ยุโรปเก่า: อารยธรรมไร้สงคราม



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2558

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยสงคราม มากเสียจนมนุษย์เองอาจจะเชื่อว่าเราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงการรบราฆ่าฟันได้ ไม่เพียงแต่สงคราม มนุษย์เรายังสร้างความรุนแรงรูปแบบอื่นอีกมากมาย ที่ประทับรอยแห่งความโหดร้าย ความทุกข์ ความโศกเศร้า ไว้บนหน้าประวัติศาสตร์

สงครามและความรุนแรงนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือ เราสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยการย้อนกลับไปดูหลักฐานในอดีต ว่าที่ผ่านมานั้น มนุษย์เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยปราศจากร่องรอยของความรุนแรงหรือไม่

มาเรีย กิมบูตัส (Marija Gimbutas ๑๙๒๑-๑๙๙๔) นักโบราณคดีหญิงชาวลิธัวเนีย เป็นผู้หนึ่งที่พบหลักฐานว่า เคยมีอารยธรรมที่ปราศจากสงครามและความรุนแรง เธอทุ่มเทชีวิตเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีในยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก เริ่มต้นจากการศึกษายุคสำริด (Bronze Age) ซึ่งเป็นยุคของหมู่ชนที่เรียกว่าอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) และเป็นยุคแห่งอาวุธและสงคราม งานวิจัยของเธอได้รับการยอมรับในระดับโลก จนเธอได้รับเลือกให้มาเป็นนักวิชาการด้านโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลีส

จุดหักเหของเธอ เกิดขึ้นในปี ๑๙๖๗ เมื่อเธอได้เป็นผู้ดูแลการขุดค้นทางโบราณคดีในบอสเนีย ตลอดเวลาหลายปีที่นั่น เธอได้สัมผัสกับยุคหินใหม่ของยุโรปที่แตกต่างจากวัฒนธรรมแห่งสงครามและความรุนแรงของยุคสัมฤทธิ์ จนเธอต้องพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในยุโรปก่อนที่พวกอินโด-ยูโรเปียนจะเข้ามา เธออุทิศเวลาที่เหลือของชีวิตเพื่อทำการศึกษาอารยธรรมอันแตกต่างนี้ และให้ชื่อมันว่า “ยุโรปเก่า” (Old Europe)

กิมบูตัสพบว่ายุโรปเก่า ในช่วง ๘,๕๐๐–๕,๕๐๐ ปีก่อนนั้น ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงความรุนแรง ถึงแม้ผู้คนจะมีทักษะในการหล่อโลหะ แต่กลับไม่พบอาวุธและการสร้างป้อมปราการ ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ไม่มีชนชั้นปกครองและผู้ถูกปกครอง รวมทั้งไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่มีความมั่งคั่งมากกว่าคนอื่นๆ ในชุมชน ผู้คนใช้พลังไปในทางสร้างสรรค์ชีวิตมากกว่าจะทำลายล้าง เห็นได้จากการพบงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ที่สื่อถึงธรรมชาติรอบตัวทั้งผืนดินและท้องทะเล ปราศจากภาพสงครามและความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ชีวิตของผู้คนทุ่มเทให้กับการสร้างวัด แท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ และหลุมศพอันงดงาม

นี่ไม่ใช่การตั้งถิ่นฐานของคนป่าอย่างที่นักโบราณคดีสมัยก่อนเคยเข้าใจ แต่สามารถเรียกว่าเป็นอารยธรรมได้เลย เพราะพบเมืองที่มีผู้คนอยู่มากที่สุดถึงหมื่นคน กระจายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วยุโรป กว่า ๓,๐๐๐ แห่ง พร้อมทั้งมีระบบการดูแลเมืองและการแบ่งหน้าที่ของช่างฝีมือที่ซับซ้อน มีการใช้สัญลักษณ์มากมายซึ่งอาจพัฒนาถึงขั้นเป็นภาษาแล้วก็ได้ อีกทั้งยังพบเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างเชี่ยวชาญ การทำโลหะทั้งทองแดงและทอง และการค้าขายอย่างคับคั่ง

ยุโรปเก่าเต็มไปด้วยรูปเคารพเทวนารีเป็นจำนวนเรือนแสน ซึ่งนักโบราณคดียุคก่อนไม่ได้ให้ความสนใจ บางคนถึงกับบอกว่าเป็นรูปโป๊ของมนุษย์ยุคหินด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากกิมบูตัสมีความเชี่ยวชาญเรื่องตำนานโบราณและภาษาศาสตร์ด้วย เธอจึงใช้ศาสตร์เหล่านี้ไขปริศนาของรูปเทวนารีควบคู่กับการใช้ความรู้ด้านโบราณคดี ทำให้เราเข้าใจถึงระบบความเชื่อหรือเรียกได้ว่าเป็นศาสนาของคนยุคหินใหม่ เธอเสนอว่าความเชื่อของคนยุโรปเก่ามีพื้นฐานอยู่บนการเคารพเทวนารี ซึ่งมีรูปลักษณะต่างๆ มากมาย ที่สำคัญคือเทวนารีนกและงู ที่อยู่ในรูปกึ่งมนุษย์ เทวนารีรูปปลา เทวนารีพืชผลที่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงพระแม่แห่งความตาย กิมบูตัสกล่าวว่าเทวนารีทั้งหลายนี้เป็น “สัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกชีวิตในธรรมชาติ” มีการพบรูปเคารพที่เป็นเพศชายบ้าง แต่พบเพียง ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่มีหลักฐานว่ามีการนับถือพระเจ้าที่เป็นเพศชายแต่อย่างใด

จากการศึกษาหลุมศพ กิมบูตัสพบว่ายุโรปเก่ามีการสืบสายตระกูลและตั้งถิ่นฐานตามสายตระกูลทางแม่ แม้จะมีการเคารพนับถือเทพผู้หญิงและให้ความสำคัญกับเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่พบว่ามีการกดขี่เพศชายแต่อย่างใด หลักฐานที่พบชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายได้รับการนับถือในเรื่องการเป็นช่างฝีมือแขนงต่างๆ ส่วนผู้หญิงได้รับการนับถือในเรื่องความเชื่อและจิตวิญญาณ

ประมาณ ๔,๕๐๐ ปีก่อน วัฒนธรรมอันสงบสุขของยุโรปเก่าถูกทำลายไป เมื่อมีกลุ่มคนจากทางเหนือที่กิมบูตัสเรียกว่า “เคอร์กัน” เข้ามาบุกรุก ชนกลุ่มใหม่นำวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามา พวกเขาเข้ามาพร้อมม้าศึก อาวุธ เทพผู้ชาย ความรุนแรงและการกดขี่ผู้หญิง วัฒนธรรมนี้สืบเนื่องต่อมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมของพวกอินโด-ยูโรเปียน สืบต่อไปเป็นอารยธรรมกรีกและโรมัน ที่สานต่อการทำสงคราม และมีภาพศิลปะที่แสดงถึงความรุนแรงและการกดขี่เพศหญิงและทาส

จากการศึกษาโบราณคดีของอาวุธและความรุนแรง จนกระทั่งมาศึกษาอารยธรรมที่มุ่งเน้นพลังการสร้างสรรค์ชีวิต ทำให้มาเรีย กิมบูตัส สรุปได้ว่า “การจินตนาการว่าสงครามเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง” ยุโรปเก่าไม่ใช่ยูโทเปียเลื่อนลอยในความฝัน แต่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสร้างสรรค์อารยธรรมอันสันติได้

Back to Top