คู่ชีวิต: ของขวัญ หรือ ระเบิดเวลา



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2559

ในการแนะนำคู่แต่งงานใหม่ ทั้งคู่พึงเข้าใจบทเรียนบทแรกคือ แม้นว่าทั้งสองจิตใจตรงกันและปรารถนาใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ราวกับเป็นคนเดียวกันนั้น มิได้หมายความว่า ทั้งคู่จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน จะรู้สึกนึกคิดไปในทางเดียวกันจนสามารถรู้ใจกันและกันในทุกเรื่องตลอดเวลา

โจทย์สำคัญของชีวิตคู่มิใช่เพียงจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เป็นสุขอย่างเกื้อกูล รักใคร่กัน แต่ทั้งสองยังเป็นสุขที่ได้ดำรงตนอย่างเป็นตัวของตัวเองไปพร้อมกัน

ชีวิตคู่หลายคู่ล่มสลายไปเพราะไม่เพียงแต่ไม่สัมพันธ์กัน แต่เป็นเพราะต่างไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเช่นกัน

ความจริงที่ซ่อนเร้นในบทเรียนบทแรกคือ ต่างคนต่างแตกต่างกัน แม้นจะมีอะไรคล้ายคลึงกัน แต่ความแตกต่างจากนี้ต่างหากดึงดูดให้เขาและเธอมาเป็นคู่ชีวิตกัน

เช่น “กวี” ชายหนุ่มผู้รักเสียงดนตรี เป็นนักดนตรีนักร้องมาตลอดชีวิต ตกหลุมรัก “จิตต์” ลูกสาวคนโตของครอบครัวคนค้าขาย จิตต์รู้จักช่วยพ่อแม่ขายของมาตั้งแต่เรียนประถม ส่วนกวีร้องเพลงโชว์ในงานสังสรรค์ครอบครัวตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ

กวีหาได้เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมอื่นใด นอกจากร้องเพลงเล่นดนตรีตามที่ตนรักและมีใจให้ ด้วยว่าทุกครั้งที่เขาขึ้นเวที ป๋า แม่ และพี่ๆ ต่างก็ปรบมือเป่าปากเอาใจเชียร์

จิตต์รู้ว่า เธอต้องทำงานหนักเพื่อให้เตี่ยกับแม่ อาก๋ง อาม่ารัก เธอเรียนดี ขายของเก่ง มีชั้นเชิงจนเตี่ยเอ่ยปากว่า “ลื้อน่าจะเกิดเป็นลูกผู้ชาย”



กวีเรียนรู้ว่า หากเขาทำตามใจตนทำในสิ่งที่ตนรัก ใครๆ ก็จะรักใคร่ ขณะที่จิตต์เรียนรู้ว่า หากทำตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย เธอจะเป็นที่รัก

คนหนึ่งมีอิสระในใจที่จะแสดงตัวตนออกมา อีกคนเก็บตัวตนของตนไว้ แต่สวมบทลูกสาวแสนดีผู้รู้จักรับผิดชอบ ต้องทำงานอย่างพิถีพิถันจนสำเร็จแล้วทุกคนจะพอใจ

เมื่อทั้งสองได้พบรักและแต่งงานกัน ทั้งสองแทบจะไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า แรงดึงดูดที่ดึงเขาทั้งสองเข้าหากันนั้น มาจากความแตกต่างอย่างต่างขั้ว คนหนึ่งทำตามใจแล้วได้ดี อีกคนทำตามหน้าที่แล้วได้ดี

สำหรับจิตต์ กวีคือผู้ที่มาทำให้เธอชุ่มชื่นหัวใจ เขาช่างเป็นอิสระจากพันธะใดๆ อย่างที่เธอเองไม่สามารถทำได้

สำหรับกวี จิตต์คือกำแพงพิงที่ให้ศิลปินเดี่ยวอย่างเขารู้สึกมั่นคง มีคนมารับผิดชอบจัดระเบียบชีวิตต่างๆ ให้อย่างที่เขาทำด้วยตนเองไม่ได้

บทเรียนบทที่สอง ความรู้สึกที่ต่างคนต่างเติมเต็มให้กันและกันเช่นนี้นั้น จะดำรงอยู่ได้เมื่อต่างต้องตระหนักในคุณค่าของอีกคนที่ตนไม่มี ต่างต้องชื่นชมและเห็นความสามารถที่อีกฝ่ายมีแต่ตนขาด ทั้งคู่จึงจะเป็นของขวัญให้แก่กันและกัน

กวีจึงจะพาจิตต์ให้ออกจากกรอบหน้าที่ที่เคร่งครัด ท่องไปในโลกที่จะแสดงออกอย่างอิสระ ไม่จำกัดตัวเองเพียงภาระรับผิดชอบเท่านั้น ในขณะที่จิตต์ก็ให้กวีรู้จักที่จะจัดระเบียบตนเองไม่ว่าจะเป็นการงานหรือการเงิน เพื่อให้เท้าก้าวอยู่บนโลก ขณะที่พรสวรรค์การดนตรีของเขาพาเขาติดปีกบิน หากเป็นเช่นนี้ต่างคนจะเป็นของขวัญให้อีกคนหนึ่ง โดยเกื้อกูลกันให้ได้ค้นพบความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่

คู่ชีวิตจะพบว่าต่างเป็นของขวัญให้กันและกัน ต่อเมื่อเรียนรู้ที่จะชื่นชมนิสัยใจคอบุคลิกที่แตกต่างกันจนน่าขัดอกขัดใจยิ่งนัก เหมือนกวีจะต้องชื่นชมจิตต์ผู้เคร่งครัดจริงจังเพื่อพิสูจน์ตนเองกับคนรอบข้าง จนอาจจะดูเคร่งเครียดไม่มีอิสระในสายตาของกวี และขณะเดียวกันจิตต์ก็ต้องชื่นชมกวีผู้แสนสบายๆ ทำตามใจตนเอง ไม่ยี่หระสายตาใคร จนดูเหมือนเป็นคนไม่รับผิดชอบ

บทเรียนบทที่สาม แต่ถ้าทั้งสองไม่รู้ทันความแตกต่างอย่างต่างขั้วของกันและกัน แล้วไม่ชื่นชมเชื่อมั่นในอีกฝ่าย ต่างจะกลับมองเห็นอีกคนเป็นปรปักษ์หรือศัตรูได้อย่างง่ายดาย

จิตต์ผู้เคร่งครัดกับหน้าที่จะสามารถต่อว่ากวีว่า เป็นคนเยาะแหยะ เพ้อฝันได้ทันทีที่เธอรู้สึกว่า พรสวรรค์ของกวีนั้นช่างไม่สามารถเกื้อกูลลดภาระที่เธอกำลังรับผิดชอบ และกวีก็จะเห็นจิตต์เป็นคนเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังจนไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา

เมื่อต่างคนต่างเพ่งโทษกันจนลืมที่จะชื่นชมกันและกัน ความไม่พอใจต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ข้าวของใช้ในบ้านเก็บไม่เข้าที่ จนถึงเรื่องคอขาดบาดตาย จะสะสมกลายระเบิดเวลาที่ต่างตั้งเวลาจุดชนวนไว้

คู่ชีวิตจะจับสัญญาณได้อย่างไรว่า ระเบิดเวลาในความสัมพันธ์กำลังทำงาน สัญญาณที่ว่าซ่อนอยู่ในความรู้สึกอยากต่อว่าต่อขานอีกฝ่ายหนึ่ง อยากตำหนิติเตียน เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม หรือกลับไปดีได้เหมือนตอนที่เคยหลงรักกันก่อนแต่งงาน

แต่คำเรียกร้องดังกล่าว บ่อยครั้งก็เหมือนน้ำท่วมปาก พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ยิ่งพูดยิ่งเลวร้าย และหากพูดออกมาก็มักจะรุนแรงแฝงด้วยวาจาอันเชือดเฉือน แล้วสถานการณ์ก็เลวร้ายจริงๆ

เราปลดสลักระเบิดเวลานี้ได้อย่างไร เราจะบอกกล่าวคู่ของเราให้เขารู้ได้ว่า เราแสนจะอึดอัดใจโดยไม่ให้คำพูดของเรากลายเป็นระเบิดเวลาลูกแล้วลูกเล่าได้อย่างไร โดยเราไม่ต้องบ่ายเบี่ยงเลี่ยงไปซึ่งก็เป็นระเบิดเวลาอีกลูกเช่นกัน

เราจะสามารถบอกกล่าวความรู้สึกให้อีกฝ่ายทราบโดยไม่เป็นระเบิดเวลาในบทเรียนที่สามได้ ต่อเมื่อเราฝึกฝนบทเรียนที่สองมาอย่างเพียงพอ กล่าวคือ เราจะต่อว่าเขาไปพร้อมๆ กับจดจำความชื่นชมที่เรามีในตัวเขาจะได้ไหม โดยเฉพาะชื่นชมเรื่องที่เขาแตกต่างจากเรา และยิ่งไปกว่านั้นเรื่องที่เขาทำได้ดีต่างจากเรานั้น เราแทบจะทำไม่ได้เลย

หรือเราจะต่อว่ากันติเตียนกันรวมทั้งเพ่งโทษกัน จนไม่มีเวลาพอที่จะรักกัน หรือชื่นชมกัน เหมือนอย่างที่แม่ชีเทเรซ่า แห่งกัลกัตตาได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณตัดสินคนอื่น คุณก็ไม่มีเวลาที่จะรักพวกเขาหรอก - If you judge people you have no time to love them”

บทเรียนสามบทนี้มิใช่เพียงบทเรียนของคู่ชีวิตในบ้านหลังหนึ่งตามลำพังของคนสองคน แม้แต่ประเทศชาติก็ไม่พ้นบทเรียนนี้

ในสังคมที่รวมๆ กันเรียกว่า ชาติ ผู้คนยิ่งแตกต่างกันยิ่งนัก หากไม่เข้าใจถึงความแตกต่างที่ว่า และเรียนรู้ที่จะอยู่หรือชื่นชมกับความแตกต่างนั้น ความขัดแย้งใดใดที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างออกหน้าออกตาหรือซ่อนเร้น ก็รังแต่จะเป็นระเบิดเวลา ซึ่งกติกาใดใดที่ไม่ตระหนักถึงความแตกต่างที่ลึกลงไปในระดับจิตวิทยา ก็ไม่สามารถจะนำผู้คนให้หันหน้ากลับเข้าหากันได้

ไม่ต่างจากสามีหรือภรรยาที่ระเบิดเวลาในความสัมพันธ์ระเบิดใส่หน้า จนเจ็บปวดเกินกว่าที่จะหันหน้ากลับมาคืนดีกันได้

Back to Top