ก็รู้กันอยู่!!



โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548

พวกเราล้วนมีทางเลือก
เราอาจเลือกที่จะอยู่บ้านบนดาวโลกดวงนี้
เรียนรู้กฎเกณฑ์กติกา ซึ้งซาบความเปราะบางและความงามแห่งโลก
แบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยกับมนุษย์และสรรพสัตว์อื่น
เราไม่จำเป็นต้องเลือกทำเช่นนั้นก็ได้ แต่เราคงไม่อาจกล่าวว่า

“ถ้าพวกเราได้รู้ก่อน”

เรารู้กันแล้ว

แซลลี แม็คฟากิว



ในเชิงจิตวิทยานั้น หากคนคนหนึ่งไม่ยอมรับว่าพวกเขามีปัญหา หรือไม่ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ อาการนี้เรียกได้ว่าเข้าข่าย “ปฏิเสธ” อาทิเช่น คนติดเหล้าหรือคนติดยาจะปฏิเสธทันทีที่มีคนบอกว่าพวกเขามีปัญหา บางครั้ง พวกฆาตกรก็ปฏิเสธว่าตนเองได้ก่ออาชญากรรม พวกเราย่อมนึกถึงตัวอย่างทำนองนี้ได้อีกมาก สิ่งที่ยอมรับได้ยากยิ่งกว่าก็คือ ในบางครั้ง พวกเราส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธด้วยอาการทำนองนี้

ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประชาชนมักจะถูกถามว่า ปัญหาสำคัญลำดับแรกที่อยากจะให้ท่านผู้ว่าราชการกทม. แก้ไข คืออะไร คำตอบก็เป็นอย่างเดิม ๆ – ปัญหาจราจร แล้วถ้าคุณซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่อยู่ในภาวะปฏิเสธ หนทางในการแก้ไขปัญหาย่อมหมายถึง การเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างน้อยก็สองสามวันในแต่ละสัปดาห์ล่ะ การหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน การย้ายสำนักงานออกไปนอกเมือง การย้ายผู้คนออกไปจากตัวเมือง ไม่ใช่ฉัน! ไม่ใช่ครอบครัวฉัน! ก็รู้กันอยู่!

ปริมาณน้ำมันและแกสโซลีนที่เหลืออยู่ในโลกปัจจุบันนี้มีอยู่ค่อนข้างจำกัด และกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการใช้น้ำมันและแกสโซลีนกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเหตุนี้เอง ราคาน้ำมันและแกสโซลีนจึงสูงขึ้นและจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ราคาแกสโซลีนในประเทศไทยก็ย่อมไม่ลดลง แล้วรัฐบาลของคุณ หรือรัฐบาลของที่อื่นๆ ในโลก ได้เตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้กันอย่างไร? คุณทำอะไรล่ะ? กำลังปฏิเสธหรือเปล่า? ก็รู้กันอยู่!

ดาวโลกดวงนี้มีมนุษย์อยู่ล้นเกินกว่าจะรักษาภาวะความยั่งยืนไว้ได้ พวกเราต่างทำร้ายสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังช่วยแพร่กระจายเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่ที่บ่อนทำลายภูมิคุ้มกันโรคในตัว – ทั้งเอดส์เอย ซาร์สเอย ไข้หวัดนกเอย โรคดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดเอย ฯลฯ “หากมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าโลกจะเจริญสักแค่ไหน ก็ย่อมจบเห่ ผมรู้ว่าภาวะนั้นกำลังจะมาเยือน” ดร. กวน ยี ผู้ชำนาญการด้านไวรัส แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้แสดงความเห็นไว้ขณะที่ไข้หวัดนกกำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง (นิตยสาร ไทม์ ฉบับประจำวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๕) พวกเราเตรียมตัวพร้อมหรือยัง?หรือว่ายังคงปฏิเสธ? ก็รู้กันอยู่!

บัดนี้ สหรัฐอเมริกากำลังประสบกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากพายุเฮอริเคนแคทรินา และในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ เฮอริเคนอีกลูก (ริตา) ก็กำลังเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่เดียวกัน นำความทุกข์เดือดร้อนสู่ผู้คนนับล้าน ขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลอเมริกาก็ยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนกับพายุโซนร้อน อย่าเพิ่งยิ้ม! ที่เชียงใหม่นี่ ที่ที่ผมอาศัยอยู่นี่ ปีนี้เกิดน้ำท่วมสองหนแล้ว ผู้คนก็ยังคงตัดไม้ทำลายป่า สร้างเมืองคอนกรีต รถยนต์ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ คุณกับรัฐบาลทำอะไรกันบ้างเพื่อลดมลพิษทางอากาศและปกป้องภาวะโลกร้อน? ไม่เลย! ไม่มีอะไรเลย! ไม่ใช่เรื่องของคุณ – คอยดูต่อไปก็แล้วกัน ปฏิเสธหรือเปล่า? แน่ล่ะ ก็รู้กันอยู่!

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มที่คุณกับผม

“ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรด้วยการต่อสู้หักหาญกับสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน ในการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง จำต้องสร้างสิ่งใหม่ที่ทำให้สิ่งเดิมจางหายไป”
อาร์ บัคมินิสเตอร์ ฟุลเลอร์


เราจะทำได้อย่างไร?
ก็เริ่มกันเลยไง!

“มนุษยชาติเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ที่พวกเราเรียกว่า “จักรวาล” ส่วนเสี้ยวนั้นถูกจำกัดด้วยกาลและอวกาศ เรารับรู้ตัวตน ความคิดและความรู้สึก เป็นดังบางสิ่งบางอย่างแยกตัวออกจากส่วนที่เหลือ – ซึ่งก็คือมายาการหนึ่งของจิตสำนึกนั่นเอง มายาการนี้เป็นดังที่คุมขังซึ่งขีดวงจำกัดเราไว้แต่เพียงความต้องการส่วนตัวและความพึงใจของผู้คนรอบข้างเพียงสองสามคน หน้าที่ของเราคือการปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการนี้ ด้วยการขยายขอบเขตแห่งความกรุณาให้ครอบคลุมไปถึงสรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์


สำหรับผม – ฝรั่งคนหนึ่ง – ถ้อยคำเหล่านี้คล้ายคลึงกับสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เมื่อ ๒๕๐๐ ปีที่แล้ว ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน มีสักกี่คนที่ปฏิบัติเมตตาภาวนาเพื่อ “สรรพชีวิตทั้งปวง ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ” จะปฏิเสธหรือไม่ล่ะ? ก็รู้กันอยู่!

Back to Top