ตุลาคม 2015

ชีวิตที่ได้เปรียบ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2558

(๑)

ในวันปฐมนิเทศผู้พิพากษาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ผู้พิพากษาที่เป็นวิทยากรแจกกระดาษให้คนละแผ่น บนกระดาษมีตารางแนวนอนหัวข้อว่าด้วยความสมบูรณ์ของร่างกาย เพศ เชื้อชาติ ที่อยู่อาศัย การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา จุดยืนทางการเมือง ฯลฯ และให้เลือกช่องคะแนน ๑ – ๑๐ ในแนวตั้งว่า แต่ละคนอยู่ตรงไหน? - แน่นอนล่ะว่าผู้พิพากษาใหม่เอี่ยมทั้ง ๖๐ คน ได้คะแนนค่อนไปทางสูงถึงสูงมาก

เมื่อวิทยากรถามว่า มีใครที่ได้คะแนนในบางข้อต่ำกว่า ๕ บ้าง ก็มีคนยกมือหลายคน คนหนึ่งในนั้นบอกว่าเขารู้สึกว่าเกิดมาตัวเล็กกว่าคนอื่น เรียนหนังสือก็ตัวเล็กกว่าเพื่อน ทำงานก็ตัวเล็กกว่าใคร รู้สึกเป็นปมด้อยมาก อีกคนหนึ่งบอกว่าการเป็นคนจีน มีสัญชาติจีน ทำให้รู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อนผู้พิพากษาที่มีสัญชาติไทย และอีกคนก็บอกว่าการได้ไปเรียนหนังสือที่อเมริกาก็ทำให้เธอพบว่า การเป็นคนไทยนั้นเป็นเรื่องด้อยกว่าการเป็นคนอเมริกันหรือยุโรป

วิทยากรถามต่อว่า เทียบกับโจทก์จำเลยในคดีที่ผู้พิพากษาทุกคนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ผู้พิพากษาน่าจะได้คะแนนรวมกันแล้วมากกว่าหรือน้อยกว่า? ในขณะที่ผู้พิพากษาหนุ่มสาวก้มหน้าครุ่นคิด วิทยากรก็เสริมว่า ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในกระบวนการยุติธรรมโดยมากแล้วเป็นคนเล็กคนน้อย หากผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ถือกระดาษคะแนนของตนติดตัวไปด้วย ก็จะตระหนักได้ว่าผู้คนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีคะแนนค่อนไปทางต่ำถึงต่ำมาก ห่างไกลจากผู้พิพากษามากมาย คำพิพากษาของศาลที่นอกจากจะต้องมีความเป็นกลางตั้งอยู่บนอุเบกขาธรรมแล้ว ยังสามารถมีความกรุณาผ่านความตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนได้อีกด้วย อุเบกขาและความกรุณานี้จึงจะอำนวยความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง

อ่านต่อ »

บุคลาธิษฐาน ปัญญาปฏิบัติ และการปลดปล่อยศักยภาพทางปัญญาของมนุษย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2558

บุคลาธิษฐานดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับธรรมาธิษฐาน แต่ในความเห็นของผม แท้จริงแล้วเสริมสร้างกัน แม้ว่าผมจะเลือกเดินทางสายบุคลาธิษฐานมาตลอด แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งการศึกษาแบบธรรมาธิษฐานแต่อย่างใด

บุคลาธิษฐานในเมืองไทยสำหรับผมเริ่มต้นด้วยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชีวิตของผมที่มาคบหากับอาจารย์ในช่วงแรกๆ ก็ติดตามอ่านงานเขียนของอาจารย์ในทุกๆ นิตยสารที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการ และอ่านหนังสือทุกเล่มที่อาจารย์เขียน ตอนนี้ แม้ไม่ได้ติดตามอาจารย์แบบนั้นแล้ว แต่การอ่านในยุคนั้นก็ได้หล่อหลอมเป็นแกนหลักบางอย่างในการคิด อ่าน และเขียนจวบจนทุกวันนี้ ในช่วงเวลาที่เคยใกล้ชิดกับอาจารย์ ผมก็ได้ห้อมล้อมอาจารย์ คอยชงน้ำชาให้อาจารย์และแขกเหรื่อ ในโอกาสเหล่านั้น ผมก็ได้เรียนรู้จริยาวัตร ปัญญาปฏิบัติ และลูกเล่นลูกชนในการคบหาผู้คนจากอาจารย์มากมาย

ผมได้เห็นหลายๆ ด้านของอาจารย์ เช่น ความเมตตากรุณา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องขันติธรรมนั้น อาจารย์มีขอบเขตการยอมรับความแตกต่างที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ซึ่งผมไม่ค่อยได้เห็นในผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ในสังคมไทย เมื่ออาจารย์มีอายุมากขึ้น อาจารย์ก็ยังเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะด้านพรหมวิหาร คือการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของอาจารย์ อาจเรียกได้ว่าไม่ต้องมีเหตุผล เพราะเมตตากรุณาไม่ได้มาจากเหตุผล แต่จะมาจากหัวใจมากกว่า

แน่นอนว่า อาจารย์ก็มีจุดอ่อน ดังจะสังเกตได้ว่า ผู้ใหญ่รุ่นเก่าจะไม่ค่อยมีโอกาสทำงานกับปมของตัวเอง แต่อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ทำงานกับอัตตาตัวตนของตัวเองมาไม่น้อย แม้จะไม่ได้สะสางปมไปได้ทั้งหมดและยังติดกับปมบางอย่างอยู่บ้าง แต่ในหลายๆ ด้านของอาจารย์ก็อ่อนโยนขึ้นมาก

อ่านต่อ »

ยุโรปเก่า: อารยธรรมไร้สงคราม



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2558

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสงคราม มากเสียจนมนุษย์เองอาจจะเชื่อว่าเราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงการรบราฆ่าฟันได้ ไม่เพียงแต่สงคราม มนุษย์เรายังสร้างความรุนแรงรูปแบบอื่นอีกมากมาย ที่ประทับรอยแห่งความโหดร้าย ความทุกข์ ความโศกเศร้า ไว้บนหน้าประวัติศาสตร์

สงครามและความรุนแรงนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือ เราสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยการย้อนกลับไปดูหลักฐานในอดีต ว่าที่ผ่านมานั้น มนุษย์เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยปราศจากร่องรอยของความรุนแรงหรือไม่

มาเรีย กิมบูตัส (Marija Gimbutas ๑๙๒๑-๑๙๙๔) นักโบราณคดีหญิงชาวลิธัวเนีย เป็นผู้หนึ่งที่พบหลักฐานว่า เคยมีอารยธรรมที่ปราศจากสงครามและความรุนแรง เธอทุ่มเทชีวิตเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีในยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก เริ่มต้นจากการศึกษายุคสำริด (Bronze Age) ซึ่งเป็นยุคของหมู่ชนที่เรียกว่าอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) และเป็นยุคแห่งอาวุธและสงคราม งานวิจัยของเธอได้รับการยอมรับในระดับโลก จนเธอได้รับเลือกให้มาเป็นนักวิชาการด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลีส

จุดหักเหของเธอ เกิดขึ้นในปี ๑๙๖๗ เมื่อเธอได้เป็นผู้ดูแลการขุดค้นทางโบราณคดีในบอสเนีย ตลอดเวลาหลายปีที่นั่น เธอได้สัมผัสกับยุคหินใหม่ของยุโรปที่แตกต่างจากวัฒนธรรมแห่งสงครามและความรุนแรงของยุคสัมฤทธิ์ จนเธอต้องพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในยุโรปก่อนที่พวกอินโด-ยูโรเปียนจะเข้ามา เธออุทิศเวลาที่เหลือของชีวิตเพื่อทำการศึกษาอารยธรรมอันแตกต่างนี้ และให้ชื่อมันว่า “ยุโรปเก่า” (Old Europe)

อ่านต่อ »

จากการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ สู่จิตวิวัฒน์ และจิตตปัญญาศึกษา: การแสวงหาความหมายของชีวิตและสรรพสิ่ง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2558

ประสบการณ์การเดินทางไปในกาละ (Time) และเทศะ (Space) ทาง “สุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ” “จิตวิวัฒน์” และ “จิตตปัญญาศึกษา” ของผม เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จากจุดเริ่มต้นที่ผมมิได้เป็นผู้ริเริ่มโดยตรง แต่ได้รับการติดต่อและทาบทามจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ช่วยทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาวะในมิติของจิตวิญญาณ” ในปี ๒๕๔๕ ผมตอบรับคำเชิญที่ท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเพราะผมไม่เคยรู้ ไม่เคยศึกษาเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะ และเรื่องจิตวิญญาณมาก่อนเลย ในช่วงเวลาหกเดือนที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับสองเรื่องนี้และที่เกี่ยวข้องเยอะมาก มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ และกับทีมวิจัยตลอดเวลา เกิดอาการ “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) ทางความคิดความเชื่อของผมที่เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของตนเอง ชีวิตและสรรพสิ่ง

เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เมื่องานวิจัยเสร็จเรียบร้อย ทาง สสส.ก็จัดให้มีการนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมที่ประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้อง เครือข่าย สสส.และผู้สนใจทางด้านนี้เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีผู้เข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประมาณร้อยกว่าคน มีการบันทึกเทปการนำเสนองานวิจัยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ มีการถอดเทปและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ในงาน “วันรวมพล คนสร้างสุข” ที่จัดขึ้นในโอกาสที่ สสส.ทำงานร่วมกับบุคคลและองค์กรหลากหลายในประเทศ ในการพัฒนาขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะครบ ๒ ปี ที่คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมเพค เมืองทองธานี ในวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖

อ่านต่อ »

Back to Top