พฤษภาคม 2016

รัญจวน อินทรกำแหง จากเหรียญตรามาสู่ธุลีดินอย่างสง่าสงบงาม



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2559

ชีวิต ๙๕ ปี ของอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เป็นชีวิตที่มีค่าน่าศึกษายิ่งนักในหลากหลายมิติทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านอยู่ในโลกทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ทั้งไทยและเทศ คลุกคลีกับทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้าน อยู่ในโลกฆราวาส และโลกนักบวช เป็นนักคิดนักเขียนและนักปฏิบัติ

ท่านเกิดปลายรัชกาลที่๖ เป็นลูกทหารระดับนายพันเอกชั้นพระยาฯ มารดาเป็นสตรีชาววัง แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบเรียบนัก บิดาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่มารดาท่านมีวิสัยทัศน์ไกลก่อนยุคสมัย มุ่งมั่นจะให้ลูกสาวได้รับการศึกษาอย่างดีเพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเอง ในที่สุดสาวน้อยรัญจวน อินทรกำแหงก็เรียนจบได้ประกาศนียบัตรวิชาครูเป็นก้าวแรก ได้เป็นครูหัวเมืองสิบกว่าปีตั้งแต่อายุ๑๙ปี แล้วก็ย้ายเข้ามาเป็นครูในกรุงเทพฯเพื่อดูแลมารดาไปด้วยเมื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว

จากนั้นไม่นานก็ย้ายเข้ามาทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านจนจบปริญญาโทด้านบรรณรักษ์ศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาหน้าที่การงานก็งอกงามขึ้นตามลำดับ แม้จะมีเรื่องให้ฟันฝ่าหลายอย่าง แต่ก็อาศัยความพากเพียรและซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ตามแบบอย่างของคุณธรรมสมัยนั้นที่ยังไม่สั่นคลอนเท่าปัจจุบัน

นอกจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว อาจารย์รัญจวนก็ใช้เวลาและพลังไม่น้อยในงานอาสาสมัครเกี่ยวกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในที่สุดเมื่ออายุ ๔๘ ปี ก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะไม่ได้ขวนขวาย คนในระบบหรือคนที่เชื่อคุณค่ากระแสหลักย่อมถือว่านี่เป็นเกียรติประวัติที่สำคัญของชีวิต

อ่านต่อ »

หลักสูตรปริญญาเอกเน้นอะไร?: คนเก่งหรือคนดี?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2559

ชีวิตผมผ่านการเรียนระดับปริญญาเอกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นนิสิตปริญญาเอกสาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษารุ่นแรกที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบครบรายวิชา และสอบผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามที่หลักสูตรกำหนด เหลือแต่วิทยานิพนธ์ อาจารย์ก็ชวนให้เป็นอาจารย์ที่คณะ ผมก็สมัครเป็นอาจารย์ และก็ได้เป็นอาจารย์ที่คณะ สอนอยู่หนึ่งปีก็สอบชิงทุนของจุฬาฯ ไปเรียนปริญญาเอกสาขาวิชาปรัชญาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า ซึ่งเป็นการเรียนปริญญาเอกครั้งที่สองของผม ที่มินนิโซต้าผมได้โอกาสเรียนทางด้านการศึกษาและการวิจัยอนาคตด้วย

การเรียนปริญญาเอกทั้งสองครั้ง ตามหลักสูตรที่แต่ละแห่งกำหนด ที่เน้นเหมือนกันคือการเน้นความเป็นนักวิชาการ มีกฎ ระเบียบ มาตรฐาน ประเพณี พิธีการ และพิธีกรรมมากมาย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกเน้นความเป็นเลิศ (ความเก่ง)ทางวิชาการ แต่น่าสนใจว่า ทำไมไม่เน้นความเป็นเลิศทางความดีความงามด้วย

ทำไมต้องแยกความเป็นเลิศทางวิชาการออกจากความดีความงาม?

ความรู้ควรเคียงคู่กับคุณธรรมหรือไม่?

มีแต่ความรู้ แต่ขาดคุณธรรม ขาดความดีความงาม ก็อาจใช้ความรู้นั้นๆ เพื่อตอบสนองประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ใช้ความรู้ที่มีไปทำร้าย ทำลายผู้อื่น สิ่งแวดล้อม สังคม และสรรพสิ่งได้ ศาสตร์ที่มีก็กลายเป็นศาสตราวุธที่มีอำนาจทำลายร้ายแรงได้

หรือระบบการศึกษายุคใหม่ในปัจจุบัน ถูกครอบด้วยระบบคิดและวิธีปฏิบัติของทุนนิยมไปโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว?

ต้องเก่งเหนือผู้อื่น ต้องมุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่ง ต้องชิงความได้เปรียบ ต้องเอาตัวรอด ต้องยึดผล (Result Based) โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ได้มาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่

หรือการศึกษากลายเป็นธุรกิจไปแล้ว? การจัดการศึกษาต้องคุ้มทุนหรือมีกำไร ถ้าไม่คุ้มทุน เพราะลูกค้าน้อย ไม่มีกำไรก็ต้องปิดกิจการ (หลักสูตร)

สาขาวิชาปรัชญาการศึกษาถูกปิดเพราะลูกค้าลด สาขาบริหารการศึกษาเปิดมากมายเพราะลูกค้ามาก

ตกลงการศึกษาเป็นกระบวนการในการสร้างและพัฒนาคนหรือเป็นการค้า การดำเนินธุรกิจทางการศึกษา?

ตกลงการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นกระบวนการในการปรับวุฒิ และเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้บริหาร หรือสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่กับการเป็นคนดีมีคุณธรรมทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ผมโชคดี มีโอกาสได้ทำโครงการวิจัยที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือ “โครงการวิจัยและประเมินผลการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก” ใช้วิธีวิจัยที่หลากหลาย เช่นการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ Oral History แบบสอบถาม การประชุมกลุ่ม Focus Group และการประชุมทีมวิจัย งานวิจัยนี้ยังดำเนินการอยู่ ยังไม่เสร็จ มีวัตถุประสงค์หลักสามประการคือ

๑. เพื่อสังเคราะห์ปรัชญาแนวคิดการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศคัดสรร ได้แก่ อังกฤษ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

๒. เพื่อศึกษาพัฒนาการของการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกของประเทศไทย

๓. เพื่อประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบันอุดมศึกษาไทย

โดยมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติผมยังไม่สามารถเปิดเผยผลการวิจัยได้ แต่ผมนำมาเล่าเป็นส่วนเสริมบทความนี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ทั้งในเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ และการทำ Focus Group กับผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เน้นเรื่องของความเป็นนักวิชาการ และความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นหลัก ยังไม่พบว่ามีการจัดการหลักสูตรระดับปริญญาเอกในประเทศคัดสรร และของไทยซึ่งมีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอกมากกว่าหนึ่งพันสองร้อยหลักสูตร ระบุว่ามีการเน้นในเรื่องความเป็นคนดีควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการอย่างชัดเจน

ตกลงเรื่องความดี ความเป็นคนดี ไม่ใช่คุณลักษณะที่พึงประสงค์และ/หรือสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนระดับปริญญาเอกใช่หรือไม่? หรือทึกทักว่าผู้เรียนเป็นคนดีอยู่แล้วจึงไม่มีการเน้นเรื่องนี้ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นส่วนของปัจจัย (Input) กระบวนการ (Process) หรือผลผลิต (Output) ยังมิต้องพูดถึงผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ของการจัดการหลักสูตรระดับปริญญาเอก

และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เรื่องความดี ความเป็นคนดี ควรเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้สอนในระดับปริญญาเอกหรือไม่ หรือจะดูแค่ว่ามีคุณวุฒิตรงตามสาขาที่จะสอนหรือไม่เท่านั้น

ทั้งหมดที่เขียน เป็นข้อสังเกตที่ผมตั้งขึ้นมา เป็นการสะท้อนจากประสบการณ์ตรงของตนเองที่ผ่านการเรียนระดับปริญญาเอกมาสองหลักสูตร และการสอนระดับปริญญาเอกทั้งที่จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ

การจ้างและรับจ้างทำรายงาน และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ คงไม่มีปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ถ้าความดีและความเป็นคนดีเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือสมรรถนะที่พึงมีของผู้เรียนและผู้สอนระดับปริญญาเอก

คู่ชีวิต: ของขวัญ หรือ ระเบิดเวลา



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2559

ในการแนะนำคู่แต่งงานใหม่ ทั้งคู่พึงเข้าใจบทเรียนบทแรกคือ แม้นว่าทั้งสองจิตใจตรงกันและปรารถนาใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ราวกับเป็นคนเดียวกันนั้น มิได้หมายความว่า ทั้งคู่จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน จะรู้สึกนึกคิดไปในทางเดียวกันจนสามารถรู้ใจกันและกันในทุกเรื่องตลอดเวลา

โจทย์สำคัญของชีวิตคู่มิใช่เพียงจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เป็นสุขอย่างเกื้อกูล รักใคร่กัน แต่ทั้งสองยังเป็นสุขที่ได้ดำรงตนอย่างเป็นตัวของตัวเองไปพร้อมกัน

ชีวิตคู่หลายคู่ล่มสลายไปเพราะไม่เพียงแต่ไม่สัมพันธ์กัน แต่เป็นเพราะต่างไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเช่นกัน

ความจริงที่ซ่อนเร้นในบทเรียนบทแรกคือ ต่างคนต่างแตกต่างกัน แม้นจะมีอะไรคล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างจากนี้ต่างหากดึงดูดให้เขาและเธอมาเป็นคู่ชีวิตกัน

เช่น “กวี” ชายหนุ่มผู้รักเสียงดนตรี เป็นนักดนตรีนักร้องมาตลอดชีวิต ตกหลุมรัก “จิตต์” ลูกสาวคนโตของครอบครัวคนค้าขาย จิตต์รู้จักช่วยพ่อแม่ขายของมาตั้งแต่เรียนประถม ส่วนกวีร้องเพลงโชว์ในงานสังสรรค์ครอบครัวตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ

กวีหาได้เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมอื่นใด นอกจากร้องเพลงเล่นดนตรีตามที่ตนรักและมีใจให้ ด้วยว่าทุกครั้งที่เขาขึ้นเวที ป๋า แม่ และพี่ๆ ต่างก็ปรบมือเป่าปากเอาใจเชียร์

จิตต์รู้ว่า เธอต้องทำงานหนักเพื่อให้เตี่ยกับแม่ อาก๋ง อาม่ารัก เธอเรียนดี ขายของเก่ง มีชั้นเชิงจนเตี่ยเอ่ยปากว่า “ลื้อน่าจะเกิดเป็นลูกผู้ชาย”

อ่านต่อ »

ความเป็นมนุษย์ของเรา



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2559



“โอ้โห บ้านดูดี อยู่ดีกว่าคนไทยเสียอีกนะนี่” – เสียงหนึ่งลอยมาระหว่างเดินเยี่ยมชมศูนย์อพยพบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ประโยคดังกล่าวกระตุกให้เห็นความคุ้นชินบางอย่างที่แทบจะกลายเป็นค่านิยมอัตโนมัติในตัวเรา นั่นคือ ถ้าเป็นผู้ลี้ภัย - เขา/เธอต้องเป็นคนจนยาก เป็นผู้มาขออยู่อาศัยในแผ่นดินของเรา ดังนั้นเอง เขา/เธอจึงไม่ควรมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมหรือดีกว่าพวกเราคนไทย

คำถามคือ มาตรฐานของการเป็นมนุษย์ และคุณภาพชีวิตที่ไม่ทำให้คนคนหนึ่งต้องใช้ชีวิตต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ เราควรกำหนดไว้ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้นล่ะหรือ?

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายอพยพ ๙ แห่ง ใน ๔ จังหวัด จำนวนราวหนึ่งแสนคน ร้อยละ ๙๐ เป็นชาวกะเหรี่ยง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีบทบาทหลักในการดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ร่วมกับรัฐบาลไทยและเอ็นจีโอ

สงครามระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองทัพกะเหรี่ยงในเมียนมาร์ผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์นี้ข้ามดินแดนมายังฝั่งไทย นโยบายพม่านิยมที่กำลังทำให้เมียนมาร์เป็นของชนชาติพม่า ได้กีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งกะเหรี่ยงออกไปจากประเทศ ส่วนนโยบายไทยนิยม ที่ให้คุณค่าเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทย บัตรประชาชนไทย ก็กีดกันผู้คนเหล่านี้ออกไปจากการคุ้มครองดูแลให้มีคุณภาพชีวิตเท่าเทียมพลเมืองของตน

อ่านต่อ »

Back to Top