สถาปัตยกรรมความเป็นเพื่อน



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553

หากเราเชื่อเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือแนวคิดที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน ดังที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เคยเสนอไว้แล้ว ชีวิตเราทุกคนคงได้รับผลกระทบระดับสึนามิหลายพันระลอกจากเว็บไซต์ยอดนิยม: เฟซบุ๊ก (facebook)

เฟซบุ๊ก หรือที่คนไทยนิยมเรียกมันสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเว็บสุดฮิต ผู้คนในทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านคน เมื่อเขาหายแว้บเข้าไปในโลกเสมือน ไซเบอร์สเปซ หรือ อินเทอร์เน็ต เขาก็มักจะไปชุมนุมอยู่ที่นี่กันมากและนานที่สุด ใช้เวลากับที่นี่มากยิ่งกว่าที่เว็บอื่นๆ

คนไทย ๖๖ ล้านคนที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สูงนักก็ยังเป็นมีบัญชีสมาชิกเฟซบุ๊กถึง ๔ ล้านกว่าราย ทั้งเด็กวัยรุ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงาน ครูอาจารย์ นักวิชาการ ดารานักร้อง แม้กระทั่งนักการเมือง รัฐมนตรีต่างๆ ก็เป็นสมาชิกเช่นกัน เพราะองค์กรเชื่อมโยงงาน ชั้นเรียนเชื่อมโยงบทเรียน การบ้านเข้ากับเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ จะติดต่อกัน หรือส่งงาน ก็ดำเนินการกันผ่านเฟซบุ๊ก นักศึกษาจำนวนไม่น้อยรีบเปิดเว็บไซต์นี้เป็นเว็บแรกเมื่อตื่นนอน คอยเช็คเว็บไซต์นี้บ่อยๆ แม้ในระหว่างเรียน และเปิดเป็นเว็บสุดท้ายก่อนเข้านอน เรียกว่าติดงอมแงมเลยทีเดียว

ประเมินจากจำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้งานจำนวนล้นหลามถึงระดับนี้แล้ว เราจะถือได้ว่าเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จตามพันธกิจหรือความตั้งใจที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ใช่หรือไม่?

ข้อมูลในหน้าเว็บระบุพันธกิจของเฟซบุ๊กไว้ว่า คือ การให้อำนาจในการแบ่งปันแก่ผู้คนและสร้างโลกที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ในเฟซบุ๊กเราเชื่อมโยงผ่านการเป็น “เพื่อน” โดยการขอเป็นเพื่อนกัน และอีกฝ่ายต้องตอบรับ เราสามารถเป็นเพื่อนกัน เลิกเป็นเพื่อน และกลับมาเป็นเพื่อนกันใหม่ ได้โดยผ่านการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

รูปแบบวิธีการเชื่อมโยงอันแสนสะดวกง่ายดายนี้ ทำให้เฟซบุ๊กเป็นสินค้าบริการที่ขายดีมาก ติดตลาดอย่างรวดเร็ว คนซื้อแล้วติดใจ ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีกบ่อยๆ มีขาประจำอย่างรวดเร็วและเหนียวแน่น แต่ละคนต่างไปชักชวนเพื่อนๆ ญาติๆ ให้มาใช้ร่วมกัน เหตุผลที่คนมักพูดถึงเฟซบุ๊กและชักชวนกันเข้าไปก็คือ ใครๆ เขาก็ย้ายไปนั่นหมดแล้ว เหมือนสถานบันเทิงที่คนมักย้ายไปใช้เวลาสังสรรค์กันในแห่งที่กำลังฮิตที่สุด กิจกรรมในเฟซบุ๊กก็แทบจะเทียบได้กับสถานที่จริง อย่างสถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงห้องแสดงงานศิลปะ ผู้คนพากันเข้าเฟซบุ๊กไปเล่นเกม ไปสนทนากัน พบปะเพื่อนใหม่ จับจ่ายใช้สอย แม้กระทั่งเข้าไปชมผลงานภาพถ่าย

เว็บไซต์นี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนมันเป็นเหตุผลในตัวเสร็จสรรพว่าต้องขยายขึ้นเรื่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ดูไปก็คล้ายระบบเศรษฐกิจของโลกที่ดูเหมือนไม่ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องขยายขึ้น โตขึ้น

ในปัจจุบัน เราได้ยินคำโฆษณา ทั้งปากต่อปาก และผ่านสื่อต่างๆ ว่าสินค้าและบริการแต่ละอย่างดีอย่างไร มันทำอะไรได้บ้าง ทำไมคุณควรจะมีมัน และเสพมันมากๆ แต่ว่าเราแทบจะไม่รู้เลยว่า เราควรจะบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เท่าใดจึงจะเหมาะสม

รูปธรรมของการเสพสินค้าบางอย่างมากเกินไปอาจเห็นได้ชัดเจน (เช่น รอบเอวที่เพิ่มขึ้น) แต่บางอย่างก็ไม่ชัดเจน หรือต้องใช้เวลานาน แล้วรูปธรรมของการเสพเครือข่ายสังคมออนไลน์มากเกินไปเล่า มีหรือไม่

แล้วจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนของเราแปรผกผันกับคุณภาพ ความแน่นแฟ้น ความลุ่มลึกของความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างในโลกความเป็นจริงเท่าใด ยิ่งมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมาก เรายิ่งต้องใช้เวลาในการอ่านและเขียนข้อความ (post) เขียนแสดงความคิดเห็น (comment) อัพโหลดและดาวน์โหลดรูป รวมถึงกดปุ่ม “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (Like) มากขึ้นหรือไม่

สมาชิกเฟซบุ๊กหลายคนไปเพื่อเชื่อมโยง เพื่อหาเพื่อนออนไลน์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะยิ่งทำให้เราห่างเหินกับเพื่อนออฟไลน์ของเรา ทำเพื่อนของเราหายหรือตกหล่นหรือไม่

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการของเฟซบุ๊กอาจเป็นเวลาที่เราสามารถใช้ในการทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในชุมชน โอกาสในการทำนุบำรุงสายใยของครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ของเรา หรือความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูดูแลความสัมพันธ์ของเรากับที่ทำงานที่บางครั้งเราใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของวันเสียด้วยซ้ำ

มนุษย์เราล้วนต้องการความสุข เรามักจะคิดว่าจะได้มันผ่านการเสพ เมื่อเราเริ่มเสพไปเรื่อยๆ เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับที่ระบบสินค้าและบริการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา นานๆ เข้าเราอาจลืมไป นึกไม่ออกว่าสาเหตุในการเริ่มต้นเสพของเราคืออะไร

เฟซบุ๊กก็เป็นเช่นนั้น เป็นรูปแบบและระบบใหม่ของการจัดการความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสินค้าและบริการยอดนิยมที่แพร่หลาย เป็นปรากฏการณ์ของความสำเร็จที่เราชื่นชม จนเราอาจละเลยไม่ได้เห็นว่าสาเหตุที่แท้ในการมีมันและการใช้มันนั้น คืออะไร?

ลืมไปว่าพันธกิจที่แท้ของอำนาจในการแบ่งปัน การสร้างโลกที่เปิดกว้าง และการเชื่อมโยงกัน คืออะไร?

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือและภาพยนตร์ที่บอกเล่ากำเนิดของเฟซบุ๊ก และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสะท้อนชวนให้ตั้งคำถามต่อพันธกิจของเฟซบุ๊กนี้ด้วย

หนังสือมีชื่อว่า The Accidental Billionaires: The Founding Of Facebook, A Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal และภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก The Social Network สื่อทั้งสองบอกเล่าประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจของเว็บไซต์ และประวัติของผู้ก่อตั้ง คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน (คูณสามสิบเพราะเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก

เรื่องราวในหนังสือและภาพยนตร์บอกเราว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนเรียนเก่ง สอบข้อสอบที่เทียบเท่ากับข้อสอบโอเน็ต เอเน็ตของไทยได้คะแนนเต็ม แต่เขาเป็นคนขี้อาย ดูอึดอัดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น จริงอยู่ที่สุดท้ายเขาก็ได้ประสบความสำเร็จ แต่บนความสำเร็จนั้นกลับไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ร่วมเดินทางชีวิตด้วยกันมาก่อน มหาเศรษฐีพันล้านผู้สร้างเฟซบุ๊กซึ่งมีพันธกิจเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันกลับถูกเพื่อนเลิกคบ

ไม่แน่ใจว่าควรเรียกว่าน่าขัน ตลกร้าย หรืออย่างไร ที่คนล้มเหลวในเรื่องเพื่อน กลับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการเป็นเพื่อนกันของคนร่วมห้าร้อยล้านคนบนโลก ที่มีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการผลิต “ความใกล้ชิดสนิทสนม” ให้กับผู้คนผ่านการสร้างชีวิตที่สองในหมู่บ้านจัดสรรของโลกเสมือน

เราอาจตีความได้ว่าแรงผลักดันหนึ่งของการสร้างเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เริ่มจากความอยากเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แต่เลือกที่จะเดินทางอ้อม ผ่านการมีชื่อเสียงโด่งดังและมีทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อเฟซบุ๊กเกิดขึ้น เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ สุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกหรือไม่

ผู้คิดค้นและสร้างเฟซบุ๊กก็พยายามใช้มันเพื่อชดเชยช่องว่าง ทดแทนส่วนที่หายไปของชีวิต แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเติมเต็ม หรือจะยิ่งขยายทำให้ช่องว่างมันใหญ่ขึ้น

เฟซบุ๊กดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหรือบริการที่ช่วยเราในมีปฏิสัมพันธ์ มีการเชื่อมโยงกับเพื่อนได้ง่ายๆ แต่บางทีสิ่งที่มนุษยชาติต้องการจริงๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของความง่าย แต่เป็นพันธกิจความสุนทรียภาพ ความประณีตบรรจงที่จะคิด พูด และทำ สิ่งที่เราต้องการคือการนำเอาความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติกลับเข้ามาอยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ของเรา

พันธกิจที่แท้ของมวลมนุษยชาตินั้นคล้ายกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาก ทว่าก็แตกต่างมากเช่นกัน เพราะเป็นพันธกิจการให้อำนาจในการแบ่งปัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล รูปภาพ แต่แบ่งปันความรักความเมตตา ความเอาใจใส่ในความรู้สึกของกัน พันธกิจของการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่การเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่คือการเปิดใจเราให้กว้างขึ้น มีความรักอันไพศาล มีอิสรภาพไปพ้นจากอัตตาและความคิดอันคับแคบ พันธกิจของการเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสาร แต่เป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดอย่างเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Back to Top