พฤษภาคม 2009

ที่หายไปนั้นคือสายสัมพันธ์เชื่อมโยง



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2552

หากอยากรู้ว่าเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนอกตัวอย่างไร ลองกลั้นหายใจดู

อากาศที่มองไม่เห็นก็กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการมีชีวิตของเราขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

อากาศมาจากไหน? – จากต้นไม้ไงล่ะ หนังสือแบบเรียนชั้นประถมตะโกนตอบมาจากหลังห้อง

แล้วต้นไม้มาจากไหนล่ะ? – ก็มาจากดิน น้ำ แสงสว่าง เมล็ดพันธุ์ที่หล่นลงมาพร้อมมูลนกที่บินข้ามฟ้ามาจากเขาลูกโน้นกระมัง แล้วอย่าถามนะว่าดินมาจากไหน? เพราะนอกจากจะตอบว่ามาจากซากพืชซากสัตว์ หรือหินฟอสซิลที่กร่อนทำลายด้วยกระแสแห่งกาล การถามถึงที่มาของสิ่งโน้นสิ่งนี้ก็จะวนกลับมาที่สิ่งมีชีวิตอย่างเราจนได้นั่นแหละ

แล้วพวกเรามาจากไหน? – ก็สืบสายมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ย้อนไปจนถึงอดัมกับอีฟคู่แรกของโลกโน่นไง

แล้วมนุษย์มาจากไหน? – เฮ้อ... (เริ่มขี้เกียจตอบเจ้าหนูจำไม) ไม่รู้จักดาร์วินหรือยังไง ก็เขาว่าวิวัฒนาการมาจากลิงไม่ใช่ล่ะหรือ

แล้วลิงมาจากไหนล่ะ? – ก็มาจากเซลล์สิ่งมีชีวิตแรกของโลก ที่มาจากการเขมือบหม่ำกันของแบคทีเรีย และยำไปยำมาจนกระทั่งออกมาเป็นเซลล์ที่มีดีเอ็นเอแตกต่างกันนั่นแหละ แล้วถ้าจะถามว่าแบคทีเรียมายังไง ก็มาจากหม้อซุปของโลกที่มีสารเคมีในดินน้ำลมไฟเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิด

แล้วโลกมาจากไหน? – โอ... จะถามไปถึงไหนเนี่ย จริง-จริงจะคุยกันไปถึงจักรวาล และจุดเริ่มแห่งกาลเวลาก็ยังได้ แต่...แล้วไงต่อ?

เอาเป็นว่า เราเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงแบบคร่าว-คร่าวระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต บนเส้นกาลเวลาทั้งในอดีตและปัจจุบันบ้างแล้ว ลองกลับมาที่จอคอมพิวเตอร์ที่กำลังพิมพ์บทความตรงหน้า

คอมพิวเตอร์มาจากไหน? – ก็ซื้อมาจากคนขายคอมพิวเตอร์ที่ห้างไอทีแถวบ้าน ส่วนห้างก็ซื้อมาจากยี่ปั๊วหรือตัวแทนจำหน่ายอีกที โดยต้นทางการผลิตเริ่มที่โรงงานประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตแยกกันจากต่างทิศต่างที่ โดยอาศัยวิศวกร คนงานนับไม่ถ้วน มีสิทธิบัตรทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์นับพันนับหมื่นอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลงานทางความคิดของผู้คนที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเหล่านั้น และผู้คนเหล่านั้นเองก็เป็นผลผลิตของการศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ซึ่งเป็นที่สั่งสมวิชาความรู้มาจากครูบาอาจารย์หลายรุ่นหลายปี และ...

พอก่อน พูดมากอย่างนี้จิบกาแฟสักหน่อยไหม? - กาแฟแก้วนี้มาจากผงกาแฟที่บดจากเมล็ดกาแฟคั่วของชาวไร่กาแฟบนดอยทางเหนือของประเทศไทย ต้องอาศัยดิน น้ำ แสง ความชื้นที่เหมาะสมจึงจะได้ผลผลิตเป็นกาแฟที่ดี ความรู้และประสบการณ์เรื่องการคั่วเมล็ดกาแฟที่อุณหภูมิและเวลาที่เหมาะจะทำให้ได้เมล็ดกาแฟคั่วที่ดี เทคนิคการบดเมล็ดกาแฟทำให้ได้ความเข้มข้นและกลิ่นที่แตกต่าง ผู้ชงกาแฟที่ชำนาญย่อมเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของน้ำร้อนและความดันอากาศที่ใช้ในการต้มกาแฟ นี่ยังไม่พูดถึงผู้จัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟ ร้านกาแฟ ทำเลที่ตั้ง โรงเรียนสอนทำกาแฟที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่นเดียวกันกับธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ชงกาแฟ ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ทำให้การดื่มกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ ฯลฯ

เอาล่ะ เราพอจะมองออกแล้วว่า มนุษย์คนหนึ่งที่ใช้คอมพิวเตอร์และจิบกาแฟแก้วหนึ่งไปด้วยระหว่างทำงาน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คน สิ่งแวดล้อม สังคม โลก เป็นหนี้บุญคุณกับบรรพบุรุษ องค์ความรู้ที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น การประกอบสัมมาชีพของผู้คนจำนวนมากมายต่อกันเป็นลูกโซ่และเครือข่าย มีใบหน้าของผู้คนที่เรารู้จักและไม่รู้จักมากมายที่ทำให้เรามีคอมพิวเตอร์และกาแฟ

หากเรารู้จักใช้การมองอย่างนี้กับสรรพสิ่งและผู้คนรอบตัว เราจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าการกระทำของเรา ความเป็นอยู่ของเรา ชีวิตของเรา ผูกโยงและสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง ผู้คน และโลก อย่างไร โดยเหตุนี้เองที่เราจะสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม เพราะเราเริ่มตระหนักแล้วว่า การใช้ชีวิตของเรา ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ เหล่านี้

เราจะระมัดระวังมากขึ้นในการกิน การดื่ม การดู การเที่ยว การซื้อ การใช้ การทิ้ง การทำลายของเสีย

ทัศนคติ คุณค่า โลกทัศน์ และสติปัญญาของเราเองก็มีผลกระทบต่อทัศนคติ คุณค่า โลกทัศน์ และสติปัญญาของสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย

มนุษย์ร่วมสมัยปัจจุบันขาดการมองอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับโลกอยู่มาก เพราะหลงใหลได้ปลื้มไปกับลัทธิปัจเจกนิยมแบบสุดโต่ง ความพิกลพิการบกพร่องในโลกและสังคมกลับกลายเป็นความผิดพลาดของคนอื่น โดยที่ไม่มีตัวเราเกี่ยวข้องอยู่เลย – ก็หากเราสัมพันธ์กับผู้คน สังคม โลก อย่างที่ใช้ทัศนะในการมองแบบเชื่อมโยงแล้ว เราย่อมปฏิเสธความข้องเกี่ยวกับคุณค่า ความผิดพลาด ความเจ็บป่วยของสังคมและโลก ไม่ได้เลย

ปัญหานักการเมืองเลว ข้าราชการคอร์รัปชัน ผู้พิพากษาไม่เท่าทันโลก อัยการไม่มีคุณภาพ ตำรวจไม่มีศักดิ์ศรี ทหารประกอบมิจฉาจ๊อบ สื่อมวลชนไม่มีความรู้ พ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ หมอยะโสโอหังไม่ฟังใคร เหล่านี้จะเกิดขึ้นมิได้เลย หากแต่สังคมและ – ตัวเรา มีคุณภาพที่เกื้อหนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้

นึกภาพง่าย-ง่าย หากตัวเราเข้าใจและยอมรับในคุณค่าของสุจริตธรรม ความฉ้อฉลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และการสอนเรื่องสุจริตธรรมนั้นสอนด้วยปากไม่ได้ ต้องทำให้ดู หากเราทำไม่ได้ ลูกหลานของเราก็อาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ สังคมที่เต็มไปด้วยความทุจริตฉ้อฉลทั้งการพูดและการกระทำในวันนี้ ต้องแก้ไขในวันนี้ มิฉะนั้นลูกหลานของเราก็จะหมิ่นแคลนได้ในวันหน้า ในฐานที่มอบมรดกหนี้ไว้ให้แก้กองโต เรื่องนี้อาจจะสำคัญเสียยิ่งกว่าการหาโรงเรียนดี-ดี มหาวิทยาลัยดี-ดี งานดี-ดี ให้ลูกหลานเสียอีก

การที่ อองซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่นับสิบปี ไม่ใช่เรื่องความน่าเกลียดของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแต่เพียงอย่างเดียว ตัวเราเอง คนไทย ประเทศไทย อาเซียน ประชาคมโลก ทำอะไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา – เรารู้จักคนพม่านอกเหนือจากการเป็นแรงงานต่างด้าวราคาถูกในประเทศบ้างหรือเปล่า? ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในแบบเรียนรุ่นเก่าอาจยังเป็นปิศาจหลอกหลอนจนกระทั่งเราไม่รู้จักคนพม่าในฐานะของมนุษย์ ของเพื่อนบ้าน ของผู้คนที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันในดินแดนอุษาอาคเนย์ ภาพยนตร์การ์ตูนสำหรับเด็กบางเรื่องวาดภาพคนพม่าเหมือนยักษ์ มิหนำยังวาดช้างพม่าเป็นอสุรกาย สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง? อะไรหายไปจากดวงตาหรือดวงใจของเรา?

ฤาที่หายไปนั้นคือสายสัมพันธ์เชื่อมโยง?

งานของผู้นำ



โดย นพ.กิจจา เจียรวัฒนกนก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2552

ผมอ่านงานแปลประวัติของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวอลดอร์ฟ เรื่องราวของเขาน่าสนใจในหลายเรื่อง แต่ที่ผมประทับใจมาก เป็นเรื่องซึ่งเขามีปณิธานที่จะปลุกให้มนุษย์ตื่นรู้ถึงพลังที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน เขาใช้คำว่า “ขอให้ข้าได้เป็นผู้จุดเปลวไฟในหมู่มวลมนุษย์” การที่เขาได้บรรยายเพื่อให้คนได้ตระหนักถึงศักยภาพในการรู้แจ้งของตน ไม่ต่างจากปณิธานของพระโพธิสัตว์ ในวัตรปฏิบัติของเขาจึงแสดงถึงการศิโรราบอย่างไร้ตัวตน ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง มีการยกตัวอย่างการปฏิบัติต่อผู้คนของสไตเนอร์ที่น้อมตนเองเพื่อรับใช้ความต้องการของผู้อื่นอยู่มากมาย เป็นการนำผู้คนผ่านการรับใช้โดยไม่นำความต้องการของตนเองมาบิดเบือน

พวกเราน้อยคนที่จะทำได้อย่างนั้น แต่วิถีปฏิบัติของสไตเนอร์แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้นำ นั่นคือนำมนุษย์ไปสู่การตื่นรู้ในศักยภาพของตนเอง จุดเปลวไฟในหมู่ผู้คนให้พวกเขาเห็นความสามารถที่จะจารึกการกระทำอันสร้างสรรค์ของตนเองให้กับโลก ผู้นำมองเห็นเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ในตัวคน การนำด้วยการรับใช้ พวกเขาเป็นเหมือนดั่งชาวสวนที่ทะนุถนอม หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงเพาะ ดูแลให้เมล็ดพันธุ์ได้เติบโตเต็มศักยภาพ

ดังนั้นงานสำคัญประการแรกของผู้นำ คือการมองเห็นศักยภาพที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณของผู้คน ผมใช้คำนี้อาจจะดูใหญ่โตเกินไป แต่หากมองให้ลึกซึ้งแล้ว คนที่ทำงานให้กับองค์กร ไม่ได้เพียงเงินค่าตอบแทน หรือตำแหน่งอำนาจใดๆ หากเมื่อเราลองถามตัวเองลึกๆ จริงๆ แล้ว เมื่อเราได้เงิน หรือตำแหน่งอำนาจนั้นๆ แล้ว มันได้เติมเต็มความปรารถนาลึกๆ อะไรบ้าง เมื่อได้เงินทอง บางคนอาจได้ใช้เงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว อันเป็นความปรารถนาร่วมกันที่จะธำรงรักษามนุษยชาติผ่านความมั่นคง ความผาสุกของครอบครัว อันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม เงินสำหรับคนบางคนอาจเป็นการเติมเต็มความปรารถนาที่จะตอบแทนพระคุณบุพการี ตำแหน่งที่ได้รับอาจเป็นเพื่อทำให้เราได้ “สร้างความดีที่มากยิ่งกว่า” ให้กับสังคม หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างความยอมรับจากผู้อื่น แต่สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีความปรารถนาที่จะมีดุลยภาพของการได้รับสนองความต้องการพื้นฐาน กับความต้องการที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีงามตามคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ

งานของผู้นำที่จะช่วยผู้คนให้มองเห็นศักยภาพในตนเองนั้น ต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้นำเองมองเห็นสิ่งนี้ก่อน ทั้งในตัวเอง และผู้อื่น เหมือนกับชาวสวนมองเห็นต้นมะม่วงในเมล็ดมะม่วง ความสามารถหลักในการเป็นผู้นำ คือสามารถพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง จนมองเห็นศักยภาพในตนเองและผู้อื่นที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน ต้องเฝ้าดูตนเอง และผู้อื่นอย่างเนิ่นนานพอที่จะมองเห็นสิ่งนี้ เช่นเดียวกับที่เกอเธ่บอกไว้ว่า เมื่อเราเฝ้าดูสิ่งใดอย่างเนิ่นนานพอจนเกิดเป็นอวัยวะใหม่ในการรับรู้สิ่งนั้น

งานของผู้นำในประการที่สองคือ การเตรียมการเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผมชอบที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ เขียนใน Theory U ถึงการเตรียมพื้นที่นาของตระกูลเขาว่า เป็นส่วนสำคัญของการเพาะปลูก พื้นที่ในการเรียนรู้ไม่ต่างจากที่นาสำหรับการเพาะปลูก คือต้องมีที่ว่างให้เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ได้งอกงาม และมีแร่ธาตุ ความชุ่มชื้นที่จะทำนุบำรุงให้เกิดการเรียนรู้ ผู้นำมีงานที่จะต้องสร้างให้สิ่งแวดล้อมในองค์กรมีโอกาสให้ศักยภาพของแต่ละคนเติบโต ให้พื้นที่แก่ผู้อื่นที่จะเรียนรู้ผ่านการทดลอง บำรุงพื้นที่นี้ด้วยข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างกันในองค์กร งานในการเตรียมองค์กรให้พร้อมต่อการเติบโต เป็นการสร้าง “สนาม” ให้องค์กรด้วยการทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ใครๆ ก็เข้าถึงข่าวสารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารความสนใจต่อข่าวสารนั้นแก่ใครก็ตามที่เห็นความสำคัญร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ในองค์กร นำความมีชีวิตมาสู่องค์กร

ยังมีงานสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจเป็นงานในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ ไม่ใช่การนำเพื่อบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดใดๆ ไม่ใช่การบรรลุผลกำไรสูงสุด ไม่ใช้การได้รับผลประกอบการดีที่สุด ไม่ใช่องค์กรที่เป็นเลิศ หรือการให้ใครมาติดป้ายว่าองค์กรของเขาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่งานที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กร แรงบันดาลใจที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรลุกขึ้นมาฟันฝ่าอุปสรรคใดๆ เพื่อทำให้การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นองค์กรของพวกเขาเป็นสิ่งซึ่งมีความหมาย ผู้นำมีภารกิจในการทำให้ชีวิตของคนในองค์กรเป็นชีวิตที่มีความหมายผ่านการทำงานร่วมกัน การทำงานเป็นการเพิ่มพูนความหมายให้กับชีวิตของคนในองค์กร หาใช่เป็นเพียงการเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเพิ่มผลกำไรให้กับทุกชีวิตที่มีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กร

ผู้นำต่างจากนักบริหารตรงนี้เอง ผู้นำรับใช้ต่อมนุษย์เพื่อทำให้สิ่งที่มีความหมายต่อมนุษย์เป็นจริงขึ้นมา เพิ่มพูนขึ้น และแบ่งปันซึ่งกันและกัน แต่นักบริหารส่วนมากเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ระเบียบ ต่อดัชนีชี้วัด และผลกำไร ต่อผู้มีอำนาจเหนือเขา และต่อผลประโยชน์ทั้งในส่วนของตนเองและองค์กร ไม่ว่านักบริหารจะนำองค์กรประสบผลสำเร็จตามดัชนีชี้วัดซึ่งท้าทายมากเพียงใด หากว่าล้มเหลวในงานของผู้นำทั้งสามประการแล้ว องค์กรก็มีสภาพไม่ต่างจากม้าที่ถูกเฆี่ยนให้วิ่งสุดกำลังตลอดเวลา ในไม่ช้าองค์กรหากไม่ล่มสลายก็จะมีสภาพอ่อนล้าจนไม่สามารถทำให้เกิดคุณค่าต่อผู้ใดได้อีกในที่สุด

เอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงองค์กร (ยกเว้นตัวเอง)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2552

ผมขอถอดความจากข้อเขียนของ ปีเตอร์ เซ็งกี้ (Peter Senge) เรื่อง “เอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ว่า “หลังจากได้เฝ้าติดตามผลจากหนังสืออย่าง การเรียนรู้ในระดับองค์กร ของ อาร์กิริสและฌอน ในเรื่องการจัดการ ทำให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย นี่เป็นหนังสือแห่งประวิติศาสตร์เล่มหนึ่ง เรื่ององค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นเรื่องที่กว้างและมีหลายชั้น การที่จะพลิกวิธีคิดและสร้างผลอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการต้องใช้เวลาพอควร ดังนั้นการบอกว่าผลลัพธ์จะเกิดจากปัจจัยอันใดอันหนึ่งนั้น นับว่าเป็นความเขลา ...ผมคิดว่าการประเมินผลในเรื่องนี้จำต้องใช้กรอบเวลาหลายชั่วรุ่น ดังนั้นตอนนี้ยังถือว่าเร็วไปที่จะมีข้อสรุปในเชิงการฝึกปฏิบัติ”

ข้อคิดเห็นตรงนี้ ทำให้หลายคนรู้สึกได้ ๒ อย่าง คือ “ร้อนใจ” ที่จะต้องใช้เวลามากมายถึง ๓ ชั่วรุ่นในการสร้างองค์กรสายพันธุ์ใหม่ หรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ช่วยหล่อเลี้ยงบ่มเพาะมนุษย์ให้งอกงามและพัฒนาได้จริงๆ แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ก็อาจทำให้หลายคนรู้สึก “วางใจ” ลงได้บ้าง และทำงานนี้ไปอย่างไม่ต้องรีบเร่งหรือร้อนรน เรียนรู้กับกระบวนการที่เกิดขึ้น แทนที่จะประหม่าวิตกว่า “ผลลัพธ์” จะออกมาอย่างไร

เพื่อนๆ ของผมหลายคนหนักใจ ที่พอนำเอาแนวคิดเรื่องการฟื้นมิติของความเป็นมนุษย์กลับมาในองค์กรต่างๆ ก็เกิดอุปสรรค เช่น เจ้านายถามว่าจะวัดผลอย่างไร หรือมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น Soft Side หรือ “ด้านละมุน หน่อมแน้ม” แล้วเสียกำลังใจไปถึงขนาดเลิกล้มความตั้งใจ และกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของ “องค์กรเครื่องจักร” แบบเสียมิได้ก็มีไม่น้อย ทั้งที่จริงๆ แล้วผลที่เกิดขึ้นตรงหน้าจากการสร้างพื้นที่การเรียนรู้และเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนในองค์กร นำมาซึ่งความจริงแท้ ปลอดภัย และกรุณาในองค์กรไม่มากก็น้อย และน่าจะเรียกการพัฒนาในมนุษย์นี้ว่าเป็น Heart Side หรือด้านที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กรเสียด้วยซ้ำ

หากจะตั้งคำถามง่ายๆ ว่า กรอบเวลาสั้นไปอย่างนั้นหรือ? ปีเตอร์กล่าวว่า “ขอให้ผมได้เริ่มโดยการขยายความจากที่กล่าวมาแล้ว ทำไมผมจึงกล่าวว่า ๒๕ ปีนั้นสั้นไปสำหรับการประเมินผลงานของอาร์กีริสและฌอน แน่นอน ๒๕ ปีเป็นเวลาที่ยาวนานพอดู และคนส่วนมากก็จะคิดว่านี่เป็นเวลาที่มากเกินพอที่จะประเมินว่าความคิดใหม่ๆ อย่างนี้จะส่งผลสำเร็จหรือล้มเหลวในการใช้งานด้านการจัดการ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญของความคิดนั้นด้วย

ประการแรก และก่อนอื่นเลย ผมถือว่าความคิดของอาร์กีริสและฌอนนั้นค่อนข้างจะพลิกแผ่นดินเอาการ ในแง่หนึ่ง พวกเขาจะตั้งเป้าหมายไว้ในเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพของการจัดการและองค์กร ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเป้าหมายที่พลิกแผ่นดินอะไร แต่พวกเขากำลังชี้ไปที่ความสามารถชุดใหม่ของบุคลากรและความสัมพันธ์ในองค์กรแบบใหม่ ที่ขวางวิถีปฏิบัติอันเป็นวัฒนธรรมที่เป็นมาขององค์กรอย่างสิ้นเชิง” คำว่าความสามารถชุดใหม่นี้ เป็นศักยภาพในการลงมือกระทำการ และเมื่อทำจนชำนาญแล้วก็จะกลายเป็นทักษะ เช่น การรับฟังทุกคนอย่างเคารพและให้ความเท่าเทียม เป็นต้น แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการเลือกใช้ทักษะเหล่านี้คือ คุณค่าและความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ในสังคมและองค์กร แม้ว่าหลายที่จะให้คุณค่า แต่ทักษะเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกฝนหรือสนับสนุนอย่างเป็นจริงเป็นจัง การให้คุณค่าจึงเป็นเพียงคำสวยหรูที่ใช้ในการรณรงค์ให้ดูดีไปตามกระแสแฟชั่นของการพัฒนาองค์กร เช่น องค์กรเรียนรู้ การจัดการความรู้ หรือความเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นต้น

ทุกวันนี้ ผู้นำองค์กรของเรายังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความกลัวที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ แม้ว่าศักยภาพด้านอื่นในการเป็นผู้นำได้รับการพัฒนามาไม่น้อยแล้วก็ตาม ความกลัวที่ว่าฝังรากลึกในจิตใจของมนุษย์ทุกคนที่ผ่านระบบการเลี้ยงดูแบบโรงเรียนและโรงเรือน นั่นคือ “การกลัวเสียหน้า” ผู้นำองค์กรไม่สามารถสร้างองค์กรให้เรียนรู้ได้ หากยังไม่สามารถจัดการกับอาการกลัวเสียหน้าของตัวเอง

เซ็งกี้กล่าวต่อไปว่า “เวลาเราเป็นเด็ก การมีชีวิตในครอบครัว พวกเราส่วนใหญ่เรียนรู้ที่จะหลักเลี่ยงการถูกตำหนิหรือถูกกล่าวโทษ เราเรียนรู้ที่จะเอาชนะในความขัดแย้ง ไม่มีคำว่าแพ้ และต้องรักษาภาพของการมีความสามารถในการจัดการและควบคุมสถานการณ์ได้ เด็กนักเรียนในโรงเรียนก็เรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมที่คุณครูประเมินว่าดี ตอบคำถามด้วยคำตอบที่ “ถูกต้อง” ไม่ใช่ตอบ “ผิดๆ” และตั้งแต่เราเริ่มชีวิตการทำงาน เราก็ทุ่มเทชีวิตและใส่ใจต่อการดำเนินสภาพของการดูดีมีความสามารถนี้เรื่อยมา ดังที่อาร์กีรีสเขียนไว้ในบทความที่ทรงพลังใน Harvard Business Review ปี 1991 ว่า “โดยเฉพาะคนฉลาดนั่นแหละที่เรียนยาก ไม่ใช่เป็นเพราะพวกเขารู้ไปหมดแล้ว แต่เป็นเพราะพวกเขาได้ลงทุนไปมากโขในการรักษาภาพว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเรียนอะไรมาก” บรรดาเจ้านายทั้งหลายมักกลัวการยอมรับความไม่แน่นอนหรือไม่มั่นใจ เพราะอาจทำให้พวกเขาสูญเสียความน่าเชื่อถือ พอๆ กับพวกลูกน้องทั้งหลายที่ไม่กล้ายอมรับว่า พวกเขาไม่สามารถควบคุมและดำเนินภารกิจที่พวกเขารับผิดชอบอยู่ได้จริงๆ

การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้หรือนิสัยใคร่รู้นั้น จำต้องสร้างในทุกช่วงของชีวิต ตั้งแต่วัยเรียนและวัยทำงานในองค์กร เพราะนิสัยการเป็นนักเรียนที่ได้รับการปลูกฝังในระบบการศึกษานั้นส่งเสริมแต่วงจรการเรียนรู้แบบปิด นั่นคือ การหา “คำตอบที่ถูกต้อง” เพื่อให้ได้รับคะแนนและการยอมรับชื่นชม และหลีกเลี่ยงการตอบที่ “ผิด” หรือคำตอบที่ “โง่ๆ” ทัศนะและการปฏิบัติเช่นนี้ ได้รับการสั่งสมจนกลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่จำกัด เพราะมุ่งเน้นการเอาตัวรอดและการรักษาภาพลักษณ์ที่ดูดี มากกว่าการเป็นนักเรียนรู้ที่จริงใจกับกระบวนการเรียนรู้และการแสดงออก ทั้งๆ ที่ชีวิตเป็นระบบที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้นการลองผิดลองถูกเป็นธรรมชาติการเรียนรู้ของชีวิต “ความไม่รู้” และคำถามจึงเป็นประตูเปิดไปสู่การเรียนรู้ของชีวิต (วงจรการเรียนรู้แบบเปิด) กระบวนกรจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมวงจรการเรียนรู้แบบเปิด มากกว่าวงจรปิดแบบเอาตัวรอดและดูดี ทำอย่างไรที่กระบวนกรจะช่วยถอดถอน “วิธีการเรียนรู้แบบปิด” (Deschooling Process) และสร้างสรรค์บรรยากาศและความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อ “วิธีการเรียนรู้แบบเปิด” (Recreate Learning Process) ซึ่งเริ่มจากการให้คุณค่าและส่งเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจของผู้เรียนเป็นหลัก (Empowerment) ในฐานะของการเป็นองค์กรจัดการตัวเอง เลือกและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น

ยิ่งทำให้นึกถึงแนวคิดของ เปาโล แฟร์ นักการศึกษาและนักปฏิวัติการเรียนรู้ชาวบราซิล ที่ให้คุณค่ากับชีวิตและประสบการณ์ตรงของชีวิต เขาเป็นคนหนึ่งที่ช่วยให้แนวทางการเรียนรู้แบบเปิดกลับมาเห็นความสำคัญของการทำงานปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพราะเมื่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นแบบแนวดิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มาจากตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานภาพทางสังคม หรือความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และผูกมัดทางความรู้ ล้วนสร้างกรงกรอบพันธนาการการเรียนรู้ของสังคมและองค์กรไว้ กดทับและจำกัดศักยภาพของการมนุษย์ในการมีส่วนร่วมสืบค้นและสร้างสรรค์ทางออกที่เหมาะสมให้กับตัวเอง

ดังนั้นความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมจิตวิญญาณมนุษย์นั้น ไม่ได้ขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญ หรือกับกระบวนการและเครื่องไม้เครื่องมือที่ดูวิเศษพิสดารแต่ประการใด แต่ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำและผู้คนในองค์กรจะเอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองขนาดไหนมากกว่า

ความขัดแย้งในมุมมองของชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่



โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 9 พฤษภาคม 2552

วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้นเริ่มจากควอนตัมฟิสิกส์และความเข้าใจในเชิงอภิปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พัฒนาไปสู่ชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ รวมไปถึงเคมีกระบวนทัศน์ใหม่

ในบรรดาข้อมูลที่เกี่ยวกับชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่นั้น มีหนังสือที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Earth Dance ผู้เขียนซึ่งเป็นนักชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ที่ชื่อ อลิซาเบท ซาห์ตอริส ได้เขียนถึงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย

โดยหลักๆ ก็คือ “ความเชื่อมโยง” ของทุกสิ่งมีชีวิต และน่าสนใจมากที่รากศัพท์ของคำว่า “ศาสนา” มาจากภาษาละตินว่า “re-ligio” ซึ่งแปลว่า “reconnect” คือ “การเชื่อมต่อใหม่”

ดังนั้น “ศาสนา” ที่หากแปลโดยรากศัพท์ จึงหมายความถึงการเชื่อมต่อใหม่เข้ากับรากของมนุษย์เข้ากับแหล่งกำเนิดของมนุษย์ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายถึงการกลับมาสู่การทำความเข้าใจภายในตัวเรา จิตใจของเรา ทำความเข้าใจถึงความหมายของการเกิดมาของเรา อลิซาเบท ซาห์ตอริส ได้ตั้งสมมติฐานขึ้นเรื่องหนึ่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การทำความเข้าใจกับรากเหง้า (ธรรมชาติ) ของมนุษย์นั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดอยู่ต่อไปได้ในสายของวิวัฒนาการ

ท่านพุทธทาสเองก็พูดเสมอว่า ศาสนาคือการศึกษาความเป็น “ธรรมชาติ” ของสรรพสิ่ง ศาสนาคือความเป็นธรรมชาติ และความเป็นธรรมชาติก็คือศาสนา

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนช่วยให้วิทยาศาสตร์ใหม่นั้นมีความนอบน้อม ถ่อมตน อ่อนโยน เชื่อมโยงและให้ “ความเคารพ” กับธรรมชาติ

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า ที่มุ่งเอาชนะธรรมชาติ มุ่งควบคุมทุกสรรพสิ่ง มองข้ามความสำคัญของจิตใจ ไม่เชื่อสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กลับลืม “รับความรู้สึกลึกๆ” ที่ผมเชื่อว่าทุกคนจะต้องสัมผัสได้หากให้ความใส่ใจ สนใจ หรือ “ใจใส” เพียงพอ

มองในแง่วิวัฒนาการของมนุษยชาติ มนุษย์ที่เป็นโฮโมซาเปียน คือมีลำตัวตั้งตรงจริงๆ นั้น เพิ่งจะมีมาเพียงไม่กี่หมื่นปี เมื่อ ๘,๐๐๐ ปีก่อนเรายังเป็นมนุษย์ถ้ำกันอยู่เลย พวกเราเพิ่งจะรู้จักการเพาะปลูกเลี้ยงชีพเมื่อ ๗,๐๐๐ ปีก่อน เพิ่งจะมีการประดิษฐ์อักษรที่เขียนได้เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีนี้เอง พวกเราก็มีอายุเฉลี่ยกันเพียงประมาณ ๗๐ ปี ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ดูเผินๆ แล้วอาจจะไม่เห็นภาพอะไรชัด

แต่ถ้าเราลองเขียนตัวเลขเหล่านี้ในกระดาษแล้วลองเทียบกับอายุของจักรวาล (๑๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี) เทียบกับอายุของโลกใบนี้ (๔,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี) เทียบกับอายุของแบคทีเรียที่มีมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีก่อน และก็ยังมีอยู่ไม่สูญพันธุ์ไปจนกระทั่งปัจจุบัน เราน่าจะเห็นมิติอะไรบางอย่างได้นะ

และถ้ามองด้วยมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่า “โลกมีชีวิต” (Gaia Theory) มนุษย์อาจจะเป็นเพียงแค่ “การทดลอง” อย่างหนึ่งของโลกหรือของจักรวาล เหมือนกับที่เคยทดลองกับไดโนเสาร์มาแล้ว (๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีก่อน) เป็นการทดลองใหม่ล่าสุดของจักรวาลว่า พวกเราจะไปกันรอดหรือไม่

เมื่อหลายพันปีก่อน เรามี “ศาสนา” (หลายศาสนา) เป็นเครื่องค้ำจุนโลก เพื่อให้คลี่คลายไปจาก “ความขัดแย้งต่างๆ” แต่มนุษย์ก็มักจะตกไปเป็นทาสของเครื่องมือที่ตัวเองสร้างขึ้นมา มนุษย์ขัดแย้งกันมากขึ้น ทำลายล้างกันด้วยเรื่องชาติพันธุ์และศาสนาตามที่เราเห็นอยู่ในประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น ปัจจุบันพวกเรายังติดกับดักครั้งสำคัญของความเป็นขอบเขต แต่โชคดีที่ดูเหมือนเราจะมี “วิทยาศาสตร์ใหม่” มา ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ใหม่นี้ก็คงไม่ต่างไปจากศาสนาที่ “ธรรมชาติ” มอบให้มาเพื่อเป็นแนวทางในการพาตัวให้รอด ก่อนที่จะสูญสิ้นไปหรือหลุดออกไปจากวงจรวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้

ดูจากอายุของโลกและจักรวาล ความเป็น “มนุษยชาติ” ของเราเป็นเพียงแค่ “จุดเล็กๆ” ของช่วงเวลาที่ยาวนานมหาศาล

ทำไมเราไม่หันกลับมา “เรียนรู้” วิธีการอยู่รอดของแบคทีเรียว่า เจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นอยู่รอดได้อย่างไรมาเป็นเวลาร่วมครึ่งอายุของโลก หรือเราควรจะเลียนแบบไดโนเสาร์ที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันและสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาของมนุษย์ที่ผ่านมาโดยตลอดก็คือ “สงครามและความขัดแย้ง” ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังนี้ “ความขัดแย้ง” ได้พัฒนามาเป็นความขัดแย้งของคนในชาติพันธุ์เดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ

นักชีววิทยาพบว่า ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาทั้งหมด มนุษย์เราได้กลายเป็นแชมป์ในการทำลายสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ไปเป็นจำนวนมากมายถึงวันละหลายร้อยสายพันธุ์ และตอนนี้มนุษย์กำลังจะทำลายสายพันธุ์เดียวกันอีกไม่รู้จบ

ทำไมเราไม่ทดลองถอยออกไปไกลๆ แบบว่าออกไปนอกโลกไกลๆ แล้วลองมองเข้ามาดูโลกใบนี้ มองดูพฤติกรรมความขัดแย้งของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในชาติเดียวกันหรือความขัดแย้งในเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา

เมื่อเราถอยออกไปนอกโลก เมื่อเรามองเห็นโลกทั้งใบ ในขณะเดียวกันกับที่มองเห็นพฤติกรรมทั้งหมดของเรา และลองนึกถึงประวัติความเป็นมาทั้งหมดของโลกใบนี้ตั้งแต่เกิดขึ้นมาเมื่อสี่พันกว่าล้านปีก่อนโน้น

เราเห็นอะไรกันบ้าง? เรารู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

โลกทั้งใบนั้นมีตรงไหนบ้างที่บอกว่า เป็นประเทศนั้นประเทศนี้

มีจุดไหนของโลกบ้างที่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว หากว่าส่วนอื่นๆ ถูกทำลายล้างไป

ลองดูดีๆ แล้วคุณจะเห็นอะไรบางอย่าง แล้วคุณอาจจะมานึกขำหรือนึกเสียใจว่า พวกเราทะเลาะกันไปทำไม

ถ้าเจ้าแบคทีเรียทั้งหลายหัวเราะได้ พวกมันคงนั่งหัวเราะกันจนท้องแข็งแล้วว่า มนุษย์ที่มีมันสมองก้อนใหญ่ วิวัฒนาการมาไกลกว่าพวกมันมากแล้ว แต่กลับจะกำลังทำลายล้างกันเองได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทางออกจากวิกฤติ: ทางเลือกที่เราเลือกได้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2552

การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า ขอเพียงอย่ายึดติด

การพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยให้เราเข้าใจ ความเป็นมาของปัญหา ยิ่งสามารถหาสาเหตุได้ครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น หากไม่ขาดสติและรู้เท่าทันว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง และสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง

เราต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของเราในการเข้าถึงสาเหตุทั้งหมดของปัญหา ต้องตระหนักถึงการรับรู้และการตีความของเราว่า มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา (ซึ่งอาจไม่เหมือนคนอื่น) และขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับว่าถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วนหรือไม่

กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...

กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...

โปรดอ่าน (ในใจ) ข้อความต่อไปนี้ อีกครั้งหนึ่ง แล้วกรุณาฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ฟังด้วยใจอย่างใคร่ครวญ อย่างมีสติ

การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า ขอเพียงอย่ายึดติด

การพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยให้เราเข้าใจ ความเป็นมาของปัญหา ยิ่งสามารถหาสาเหตุได้ครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น หากไม่ขาดสติและรู้เท่าทันว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง และสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง

เราต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของเราในการเข้าถึงสาเหตุทั้งหมดของปัญหา ต้องตระหนักถึงการรับรู้และการตีความของเราว่า มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา (ซึ่งอาจไม่เหมือนคนอื่น) และขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับว่าถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วนหรือไม่

.........................................................................................................................................

เราควรเปลี่ยนวิธีคิดของเราในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ เพราะมีผู้รู้เตือนสติว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่ทำให้ปัญหานั้นเกิด...

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง...

เราควรเปลี่ยนวิธีคิดของเราในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ เพราะมีผู้รู้เตือนสติว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่ทำให้ปัญหานั้นเกิด...

กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...

กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...

นักจิตวิทยาบอกว่า การรับรู้ (Perception) และการตีความ (Interpretation) ของมนุษย์ จะถูกต้องหรือบิดเบือนไป ขึ้นอยู่กับตัวการที่สำคัญอย่างน้อยสองประการคือ ประสบการณ์เดิมของแต่ละคนซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน และ ข้อมูลที่ได้รับและข้อมูลใหม่ ที่สำคัญการรับรู้ของมนุษย์มีลักษณะพิเศษคือ เป็นกระบวนการใส่ใจและเลือกสรร (Attentive and Selective Process) เพราะฉะนั้น เราจึงต้องตระหนัก และรู้เท่าทันธรรมชาติของการรับรู้ของมนุษย์ทั้งสองประการดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่ติดกับ กับการรับรู้และการตีความของตนเองแบบถอนตัวไม่ออก เพื่อจะได้รับฟังการรับรู้และการตีความของคนอื่นอย่างมีสติ ด้วยการห้อยแขวนการตัดสิน (Judgment Suspension)

...........................................................................................................................................

เราควรเปลี่ยนคำถามในลักษณะ ...Where are you? คุณอยู่ (หายไป) ไหน (เน้นอดีต) และ Are you OK? คุณสบายดีหรือ (เน้นปัจจุบัน) มาเป็น Where should WE go? เราจะไปที่ไหนกันดี (เน้นปัจจุบันสู่อนาคตร่วมกัน) จะดีกว่าไหม

เรามารวมหัว ร่วมมือ ร่วมใจกันสร้างและพัฒนาอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน ไม่ดีกว่าหรือ

การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์สุขร่วมกัน น่าจะมีคุณค่ามากกว่าการพยายามหาคำตอบต่อคำถามที่ผิดๆ ไม่ใช่หรือ

อย่ารีบด่วนหาคำตอบสุดท้ายให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ควรหันหน้ามาช่วยกันตั้งคำถามที่ถูกต้อง ที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขให้กับคนไทย และประเทศชาติโดยรวม ไม่ดีกว่าหรือ

หยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตการณ์หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการพยายามเข้าถึงความแตกต่างทางความคิด และความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ด้วยการฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่รีบด่วนตัดสิน ไม่ตอบโต้ ไม่โต้แย้ง ฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาทางเลือกที่ดีที่งาม เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ

เพราะมิฉะนั้น เราจะติดกับอยู่กับการรับรู้และการตีความของเราและของพวกเราอย่างขาดสติ ลองทบทวนและสังเกตดูสิครับ ทุกครั้งที่มีวิกฤต มีความขัดแย้งเกิดขึ้น คู่กรณีต่างเลือกรับรู้และตีความหรืออ้างว่าอีกฝ่ายผิด หรืออย่างน้อยก็มีเจตนาที่ไม่ดีกับฝ่ายของตัว ฝ่ายตัวถูกต้อง มีความชอบธรรม อีกฝ่ายผิด ไม่มีความชอบธรรม... ลองทบทวนใคร่ครวญดู

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และ รู้รักสามัคคี เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่พ่อหลวงของปวงชาวไทย ได้ทรงพระราชทานให้เป็นแนวทาง ที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าควรรับใส่เกล้านำไปปฏิบัติ

.......................................................................................................................................

ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยและขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม โดยเฉพาะสุขภาวะด้านปัญญา (จิตวิญญาณ) เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษา เป็นวิทยากรและกระบวนกรเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) การบริหารความขัดแย้ง การพัฒนาบุคคลากร...ด้วยเจตนาบริสุทธิ์และปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ผมจึงขออาสาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาความสามัคคีปรองดองและความสันติสุขให้กับประเทศชาติ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นบทความนี้ และขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันเสนอทางเลือกที่เป็นทางออกที่ดี ที่งาม ที่เป็นประโยชน์สุขกับประชาชนทั่วไปและประเทศชาติโดยรวม โดยไม่จำแนกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิวหรือสีเสื้อด้วยครับ

มาช่วยกันสร้างเหตุของความสุข ความสำเร็จ ความดี ความงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดีกว่าการพยายามหาเหตุของความล้มเหลว/ปัญหาที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว

เราควรให้เวลากับการสร้างอนาคตร่วมกัน มากกว่าการติดกับอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หรือ

อดีต/ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นบทเรียนที่ควรมีการทบทวนสะท้อนคิด (Reflection) หรือควรมีการทบทวนเพื่อถอดบทเรียน (After Action Review) เป็นระยะๆ เพื่อเรียนรู้ แต่อย่ายึดติด

ทางออกจากวิกฤติที่เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราเลือกได้ คือการหันหน้ามาพูดคุยกัน ให้เวลากับการสร้างอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน มากกว่าการพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต

ที่ผิดก็ผิดไปแล้ว ก็ให้เป็นไปตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของประเทศ

การให้โอกาสแก่กันและกันในการร่วมคิดและทำสิ่งที่ดีงามให้กับตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลที่มนุษย์สามารถจะมอบให้กันได้

มนุษย์ผิดพลาดได้ แต่ก็ต้องการโอกาสใหม่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามเสมอ

มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้ ถ้าได้รับโอกาส และให้โอกาสตนเอง

กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...

กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...

กรุณาพิจารณาบทความนี้ทั้งหมดด้วยใจอย่างใคร่ครวญ อีกสักครั้ง...ขอบคุณครับ

Back to Top