ธันวาคม 2006

เมื่อสัมผัสทางใจบกพร่อง ก็ต้องเติมเต็ม

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2549

สรรพสัตว์ทั้งหลายมีการสื่อสาร คือ ส่งสารและรับสารต่อกันตลอดเวลา อีกทั้งยังสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและเทคโนโลยีอีกด้วย

คนเรามีสื่อรับสัมผัส คือ ตา-เห็นรูป หู-ได้ยินเสียง จมูก-ได้กลิ่น ลิ้น-ได้รส กาย-ได้กระทบความเย็นร้อนอ่อนแข็ง และสัมผัสใจ ที่จะรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก จิตสำนึกทั้งปวง

มีคนจำนวนหนึ่งที่บกพร่องทางการเห็น บกพร่องทางการได้ยิน และบางครั้งบกพร่องทางสติปัญญาหรือทางสมอง ซึ่งสมควรได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธี เพื่อให้เขาได้รับรู้และเรียนรู้ จนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า ผู้ที่มีความบกพร่องทางกายนั้น เขามีสัมผัสทางใจที่ดี มีความสามารถทางดนตรี ศิลปะ มีจินตนาการ และสามารถสื่อสารสิ่งที่เขาคิดอย่างน่าชื่นชม บางครั้งผู้เขียนรู้สึกว่าเขามีญาณวิเศษ แม้จะมองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียงใดๆ แต่เขารู้ว่าใครชอบใครชัง รู้ว่าใครหวังดี ใครประสงค์ร้ายต่อเขา เขาสัมผัสได้ รับรู้ได้ด้วยใจ

คนอีกจำนวนหนึ่ง มีร่างกายสมบูรณ์พร้อม แต่ใจของเขาหมกมุ่นอยู่กับตนเอง จนมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน เสียงและสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่รอบข้าง ซึ่งอาจเป็นปรากฏการณ์เล็กๆ ไปจนถึงเรื่องคอขาดบาดตาย

การรับรู้เริ่มต้นที่ใจ และอาศัยฐานความรู้ที่มีอยู่มาปรุงแต่งให้เกิดความคิดและจิตสำนึก จนสมองสั่งการให้มีพฤติกรรมต่างๆ สัมผัสทางใจที่เกิดธรรมารมณ์ ช่วยเสริมสร้างการกระทำที่ดีและมีประโยชน์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองให้สนใจ ใคร่รู้ และมีเมตตาต่อคนและธรรมชาติแวดล้อม

กาลครั้งหนึ่ง มีสุนัขตัวหนึ่งผอมโซ เดินหลงขึ้นไปบนทางด่วน รถวิ่งเร็วผ่านเฉียดมันไปคันแล้วคันเล่า คนขับบางคนเห็นมัน แต่บางคนก็ไม่เห็น บางคนเห็นมันวิ่งหลบรถละล้าละลัง มันวิ่งไปอย่างไม่รู้ทิศทาง วิ่งหลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้เขียนเชื่อว่า คนในรถหลายคันรู้สึกสงสาร อยากช่วยเหลือสุนัขตัวนั้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดรถ แล้ววิ่งลงไปจับมันได้ สถานการณ์บนทางด่วนไม่เอื้อต่อความประสงค์ดีนั้น ความสงสารไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ในที่สุด ภาพสุนัขหลงทางด่วน กระทบใจคนในรถคันหนึ่ง เขารู้สึกว่า จะปล่อยให้มันวิ่งอยู่อย่างนั้น มันต้องตายแน่ และซากของมันจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะรถวิ่งกันเร็วเหลือเกิน เขารีบโทรศัพท์ถึงศูนย์ทางด่วนฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ใช้รถ ๒ คัน สกัดมันไว้ และจับมันใส่รถเอาไปปล่อยตรงสวนป่าด้านล่าง

สัมผัสที่ใจนั้นมีความแรงและฐานการรับรู้ไม่เท่ากัน บางคนมีสัมผัสใจที่ไวและแรงทั้งในทางบวกและในทางลบ ในทางบวกนั้นเป็นกุศลจิต ทางลบเป็นไปทางอกุศลจิต ปลุกเร้าให้เกิดพฤติกรรมที่ดีและชั่ว ยิ่งเมื่อใช้ธรรมะเป็นฐาน ก็ยิ่งทำให้เกิดผลอันเจริญไพบูลย์

เรื่องเล็กๆ อย่างสุนัขหลงบนทางด่วน อาจจะไม่เกิดผลกระทบทางใจที่แรงพอ ผู้คนผ่านมันมาแล้วก็ผ่านเลยไป ด้วยเหตุผลที่คิดว่ามันไม่เกี่ยวกับตนเอง

ลองคิดถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราดูบ้าง เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ โรงเรียนที่ถูกเผาลามไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งแล้วครั้งเล่า น้ำท่วมที่นำความทุกข์อย่างยิ่งมาสู่พี่น้องภาคเหนือและภาคกลาง แผ่นดินไหว ไฟไหม้ และคลื่นลมที่ทำลายชีวิตทรัพย์สินในพริบตา ภาพข่าวที่คน ๗ คนรุมซ้อมคนคนเดียวจนสลบ แล้วก็เดินจากไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงรุนแรงของวัยรุ่น ฯลฯ เราเห็น เราฟัง เรารับรู้ ด้วยความรู้สึกที่เย็นชาหรือเปล่า เราได้แยกตนออกจากเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่ ความคิด และความรู้สึกที่มากระทบใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเช่นนั้นหรือ?

ผู้เขียนรับรู้ว่า สัมผัสใจที่เรารับไว้มันแรงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมในความทุกข์ร้อนของผู้คน เกิดจิตสำนึกที่จะอาสามีส่วนช่วยผู้อื่นให้บรรเทาความยากเข็ญ อยากส่งเสียงให้ทุกคนเข้าใจความหมายของการเตือนจากธรรมชาติ และมุ่งหวังที่จะช่วยหยุดห้ามล้อที่กำลังหมุนแรงด้วยความลืมตัวหลงผิด และแข่งขันกันเพื่อเงินและอำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย

ธรรมชาติกำลังส่งความหนาวเย็นมาสัมผัสกายเราแล้ว อีกไม่นานก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้ง จนอารมณ์คนแทบจะคลั่ง สัมผัสทางกายอาจแก้ไขได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว แต่สัมผัสใจที่เศร้าหมอง ทุกข์ร้อน ว้าเหว่ สงสาร เคียดแค้น จำเป็นต้องแก้ไขด้วยสติ และใช้ปัญญา มีสำนึกเมตตาและกรุณาต่อกัน

ผู้ที่สัมผัสทางใจบกพร่อง จึงเป็นคนใจบอด หมกมุ่นเอาแต่ใจตนเอง ฝังใจไว้กับทุกข์สุขของตนเท่านั้น โดยปราศจากการรับรู้และเข้าใจทุกข์สุขของเพื่อนร่วมโลก คนใจบอดจึงมีชีวิตที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชนและสรรพสิ่งรอบกาย

ในวันที่ท่านอ่านบทความนี้ เป็นวันวารแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจ อากาศเย็นสบาย ดอกไม้บานสวยสด ได้ยินแต่เสียงเพลงไพเราะ เสียงสรวลเสเฮฮา และความสุขที่ส่งมอบให้แก่กัน ทั้งที่เป็นนามธรรมและสิ่งของที่มีทั้งคุณค่าและราคา

ผู้เขียนได้รับกล่องของขวัญเล็กๆ เป็นขวดซุปไก่เปล่าๆ ที่ล้างสะอาดใส ใช้เชือกปอหรือป่านก็ไม่แน่ แต่เส้นเล็กมาก สีสวย พันสลับสีรอบๆ ขวด ดูงดงามอย่างยิ่ง

ขวดใส่ดินสอขวดนี้ได้สัมผัสที่ใจผู้เขียน เป็นของขวัญที่บ่งบอกว่าผู้ให้ตั้งใจทำด้วยรักและผูกพัน ตรงกันข้ามกับบัตรอวยพรที่สวยหรูแผ่นหนึ่ง ที่ผู้ส่งไม่ได้ลงนามเอง แต่คงให้ลูกน้องประทับตรายางลงชื่อ ส่งตามรายชื่อที่ทำไว้เป็นประจำปี บัตรนั้นก็เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง ไม่ประทับใจ

วันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ผู้คนมีโอกาสสัมผัสใจกันได้มากที่สุด ขอให้เราช่วยกันเติมเต็มความรักและความเมตตาต่อกัน สัมผัสความห่วงใย ความเข้าใจ ที่เราเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เปิดใจให้แสงสว่างทางปัญญาซึมแทรกลงไปทุกอณู เพียรพยายามรับรู้สิ่งที่ธรรมชาติสั่งสอนและส่งสัญญาณเตือน

  • เพื่อสรรพสิ่งจะสัมพันธ์กันอย่างสันติ
  • เพื่อส่งและรับความห่วงใยจากใจหนึ่งไปสู่หลายใจ
  • เพื่อจิตสำนึกที่จะอาสารับใช้ สืบงานสานต่อภารกิจของครอบครัว ขององค์กร ของหมู่ชน ของบ้านเมือง
  • เติมเต็มกำลังใจ ลดความขุ่นข้อง ปรารถนาดีต่อกัน
  • เริ่มในวันอรุณของปีใหม่นี้ และตลอดไป

สู่สุขภาวะทางปัญญา

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2549

องค์รวมหมายถึงความเป็นหนึ่งอันเกิดจากความเชื่อมโยงอย่างบรรสานสอดคล้องขององค์ประกอบต่าง ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือคุณภาพใหม่ที่พิเศษไปจากคุณภาพขององค์ประกอบย่อย ๆ ทั้งหลาย ตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นคุณสมบัติดังกล่าวชัดเจน ได้แก่ ออกซิเจน และไฮโดรเจน ต่างเอื้อต่อการเกิดไฟ แต่เมื่อมารวมกันเป็นน้ำ ก็ได้คุณภาพใหม่ที่สามารถดับไฟได้ หรือแสงเจ็ดสีเมื่อมารวมกันจะได้แสงสีขาว ซึ่งเป็นสีที่พิเศษไปจากสีทั้งเจ็ด

สุขภาพองค์รวมหมายถึงสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต เป็นสุขภาวะโดยรวมอันเกิดจากสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม ซึ่งต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยากที่จะแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ หรืออย่างโดด ๆ ได้

แนวคิดเรื่องสุขภาพองค์รวม มาจากความคิดพื้นฐานที่ว่า มนุษย์แต่ละคนนั้นประกอบ ด้วยกายและใจ ขณะเดียวกันก็มิอาจแยกตัวอยู่โดด ๆ ได้ หากยังต้องมีความสัมพันธ์กับผู้คน เริ่มจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องไปจนถึงผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้ กายและใจจะต้องสัมพันธ์กันด้วยดี ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ทางสังคม ถึงจะทำให้ชีวิตมีความเจริญงอกงามหรือมีสุขภาพที่ดีได้

การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความ สัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก

แม้แต่โรคติดเชื้อ ก็มีอิทธิพลของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ในสก็อตแลนด์ มีการพบว่าร้อยละ ๖๕ ของคนที่เป็นวัณโรคเคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจัด ร้อยละ ๙๐ ของเหตุการณ์ณ์ดังกล่าวได้แก่การผิดหวังในความรัก ล้มเหลวในการแต่งงาน เมื่อคนเหล่านี้หายจากโรค ปรากฏว่าคนที่กลับมาเป็นโรคนี้ใหม่ ร้อยละ ๗๕ ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์มาก ส่วนคนที่ไม่เป็นโรคนี้ มีเพียงร้อยละ ๑๒ เท่านั้นที่ผ่านเหตุการณ์อย่างเดียวกัน

ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้

ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย นั้นทำได้หลายอย่าง วิธีหนึ่งก็คือการสวดมนต์ ในอเมริกาพบว่าในบรรดาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจนั้น คนที่มีศรัทธาและได้กำลังใจจากศาสนามีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่ไม่ได้สนใจศาสนาถึง ๑ ใน ๓ ส่วนคนที่ไปวัดสม่ำเสมอก็มีอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ไปถึงครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะนำเอาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมสุขภาพมาพิจารณาในการวิจัยแล้วก็ตาม

นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย

สภาวะจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น มีผลต่อร่างกายอย่างมิอาจปฏิเสธได้ การรักษาที่เน้นแต่การเยียวยาร่างกายหรืออวัยวะเฉพาะส่วน แต่ไม่สนใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วยหรือความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้อื่น ย่อมเป็นได้แค่การรักษา “โรค” แต่มิใช่การรักษา “คน” ซึ่งในที่สุดแล้วก็มิอาจรักษาโรคได้ด้วยซ้ำ หรือถึงรักษาได้ โรคก็กลับมาใหม่ จะในลักษณะเดิมหรือลักษณะใหม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงมีการให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจและสังคมมากขึ้น แม้กระทั่งในโรงพยาบาลที่ใช้การแพทย์แผนใหม่ โรงพยาบาลเหล่านี้ถึงแม้จะยังใช้วิธีการรักษาร่างกายเฉพาะจุดเฉพาะส่วนเหมือนเดิม แต่ก็เพิ่มการฟื้นฟูบำบัดจิตใจขึ้นมา หลายแห่งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้สวดมนต์ภาวนาตามความเชื่อของตน โดยเปิดห้องสวดมนต์หรือห้องทำสมาธิขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์อีกต่อไป ผู้บริหารโรงพยาบาลพบว่าวิธีนี้สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าการพึ่งพายาและเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพงขึ้นทุกวัน

แม้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงเน้นการรักษาอวัยวะมากกว่าที่จะสนใจเรื่องจิตใจหรือความรู้สึกผูกพันของผู้ป่วยในฐานะมนุษย์ แต่ประสบการณ์ของแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า จิตใจนั้นมีอานุภาพในการเยียวยารักษา ความเมตตาของหมอและพยาบาลสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้ให้ยาเลยด้วยซ้ำ เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอเมริกาเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ เคยกล่าวว่า ผลสำเร็จในการบำบัดรักษาของเขานั้นเป็นเพราะบุคลิกและพฤติกรรมของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความรู้ทางการแพทย์ของเขาเลย

นายแพทย์วิลเลียม เฮนรี เวลซ์ ซึ่งเป็นคนสำคัญในการบุกเบิกการแพทย์แผนใหม่ในอเมริกาได้พูดถึงบิดาของเขา ซึ่งเป็นหมอเหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ป่วยให้หายได้” ศรัทธาในแพทย์และความหวังว่าจะหายเมื่อได้พบแพทย์มีผลอย่างมากต่ออาการทางกายของผู้ป่วย แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบุคลิกที่เปี่ยมด้วยเมตตาของแพทย์และพยาบาล เมตตาจิตนั้นมีพลังอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึง

การรักษาด้วยวิธีการที่ต่างไปจากการแพทย์แผนใหม่ อาทิ ชีวจิต ธรรมชาติบำบัด แมคโครไบโอติคส์ หากสามารถเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นจากโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ได้ ก็เพราะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาวะจิตใจ และการใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ในการเยียวยารักษา โดยทำไปพร้อมกับการฟื้นฟูสมรรถนะของร่างกายทั้งระบบ แม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะไม่สามารถอธิบายให้ละเอียดลงไปถึงระดับเซลหรือโมเลกุลอย่างที่การแพทย์แผนใหม่ถนัดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สำคัญเพราะชีวิตนั้นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนหรือเครื่องสแกนสมอง ดังที่พอล ไวส์ นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้กล่าวว่า “ไม่มีปรากฏการณ์ใด ๆ ในระบบของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถอธิบายได้ในระดับโมเลกุล แต่ก็ไม่มีปรากฏการณ์ใดเลยที่อธิบายได้เฉพาะในระดับโมเลกุล”

ความเครียด ความวิตกกังวล ความท้อแท้สิ้นหวัง ในทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง คือโรคทางใจ และโรคทางใจนี้มีความหมายรวมไปถึง “ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท” โรคทางใจเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความติดยึดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ปรารถนาให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจตน เมื่อไม่ได้ดังใจ จึงเกิดโรคเหล่านี้ขึ้นมา พูดอีกอย่างคือเป็นโรคที่เกิดจากความยึดมั่นในตัวตน โรคทางใจเหล่านี้ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคทางวิญญาณ”

ในการบำบัดโรคทางใจหรือโรคทางวิญญาณดังกล่าว การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ผ่อนคลาย สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน ต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่าปัญญา ปัญญานั้นมีหลายระดับ เริ่มจากการเห็นว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต ความเข้าใจดังกล่าวช่วยให้ยอมรับความเจ็บป่วยได้ โดยใจไม่ทุกข์ทรมานไปกับอาการดังกล่าวมากนัก หรือการเห็นว่าโรคใด ๆ ก็ตามไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวต่อโรคนั้น ความสำเร็จของชีวจิตส่วนหนึ่งอยู่ที่การทำให้ผู้ป่วยเห็นว่ามะเร็งไม่ใช่โรคร้ายที่น่าสะพรึงกลัว แม้จะเป็นมะเร็งหรือมีเซลมะเร็งอยู่ในร่างกาย เราก็สามารถมีความสุขได้ และอาจสุขยิ่งกว่าตอนก่อนป่วยด้วยซ้ำ ปัญญาขั้นที่สูงไปกว่านั้นคือ การเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมาเป็นตัวตนได้ แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเราจริง ๆ ปัญญาดังกล่าวช่วยให้ปล่อยวางในร่างกาย และไม่ยึดเอาทุกขเวทนาทางกายมาเป็นของตน ดังนั้นแม้จะป่วยกาย แต่ก็ไม่ป่วยใจ ปัญญาที่ละวางความยึดติดในตัวตนนี้ ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และโปร่งเบา ปลอดพ้นจากความเครียด ความโกรธ ความริษยา ความแข่งดี ความถือตัว เป็นต้น ปัญญาที่พัฒนาเต็มขั้นย่อมทำให้เป็นอิสระจากโรคทางใจได้อย่างสิ้นเชิง สุขภาวะหรือสุขภาพที่เกิดจากปัญญาดังกล่าว อาจเรียกว่าสุขภาวะทางปัญญาก็ได้

พลังแผ่นดิน:
พลังแห่งการสร้างสรรค์ ความดี ความงาม และความจริง

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชาวไทย ทรงเป็นพลังของแผ่นดินโดยแท้

พลังแผ่นดินที่ผนึกความดี ความงามและความจริง ประสานเป็นหนึ่งเดียวไม่แยกส่วน

พลังแผ่นดินที่หลอมรวมความรู้สึก ความถูกต้องชอบธรรม ความมีสติปัญญาเป็นหนึ่งเดียว ไม่แปลกแยก แตกเป็นส่วนๆ

ธ ทรงเป็นพลังแผ่นดินที่ดึงดูดความดี ความงาม และความจริง ในบุคคล สังคม และธรรมชาติ รวมเป็นพลังบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ ก้าวพ้นความแตกต่าง และการแบ่งแยก แล้วแผ่พลังรวมที่บริสุทธิ์นี้ปกคลุมและซึมแทรก กลับไปยังบุคคล สังคมและธรรมชาติ อย่างนุ่มนวลและกลมกลืน ประสานรวม (Include) แล้วผุดบังเกิด (Emerge) เป็นสิ่งใหม่ที่ก้าวพ้น (Transcend) สิ่งเก่า

เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่มิใช่จะใช้ได้อย่างดีเยี่ยมเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นปรัชญาที่เหมาะสม (Appropriate Philosophy) และเป็นประโยชน์สุขในการดำรงชีวิตในสังคม ก่อให้เกิดศานติสุขวัฒนธรรม ที่สอดรับกับความเป็นจริงตามธรรมชาติอย่างแนบเนียน

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

เมื่อประเทศประสบภาวะวิกฤตทางการเมือง ดูเหมือนจะหาทางออกกันไม่ได้ พระองค์ท่านก็ทรงพระราชทานทางออก ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ผุดบังเกิดขึ้นท่ามกลางความมืดมิด โดยทรงชี้แนะให้ศาลต่างๆ ปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออก ตามหลักกฎหมายและตามหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เมื่อวันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙

และในวันเดียวกัน ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมเฝ้าฯถวายก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

พระราชดำรัสที่พระราชทานต่อผู้เข้าเฝ้าทั้งสองคณะ มีสาระสำคัญทั้งในแง่ของหลักกฎหมายและหลักการปกครอง ที่มีปัญญาและคุณธรรมเป็นฐาน ดังตัวอย่างบางส่วนของพระราชดำรัส ที่ผู้เขียนขออัญเชิญมา ณ ที่นี้

“…แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่าการยุบสภา และต้องเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข…การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียว คนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป แต่ในหนึ่งที่มีคนสมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย…”

“เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย มี ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเขาก็บอกว่า ต้องทำตามมาตรา ๗ มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา ๗ นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ ไม่ใช่ มาตรา ๗ นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย…”

“…มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เนี่ย ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ วันนี้น่ะอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไรไม่มีข้ออ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มีสิทธิที่จะพูดที่จะตัดสิน ฉะนั้นก็ขอให้ท่านได้ไปพิจารณาดู กลับไปพิจารณาไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม…”

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

และล่าสุด ท่างกลางความอึมครึมทางการเมืองว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ถ้ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ รวมไปถึงกระแสข่าวที่ว่าอาจจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พศ. ๒๕๔๙ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สค. ๒๕๔๙ เป็นต้นไป ความชัดเจนก็เริ่มต้นขึ้น และที่สำคัญคือหมายเหตุแนบท้าย ที่ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสประกอบการออกพระราชกฤษฎีกามายัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ๒ ประการที่มีความว่า

๑. เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกานั้น ก็เพราะมีพระราชประสงค์ อยากให้ประเทศชาติ กลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

๒. มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีขึ้นในคราวต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรมอย่างแท้จริง

พระราชประสงค์ที่งดงามนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกห่วงใย ความเข้าถึง และความเข้าใจในสถานการณ์ ความปรารถนาที่จะให้มีการพัฒนาการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของมวลพสกนิกรชาวไทยของพระองค์อย่างแท้จริง โดยปราศจากการจำแนกแยกกลุ่ม

ทั้งหมดเป็นพลังแห่งพระบารมีปกเกล้า ปกกระหม่อม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงอย่างเสมอภาค

พระบารมีมากล้น พรรณนา

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

พระองค์คือพลังของแผ่นดิน

พระองค์ทรงเป็นพลังแผ่นดิน ที่รวมพลังแห่งความดี ความงามและความจริงในบุคคล ในสังคม และในธรรมชาติให้เป็นพลังรวมที่แผ่กระจายครอบคลุม ซึมแทรก ประสาน บุคคล สังคม และธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว

เราจึงได้เห็นมวลพสกนิกรทุกหมู่เหล่า หลั่งน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ ในขณะที่โบกธงชาติไทยพร้อมกับเปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ...” ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี

เราจึงได้เห็นภาพผู้คนสวมเสื้อสีเหลือง ก้มลงกราบต่อหน้าพระพักตร์เต็มแผ่นดิน เปลี่ยนถนนเป็นสวนดอกดาวเรืองได้อย่างมหัศจรรย์

ณ ช่วงเวลานั้น อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คน เป็นหนึ่งเดียวกับความดี ความงาม ความภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพรโดยพร้อมเพรียงกัน

ณ ช่วงเวลานั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันของความดี ความงาม และความจริง จึงปรากฏเป็นประจักษ์ เพราะพลังบริสุทธิ์...พลังแผ่นดินที่แท้จริง

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ

Back to Top