๒๕๕๔ – ปีแห่งการสร้างสุข



โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2554

๑ มกราคม สวัสดีปีใหม่ เพื่อนคนไทยทุกคน

ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา โดยถ้วนหน้า

“ความสุขไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” นี้อาจจะเรียกว่าเป็นปัญญาในเบื้องต้นหรือสัมมาทิฏฐิ ความไม่รู้ทำให้เที่ยวหาซื้อความสุขกันด้วยราคาแพงๆ แล้วก็ไม่ได้ กลับได้ความทุกข์ความเดือดร้อนแทน เพราะความสุขไม่มีขาย แต่ความสุขสร้างได้ ที่ทุกคนควรสร้างเองและร่วมกันสร้าง

การสร้างสุขมี ๓ ระดับคือ

๑. ปัจเจกบุคคลสุขฉับพลัน คือความสุขที่ปัจเจกบุคคลทุกคนสร้างได้อย่างฉับพลัน โดยออกจาก “คุกที่มองไม่เห็น” (The Invisible Prison) การถูกจองจำในคุก ทำให้ขาดอิสรภาพและอยู่ในสภาพบีบคั้นหรือทุกข์ คุกที่มองไม่เห็นออกไม่ได้ด้วยการใช้พละกำลังหรืออำนาจใดๆ แต่ออกได้ด้วยการ “เห็น” การเห็นหรือจักขุกรณีก็คือปัญญา โลกแห่งมายาคติคือคุกที่มองไม่เห็น เราคิดอยู่


ในมายาคติต่างๆ เช่น ฐานะ อำนาจ เงิน รูปแบบ ความคิด-ทฤษฎี-ทิฏฐิ ทำให้ตัดขาดจาก “ความเป็นมนุษย์” ในโลกของความเป็นมนุษย์นั้นคือชีวิตและการอยู่ร่วมกัน ในธรรมชาติความเป็นจริง เมื่อความเป็นมนุษย์ได้สัมผัสกันจะเกิดความเห็นใจ (Empathy) และเกิดการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ (Altruism) ความเป็นใจและการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ ในสมองของมนุษย์มีส่วนที่ไวต่อความรู้สึกของคนอื่นจากสีหน้า แววตา ท่าทาง สุ้มเสียง การรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นทำให้เกิดความเห็นใจและการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ นี้คือความจริงของชีวิตและการอยู่ร่วมกัน

แต่ในโลกมายาคติไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น มีแต่กฎหมาย กฎ ระเบียบ อำนาจ เงิน รูปแบบ ความคิด-ทฤษฏี-ทิฏฐิ เหมือนอยู่ในทะเลทรายที่แห้งผาก เมื่อไม่มีผัสสะกับความเป็นมนุษย์ ก็แล้งน้ำใจ ถ้าหมอรักษาคนไข้แล้วเห็นแต่ “ไข้” แต่ไม่เห็น “คน” แล้วจะเป็นอย่างไร ก็ทำนองเดียวกัน

ในโลกมายาคติ รัฐคิดเชิงอำนาจ ธุรกิจคิดเชิงกำไร การศึกษาคิดเชิงความรู้ ไม่ได้คิดเชิงการอยู่ร่วมกัน มีแต่ในครอบครัวและในชุมชนเท่านั้นที่คิดเชิงอยู่ร่วมกัน ในครอบครัวไม่คิดเชิงกำไรขาดทุน ไม่คิดเชิงใครฉลาดกว่าใคร ไม่เคยคิดเชิงทอดทิ้งตัดรอน หรือวิหิงสาพยาบาท เพราะคิดเชิงการอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันคือศีลธรรม ในโลกมายาคติจึงไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม เพราะไม่คิดเชิงการอยู่ร่วมกัน ในโลกมายาคติถึงมีการสอนศีลธรรมเท่าใดๆ ศีลธรรมก็ไม่เกิด เพราะไปเอาศีลธรรมเป็นวิชา ศีลธรรมไม่ใช่วิชาแต่เป็นวิถีชีวิตร่วมกัน ชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การทำอะไรๆ ถ้าไม่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งก็จะพลาดเสมอ เช่นการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง หรือการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง

โลกมายาคติก็คือโมหภูมิหรือภูมิที่หลงไป ภูมิแห่งอวิชชา เมื่อมนุษย์ติดอยู่ในโลกมายาคติหรือโมหภูมิก็เกิดความบีบคั้น ทั้งบีบคั้นตัวเองและบีบคั้นซึ่งกันและกัน เกิดความโหดร้ายและรุนแรงนานัปการ เป็นวิกฤตการณ์แห่งยุคสมัย

เราถูกโลกมายาคติครอบงำจนศักดิ์ศรีและศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ตกต่ำลง แท้ที่จริงมนุษย์มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนและศักยภาพในตัวเอง ถ้าเรารู้เท่าทัน “คุกที่มองไม่เห็น” ที่กักขังเราไว้ในโลกแห่งมายาคติ แล้วเกิดสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เราจะหลุดไปสู่อิสรภาพ พ้นจากความบีบคั้นจากความไม่จริง ความเป็นอิสระจะทำให้เกิดความสุขทั้งเนื้อทั้งตัวอย่างฉับพลันทันที ทุกคนสามารถทดลองความจริงนี้กับตัวเอง โดยสลัดใจออกจากมายาคติ สำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของตัวเราเองและของคนอื่น จิตสำนึกใหม่จะพาให้พบความสุขและความสร้างสรรค์มหาศาล จิตใจใหม่จะประสบความงามและความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด อันจักเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม นี้คือความสุขฉับพลันที่แต่ละคนสร้างได้

๒. ความสุขจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน ในโลกแห่งมายาคติที่ถืออำนาจ เงิน และความรู้เป็นใหญ่ ผู้คนจะสัมพันธ์กันเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความบีบคั้นและพฤติกรรมทางลบต่างๆ นานา คนทั้งหลายติดอยู่ในโครงสร้างอำนาจทางดิ่งที่บีบคั้นจึงไม่มีความสุข การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างเท่าเทียมกันเป็นโครงสร้างใหม่ เป็นโครงสร้างทางราบ ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเสมอกัน มีความเสมอภาค จึงรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความสมัครใจ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ มีการลดความเห็นแก่ตัวไปในตัว เกิดความเป็นชุมชน หรือความเข้มแข็งทางสังคม มีศักยภาพที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ง่าย มีองค์กรจัดการขึ้นที่เรียกโดยรวมๆ ว่า องค์กรชุมชน เมื่อมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำหรือความเป็นชุมชนเกิดขึ้น ผู้เข้าร่วมจึงมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความไม่เสมอภาคและไม่มีศักดิ์ศรี และมีศักยภาพของความสำเร็จสูงเพราะเกิดพลังร่วม (Synergy) และเกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom)

จึงควรมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างหลากหลายในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ในกระบวนการนี้สังคมจะเปลี่ยนโครงสร้างจากสังคมทางดิ่งเป็นสังคมทางราบ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี ตราบใดที่ยังเป็นสังคมทางดิ่ง ต่อให้พยายามอย่างใดๆ เศรษฐกิจก็จะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี จะมีความขัดแย้งรุนแรงเรื่อยไป คนไทยเมื่อรู้แล้วพึงรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ องค์กรต่างๆ เมื่อรู้แล้วพึงส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำให้เกิดขึ้นเต็มสังคม เมื่อสังคมปรับตัวเป็นทางราบหรือประชาสังคม (Civil Society) ความสุขความสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้ง่าย โลกอนาคตเป็นโลกแห่งความเป็นชุมชนหรือชุมชนาภิวัฒน์ ทุกคนควรสร้างสุขจากการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันอย่างถ้วนหน้า

๓. ความสุขระดับโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ เช่น โครงสร้างของเรือทำให้มันลอยน้ำได้ โครงสร้างของรถทำให้มันวิ่งไปได้ โครงสร้างของเครื่องบินทำให้มันบินได้ ในสังคมก็มีโครงสร้างที่กำหนดคุณสมบัติของสังคม เช่น โครงสร้างการปกครอง โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น ถ้าโครงสร้างไม่เป็นธรรมก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างแรง ความไม่เป็นธรรมทางสังคมทำให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้ยาก แต่จะเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงหาความสงบไม่ได้ เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมีผู้เข้าใจน้อยและเป็นเรื่องแก้ไขได้ยาก ปัญหาเชิงโครงสร้างจะเหมือนเข่งที่กักขังไก่ไว้ ทั้งๆ ที่จะถูกนำไปเชือดตายหมด แต่ไก่ในเข่งก็จะจิกตีกันร่ำไป เพราะเข่งคับแคบทำให้ไก่กระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าจะจิกตีกันเท่าไรๆ ก็ออกจากเข่งไม่ได้ เพราะเข่งเป็นโครงสร้างที่แน่นหนาที่กักขังไก่ไว้ นอกจากไก่จะหยุดตีกันแล้วรวมตัวบินออกจากเข่ง

คนไทยก็เช่นเดียวกัน จะจิกตีกันจนตายเท่าไรๆ ก็ออกจากโครงสร้างที่บีบคั้นไม่ได้ จึงควรหยุดจิกตีกัน แล้วรวมตัวทำความเข้าใจเข่งหรือโครงสร้าง ว่าโครงสร้างอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมที่ทำให้คนไทยต้องมาขัดแย้งถึงฆ่ากันตาย โครงสร้างอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คืออำนาจรัฐรวมศูนย์ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ คอร์รัปชั่นมาก ทำให้เกิดรัฐประหารง่าย เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้เกิดความรุนแรง เช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองให้ได้มากที่สุด

ต้องมีคนจำนวนหนึ่งศึกษาให้เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วนำความเข้าใจนั้นมาสู่การรับรู้ของสาธารณะอย่างกว้างขวาง เมื่อประชาชนจำนวนมากเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างและรู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร พลังทางสังคมที่ติดอาวุธด้วยปัญญาจะเป็นปัจจัยให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ลำพังอำนาจรัฐและอำนาจเงินไม่สามารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนและยากได้ พลังทางสังคมที่ติดอาวุธด้วยปัญญา ใช้สันติวิธีและมีการสื่อสารถึงกันโดยทั่วถึง คือพลังอำนาจที่ ๓

เราคุ้นเคยอยู่กับพลังอำนาจ ๒ อย่าง คือ หนึ่ง พลังอำนาจรัฐ และสอง พลังอำนาจเงิน พลังอำนาจ ๒ อย่างนี้มีอยู่เป็นปรกติวิสัยในทุกสังคม พลังอำนาจ ๒ อย่างนี้ ใช้ได้ผลในเรื่องง่ายๆ และตรงไปตรงมา แต่สำหรับเรื่องที่ยากและสลับซับซ้อน ลำพังอำนาจทั้งสองใช้ไม่ได้ผล ต้องใช้พลังอำนาจที่ ๓ คือพลังอำนาจสังคมดังกล่าวข้างต้น

การสร้างสุขทั้ง ๓ ระดับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันและกัน ความสุขส่วนบุคคลอันเกิดจากจิตสำนึกใหม่ เป็นความสุขอันประณีตและลึก ทำให้เปลี่ยนโลกทรรศน์และวิธีคิด อันเป็นไปเพื่อความเห็นใจและอยากทำเพื่อผู้อื่น ทำให้อยากเคลื่อนไปสู่ข้อที่ ๒ และ ๓ การแก้ไขโครงสร้างให้เป็นธรรมจะเหมือนยานใหญ่ที่ช่วยให้การสร้างสุขในระดับ ๑ และระดับ ๒ เกิดง่ายขึ้นสำหรับคนทั้งมวล คนทั้งมวลเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ถ้าคนทั้งมวลมีความทุกข์ การจะมีความสุขโดยเอกเทศเป็นเรื่องยาก การมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์จะนำไปสู่ความสุขร่วมกัน ความเมตตากรุณาจะเป็นจุดเริ่มต้นของความดีงามและความสุข

ขอให้ปี ๒๕๕๔ เป็นปีแห่งความสุขทั้ง ๓ ระดับ ต้องลองดูเองแล้วจะรู้ว่าความสุขสร้างได้จริง ขอให้เพื่อนคนไทยพบความสุขและศานติสุขโดยทั่วกัน

Back to Top