จงหาความสุขให้แก่ชีวิตเมื่อคุณยังพอหาได้



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2551

นั่นเป็นหัวข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์การ์เดียน ฉบับวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ของอังกฤษ ที่ผู้เขียนนำมาแปลเป็นไทยอย่างตรงตัว (enjoy life while you can) เป็นคำสัมภาษณ์ของนักชีวเคมีชื่อก้องโลก เจมส์ ลัฟล็อค โดย เด็กก้า ไอเก็นเฮด เจมส์ ลัฟล็อค วัย ๘๘ ปี เจ้าของทฤษฎี “ไกย่า” (Gaia) หรือ โลกอันมีชีวิตจากการจัดการและควบคุมตนเอง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนมาก ลัฟล็อคที่มีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ทันสมัยเป็นของตัวเอง และเป็นทั้งนักเขียน นักอนาคตศาสตร์ที่ทำนายเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๐ ร่วมครึ่งศตวรรษมาแล้ว ที่สำคัญเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับกันว่า มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของประเทศอังกฤษ โดยสรุป เจมส์ ลัฟล็อค บอกว่า ความพินาศหายนะของโลกมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การหาพลังงานทดแทนน้ำมันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ การกำจัดคาร์บอนให้ลดลงไปไม่ว่าวิธีไหนเป็นเรื่องตลก และการอยู่อย่างมีจริยธรรมเป็นเรื่องที่พูดเล่นๆ กันเท่านั้น

ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่ เจมส์ ลัฟล็อค พูด และหนังสือพิมพ์การ์เดียนเอามาเป็นหัวข่าวและผู้เขียนเอามาเป็นชื่อของบทความนี้ คงจะไม่มีใครทำและทำไม่ได้ เพราะเราจะหาความสุขสนุกสนานทั้งที่รู้ว่าลูกหลานจะต้องลำบากได้อย่างไร?

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดเนื้อหาอันเป็นประเด็นของโลกร้อน ซึ่งผู้เขียนสนใจและติดตามข่าวคราวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและจริงจังถึงร่วมยี่สิบปี ดังที่ได้พูดได้เขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ “ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์และเทคโนโลยี” เพื่อความสุขหรือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มพูดเริ่มเขียนใหม่ๆ ซึ่งแท้จริงแล้ว ในทุกวันนี้ เรื่องของโลกร้อนที่จะเป็นเหตุแห่งภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมโลก ภัยแล้ง และความล่มสลายทางการเกษตร ฯลฯ นั้น ผู้เขียนไม่ค่อยอยากจะพูดจะเขียนต่อไปเท่าไรนัก ด้วยสาเหตุสองประการ คือ

หนึ่ง ผู้เขียนได้พูดได้เขียนเตือนชาวโลกและชาวไทยในเรื่องนี้มามากและยาวนานร่วมยี่สิบปี ก่อนหน้าที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก และหมอประเวศ วะสี จะเชิญไปประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงกลางปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งผู้เขียนได้พูดโต้แย้งอย่างค่อนข้างมากจนหลายคนที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนพูดไม่ค่อยพอใจ และคงเสียใจที่เชิญผู้เขียนมาร่วมสัมนาด้วย แต่การพูดและเขียนเรื่องดินน้ำป่าอากาศของผู้เขียนในช่วงร่วมยี่สิบปีมานั้น แทบว่าจะไม่มีใครเชื่อ ใครอ่าน ใครฟัง และเปลี่ยนแปลงเลย นอกจากผู้ที่เชื่อจริงๆ เพียงไม่กี่คน (เหมือนกับการพูดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และที่อื่นๆ ซึ่งแน่นอน ผู้ฟังหรืออ่านเพียงครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้ง โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่และเชื่อมั่นในหลักการแยกส่วนและกายวัตถุนิยม) เพราะที่เขียนและพูดโดยมาก มักจะเป็นเรื่องของจิตก่อนรู้หรือจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness)

ประการที่สอง เรื่องโลกร้อนในตอนนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไปรวมทั้งสื่อจำนวนมาก ทำให้มีนักวิชาการออกมาเขียนเรื่องสภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติกันอย่างเป็นกิจลักษณะและเป็นวิทยาศาสตร์เหนือกว่าผู้เขียนมากนัก ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีนักวิชาการผู้ใด ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ที่ให้ความเห็นกระจ่างพอที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหรือบรรเทาปัญหาวิกฤตโลกได้ หลายๆ แห่งต้องเรียกว่าอยู่ในสภาพใกล้ๆ กับอนาธิปไตย (Anarchy) เหมือนกับว่าจะให้มนุษย์เรานั่งคอยนอนคอยให้วันนั้นมาถึง หรือหวังว่าพลังงานทดแทนจะมาได้ทันเวลา และแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ขอย้ำที่นี่อีกครั้งว่า ไม่มีอะไรจะมาทดแทนน้ำมันซากฟอสซิลคาร์บอนได้หรอกในสังคมนิยมวัตถุและนิยมกายนี้ สังคม “คุณภาพที่ดีกว่า” ที่เราเลือกของเราเอง เมื่อเราเลือกแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขียน แม้ว่าบางคนจะเห็นว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ผู้เขียนยังได้ให้แนวทางแก้ไขไว้ตลอดเวลาร่วมยี่สิบปีที่เขียนมา เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ทำ อาจเป็นเพราะว่าทำไม่ได้ หรือไม่เคยทำ จึงไม่รู้ว่าทำอย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนบอกว่าการแก้ไขวิกฤตทั้งหลายให้ได้นั้น อย่าไปหาทางแก้ไขด้วยกาย ด้วยวัตถุ และเทคโนโลยีแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรีไซเคิล ปลูกป่า (ทั้งๆ ที่มีการตัดป่ามากกว่า) หรือการค้นหาพลังงานทดแทนในทุกๆ รูปแบบที่พยายามกันอยู่เลย เสียเวลาเปล่าๆ เพราะมันสายเกินไปมากแล้ว การแก้ไขที่พอจะทำใด้ ต้องแก้ไขด้วยจิต จิตเท่านั้น ทั้งไม่ใช่จิตรู้ด้วย และต้องเร็วๆ ด้วย ดังที่นักคิดนักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ของตะวันตกจำนวนมาก (รวมทั้ง เจมส์ ลัฟล็อค ที่ตอนหนุ่มเป็นสังคมนิยมและสนใจการเมือง) บอก ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปในตอนท้ายของสรุปความคิดเห็นการทำนายอนาคตของ เจมส์ ลัฟล็อค ที่ลงในหนังสือพิมพ์การ์เดียนฉบับนั้น

ในปี ๑๙๖๕ กรรมการบริหารของบริษัทเชลล์ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ว่าโลกในปี ๒๐๐๐ จะมีลักษณะอย่างไร ต่างได้รับคำตอบที่เป็นเรื่องของจินตนาการฝันเฟื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เช่น เรื่องเรือสะเทินน้ำสะเทินบกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานโคลด์ฟิวชั่น เมื่อกรรมการระดับสูงของบริษัทมาถามความเห็นของ เจมส์ ลัฟล็อค เขาตอบว่าปัญหาใหญ่ในปี ๒๐๐๐ จะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม “มันจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ที่เมื่อถึงตอนนั้น ความเลวร้ายของมันจะกระทบกับธุรกิจบริษัทน้ำมันของคุณอย่างแรง” ซึ่งตรงเผงกับที่เขาทำนาย

เจมส์ ลัฟล็อค ได้ทำนายอนาคตของโลกเรื่อยมาตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๖๐ จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ส่วนตัวของเขาที่คอร์นวอล ด้วยความแม่นยำที่สม่ำเสมอ จนเขาได้การยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์อิสระที่มีคนนับถือ “มากที่สุด” ของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ เขาทำงานคนเดียวมาตั้งแต่อายุ ๔๐ และเป็นคนคิดเครื่องมือตรวจจับซีเอฟซี (CFC) ที่ช่วยตรวจดูหลุมโอโซนในชั้นบรรยากาศ ลัฟล็อคคือผู้สร้างทฤษฎี “ไกย่า” โลกเป็นองค์กรชีวิตมหึมาที่มีการจัดองค์กรให้กับตนเองประหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งในตอนแรกๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องของขบวนการนิวเอจที่เหลวไหลไร้สาระ แต่ในปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป และได้กลายเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยดินฟ้าอากาศแทบจะทั้งหมดเลย

ลัฟล็อคไม่คิดว่า การวางแผนและการกระทำใดๆ (ของอังกฤษ) เพื่อป้องกันความพินาศหายนะของโลกนั้น จะสามารถหยุดยั้งได้เลย ไม่ว่าเราจะทำอย่างไรมันก็ผิดไปทั้งนั้น “มันสายเกินไปเสียแล้ว” สภาพโลกร้อนได้ไปไกลเกินกว่าที่โลกจะหวนกลับมาเหมือนเดิมได้แล้ว หากเราคิดและทำอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี ๑๙๖๗ ก็อาจจะพอช่วยได้ ดังนั้น ความคิดของพวกโลกสีเขียวและความยั่งยืนจึงเป็นเพียงคำพูดที่ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น...โลกในอนาคตใกล้ๆ หากไม่ร้อนจัดจนชีวิตดำรงอยู่ไม่ได้ ก็จมอยู่ใต้ทะเล...ลัฟล็อคบอกว่า มีคนหวังดีที่ทำงานในการหาทางป้องกันโลกร้อนมากมายมาพูดกับเขาว่า คุณพูดอย่างนี้ได้อย่างไร อีกหน่อยเราก็จะไม่มีอะไรทำหรอก เจมส์ ลัฟล็อค จึงบอกว่ามีสิ่งที่เราจะต้องทำเยอะเลย เพียงแต่มันเป็นคนละเรื่องกับที่พวกเรากำลังทำกัน

เจมส์ ลัฟล็อค ได้จัดการโยนสิ่งที่เราชาวโลกกำลังทำเพื่อหวังให้ช่วยป้องกันโลกร้อนทิ้งไปทีละอย่างๆ “เรื่องการปลูกป่าเพื่อหวังว่าจะลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ (carbon offsetting) ลงได้บ้าง เป็นเรื่องตลก ในกรณีนี้ เราควรเอาเงินไปให้ชาวบ้านในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อไม่ให้พวกเขาตัดป่ายังจะดีกว่า ส่วนเรื่องรีไซเคิล และรีเอนจิเนียริ่ง ต่างล้วนเป็นเรื่องที่ทั้งเสียเงินและเสียพลังงานโดยใช่เหตุ...ความพอเพียงพอดีและยั่งยืนของกลุ่มสีเขียวเป็นเรื่องของคนเพี้ยนที่คิดว่า การหวนกลับสู่ธรรมชาติหรือเลิกใช้เทคโนโลยีแล้วเราจะปลอดภัย จริงๆ แล้วเราต้องการเทคโนโลยีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ...ส่วนการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายก็คงไม่ช่วยอะไรนอกจากเป็นการเสแสร้งเล่นละครกัน ลัฟล็อคไม่เห็นด้วยกับการบริโภคอย่างมีจริยธรรม โดยเห็นว่ามันเป็นเรื่องหลอกเด็ก เขาไม่เห็นด้วยกับการหาพลังงานใดๆ มาทดแทนน้ำมันซากฟอสซิลคาร์บอน (นอกจากพลังงานนิวเคลียร์) มาใช้กับสังคมแบบที่มีอยู่ เพราะเราสร้างสังคม “สมัยใหม่” มาให้ขึ้นกับน้ำมัน

ทั้งหมดนั้น เจมส์ ลัฟล็อค พูดด้วยความฉงนสนเท่ห์เล็กน้อยกับความโง่เง่าเต่าตุ่นของคน คนส่วนมากต้องการทำในสิ่งที่ตนเคยทำ พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างเหมือนเดิม พวกเขารู้แน่ๆ ว่าเราจะต้องเผชิญกับปัญหาในวันข้างหน้า แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เจมส์ ลัฟล็อค คิดว่าคนทั่วไปก็เหมือนกับคนในช่วงปี ๑๙๓๘-๙ ที่รู้ว่า ความทุกข์ความเลวร้ายกำลังจะเกิดและต้องเกิดแน่ๆ แต่พวกเขาไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ดังนั้น พอสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดขึ้นแล้ว ประชาชนคนทั่วไปจึงคล้ายกับดีใจที่ไม่ต้องรอคอยกันอีกต่อไป จากนี้ พวกเขาจะมีหน้าที่เสียที มีงานใหญ่ที่ต้องทำเสียที บางทีเราในปัจจุบันอาจมีความประสงค์ลึกๆ เช่นนั้น

จริงๆ แล้ว หนังสือของลัฟล็อค (James Lovelock: Revenge of Gaia; 2006) ทำนายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ พรั่งพร้อมไปด้วยผลการวิจัยมากมาย ชี้บ่งว่าปี ๒๐๒๐ สิบสองปีจากวันนี้ ความร้อนจัดที่ผิวโลกจะมาพร้อมๆ กับความล่มสลายของการเกษตรอย่างรุนแรงทั่วทั้งโลก และพอถึงปี ๒๐๔๐ ส่วนใหญ่ของยุโรปทั้งหมดจะเป็นทะเลทรายเช่นสะฮารา โดยมีส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้ทะเล และสุดท้าย ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ประชากรโลกราวๆ ร้อยละ ๘๐ จะล้มหายตายจากไปด้วยภัยธรรมชาติ อดน้ำอดอาหาร และโรคระบาดต่างๆ ลัฟล็อคมองด้วยสายตาของความเป็นนักวิทยาศาสตร์แห่งชีวิตและลมฟ้าอากาศที่เขาสนใจมาร่วมห้าสิบปีว่า เราไม่มีทางหยุดยั้งหรือป้องกันไม่ให้ความหายนะของโลกเกิดขึ้นได้เลยแม่แต่น้อย ฉะนั้นเราควรใช้เงินและเวลาไปในการวางแผนอพยพประชาชน หาที่อยู่ที่ทำกินกันใหม่นับแต่บัดนี้ และช่วยกันหาเทคโนโลยีค้นคว้าผลิตอาหารเทียม (synthetic food) จะดีกว่า

ปัญหาก็คือ เราจะเชื่อการป้องกันสภาพโลกร้อนของเกียวโตดี หรือเชื่อ เจมส์ ลัฟล็อค และความพินาศหายนะระดับโลกดี? แม้คณะกรรมการติดตามสภาวะอากาศโลกของนานาประเทศ หรือ ไอพีซีซี (IPCC) จะใช้คำพูดที่นุ่มนวลกว่าและเป็นวิชาการมากกว่าคำพูดขวานผ่าซากของ เจมส ลัฟล็อค แต่การคำนวณสภาพการณ์ก็ใช่ว่าจะห่างไกลกันนัก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า ไม่เราควรเชื่อใครที่ต่างเป็นกายวัตถุนิยมแยกส่วนทั้งคู่

หากมองปัญหาในทางจิต ผู้เขียนเชื่อว่า หากเราสามารถอ่าน คิด และ “ตื่น” ได้ทันไม่ว่าโลกจะอยู่ในสภาวะใดหรือสมัยไหน เราก็สามารถอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ ชีวิต สัตว์โลก และมนุษย์ทั้งผองล้วนมีจิตเท่านั้นเป็นเนื้อใน จิตที่ประหนึ่งมีดวงเดียวที่สร้างไม่ได้ ทำลายไม่ได้ เพียงแต่ว่ายวนหมุนเวียนอย่างไม่จบสิ้นอยู่ในโลกหรือในจักรวาลนี้ ก็เพื่อเรียนรู้ความจริง ซึ่งวันหนึ่งวันใดเราผู้นั้นก็จะพบ ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับโลกหรือธรรมชาติด้วยความเข้าใจเป็นหนึ่งเดียว นั่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนพูดมาตลอดเวลาว่า ผู้เขียนเป็นผู้มองโลกในแง่ดี ร้ายหรือดีขึ้นกับโลกทัศน์หรือกระบวนทัศน์กายวัตถุหรือใช้จิตนำของผู้นั้นๆ

2 Comments

phana กล่าวว่า...

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ หลายปีที่ได้อ่านบทความของอาจารย์มา แม้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆรอบตัวมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะอ่านหนังสือของอาจารย์ คือความสุขของจิตใจ บางครั้งอ่านเล่มเดิมๆ แต่ยังรู้สึกว่ายังเป็นเรื่องที่สด ใหม่เสมอ วันนี้มีเวลาว่าง พบบทความที่ไม่ใช่จากหนังสือครั้งแรก ดีใจที่สุดค่ะ

solitary man กล่าวว่า...

บทสรุปจบในบทความสามารถเข้าถึงความเข้าใจอย่างแท้จริงได้ดีครับ ถึงที่สุดแล้ว โลกย่อมต้องเปลี่ยนไป และเราไม่อาจทำอะไรได้ ไม่อาจต่อต้าน ไม่อาจขัดขืน แต่ขอให้ทุกคนอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว ขอให้อยู่ด้วยความเข้าใจในจิตของตัวเราเอง ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

Back to Top