ความเป็นมนุษย์ของเรา



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 เมษายน 2559



“โอ้โห บ้านดูดี อยู่ดีกว่าคนไทยเสียอีกนะนี่” – เสียงหนึ่งลอยมาระหว่างเดินเยี่ยมชมศูนย์อพยพบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ประโยคดังกล่าวกระตุกให้เห็นความคุ้นชินบางอย่างที่แทบจะกลายเป็นค่านิยมอัตโนมัติในตัวเรา นั่นคือ ถ้าเป็นผู้ลี้ภัย - เขา/เธอต้องเป็นคนจนยาก เป็นผู้มาขออยู่อาศัยในแผ่นดินของเรา ดังนั้นเอง เขา/เธอจึงไม่ควรมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมหรือดีกว่าพวกเราคนไทย

คำถามคือ มาตรฐานของการเป็นมนุษย์ และคุณภาพชีวิตที่ไม่ทำให้คนคนหนึ่งต้องใช้ชีวิตต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ เราควรกำหนดไว้ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้นล่ะหรือ?

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายอพยพ ๙ แห่ง ใน ๔ จังหวัด จำนวนราวหนึ่งแสนคน ร้อยละ ๙๐ เป็นชาวกะเหรี่ยง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีบทบาทหลักในการดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ร่วมกับรัฐบาลไทยและเอ็นจีโอ

สงครามระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองทัพกะเหรี่ยงในเมียนมาร์ผลักดันให้กลุ่มชาติพันธุ์นี้ข้ามดินแดนมายังฝั่งไทย นโยบายพม่านิยมที่กำลังทำให้เมียนมาร์เป็นของชนชาติพม่า ได้กีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งกะเหรี่ยงออกไปจากประเทศ ส่วนนโยบายไทยนิยม ที่ให้คุณค่าเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทย บัตรประชาชนไทย ก็กีดกันผู้คนเหล่านี้ออกไปจากการคุ้มครองดูแลให้มีคุณภาพชีวิตเท่าเทียมพลเมืองของตน



ที่จริงแล้ว จะพม่านิยม หรือไทยนิยม ก็คงไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ตราบเท่าที่ยังไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานของใคร

คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่จะการันตีว่า - ถ้าคนคนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตเช่นนี้แล้ว เขาจะไม่ตกต่ำไปจากการมีชีวิตอย่างมนุษย์ – ควรจะเป็นเส้นมาตรฐานเบื้องต้น ก่อนเส้นมาตรฐานความเป็นชาตินิยมหรือเผ่าพันธุ์อารยันใด-ใดในโลกนี้



เดือนเต็มดวง สุกสกาวลอยอยู่กลางหาว ทอแสงนุ่มนวลห่มคลุมป่าเขา ในคืนสุดท้ายของงานบุญเจดีย์ หรือ มาบุโคะ ที่บ้านม่อทะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากอุ้มผางไปราว ๓ ชั่วโมง ด้วยทางรถยนต์

บ้านม่อทะนี้เป็นศูนย์กลางของชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษี ในเทศกาลสำคัญหลังฤดูเก็บเกี่ยวนี้ กะเหรี่ยงจากหลายแหล่งแห่งที่จำนวนนับพันคนมารวมตัวกันที่นี่ ตรงทางขึ้นก่อนเข้าบริเวณประกอบพิธีกรรม มีป้ายห้ามนำเนื้อสัตว์และสุราเข้าไป พี่น้องชาวกะเหรี่ยงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่า เด็กเล็กอยู่กับแม่ เด็กน้อยวิ่งเล่น เด็กสาวผลัดกันถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ เด็กหนุ่มยืนจับกลุ่มคุยกัน คนแก่นั่งมองนิ่ง-นิ่ง

“น้องสาวฉันมีลูก ๙ คน ฉันมี ๑๐ คน คลอดเองทั้งนั้น เลี้ยงเด็กไม่ต้องใช้เงิน ใช้แต่ข้าว” – คุณป้าผมสีดำขลับที่แสกกลางและรวบไว้ข้างหลัง ในเสื้อสีบานเย็นขลิบเหลือง ซิ่นลายริ้วดำแดง ยืนกอดอกเล่าให้ฟังด้วยประโยคง่าย-ง่าย แต่ข้าพเจ้าใช้เวลาหลายวันทีเดียวกว่าจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ข้าว” ที่ไม่ได้แปลว่าข้าวสวยที่เรากินกันทุกวัน

คำว่า “ข้าว” ของชาวกะเหรี่ยงมีนัยยะหมายถึงวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยนัยยะนี้ แผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่จึงมีค่ามากกว่าเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองพื้นราบให้คุณค่า มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตรอดเติบโตขึ้นมาได้ก็ด้วยบุญคุณของดินน้ำป่าเขา สำนึกของคนกะเหรี่ยงจึงแนบชิดสนิทแน่นกับระบบนิเวศธรรมชาติค่อนข้างมาก ดังที่มีการรวมตัวของกะเหรี่ยงก่อตั้งกลุ่ม “ต้นทะเล” เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เป็นสำนึกแห่งความอาทรโยงใยไปถึงคนพื้นราบและคนที่อยู่ปลายน้ำหรือทะเล

จะว่าไปแล้ว ทัศนะของชาวกะเหรี่ยงที่มองธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ออกจะก้าวหน้าและทันสมัยกว่าชาวเมืองที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาด้วยซ้ำ



“ตอนนั้นมีแต่คนตาบอดอยู่บ้านครับ ไม่มีใครอยู่ด้วย คนซื้อของเก่ามาซื้อของที่บ้าน เอาเงินใส่มือคนตาบอดไว้ใบสองใบ นึกว่าเป็นแบ๊งค์ร้อย ที่จริงเป็นแบ๊งค์ยี่สิบ ถ้าผมรู้ว่าเขาอยู่ไหน คงตามไปเอาของคืนมาได้” – น้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความรู้สึกบางอย่างของเด็กหนุ่มขณะเล่าเรื่องคนพื้นราบที่เข้ามาในหมู่บ้านกะเหรี่ยงยะโม่คี เมื่อหลายปีก่อน

“เดี๋ยวนี้ทุกคนยังต้องทำข้าวไร่อยู่ครับ ไว้กินเอง แต่ก็ทำไร่ข้าวโพดกันเพิ่มมากขึ้น เถ้าแก่ขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย กับยาฆ่าหญ้า พอเก็บเกี่ยวขายได้และหักต้นทุนทั้งหมดออก ผมว่าไม่คุ้มค่าแรงที่ทำกันมาหลายเดือนนะ และน้ำในลำธารก็แห้งลงกว่าแต่ก่อนมาก ไม่รู้จะทำกันไปได้อีกนานไหม” - เด็กหนุ่มคนเดิมเล่าในสิ่งที่เขาเห็น

“พี่สาวผมเรียนเก่งที่สุดในบ้าน ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นครู ผมก็อยากเรียนต่อ และอยากจะเกณฑ์ทหาร น่าจะดี ทำไร่เหมือนเดิมคงยาก และถ้ารวยขึ้น ผมว่าจะเปลี่ยนเป็นบ้านไม้ ที่จริงไม้ไผ่ของเดิมนี่ก็เย็นดีนะครับ เอามาจากป่าข้างบ้านนี่แหละ แต่ก็ต้องคอยเปลี่ยนเรื่อยๆ” – ตาเขาเป็นประกายเมื่อพูดถึงความฝันในอนาคต และดูเหมือนจะเป็นอนาคตที่ต่างจากของแม่ที่นั่งข้างๆ และต่างจากของพ่อที่เพิ่งเสียชีวิตไปจากการตกต้นไม้ระหว่างไปหาของในป่าเมื่อปีที่แล้ว

กระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกได้เข้ามาถึงบ้านยะโม่คีและหมู่บ้านกะเหรี่ยงจำนวนมากที่ตั้งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเมย ทั้งในไทยและพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกษตรกรรมแบบเลี้ยงตัวแปรเปลี่ยนไปเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ และเป็นระบบเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่มีสัญญาอย่างเป็นทางการ เกษตรกรเปลี่ยนตัวเองไปสู่ผู้ประกอบการและแรงงานรับจ้าง ทั้งบนที่ดินของตนเองและคนอื่น อกแม่ธรณีก็ไหม้ขมกับยาฆ่าหญ้าที่สั่งสมมาราวยี่สิบปี ในแต่ละปี อุ้มผางจะมีหมอกควันปกคลุมจากการเผาซังข้าวโพดเพื่อปรับหน้าดินอยู่ราว ๒ เดือน เป็นมลพิษและหายนภัยแบบตายช้า-ช้า และทุกคนมองเป็นเรื่องปรกติธรรมดา



ในพื้นที่ชายแดนอันทุรกันดารห่างไกลความสะดวกสบายและความเจริญของเมือง เต็มไปด้วยชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งที่มีถนนลาดยางและที่ลาดยางยังไปไม่ถึง อยู่ติดขอบกับอีกประเทศหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านและมีวิถีชีวิตเหมือนต่างจังหวัดไทยย้อนหลังไปสี่สิบกว่าปี และเป็นที่ตั้งของค่ายอพยพผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ – การเลือกมาอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ย่อมเป็นการท้าทายศักยภาพของตนเองมากทีเดียว

ข้าพเจ้าคาดว่า คนอย่างหมอตุ่ย - นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ แห่งโรงพยาบาลอุ้มผาง และหมอหนุ่ม – นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ แห่งโรงพยาบาลท่าสองยาง รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขอีกหลายท่านที่พยายามทุกวิถีทางในการทำงานให้บริการทางสุขภาพต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือพม่า มีบัตรประชาชนหรือไม่มีบัตร และทำงานแนวรุกด้วยการเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือการก่อตั้งสุขศาลาที่บ้านก้อเขอและกะหล่อหว่อในฝั่งพม่า ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าผู้คนเหล่านั้นเป็นมนุษย์เหมือนเรา หากยังทำไปเพื่อที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ของตนเองไว้

บางที – เราอาจจะต้องถามตัวเองให้มาก ว่าเราจะสามารถรักษาความเป็นมนุษย์ของตัวเราเองไว้ได้ด้วยวิธีได้บ้าง?

Back to Top