขียนบอกว่าสนามแม่เหล็กโลกเป็นผลของดวงอาทิตย์โดยตรงนั้น ได้มาจากคอลเลียร์เอ็นไซโคลพิเดียปี ค.ศ.๑๙๘๕ ที่บอกว่าสนามแม่เหล็กโลกนั้นมาจากพลังงานเทอร์โมนิวเคลียร์ที่เกิดจากการเผาผลาญไฮโดรเจนภายในดวงอาทิตย์ นั่นแปลว่าดวงอาทิตย์จะต้องหมดไฮโดรเจนเข้าสักวัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ในระหว่าง ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านปี ซึ่งตรงกับหนึ่งกัลป์และอายุของพรหมันในคัมภีร์ของลัทธิพระเวทพอดี

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยดวงอาทิตย์ (solar science) บอกเราว่า ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะเป็นเพียงดาวดวงหนึ่งใน ๑๐๐ พันล้านดวงในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรา ที่มาของพลังงานธรรมชาติหรือหลังงานแม่เหล็กของโลก และส่วนหนึ่งของแรงดึงดูดที่ควบคุมดาวเคราะห์ทั้งเก้าดวงของระบบสุริยะ แต่ในลัทธิพระเวทที่มาจาเอเชียกลาง จากเผ่าอารยันบอกว่า เป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง (ลัทธิพระเวทอาจมีที่มาสองแหล่ง คือจากเผ่าพันอารยันที่เอเชียกลาง และจากอาฟริกาซึ่งมาจากแผ่นดินที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกับเอเชียใต้เมื่อตอนปลายของยุคน้ำแข็ง หรือจากเผ่าโปรโตดราวิเดียนที่มาของชาวลังกา และชาวอินเดียที่อยู่ตอนใต้ของเทือกเขาวินธัย (Vindya) ในอินเดียโบราณ

โดยวิทยาศาสตร์อันเป็นความจริงทางโลก และโดยจิตกับศาสนา โดยเฉพาะวัฒนธรรมพระเวท สนับสนุนโดยควอนตัมฟิสิกส์อันเป็นความจริงทางธรรม (โลกุตระ) ข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเร็วๆ นี้บอกสามอย่างสามประเด็นอันสุดสำคัญยิ่งแก่เรา

ประการแรก มันเกิดมีช่องติดต่อใหม่ (portal) ของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งเป็นผลของสนามแม่เหล็กอันเป็นพลังงานธรรมชาติที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์ ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นแหล่งกำนิดของ “กรรม” เดวิด ซิเบ็ค แห่งศูนย์ค้นคว้าอวกาศก็อดดาร์ดขององค์การนาซ่า (Goddard Space Center) ผู้ค้นพบและรายงานเรื่องการเลิกการติดต่อระหว่างสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์กับสนามแม่เหล็กของโลก เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.๒๐๐๘ (Necsus: Last Quarter, 2008) โดยช่องปิด-เปิด (portal) ที่กระทำการเปิดทุกๆ ๘ นาทีและจะปิดหนึ่งนาที (โดยประมาณ) โดยยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า “แน่ใจว่า มันไม่เคยมี (portal) ช่องปิด-เปิดที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าโลกของเราอย่างนี้เมื่อสิบปีก่อนเลย”

ประการที่สอง มันมีจุดดำของดวงอาทิตย์ กับสนามแม่เหล็กโลกที่เหลือน้อยอย่างที่ไม่เคยเหลือเช่นนี้มาก่อน (Necsus: Second quarter, 2009)

ประการที่สาม จุดดำของดวงอาทิตย์อาจจะเกี่ยวข้องกับพายุสุริยะและแผ่นดินไหวในตะวันออกไกล รวมทั้งไทยเราที่จะเกิดขึ้นในหน้าร้อนปี ค.ศ.๒๐๑๒ ซึ่งทางด้านควอนตัมเมคคานิกส์ และความจริงทางธรรม (โลกุตระ) ก็ทำนายไว้อย่างนั้น (B. Alan Wallace: The Hidden Dimensions, 2007)

จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์ฝ่ายหนึ่ง กับพุทธศาสนาและคัมภีร์ของลัทธิพระเวทอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างก็บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กของทั้งสอง ดังที่เราเห็นในภาพที่นักวิทยาศาสตร์สร้างนั้น มันมีนัยสำคัญเช่นที่หนังสือของ อีแวน-เว้นทซ์ ที่ผู้เขียนอ้างถึงว่า ความสัมพันธ์และความสำคัญของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์และสนามแม่เหล็กของโลก ที่ผู้เขียนคิดว่าคงมีความสัมพันธ์เช่นนั้นมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ยุคสมัยการเริ่มต้นการมีขึ้นของสัตว์โลก ร่วม ๕๐๐ ล้านปีก่อน ซึ่งทางวิทยาศาสตร์คงไม่รู้ เพราะมีมาก่อนหน้าที่เราจะมีวิทยาศาสตร์ของดวงอาทิตย์นานมากนักหนา และคงจะเกี่ยวกับกรรมนั้น มันก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ – หรือความจริงทางโลก ซึ่งผู้เขียนพูดบ่อยๆ ว่ามันแสดงสติปัญญาความฉลาด (intelligence) ธรรมดาๆ ซึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เรียกว่าเป็น “ปัญญาหยาบ” เพราะว่าผู้เขียนเชื่อแน่ว่าไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง - พอสมควรที่ผู้อ่านน่าจะเอามาคิดต่อ

ที่ผู้เขียนคิดว่าช่องเปิด-ปิด (หรือ portal) ของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์มายังโลกเป็นข้อมูลใหม่ประการแรกที่อ้างไว้ข้างบน ซึ่ง เดวิด ซีเบ็ค ค้นพบและรายงานเมื่อปลายปี ค.ศ.๒๐๐๗ นั้น ไม่มีคำอธิบายโดยเดวิด ซีเบ็ค หรือนักวิทยาศาสตร์คนใด

แต่ที่ผู้เขียนคิดว่าช่องเปิด-ปิด เป็นเสมือนกลไกที่สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ใช้ควบคุมสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งหายไปเกือบทั้งหมด ดังข้อมูลใหม่ประการที่สอง พูดง่ายๆ คือสนามแม่เหล็กที่ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนพลังงานหรือข้อมูลของ “กรรมร่วม” ให้ “เลิกหรือยุติ” การควบคุมสนามแม่เหล็กโลก เหตุผล? ผู้เขียนคิดว่าก็เพราะมนุษย์เรารังแกสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมากยิ่งกว่าจะพูดว่า “มากยิ่งนัก” สาเหตุหลักก็เพราะ “อวิชชา” ซึ่งเป็นแรงกรรมอย่างหนึ่งนอกจากตัณหา การรังแกธรรมชาติมีผลยิ่งกว่าการฆ่าสัตว์ชีวิต เพราะว่าฆ่าทั้งเผ่าพันธุ์หลายเผ่าพันธุ์เลย โดยการไปไล่ที่อยู่ของพวกมัน ผู้เขียนคิดเองว่ากรรมร่วมนี้อาจจะอธิบายการสูญเสียประชากรโลกจำนวนมากๆ อย่างฉับพลันทันที ดังที่ เจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเครือจักรภพอังกฤษว่าไว้ว่า ประชากรโลกจะเหลือเพียงร้อยละ ๑๘ ภายในปี ค.ศ.๒๐๒๐-๒๐๔๐ (เจมส์ เลิฟล็อค ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Guardian เมื่อวันที่ ๒๙ เดือนมีนาคม ปี ค.ศ.๒๐๑๐)

นั่นคือ เนื้อหาสาระของบทความบทนี้ สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่ได้มาจากพลังงานเทอร์โมนิวเคลียร์ที่ผลิตขึ้นภายในดวงอาทิตย์เกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กโลกจริงๆ และผู้เขียนคิดเอาเองว่ามันคงจะเกี่ยวข้องกับ “กรรมร่วม” ด้วย ดังที่ได้เขียนมา จึงขอให้ท่านผู้อ่านคิดกันให้ดีก่อนที่จะบอกว่าไม่เชื่อ

สังคมข่าวสาร : หลุมพรางอำมหิตของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555

สังคมข่าวสารที่เอ่อล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่เป็นขยะข้อมูล ขยะข่าวสาร และข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาแฝงเร้น บิดเบือน เชือดเฉือนฝ่ายตรงกันข้าม เป็นสังคมที่เราต้องมีสติและปัญญาในการคัดกรองข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากขาดสติ และปัญญาเมื่อไหร่ เราก็จะไหลไปตามข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ การเข้าใจผิดที่คิดว่าข้อมูลข่าวสารคือความรู้ คือปัญญา

แล้วนำมาส่งต่อ ส่งผ่าน ผสมผสานจินตนาการส่วนตัว

และน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นกับการเข้าใจผิดที่คิดว่า การได้ข้อมูลข่าวสารทำนองเดียวกันอย่างต่อเนื่อง คือความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูลข่าวสาร

คนฉลาดที่ชั่วร้ายจึงอาศัยเครื่องมือ ช่องทาง และเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่หลากหลาย โหมกระหน่ำ ตอกย้ำข้อมูลข่าวสารทางเดียวให้กับพรรคพวกและสังคมโดยรวม เพื่อบิดเบือนการรับรู้ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของกระบวนการลักษณะนี้ นับว่าเป็นผู้มีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต มีจิตเล็ก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ญาติพี่น้องและพรรคพวก คนเหล่านี้มีความน่ากลัวตรงที่ว่า พวกเขาทำได้ทุกท่า หาโอกาสได้ทุกที่ อะไรที่ไม่ดีก็โยนให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ผลกระทบต่อส่วนรวมและประเทศชาติในทางเสียหาย ไม่สำคัญเท่าผลประโยชน์ส่วนตน

สังคมข่าวสารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ภายใต้คนฉลาดที่ชั่วร้าย ที่ตนเองนิยมชมชอบเพราะถูกครอบความคิดด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างเช่นทุกวันนี้ ยิ่งทวีความน่ากลัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเราขาดสติและปํญญาที่จะรู้เท่าทันหลุมพรางอำมหิต

ลองหยุดสักนิด แล้วพิจารณาอย่างใคร่ครวญ ทบทวนเหตุการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏ

ลองหยุดสักนิด แล้วพิจารณาอย่างใคร่ครวญ ทบทวนนักการเมืองที่เรามี

มีสักกี่เหตุการณ์ และมีสักกี่คนที่คิด และทำ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริง

มีแต่เหตุผลและข้ออ้าง ข้างๆ คูๆ ฟังดูดี เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้รักประชาธิปไตย ใฝ่หาความยุติธรรม

การพยายามเข้าสู่อำนาจ เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่

การใช้อำนาจที่ได้มา ก็เป็นไปเพื่อรักษาความยุติธรรม

ฟังดูดีมีจิตใหญ่ มีใจทำงานให้กับสังคม เป็นผู้นิยมประชาธิปไตย

แต่ใช้อำนาจตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศ เพราะถือว่าได้ชัยชนะผ่านระบบประชาธิปไตยแบบคะแนนเสียงข้างมาก ห้ามสงสัยที่มาของชัยชนะว่าได้มาด้วยความบริสุทธิ์โปร่งใสหรือไม่

ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งก็คือ การคิดว่าอำนาจคือความถูกต้องชอบธรรม ทรัพย์สมบัติของรัฐคือทรัพย์สมบัติของรัฐบาล คือทรัพย์สมบัติของตนเอง การฉ้อราษฎร์ บังหลวง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงเต็มไปทั้งแผ่นดิน จนคนส่วนหนึ่งเห็นว่าการคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติ

สังคมข่าวสาร ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ เรื่องในสังคมปัจจุบัน บางเรื่องก็เชื่อมโยงแบบก้าวกระโดด เช่น ในโลกสังคมข่าวสาร ภายใต้ความก้าวหน้าของวิทยาการด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดสภาวะโลกไร้พรมแดน จึงต้องตามให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจะได้แข่งขันกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรวดเร็วจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแข่งขัน
ฟังดูดี มีเหตุ มีผล แต่ลองตั้งสติและใคร่ครวญให้ลุ่มลึกรอบด้าน

ถึงแม้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ภายใต้สังคมข่าวสารจะสามารถทะลุทะลวงเส้นแบ่งเขตแดนทางกายภาพของแต่ละประเทศได้ก็จริง และดูเหมือนโลกจะเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ภายใต้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร แต่ก็ก่อให้เกิดการแบ่งแยกแบบใหม่ขึ้นที่เรียกว่าการแบ่งแยกทางดิจิทอล (Digital divide) ซึ่งสะท้อนความเหลื่อมส้ำที่ชัดเจนมากกว่าทางกายภาพเสียอีก

หรือลองดูอีกหนึ่งตัวอย่างที่ลัทธิทุนนิยมใช้สังคมข่าวสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์ความสำคัญของ การค้าเสรี ตลาดเสรี การแข่งขันเสรี แล้วยัดเยียดมาตรฐานใหม่ๆ ที่ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมนำมาเป็นคาถา และเครื่องมือ ทั้งในการทะลุทะลวงและสะกัดกั้นประเทศที่ด้อยกว่า บีบรัดและบังคับให้มาแข่งขันอย่างเสรีแบบไม่มีแต้มต่อ

มันเป็นความอำมหิตของผู้เข้มแข็งกว่า ที่ไร้มนุษยธรรมและเต็มไปด้วยความอยุติธรรมใช่หรือไม่

มีเสรีแต่ไม่มีความยุติธรรม (Free but not fair) ก็คือความอยุติธรรมที่เสรี ใช่หรือไม่ โลกภายใต้ระบบนี้จึงวุ่นวายไปทั่ว

ทั้งสองตัวอย่างบ่งบอกการให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากกว่าการร่วมมือ

ความรวดเร็วเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ มากกว่าความช้าเพื่อการพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบคอบ

วัตถุมากกว่าจิตใจ กำไรมากกว่ากำใจ ไปคนเดียวมากกว่าไปด้วยกัน

สังคมข่าวสารท่ามกลางหลุมพรางอำมหิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เร่งรีบ รุ่มร้อน ผ่อนส่ง แต่ละคนจึงต้องมีสติ เพื่อจะได้มีโอกาสเกิดปัญญา และรู้เท่าทันตนเอง ผู้อื่นและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะได้ไม่ต้องหมกมุ่นกับการไล่ให้ทัน โดยไม่รู้เท่าทัน

สังคมข่าวสารท่ามกลางหลุมพรางอำมหิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม เป็นเรื่องที่คนในวงการศึกษา และคนในวงการสื่อสารมวลชน น่าจะมีบทบาทอย่างมากในการเตือนสติ ให้สติและสร้างสติให้กับคนในสังคม ด้วยการร่วมกันสร้างและให้ความรู้และปัญญากับสังคม ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะจุดแคบๆ ทางเดียว ไม่ครอบคลุม ไม่รอบคอบ ไม่รอบด้าน ไม่สัมพันธ์กับชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง

น่าเสียดายที่ระบบและคนในวงการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ก็ติดกับดัก และถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเป็นส่วนใหญ่แบบขาดสติ ติดกับอยู่กับข้อมูลข่าวสาร หลงใหลกับการวิ่งไล่ตามข้อมูลข่าวสารเพียงเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการสร้างความรู้และปัญญาเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การศึกษากลายเป็นธุรกิจการศึกษา อาจารย์เป็นผู้ปฏิบัติงานตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ติดตำราฝรั่ง อ้างอิงฝรั่งอย่างงมงาย ถ่ายทอดลอกแบบโดยไม่ยั้งคิด ลูกศิษย์คือลูกค้าที่สถาบันการศึกษาต้องแข่งขันกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ และพลิกแพลงกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาเรียน มีหลักสูตรเร่งรัด หลักสูตรพิเศษมากมาย เข้าง่ายจบง่าย การศึกษาส่วนใหญ่จึงมีแต่ผู้สอนและผู้ถูกสอน ผู้สอบและผู้ถูกสอบ แต่ไม่มีผู้เรียนรู้ที่แท้จริง

วงการและคนในวงการสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อย ก็คล้อยตามไปกับกระแสทุนนิยม สื่อจำนวนมากที่มีเป็นส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อพาณิชย์ที่มุ่งเน้นผลและความอยู่รอดทางธุรกิจมากกว่าการเป็นสื่อสารมวลชนต้นแบบ ยังมีรายการบันเทิงที่ไร้สาระ ข่าวยังมีลักษณะปฏิกริยาตอบสนอง (Reactive) มากกว่าวางแผนและมองไปข้างหน้า (Proactive) ยังเร่งรีบ (ทำงานหน้าเตา) ยังวิ่งไล่ตามข่าวสาร มากกว่าการรู้เท่าทันข่าวสาร รายการต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการหารายได้ โดยขาดจิตสำนึกของการเป็นสื่อมวลชนต้นแบบที่ดี มีการใส่สีตีข่าว ทั้งที่สื่อมวลชนที่ดีมีคุณภาพ ต้องสร้างสรรค์รายการทุกรายการที่ไม่ทำร้ายหรือทำลายผู้ชมผู้ฟัง ไม่มอมเมาผู้ชมผู้ฟัง ไม่เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือให้ข้อมูลข่าวสารทางเดียว

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็เป็นสื่อเฉพาะกลุ่มที่มีเป้าประสงค์เฉพาะทาง วิทยุชุมชนก็กลายพันธุ์เป็นวิทยุขายของ วิทยุโฆษณาชวนเชื่อ วิทยุปลุกระดม จิตวิญญาณของสื่อสารมวลต้นแบบเลือนหายไปกับกระแสเงินและกระแสอำนาจ

ที่พอจะมีความหวังบ้างก็คือสื่อสาธารณะแห่งแรกของไทยและของภูมิภาคนี้ ที่สร้างปรากฏการใหม่ให้วงการสื่อสารมวลชนไทย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางการเมือง หรือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ประชาชนให้ความไว้วางใจ เพราะมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่ใส่สีตีข่าว ให้ความรู้ ให้การศึกษา ให้สติปัญญากับผู้ชมผู้ฟังอย่างรอบด้าน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบ โดยถือว่าประชาชนเป็นพลเมือง ไม่ใช่เป็นลูกค้าหรือผู้บริโภค และที่สำคัญให้ความเคารพว่า ประชาชนเป็นเจ้าของ

สังคมข่าวสารท่ามกลางหลุมพรางอำมหิตของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม เป็นความท้าทายของทุกคนทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะคนวงการศึกษาและวงการสื่อสารมวลชนที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อให้รู้เท่าทันหลุมพรางที่วางไว้ แล้วช่วยกันในทุกรูปแบบเพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนัก มีสติ ตื่นรู้ และมีปัญญารู้เท่าทัน ไม่ตกหลุมพรางอำมหิต

มอง ‘จิตอาสา‘ ผ่านสายตาเด็กวัด



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2555

หนุงหนิง คือหญิงสาววัยทำงาน ชีวิตวัยเด็กของเธอเรียกได้ว่าเป็นคุณหนูตัวจริง เพราะฐานะทางบ้านเหลือกินเหลือใช้ เธอไปโรงเรียนมัธยมด้วยกระเป๋าถือหลุยส์ วิตตอง และของฟุ้งเฟ้อแห่งยุคสมัย แต่ทรัพย์สมบัติเป็นของไม่เที่ยง เมื่อถึงจุดหนึ่งเธอจึงต้องพาตัวเองเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ให้กับทางบ้าน หนุงหนิงมีรูปร่างค่อนข้างเจ้าเนื้อ เพราะไม่เคยถูกความลำบากขัดเกลาจึงไม่ใคร่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ส่วนรูปร่างของเธอก็ทำให้เธอต้องรับบทเป็นตัวโจ๊กในหมู่เพื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนประเภทไม่เอาไหนทั้งสิ้น

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลทำให้เกิดกระแส “คนช่วยเหลือกัน” ในหมู่คนรุ่นใหม่ หนุงหนิงก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาสัมผัสกับกระแสนี้เช่นเดียวกัน

“จากที่เรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับใคร ก็รู้สึกดีกับตัวเองเมื่อมาทำงานอาสา เพราะอย่างน้อยได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นบ้าง”

มีอยู่ช่วงหนึ่งหนุงหนิงจะไล่ติดตามข่าวผ่านทางเฟซบุ๊ค สื่อโซเชียลมีเดียยอดฮิต เพื่อดูว่าจะมีกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมที่ไหนบ้าง บางครั้งเธอไปช่วยด้วยแรงกาย บางครั้งก็บริจาคสิ่งของตามแต่กำลัง ทุกครั้งเธอจะรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากกว่าเธอ

เหตุการณ์พลิกผัน เมื่อ “หนุงหนิง” ตัดสินใจลาออกจากงานซึ่งมองไม่เห็นอนาคต เพื่อแสวงหาทางเดินใหม่ เธอต้องกลายมาเป็น “เด็กวัด” โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อญาติผู้ใหญ่ที่เธอจะไปอยู่ด้วยมีปัญหาบางอย่าง จึงขอฝากเธอเอาไว้ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ในภาคอิสาน กับหลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งรู้จักมักคุ้นกันมานาน

เมื่อคุณหนูต้องกลายมาเป็นเด็กวัด เธอพบว่าชีวิตเดิมๆ ที่ไปเฮฮาปาร์ตี้ก๊งเหล้ากับก๊วนเพื่อน จนมีนิสัยนอนดึกตื่นสายได้ถูกแทนที่ด้วยการตื่นแต่เช้ามืด และจะต้องทำงานสารพัดที่เป็นงานของส่วนรวม เช่นงานกวาดถูกพื้น ล้างจาน ซักผ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่เธอไม่เคยทำมาก่อน เธอเล่าว่าพระอาจารย์มักจะมาดูเธอกวาดพื้นแล้วสอนว่า “อย่าใจลอย ให้เอาใจมาอยู่ที่การกวาดพื้น” แต่เธอก็ทำไม่ได้ เธอรังเกียจงานที่ต้องใช้แรงงานเหล่านี้ เธอรู้สึกเหนื่อยและท้อ ยิ่งติดกับดักความคิด ความรันทดก็กัดเซาะใจของเธอ ได้แต่รำพึงว่าเหตุใดหนอโชคชะตาจึงเล่นตลกกับเธอได้ถึงเพียงนี้

หกเดือนผ่านไป เธอพบว่าการกวาดพื้นไม่ได้ทรมานใจเธอย่างที่เคยเป็น เธอไม่ได้รักไม่ได้ชอบมัน แต่เธอสามารถทำมันได้เป็นปกติ ยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีงานเข้ากรรมฐานประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของทางวัด เธอเห็นเด็กวัดคนอื่นๆ ต้องทำงานหนักเสียยิ่งกว่า เธอยิ่งรู้สึกว่าจะนั่งนิ่งเฉยอยู่เห็นจะไม่ได้ ต้องลุกขึ้นไปหยิบจับช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่ต้องให้พระอาจารย์บอกกล่าว

เมื่อถึงวันงาน ชาวบ้านพากันทะยอยเข้าวัด เธอรู้สึกดีที่พวกเขาจะได้นอนในเต๊นท์ที่เธอได้จัดเตรียมมาอย่างดี ได้เดินบนลานวัดสะอาดเอี่ยม ซึ่งเธอและเด็กวัดคนอื่นๆ เพียรพยายามกวาดใบไม้ออกไปได้กองเบ้อเริ่มทุกวันผ่านมาเป็นเดือน ได้นั่งบนผ้าปูรองนั่งสีขาวซึ่งเธอซักและตากมากับมือ แต่ความปลาบปลื้มของเธออยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่อเธอถูกชาวบ้านและชาวเมืองที่มาวัดหลายคนใช้งานจนแทบไม่มีเวลาว่าง

“จะเดินไปตรงไหนก็ไม่ได้เลย เขาคงเห็นว่าเป็นเด็กวัดเรียกใช้งานตลอด เดี๋ยวก็เรียกให้ไปดูแลลูกหลาน เดี๋ยวก็ใช้ให้เราไปหยิบของ เหนื่อยมาก”

เมื่องานประจำปีสิ้นสุดลง ก็เหลือผ้ากองโตให้เธอซัก เธอบอกถึงความรู้สึก

“แรกๆ ที่ซักผ้า มันขุ่นใจ เพราะไม่เห็นมีใครมาช่วยเลย งานเลิกแล้วเขาก็กลับบ้านกันหมด ก็คิดไปมาอย่างนั้น แต่รู้ว่าถ้าคิดไปมันก็เปลืองพลังงานเป็นคูณสอง ก็เลยทำไปเรื่อย ไม่รู้เมื่อไหร่เหมือนกันที่ความขุ่นใจหายไป กลายเป็นซักผ้าได้เรื่อยๆ ตอนนั้นให้ชวนไปไหนก็ไม่ไปเพราะเหมือนกับว่านี่เป็นหน้าที่ของเรา เราทิ้งไปไม่ได้”

หนุงหนิงไม่น้อยใจที่พวกเราออกไปหาอะไรอร่อยๆ ในเมืองทานโดยไม่ได้ชักชวน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเธอคงเลือกที่จะให้เพื่อนๆ โขกสับเธอในงานปาร์ตี้ ดีกว่าอยู่บ้านซักผ้า

ผมถามเธอว่าแล้วรู้ไหมว่าที่เธอทำอยู่น่ะก็เป็น “จิตอาสา” เหมือนกันนะ

“หนิงเป็นคนไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ แต่เคารพและชื่นชมคนที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น แรกๆ เห็นพระที่อยู่ในวัดไม่อยากกราบไหว้ เพราะเห็นบางท่านอายุยังน้อย แต่พออยู่ไปรู้เลยว่าท่านทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านมากโดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย หนิงมาจากบ้านที่ทำธุรกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีผลประโยชน์ ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีก็ไม่คบไม่หา แต่มาอยู่ที่นี่ชาวบ้านที่มาวัดเขาเอ็นดูเรา ห่วงใยเรา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่มีอะไรให้เขาสักอย่าง พวกพี่ๆ ลูกศิษย์พระอาจารย์ก็ให้หนุงหนิงไปพักที่บ้านทั้งที่พึ่งรู้จักกันโดยไม่ได้รังเกียจหรือต้องการอะไรตอบแทน”

เธอพูดถึงมิตรภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออารี คือวัฒนธรรมของการให้ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ถ้าเรามีความละเมียดพอที่จะเข้าไปค้นหาและเรียนรู้

“เดี๋ยวนี้เห็นพระที่วัดก็กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ เพราะรู้ว่าท่านทำให้ผู้อื่นอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน”

บทเรียนของการให้ที่ต้องงดงามตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง และสิ้นสุด ของคุณหนูผู้กลายเป็นเด็กวัด แม้ว่าเธอจะทำไม่ได้อย่างนั้น แต่ได้สัมผัสแล้วกับตัวเอง เพราะจิตอาสาที่แท้ไม่ใช่งานอีเวนต์ยิ่งใหญ่ ไม่ได้วัดตามจำนวนผู้มาร่วมงาน หรือภาพลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกไปตามสื่อ แต่เริ่มจาก “การสละ” สิ่งที่สละได้ยากที่สุด จะมีอะไรหากไม่ใช่ “ความใจแคบ” ของตัวเราเอง ถึงทำได้ยากแต่หากใครสละได้ใจจะกว้างขึ้นอีกนิด พอที่จะเปิดอ้าออกจนมองเห็นความงดงามของเราและผู้อื่นได้แม้เพียงชั่วครู่ยาม ก่อนจะปิดลงอีกครั้งเมื่อขุ่นเคืองหรือหลับใหล งานของการสละจึงต้องหมั่นทำต่อเนื่องไปไม่มีวันจบสิ้น ทุกขณะที่จิตระลึกได้

อีกไม่กี่วันข้างหน้าหนุงหนิงจะกลับไปทำงานที่เมืองกรุง คำสนทนาสุดท้ายเธอทิ้งไว้ให้ตรองตรึก

“ปีหน้าหนิงจะมาวัดอีก หนิงจะมาซักผ้า เพราะรู้ว่างานนี้มันเป็นงานของหนิง”

Back to Top