การสนทนาที่ “ดีต่อใจ”



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2559

เร็วๆ นี้ผมได้พูดคุยกับรุ่นน้องที่ทำละครด้วยกันคนหนึ่ง หลังๆ ผมพบว่าเขาเอาใจออกห่างและไม่สนใจจะเข้ามาทำงานให้กับกลุ่มสักเท่าใด เขาเป็นนักคิดที่เยี่ยมยอดแต่ก็ปิดบังความรู้สึกของตนเองโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อต้องแบทเทิลกันด้วยคำพูด น็อตบางตัวก็หลุดออก เขาก็เก็บอาการไม่อยู่

“ผมผิดหวังในตัวพี่ กลุ่มละครที่ทำงานด้านผู้ถูกกดขี่ แต่พี่กลับเป็นคนที่กดขี่เสียเอง”

การสาดกระสุนใส่กันด้วยคำพูดนั้น คนเราทำโดยไม่รู้ตัว เราไม่รู้ว่าอะไรสั่งให้ทำ และถ้อยคำที่ใช้ก็เปิดเผยความคิดที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเรา คำว่า “ผิดหวัง” นั่นคือ “ยาพิษ” เราดีๆ นั่นเอง ไม่ต่างอะไรกับการผสมยาพิษในน้ำเปล่าให้เขาดื่ม เพราะมันได้แฝงฝังคำตำหนิเอาไว้โดยมิเปิดเผยฐานที่มั่นแห่งความรู้สึกของตนเอง

ผมตอบง่ายๆ ว่า “ผมรู้สึกเสียใจ ในการกระทำของเขาครั้งนี้ ที่ทำโดยไม่ปรึกษาและละเลยความคิดเห็นของคนในทีม” ฟังดูเผินๆ ดูเหมือนว่าผมกำลังสาดกระสุนใส่เขา แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะผมกำลังแบ่งปันความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่ต้องโยนอารมณ์ซึ่งเหมือนเศษชิ้นเนื้อเน่าๆ ให้เป็นภาระแก่เขา

สิ่งที่เขาทำต่อไปก็คือการตั้งคำถามให้กับการกระทำของผม เช่น

“ผมขอถามถึงจุดยืนของพี่ว่า พี่ทำเพื่อสังคมจริงหรือ?”


นี่ก็เป็นยาพิษอีกขนานหนึ่งที่มาในรูปแบบของคำถาม มันถูกออกแบบให้คนฟังรู้สึกสะอึก

แต่อานิสงส์ของการฝึกเรื่องการฟังมาเกือบสิบปีช่วยเอาไว้ ใจกระเพื่อมไหวเล็กน้อย แล้วเป็นปกติ ผมหมายถึง “ปกติของการฟัง” ซึ่งถ้าใครไม่ได้ฝึกมารับรองเป๋ไปง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว

ผมพูดต่อไป “พี่จะไม่ตอบคำถามนี้ เพราะพี่รู้สึกว่าคุณมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง แต่คุณไม่ยอมแชร์ความรู้สึก แต่กลับเลือกแชร์เพียงแค่ความคิดเท่านั้น”

ครับ มนุษย์เรานี่ก็แปลก มักจะเอาความคิดมา “รองรับ” ความรู้สึกของตน มากลบเกลื่อนมัน และเมื่อนานเข้า มันทำให้เราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกของเราอย่างตรงไปตรงมาได้

การสนทนาผ่านกรอบกระจกสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เปรอะไปด้วยพิกเซลแห่งอักขระภาษาซึ่งถูกสร้างด้วยความคิด มันบีบให้เราแปลงความรู้สึกให้เป็นความคิด ในขณะที่นักการละครอย่างพวกผมทำตรงกันข้าม ก็คือเปลี่ยนน้ำหมึกสีดำที่เปื้อนอยู่บนกระดาษ A4 ให้กลายมาเป็นบทพูดที่มีชีวิต

ใช่ “ชีวิต” จริงๆ ที่ไม่ต้องคุยผ่านกระจกบานเล็กนั่น ซึ่งกั้นความเป็นมนุษย์ให้ห่างไกลกันราวกับนักโทษคุยกับญาติผู้มาเยี่ยม

ผมมีความเชื่อมั่นในประโยคที่มนุษย์พิเศษผู้หนึ่งพูดเอาไว้ว่า “ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา” แต่ “ปัญญา” ประเภทไหนกันล่ะ ใช่การเอาชนะคะคานกันด้วยเหตุและผลหรือเปล่า มิใช่เลย

สนทนาแบบนักคิด นักวิชาการ ใช้เหตุผลเข้าห้ำหั่นกันถ้าแสดงความรู้สึกก่อนก็แพ้

สนทนาแบบนักเจรจาต่อรอง ไม่กลัวที่จะใช้ความรู้สึกแต่เก็บงำเจตนา เก็บไพ่หลายใบจนบางทีตัวเองงงเอง

สนทนาแบบเด็กแว้น เน้นแสดงความรู้สึก เน้นสะใจ ขาดการยับยั้งชั่งใจ

สนทนาแบบผู้มีจริยธรรมสูง พวกคิดบวก พวกนี้ต้องคอยเบรกยับยั้งตัวเอง ไม่ให้พูดถึงคนอื่นในแง่ไม่ดี เลยไม่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่แท้จริงได้ (แต่อาจจะคิดอะไรแย่ๆ ไปเยอะมาก)

สนทนาแบบพวกฝึกไดอะล็อกหัดใหม่ แสดงความรู้สึกส่วนตัวอย่างซึ้งซ่าน แต่มองไม่เห็นเต๋า ไม่อาจเต้นรำในจังหวะสากลของจักรวาล

เราจะสนทนากันแบบไหน? ปัญญาในขั้นการฟังจะเป็นตัวกำหนดว่าเราเป็นนักสนทนาแบบไหน? ถ้าไม่ฝึกการฟังให้ดี ความคิดจะมากลบเกลื่อนความรู้สึก การสนทนาของเราจะเผิน ต่อให้เราไม่ชอบการดีเบต แต่มันจะพาไป ณ จุดนั้น ในขณะเดียวกัน การเก็บกดความรู้สึกมีผลร้ายมากกว่าการแสดงความรู้สึกออกไป ผลงานวิจัยใหม่* ในวารสาร Health Psychology บอกกับเราว่า คนที่เก็บกดความรู้สึกมีแนวโน้มจะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่แสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ แมนนี่ อาจารย์ของผมจึงพูดในสิ่งที่เป็นวาจาสุภาษิต ให้เป็นหลักคิดและดำเนินชีวิตเสมอมา

“โกรธได้แต่อย่าผูกโกรธ”

เมื่อความรู้สึกเกิดขึ้น ผู้ที่ฝึกฝนให้เห็นความละเอียดของจิตใจ จะสามารถรับรู้ได้ตามความเป็นจริง รับรู้แล้วยังไง มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ต้องไปวิเคราะห์เจาะลึกมาอธิบายด้วยคำพูดแบบนักวิจัยชอบทำ ก็แค่รับรู้เท่านั้น นี่ที่ผมถึงพูดอยู่นี่มันเร็วมากเป็นนาโนเซคคั่น มันแวบเดียวเท่านั้น และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทำไมคนเราชอบข้ามความรู้สึกพวกนี้ไปกันอย่างง่ายดาย

ถ้าไม่สังเกต ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว ถ้าข้ามไปเอาเหตุผลมาอธิบายหรือโต้เถียงนั่นยิ่งทำให้มันปะทุขึ้นอีก เหมือนเอาน้ำมันไปราดกองไฟ ผลก็คือจิตใจเกิดการเสียหาย และต้องหาทางระบายออกอื่นๆ เช่น หาคนคุยบ่นเพื่อระบายความรู้สึก นั่นคือวิธีรับมือกับ Cognitive Dissonant (สภาวะขุ่นข้องหมองใจ) แบบไทยๆ ที่แถวบ้านผมเขาเรียกวิธีแบบนี้ว่า “นินทาลับหลัง” แต่ในรายที่ถูกครอบไว้ด้วยหลักการแห่งจริยธรรมอันดี นั่นหมายถึงการไม่นินทาคนอื่น ก็จะมีอาการเก็บกดหนักมากกว่า และต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อระบายออก ซึ่งผมว่าแบบนั้นก็ไม่ดีต่อใจสักเท่าไรนัก

เหตุผลมีถูกและผิด แต่ความรู้สึกไม่มี เพราะมันอยู่กันคนละโหมดชีวิต การสนทนาที่ดีต่อใจสำหรับผมไม่ได้หมายความถึงการพูดคำหวานๆ ระวังรักษามารยาท แต่เป็นการสนทนาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ภายในของใจเราเอง เราอาจจะทำสงครามกันด้วยคำพูดก็ได้ แต่เราต้องรู้ระดับของความสงบภายใน หรือถ้ามันไม่สงบก็รับรู้และอยู่กับมันได้ ผมไม่ชอบพวกที่ชอบหลบเลี่ยงการปะทะ เพราะนั่นหมายถึงการขาดภาวะที่จะนำพาตัวเองเข้าคลุกคลีเรียนรู้ เมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ทำให้เรารู้ความขี้โกงของใจเรามากขึ้นเท่าไร ย่อมหมายความว่ายิ่งดีต่อใจเรามากขึ้นเท่านั้น



* The costs of repression: A meta-analysis on the relation between repressive coping and somatic diseases. http://psycnet.apa.org/journals/hea/31/5/640/

Back to Top