มองไปข้างหน้า มวลมหาประชาคุย


สัมภาษณ์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
เรียบเรียงโดย กลุ่มสันติทำ
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2557

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ ในสังคม มีคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อพูดคุยในนามของ “มวลมหาประชาคุย” อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด คือหนึ่งในผู้จุดประกายความคิดของการพูดคุยรูปแบบนี้ อาจารย์ได้อธิบายให้เห็นว่ามวลมหาประชาคุยมีความเป็นมาและกระบวนการอย่างไร รวมทั้งสังคมจะได้อะไรจากการพูดคุยบ้าง และการพูดคุยจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งได้หรือไม่ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะความขัดแย้งเดิมตอนที่กลุ่มสันติทำไปสัมภาษณ์อาจารย์ เหตุการณ์ต่างๆ จะดูเหมือนสงบนิ่งลงอย่างน้อยชั่วคราว แต่หากมองในระยะยาวแล้ว เราคงต้องเริ่มตระเตรียมกระบวนการบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือในคลี่คลายความขัดแย้งในอนาคตโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือลดทอนความเป็นประชาธิปไตยลงอีก


จุดเริ่มต้นของมวลมหาประชาคุย

มวลมหาประชาคุยเริ่มต้นภายหลังการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบล่าสุด (ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม กปปส.) ได้สักเดือนกว่าๆ ผู้คนมีความคิดที่อยากจะพูดอยากจะคุย แต่ในพื้นที่ที่ไปร่วมชุมนุม การแสดงความคิดอาจจะทำไม่ได้อย่างเต็มที่นัก ในพื้นที่อย่างโซเชียลมีเดียก็มักจะมีข้อขัดแย้งในการนำเสนอความคิดกันอย่างมาก จึงมีผู้คนมานั่งคุยกันว่า เราอาจจำเป็นต้องมีพื้นที่คุย ส่วนจะนำไปสู่สิ่งใดเราไม่ได้ตั้งไว้ ว่ามันจะต้องนำไปสู่การปฏิรูป ประชาธิปไตย หรือทางออก จุดสำคัญมีเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้คนสามารถที่จะมาคุยกันได้ เพราะเรามีความเชื่อในปัญญารวมหมู่ คือถ้ามีการรวมหมู่ของผู้คนมาพูดคุยกัน ใช้วิจารณญาณร่วมกันอย่างสันติ น่าจะมองเห็นทางที่ดีกว่าทางที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

เราจึงเชิญชวนกันมาทำเวทีว่าอำนาจของการพูดคุย ประชาธิปไตยของการพูดคุย มันควรจะเป็นยังไง เราเลยตั้งหลักว่า เราจะเปิดเวทีที่เราเรียกว่า มวลมหาประชาคุย


กระบวนการพูดคุย

ทุกคนมีโอกาสในการพูดการนำเสนอได้อย่างเสรีภายใต้เวลาที่มี แต่ไม่มีใครเป็นวิทยากรหลัก วิทยากรรอง หรือเป็นผู้ดำเนินรายการ มีแต่ทุกคนมานั่งพูดคุยกันในวงใหญ่ หลังจากนั้นชวนแบ่งกลุ่มย่อยตามแต่ความสนใจ โดยยึดหลักที่เรียกว่ากฎสองขา คือพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีประโยชน์ ถ้าเรานั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว รู้สึกอึดอัดไม่มีประโยชน์ต่อวงที่คุยกัน เราก็ย้ายไปอยู่ในที่อื่น

เราเริ่มจัดครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นจัดครั้งที่สองที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตดินแดง โดยเปลี่ยนรูปแบบนิดหน่อย คือจัดเป็นห้องย่อย ทุกคนนำเสนอได้ว่าใครจะเปิดห้องย่อยอะไรบ้าง และใครอยากจะเป็นคนฟังในห้องไหนบ้าง มีการโฆษณาคนละ ๓ นาที แล้วเราก็จัดห้องย่อยไปตามคะแนนเสียง คนฟังเยอะก็เป็นห้องใหญ่ คนฟังน้อยก็ห้องเล็ก แต่ทุกคนได้พูดกันหมด บางคนอาจจะเตรียมมาคุยเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะฟังมาจากครั้งแรกแล้วเรื่องนี้น่าสนใจ บางคนเตรียมมาเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน หลังจากนั้นยังกระจายไปจัดตามจังหวัดต่างๆ คือเชียงใหม่ แพร่ ชลบุรี เป็นต้น


เป้าหมายและประโยชน์ของการพูดคุย

การทำแบบนี้คงไม่ถึงขั้นนำไปสู่ทางออกของประเทศ แต่คงจะทำให้เรา โดยเฉพาะคนที่ได้เข้าร่วมเห็นว่า พื้นที่ของการพูดคุยมีความหมายจริงๆ ทำให้คนได้หาทางออกที่เราอาจจะนึกไม่ถึงตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งหลายๆ ครั้ง หลายๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่น จังหวัดชลบุรีมีการพูดคุยกันสองสามรอบ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมร่วมกัน มีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำโดยมีทุกภาคส่วนมาหารือ วางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน มีฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม ฝ่ายคัดค้านการขยายตัวของอุตสาหกรรม ฝ่ายชลประทาน ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ การพูดคุยลักษณะนี้ทำให้ทุกคนสามารถอยู่และแสวงหาทางออกร่วมกันได้

ถ้าคนที่มาคุย รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์ จากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิดมาก่อน นั่นแหละคือเป้าหมายของการพูดคุย ซึ่งจากการสอบถาม การพูดคุยช่วยในสิ่งนี้ ผมคิดว่ากฎสองขาทำหน้าที่สำคัญ สำหรับสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ บางทีเราอยู่ในสังคมไทยที่ค่อนข้างจะเกรงอกเกรงใจกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อถูกใช้ในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป บางครั้งในวงพูดคุยเราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่พูดอยู่ไม่ถูกต้องเหมาะสมนัก แต่เราไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา รวมถึงไม่ได้เดินออกไปยังจุดที่เราทำประโยชน์ได้มากกว่า ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดสำหรับสังคมส่วนรวม แต่เมื่อเรานำกฎสองขามาใช้ เราพบว่าผู้คนจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะผู้พูด เมื่อพูดหรือแสดงความเห็นไปแล้ว ผู้คนมีความคิดเห็นอย่างไร จะมีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวเข้าหากัน แล้วนำไปสู่ทางออกร่วมกัน


การพูดคุยกันจะช่วยลดความรุนแรงหรือไม่

ความรุนแรงลดลงอยู่แล้ว ตั้งแต่เรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ผมไปเวทีจังหวัดชลบุรี ความรู้สึกของเขา ปัญหาเรื่องน้ำเป็นยิ่งกว่าปัญหา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในนิคม ในชุมชน คุณคือผู้ร่วมชะตากรรม แน่นอนว่าเขามีความเห็นต่างกัน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราร่วมชะตากรรมกัน ทีละส่วนทีละประเด็น หาทางออกร่วมกันได้

แต่ผมคิดว่าความรู้สึกนี้ยังไม่เกิดในสังคมไทยนัก เราต่างยังรู้สึกว่าชะตากรรมเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองฝ่ายเดียวได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ๆ แล้วฝ่ายเราน่าจะถูก ซึ่งจริงๆ คำว่าถูกคำว่าผิดมันก็เป็นเรื่องน่าคิด ในแง่ที่ว่าบางสิ่งที่เราคิดว่าถูกมันอาจถูกจริงก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจต่อความคิดเห็นซึ่งแตกต่างจากเรา ในที่สุดสิ่งที่เรายึดมั่นว่าถูก มันไม่อาจนำเราไปสู่ทางออกที่ถูกที่ดีได้


ความคาดหวังต่อการพูดคุยเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าเรามองแคบคือ แค่ชัยชนะทางการเมืองระยะเฉพาะหน้า เราอาจจะรู้สึกว่า เราขับไล่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จับกุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พิพากษาหรือลงคะแนนเสียงแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ไปได้ แต่ถ้าเรามองแบบระยะไกล ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถที่จะชนะและปกครองประเทศนี้ หรือมีอำนาจบริหารจัดการประเทศนี้โดยลำพังฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายต้องมาปรับเข้าหากัน

อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เราต้องไม่มองว่าการพูดคุยต่างๆ นี้ เป็นเรื่องเฉพาะผู้บริหาร ผู้ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เรามีปัญหาอยู่คือ การกระจายอำนาจการพูดคุย เพราะอำนาจการพูดคุยตกอยู่ในคนกลุ่มเดียว คนทั่วไปมีอิทธิพลในการพูดบนเวทีไม่มากนัก เราเลยคิดว่าจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจการพูดคุย


แนวทางการพูดคุยในอนาคต

ยังมีการพูดคุยกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อจะจัดรายการให้เปิดกว้างให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพูดคุย จัดวงคุยที่บ้านตัวเอง แต่ว่ามีการถ่ายทำและเผยแพร่ และต่อเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ ไม่ใช่มีเฉพาะที่เป็นแกนนำ เป็นผู้นำ เป็นตัวหลักเท่านั้น และอาจจะมีวงคุยที่มีทัศนคติทางการเมือง ทัศนคติต่อเรื่องๆ หนึ่งในแง่มุมที่ต่างกันและมาพูดคุยในรายการเดียวกัน

จุดสำคัญคือ เราต้องไม่รู้สึกเบื่อที่จะมีวงแบบนี้ แต่แน่นอน ถ้าเราเบื่อ เราใช้กฎสองขา ที่จะบอกว่าเราอยู่อย่างนี้ไปไม่ได้มีประโยชน์ แต่เมื่อเราไม่หยุดแสวงหาและใช้กฎสองขา มันจะนำไปสู่แนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เราพูดคุยกันได้ คำว่าต้องคุยนี่ไม่ได้หมายความว่าถูกบังคับให้มาคุย แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่เราจะพูดคุยกันได้ ผมคิดว่าถ้าเรามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ เราก็จะมีความเข้าใจกันมากกว่านี้ มีทางออกกันมากกว่านี้

Back to Top