ถ้าจักรวาลเป็นอย่างนี้จริง - จิตวิวัฒน์ไหม?

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2548

ต้นปี ๒๕๔๘ ที่กำลังจะหมดลงไปอีกไม่นานนี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ แต่คิดเอาเองว่า มันมีหลายประเด็นที่น่าจะเอามาปรับลงใน มติชน อีกครั้ง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีนักวิชาการหรือปัญญาชนคนชั้นกลางส่วนมากอ่านเป็นประจำ และคงมีผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ หรือ “จิตวิวัฒน์” ที่ยังไม่ได้อ่านหรือคิดในเรื่องนี้ อาจสนใจที่จะติดตามหรือสานต่อ จึงนำบางส่วนมาลงใหม่

ผู้เขียนเชื่อบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนว่า มนุษย์เราทุกคน – ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว – พยายามค้นหาเพื่อเรียนรู้คำตอบหรือ “ความจริง” ของจักรวาล และของโลก สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราที่อาจเรียกว่าธรรมชาติเฉยๆ ก็ได้ ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร และพร้อมๆ กัน เราก็พยายามค้นหา “ความหมาย” ของชีวิตเราแต่ละคนโดยปัจเจกและของสังคมด้วย (จิตกับจิตวิญญาณ) นั่นคือสามคำถามที่ พอล โกแก็ง เอามาตั้งขึ้นโดยรูปภาพ (เรามาจากไหน? มาอยู่ที่นี่ทำไม? และเราจะไปไหน?) ซึ่งโดยหลักฐาน (Proceeding of Tuson Conference on Toward Science of Consciousness, ๑๙๖๖) ที่อาจสรุปได้มีดังนี้

หนึ่ง ความพยายามค้นหาหรือความขี้สงสัยใคร่รู้ของมนุษย์เรา (ต่อความจริงและความหมาย) นั้นเป็นเนื้อแกนใน (qualia) ที่ติดตัวมากับชีวิตและมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่ต้น

สอง ความสงสัยใคร่รู้นั้นเอง ทำให้เราผลิตสร้างตรรกะและเหตุผลขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และอยู่ด้วยกัน

สาม ด้วยตรรกะและเหตุผล เราก็สร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นมาและคิดว่าวิทยาศาสตร์ที่ได้มานั้นให้คำตอบ (ความจริง) แก่เราหมดแล้ว เราจึงนำมาเป็นพื้นฐานของระบบทุกระบบของสังคมที่ควบคุมการดำรงอยู่ของเรา

ด้วยข้อสรุปเช่นนั้น กับอัตตาอหังการ์ของปัจเจก เราจึงติดบ่วง (วิทยาศาสตร์) โดยไม่รู้ตัว และนำองค์ความรู้นั้นมาผลิตสร้างเทคโนโลยีทำลายล้างธรรมชาติ โดยลืมเรื่องของความหมายไปแทบทั้งหมด

ผลของการทำลายล้างธรรมชาติ – ในเวลาไม่นานนัก – ค่อยๆ ก่อปัญหาและวิกฤตให้กับเราในทุกๆ ด้าน และภัยพิบัติเหล่านั้นเองที่ทำให้นักคิดหลายคนคิดว่า เราและสังคมของเรา (อารยธรรมที่ได้มาจากความจริงหรือวิทยาศาสตร์) อาจจะล่มสลายไปทั้งหมดก็ได้ ซึ่งนักคิดบางคนและผู้เขียนเองก็เชื่อ (บนบางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์) ว่า ช่วงเวลานี้จนถึงปี ๒๐๑๒ คือช่วงอันตรายที่ภัยธรรมชาตินานัปการจะทยอยกันเข้ามา แต่นั่นจะกระตุ้นเร้าให้เรารู้ตัวกระทั่งเตือนขึ้นมาได้ โดยส่วนหนึ่งของเราจะอยู่รอด จากนั้น หลังปี ๒๐๑๓ เป็นต้นไป ผู้เขียนเชื่อว่าคือ ช่วงเวลาของความหมายหรือจิตวิวัฒนาการของมนุษย์เราโดยเผ่าพันธุ์

บทความที่ปรับแปรมานี้ ต้องการชี้ให้ผู้อ่านคิดตามไปว่า มันมีหนทางที่เราหลุดออกจากบ่วงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ หลุดจาก “ความจริง” ที่ไม่สมบูรณ์อย่างยิ่งนั้นได้อย่างไร เราจะต้องขึ้นมาจากหลุมดำหรือหุบเหวแห่งอวิชชาความเป็นสองที่ให้หลักการแยกส่วนให้ได้ แล้วหันไปหาความหมายมาเป็นประทีปนำชีวิต และเป็นโครงสร้างของสังคมแทน ซึ่งเราจะทำได้ต่อเมื่อเราสามารถย้อนกลับไปหาที่มาปฐมของมนุษย์เรา ที่เป็นที่มาขององค์ความรู้ของความจริงจอมปลอม คือรากเหง้าของวิทยาศาสตร์กายภาพ และค้นพบองค์ความรู้ที่แท้จริง ต้นตอที่มาของจักรวาลหรือจักรวาลวิทยาที่ให้ความสงสัยใคร่รู้แก่เรามาแต่ต้น

จักรวาลวิทยาคือ องค์ความรู้อันดับแรกสุดของทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ประสบการณ์แก่เรา รวมทั้งให้ที่มาของชีวิตและมนุษย์กับการดำรงอยู่ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำที่เราคิด มีที่ว่างและเวลา (Space-time) เป็นเวที ขณะเดียวกัน จักรวาลวิทยาคือต้นตอปฐมภูมิขององค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกๆ สาขา ที่ให้อารยธรรมความเป็น “สมัยใหม่” แก่มนุษยชาติตลอดเวลากว่า ๓๐๐ ปีมานี้ น่าเสียดายและน่าเสียใจที่ความรู้ความเข้าใจของเราให้เรื่องนี้ - จักรวาลวิทยา - ได้เถลเฉไฉไถลออกไปนอกลู่นอกทาง ทำให้เราผลิตสร้างองค์ความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติผิดทางไปด้วย อารยธรรมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาจึงมีอายุสั้นยิ่งนัก เราและสังคมของเรากำลังเดินเข้าไปหาความล่มสลายมากขึ้นและเร็วขึ้น เรามีเวลาน้อยเพียงไม่ถึงทศวรรษที่จะแก้ไของค์ความรู้ที่เถลเฉไฉไปนอกทางนั้น เรามีเวลาน้อยที่จะตื่นและเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราตื่นได้ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามาผิดทางและสามารถแก้ไขให้มันถูกต้องได้ คือเราต้องลอกคราบลอกความรู้ที่เราเรียนรู้มาผิดๆ ออกไปเสีย เอาวิทยาศาสตร์กายภาพโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ได้มาจากนั้นพร้อมกับระบบสังคมที่เฉไฉทั้งแผงทิ้งไปเสีย แล้วหันมาหาวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มีจักรวาลวิทยาใหม่เป็นหัวหอก

และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ จักรวาลวิทยาใหม่ (ในส่วนที่สำคัญบางส่วน) กลับไปมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดึกดำบรรพ์ ตำนานปรัมปรา (mythology) ที่ดำรงอยู่คู่กันมากับความหมาย ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันๆ ปี ก่อนจะมีวิทยาศาสตร์ ตำนานดึกดำบรรพ์หลายอย่าง โดยการสรุปย่อข้อมูลของจักรวาลวิทยาใหม่ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ จากหนังสือที่ประหนึ่งเป็นตำรา (text) ทางจักรวาลวิทยาสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สองเล่ม เล่มแรก บีบีซีเวิลด์เอามาออกอากาศเมื่อหลายเดือนก่อน (Michio Kaku: Parallel Worlds; ๒๐๐๔) ที่ได้ข้อมูลมาจากดาวเทียม *COBE (๑๙๙๒) และกล้องดูดาว ฮับเบิล (Hubble) โดยเฉพาะจากดาวเทียม WMAP (๒๐๐๒) อีกที กับหนังสือของแม็ทธิว ริคาร์ด กับ ตริน ซวน ทวน (Matteu Ricard and Trinh Xuan Thuan : The Quantum and the Lotus, ๒๐๐๐) ว่าด้วยจักรวาลกับนิพพาน

มิชิโอะ กากุ ที่เป็นนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ระดับนำของโลกนั้น เคยเขย่ารากฐานของจักรวาลวิทยามาแล้วหลายครั้ง ในตอนแรกนักฟิสิกส์ด้วยกันยังรับไม่ได้ กระทั่งไม่ถึงทศวรรษมานี้เองจึงได้รับการยอมรับกันแทบเป็นเอกฉันท์ นั่นคือการคาดการณ์ทางจักรวาลวิทยาบางประการที่มีข้อพิสูจน์บนสมการคณิตศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีใยมหัศจรรย์ และทฤษฎีแมทริกซ์ (String theory / M-theory) และควอนตัม เมคานิกส์ รวมทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่า จักรวาลมีมิติหลากหลายที่สสารดำรงอยู่ด้วยพลังงานที่ให้ความถี่ของการสั่นสะเทือน (vibration) ของแต่ละมิติแตกต่างกันไป และแตกต่างจากจักรวาลที่มีสี่มิติของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้โดยอาศัยทฤษฎีสตริง และทฤษฎีอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้ว พบว่าอย่างน้อยมี ๑๑ มิติ และมิชิโอะบอกว่ามิติที่ ๑๑ เป็นมิติของสภาวะนิพพาน (nirvarna) คราวนี้ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่าจริงแล้วจักรวาลไม่ได้มีแต่จักรวาลของเราอันเดียว แต่มีมากมาย (multi universes) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยแต่ละจักรวาลจะมีลักษณะเหมือนฟองของเหลวที่ยุบๆ พองๆ หรือให้ฟองขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา มิชิโอะบอกว่าจักรวาลถัดไปอาจอยู่ห่างออกไปเพียงหนึ่งมิลลิเมตรจากผิว (brane) ของจักรวาลเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะมันอยู่เหนือมิติ (สี่มิติ) ของเรา อย่างไรก็ตาม มิชิโอะ กากุ ยังบอกว่าทุกวันนี้นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การเกิดใหม่ของจักรวาลนั้น มีศักยภาพความเป็นไปได้หลายทาง ทางหนึ่งที่จักรวาล(สี่มิติ เช่น จักรวาลของเรา) จะเกิดใหม่หลังจากหนึ่งล้านล้านปีจากวันนี้ จักรวาลของเราจะสิ้นสุดลงด้วยความเย็นยะเยือก (big freeze) ไร้พลังงาน แต่ขณะเดียวกันพลังงานมืด (dark energy) ที่ได้จากการยุบตัวเองลงมาของสสารมืด (dark matter) จะรวมเป็นหลุมดำที่จะต่อเนื่องกับหลุมขาวที่จะให้บิ๊ก แบ็งใหม่ต่อไป หรืออีกเส้นทางหนึ่ง หลุมดำที่อยู่ใจกลางของทุกๆ แกแล็คซี่จะรวมเข้าด้วยกัน ทำให้จักรวาลหดตัวลงมา (big crunch) กลายเป็นหลุมขาว (ทั้งหลุมดำและหลุมขาวจะอยู่ในสภาพความว่างเปล่าทางควอนตัม (quantum vacuum) ที่จะให้การไหวสั่นทางควอนตัม (quantum fluctuation) ความไหวสั่นที่จะให้สสารที่แท้จริงจากอนุภาคเทียม (matter arising form virtual particles as Casimir effect)

ทั้งหมดอาจเข้าใจยากสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า จักรวาลเป็นเหมือนฟองน้ำฟองอากาศที่มีจำนวนไม่สิ้นสุด ที่อาจอยู่ติดชิดกับจักรวาลของเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะอยู่ในมิติมากกว่าเรา มิติที่ไล่สูงขึ้นไปจนถึงมิติที่ ๑๑ อันเป็นมิติแห่งนิพพาน จักรวาลแต่ละจักรวาลจะ “ยุบๆ พองๆ ” ยุบด้วยหลุมดำ ยุบแล้วก็ระเบิดเป็นจักรวาลใหม่ด้วยหลุมขาว ที่มีช่วงระหว่างสองจักรวาลเป็นความว่างเปล่า

อ่านหนังสือของมิชิโอะ กากุ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงยานบิน (UFO) ที่ จอห์น แม็ต จิตแพทย์จากฮาร์วาร์ด ที่เพิ่งตายไปบอกว่า ยานบินไม่ใช่มาจากต่างดาวแต่มาจากต่างมิติที่สามารถควบคุมหรือใช้จิตนำทางก็อาจปรากฏให้เห็นในสี่มิติโลกได้ (Abduction, ๑๙๙๕) ขณะเดียวกันก็อดคิดถึงชั้นต่างๆ ของสวรรค์ไม่ได้ ดังข้อสรุปที่บอกว่าสวรรค์กับเทวดาก็คือผู้มาเยือนจากนอกโลก (Eric von Danicken: Chariots of the Gods, ๑๙๗๐)

ศาสนาพุทธเองพูดถึงจักรวาลที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการตั้งต้นจึงไม่มีการดับสูญไป (อนามัตโก ยามัง สังสาโร บัพโคติ นะ ปัญญายาติ) จักรวาลที่เราอยู่นี้ มี ๓ ลักษณะ คือ มหาโลกธาตุที่ประกอบด้วยกลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก นั่นเทียบได้กับจักรวาลทั้งหมดที่มีกลุ่มกาแล็คซี่จำนวนมาก สองมัชฌิมโลกธาตุ ที่ประกอบด้วยโลกจำนวนมาก ที่เทียบได้กับกาแล็คซี่ทางช้างเผือกที่มีดาวหรือดวงอาทิตย์มากมาย และสามจุลโลกธาตุที่หมายถึงระบบสุริยะ และโลกมนุษย์ กับดาวเคราะห์อื่นๆ มหายานพุทธศาสนาบอกว่า จักรวาลที่เราเห็นและให้โลกที่เราอยู่ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นความจริงสัมพัทธ์เท่านั้น จริงๆ แล้วจักรวาลปรากฏการณ์แยกจากจิตไม่ได้ ทั้งสองอยู่คู่กันและต่างเสริมเติมกันด้วยพลังงานหรือแรงแห่งกรรม แม็ทธิว ริคาร์ด ที่ได้อ้างข้างบนนั้น คือ เจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่งที่อินเดียตอนเหนือ ได้สรุปรายละเอียดของจักรวาลในพุทธศาสนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ แม็ทธิว ริคาร์ด ก่อนบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับผู้บริหารของสถาบันปาสเจ้อร์ (Pasteur Institute) กรุงปารีส ที่มี จาค็อบ โจซัว นักชีววิทยารางวัลโนเบลเป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น ต่อไปนี้ คือใจความว่าด้วยจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาที่ใคร่นำมาเปรียบเทียบกับจักรวาลวิทยาใหม่ที่ผู้เขียนเอามาจาก มิชิโอะ กากุ อ้างไว้ข้างต้น

“ว่าด้วยความจริงสัมพัทธภาพ จักรวาลของเราเกิดจากการรวมตัวกันของธรรมธาตุ (ไม่ใช่สสารโดยนิยาม แต่หมายถึง ศักยภาพของการเป็นสสาร) โผล่ปรากฏ ออกมาจากอวกาศ (Space) อวกาศที่ว่างเปล่า (สุญตา หรือ void) เท่าๆ กับเป็นความเต็ม ในตอนแรกที่ปรากฏออกมา เป็นรังสีที่มีห้าสี ที่ต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสสาร หรือธาตุทั้งห้า (ธาตุของโลกสี่ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กับอากาศธาตุที่ไม่ใช่ธาตุของโลกที่ต่อมาประกอบเป็นชีวิต ได้แก่ อากาศธาตุและวิญญาณธาตุ – ธาตุ ๖ ของเถรวาท)ในพุทธศาสนานั้น จักรวาลไม่ใช่มีเพียงหนึ่งหรืออยู่ตามลำพัง (independent) แต่มีจำนวนไม่มีสิ้นสุด ที่ต่างก็พึ่งพาหรือเป็นเหตุปัจจัยกันเป็นวัฏจักร (cyclical หมุนวนเวียน แต่ไม่ทับซ้ำรอยเดิม) ในทางพุทธศาสนาวัฏจักรของจักรวาลหนึ่งๆ จบลงด้วยไฟบัลลัยกัลป์ ๗ ครั้ง แล้วทุกสิ่งทั้งหมดก็ถูกดูดหายไปในความว่างเปล่า ความว่างเปล่าที่เชื่อมต่อระหว่างจักรวาลเก่ากับจักรวาลใหม่”

Back to Top