พุทธศาสนาเป็นมากกว่าสิ่งปลอบประโลมใจ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม 2559

ผู้คนเข้าวัดหรือนับถือพุทธศาสนาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลหลักย่อมได้แก่การแสวงหาสิ่งปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่ชีวิต หลายคนเข้าวัดเพื่อหวังว่าบุญกุศลจะช่วยเสริมสร้างสิริมงคลหรือปัดเป่าอันตราย บ้างก็มาสะเดาะเคราะห์เพราะหวังว่าโรคร้าย หนี้สิน และเคราะห์กรรมทั้งปวงจะมลายไป ประสบแต่ความมั่งมีศรีสุข ได้รับความสำเร็จ ส่วนคนที่สูญเสียคนรัก ก็หวังว่าทานที่ถวายแก่สงฆ์จะช่วยให้ผู้ล่วงลับไปสู่สุคติ ไม่เพียงการมาวัดจะช่วยคลายความเศร้าโศกเท่านั้น หากยังช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับคนรัก ด้วยการทำบุญอุทิศให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรัก หรือลูกในท้อง

คนจำนวนไม่น้อยมาวัดเพราะปรารถนาน้ำมนต์และวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความเชื่อว่าได้มาแล้วจะแคล้วคลาดจากอันตราย ประสบความสุขความเจริญ มีหลายคนที่ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่แค่มาวัด ได้กราบพระพุทธรูป เห็นพระพักตร์อันสงบอิ่มเอิบ ความร้อนใจก็บรรเทาลง เกิดกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไป

กล่าวได้ว่าหน้าที่หลักประการหนึ่งของพุทธศาสนาในสังคมไทยก็คือ การให้ความหวังและกำลังใจ รวมทั้งช่วยให้สบายใจ นี้คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าหาวัดและนับถือพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามพุทธศาสนายังมีบทบาทหลักอีกประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้เลย นั่นคือ การกระตุก เขย่า และกระทุ้งจิตใจของผู้คน เพื่อให้พ้นจากความหลงและความประมาทด้วย

ในขณะที่พุทธศาสนาให้ความหวังแก่เราว่า เมื่อทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศล ก็จะประสบความสุขความเจริญ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็เตือนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความสุขความเจริญนั้นไม่เที่ยง ลาภและยศนั้นมีแล้วก็หมด มาแล้วก็ไป ความมั่งมี อำนาจ และความสำเร็จ แม้ให้ความสุขแก่เราก็จริง แต่ก็เจือไปด้วยทุกข์ ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจหากยึดติดถือมั่น เราจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ


ในขณะที่น้ำมนต์และวัตถุมงคลที่ได้จากวัดให้ความหวังว่าเราจะหายป่วยหายไข้ อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนาก็ย้ำว่า เราทุกคนหนีความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่พ้น ชีวิตที่ผาสุก ร่ำรวย พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ ในที่สุดก็จะต้องจบสิ้น มีมากมายเท่าไรก็เอาไปไม่ได้เลยแม้แต่สลึงเดียว ใช่แต่เท่านั้นขณะที่ชีวิตยังไม่สิ้น เรายังต้องพบกับความพลัดพรากสูญเสีย ไม่ว่าคนรักของรัก ล้วนอยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น

พุทธศาสนาไม่เพียงแต่บอกเราว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง หากยังย้ำอีกว่า ทุกอย่างล้วนเป็นทุกข์ คือนอกจากจะไม่คงทน ต้องเสื่อมดับไปแล้ว ยังบีบคั้นแก่ผู้ยึดถือ เป็นเสมือนของร้อนหรือคบไฟที่กำไว้ได้ไม่นานก็ต้องรีบปล่อย ใช่แต่เท่านั้น ความทุกข์ยังอยู่กับเราตลอดเวลาและรอเราอยู่ข้างหน้าด้วย “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว” คือข้อความตอนหนึ่งในบทสวดทำวัตรเช้าที่ชาวพุทธจำนวนมากคุ้นเคย

นี้คือคำสอนของพุทธศาสนาที่ตีแผ่ความจริงให้เราตระหนัก แต่เป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากฟัง เพราะสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คนที่ปรารถนาจะให้ชีวิตนี้ยั่งยืน เต็มไปด้วยความสุข อยากให้ของรักคนรักอยู่กับเราไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย ความจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่เสียดแทงหรือสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คน จนไม่อยากได้ยิน

ยิ่งกว่านั้นพุทธศาสนายังย้ำเตือนว่า ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นเป็นตัวเราของเราได้เลย แม้แต่ตัวเราหรือ “ตัวกู” ก็ไม่มีจริง เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่ว่าใครก็ตามเพียงแค่ได้ยินว่า ตัวกู ไม่เที่ยง ต้องตาย ก็ไม่สบายใจแล้ว ยิ่งพระมาบอกว่า ตัวกู ไม่มีจริง เป็นแค่มายาภาพ ก็ยิ่งรับไม่ได้

อย่างไรก็ตามการบอกและย้ำเตือนความจริงเหล่านี้ คือหน้าที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะช่วยเตือนใจไม่ให้เพลิดเพลินในความสุขอันเป็นของชั่วคราว หรือติดยึดในยศ ทรัพย์ อำนาจ จนกลายเป็นทาสของมัน และพร้อมที่จะทำชั่วเพื่อมัน จนแม้ยอมตายเพื่อมัน ใช่หรือไม่ว่าท่าทีเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของความทุกข์ที่รุมเร้าผู้คน ไม่เพียงทำให้ทุกข์ใจเท่านั้น หากยังนำไปสู่การเบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์แก่ผู้อื่น ตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงกลุ่มคน และทั่วทั้งสังคม

การปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่คนที่ถูกทุกข์รุมเร้านั้น เป็นบทบาทที่สำคัญ อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยให้เขาจมอยู่ในความทุกข์ ไร้ทางออก สิ้นหวัง จนต้องหันไปทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น แต่พุทธศาสนาหรือบุคลากรทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ ไม่ควรหยุดเพียงแค่นั้น เพราะการปลอบประโลมใจหรือให้ความหวังแก่ผู้คนนั้น เป็นการช่วยเขาเพียงชั่วคราวเท่านั้น แม้เขาจะมีเรี่ยวแรงกลับมาตั้งหลักสู้ชีวิตจนปัญหาผ่านพ้นไป อาจจะหายป่วย พ้นจากหนี้สิน หรือทำงานลุล่วง แต่ในที่สุดเขาก็ต้องประสบกับความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายในที่สุด หากเขาไม่ตระหนักถึงความจริงดังกล่าว หรือไม่เตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับความจริงเหล่านี้ ก็จะทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งเมื่อมันมาอยู่ต่อหน้า การปลอบประโลมใจจึงเป็นเสมือน "ยาระงับปวด" ที่ช่วยบรรเทาทุกข์เพียงชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้วัดและพระสงฆ์ส่วนใหญ่มุ่งปลอบประโลมใจญาติโยม พูดให้เขาสบายใจสถานเดียว นอกจากไม่ยอมบอกความจริงอันระคายหู(แต่จำเป็น)แล้ว ยังถึงขั้นตามใจหรือพะเน้าพะนอญาติโยม เช่น อวยพรให้เขา "รวยๆๆ" อย่างเดียว กลายเป็นการพะเน้าพะนอกิเลส ส่งเสริมตัณหา ซึ่งมีมากอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้น

ในฝ่ายญาติโยมก็เช่นกัน พากันมาวัดเพียงเพื่อหาความสบายใจ ไม่ใช่เพื่อคลายทุกข์เท่านั้น แต่ยังอยากได้ยินคำพูดที่ถูกใจถูกกิเลสจากพระ ครั้นพระพูดถึงความจริงของชีวิตที่กระตุกใจให้ไม่ประมาท กระทุ้งใจไม่ให้เพลิดเพลินหลงใหลในสิ่งที่เป็นมายา หรือกระแทกกิเลสไม่ให้กำเริบ กลับไม่อยากได้ยิน อุดหูสถานเดียว จำนวนไม่น้อยมาวัดเพื่อทำบุญ ครั้นได้เวลาพระแสดงธรรม ก็รีบกลับบ้านทันที

ท่าทีดังกล่าวไม่ได้เกิดกับญาติโยมที่มาวัดเพื่อทำบุญ ขอน้ำมนต์ เช่าวัตถุมงคล เท่านั้น แม้กระทั่งผู้ที่เรียกตนว่านักปฏิบัติธรรม จำนวนไม่น้อยก็เข้าวัดเพียงเพื่อความสบายใจชั่วคราว มาภาวนาเพียงเพื่อให้ใจสงบ ไม่มีเรื่องว้าวุ่นใจ แต่ไม่คิดที่จะขูดกิเลส ลดความเห็นแก่ตัว หรือขัดเกลาตนเอง ลึกๆ ก็ยังยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข แม้ครูบาอาจารย์จะพูดถึงโทษของกิเลสและความยึดติดถือมั่น ก็ไม่สนใจที่จะนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง หลายคนอยากไปหาครูบาอาจารย์ที่พูดนุ่มๆ ไปอยู่สำนักที่สบาย เลี่ยงไปหาครูบาอาจารย์ที่มุ่งขนาบลูกศิษย์

พระพุทธองค์แม้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ปรารถนาจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ อีกทั้งให้ความหวังแก่เราว่าการพ้นทุกข์นั้นเป็นไปได้ ดังที่เคยตรัสว่า ผู้ใดอาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ และความทุกข์ แต่ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่งของพระองค์ก็คือการเคี่ยวเข็ญไม่อ่อนข้อกับกิเลสของผู้คน ดังตรัสกับพระอานนท์ว่า "เราจะไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม ...เราจะขนาบแล้วขนาบอีกไม่มีหยุด”

คำสอนของพระองค์ก็เช่นกัน นอกจากด้านที่ให้ความหวังแก่ผู้คนแล้ว ยังมีอีกด้านที่คอย "ขนาบ" ผู้คน เพื่อขูดเกลากิเลส และรื้อถอนอวิชชา ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาไทยนอกจากจะมีหลวงพ่อคูณ แล้วจำเป็นต้องมีพระอย่างหลวงตามหาบัว ด้วย

เป็นชาวพุทธทั้งทีควรได้ประโยชน์สูงสุดจากพุทธศาสนา จึงไม่ควรหวังความสบายใจจากพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่ต้องพร้อมที่จะฟังความจริงที่ไม่หวานหู ไม่พะนอกิเลส แต่เขย่าใจให้ตื่น รวมทั้งกล้าที่จะเคี่ยวเข็ญตนเอง เข้าหาการปฏิบัติที่ขูดเกลากิเลส สั่นคลอนความหลง ท้าทาย(ความยึดติดใน)อัตตา พร้อมให้ครูบาอาจารย์ขนาบแล้วขนาบอีก ด้วยวิธีอย่างนี้เท่านั้นที่ความทุกข์จะลดลงจนไม่เหลืออีกต่อไป

Back to Top