ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเพื่ออะไร? และเพื่อใคร?

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2547

ในระยะที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในไร่นาในประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยมากพอควร ทั้งในแง่วิชาการ เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งสองฝ่าย คือผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง และในขณะเดียวกันก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

บทความนี้ไม่ต้องการตัดสินหรือลงสรุปว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายฟังซึ่งกันและกันอย่างมีสติ ใช้ปัญญา โดยไม่โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างไปหาข้อมูลเพิ่ม พิจารณาให้รอบด้าน แล้วหันมาคุยกันใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย

ผู้เขียนเองได้ติดตามและรวบรวมข้อมูล ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์และส่วนที่เป็นโทษเป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับ GMO มากพอควร แต่จะไม่นำมาสรุป ณ ที่นี้ แต่จะนำเสนอข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นำไปคิด และอาจนำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่อง GMO แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า GMO คือ การแสวงหาและนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้สังคมมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรามีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันและในอนาคต เป็นความรู้แบบลดทอนแยกส่วนของตะวันตก (Reductionist Knowledge of the West) เป็นหลัก ซึ่งเป็นฐานคิดและทิศทางของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ลดทอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความรู้ สถาบันการศึกษา ทรัพยากรทางธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และทุกสิ่งให้เป็นตัวเงิน ให้เป็นรายได้

ฐานคิดดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบใหม่ของการร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา มีการให้ทุนทำวิจัย และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาพัฒนาเป็นธุรกิจการค้า เป็นการตัดแต่งต่อเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นการพาณิชย์ (Commercialization of Science) และความรู้ที่ค้นพบก็จะถูกจดลิขสิทธิ์เป็นของส่วนบุคคล (Privatization of Knowledge) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาค้าขายได้

ความก้าวหน้าเฉพาะทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปราศจากการยั้งคิดและพิจารณาผล กระทบอย่างรอบด้านและกว้างไกล ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางด้านไปไกลถึงขั้นที่ยากจะควบคุมได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาอาวุธเพื่อการทำลายล้างแบบอภิมหาทำลาย (Weapons of Mass Destruction) ทั้งที่เป็นไปโดยเจตนา เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และที่อาจจะไม่เจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น GMO, Human Cloning หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ก็อาจนำไปสู่การทำลายล้างระบบสังคมและสายใยทางศีลธรรมของมนุษย์ได้ในอนาคต

ลองทำใจให้เปิดกว้าง หันหน้ามาคุยกันอย่างกัลยาณมิตร แล้วพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ที่กลุ่ม
นักวิทยาศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อโลก (Scientists for Global Responsibility: SGR) ร่างโดย Dr. Mae-Won Ho นำเสนอเพื่อการอภิปรายในที่ประชุม World Summit on Sustainable Development (WSSD)

ความรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมความยั่งยืนของโลก ควรหรือไม่ควรมีลักษณะใด
๑. ความรู้ควรเป็นของชุมชน และไม่สามารถนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้
๒. ความรู้ควรต้องช่วยให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ และมีความรับผิดชอบต่อสภาพนิเวศ ๓. ความรู้ควรตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอิสระจากการพาณิชย์และการควบคุมของรัฐบาล
๔. ความรู้ต้องไม่นำไปใช้เพื่อการทำลายล้าง การกดขี่ และการก้าวร้าวทางการทหาร
๕. ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) คำนึงถึงอารมณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น
๖. ความรู้ไม่ควรทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ควรเคารพในสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ฯลฯ

ความรู้ที่ควรสนับสนุน
๑. ความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรกรรม
๒. ตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมทางสังคมของความยั่งยืน
๓. ตัวบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และชีวภาพของสุขภาพ
๔. ท้องถิ่นและภูมิภาค vs. โลกาภิวัตน์ ฯลฯ

เทคโนโลยีที่ควรระงับ ได้แก่อะไรบ้างเช่น อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี

เทคโนโลยีที่ควรจะค่อยๆ ลดหายไป เช่น พลังงานและการผลิตพลังงานจากฟอสซิล แอนติไบโอติกในทางเกษตรกรรม เคมีการเกษตรทั้งหลายเช่น สารเคมีฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี

เทคโนโลยีที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณากำกับดูแลอย่างสันติจากประชาคมโลก
๑. พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)
๒. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

งานวิจัยที่ควรยุติ
๑. งานวิจัยที่เกี่ยวกับ WMD (Weapons of Mass destruction) และสงครามชีวเคมี
๒. การดัดแปลงพันธุกรรมในสัตว์เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๓. การดัดแปลงพันธุกรรมในพืชทุกชนิดที่จะนำไปแพร่ในสภาพแวดล้อม เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๔. การโคลนนิ่งมนุษย์ (Human Cloning)
๕. การบำบัดรักษาทางยีน (Gene Therapy)

ประเด็นทั้งหมดเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ควรนำมาพิจารณาให้ลึกซึ้ง รอบด้าน ไม่รีบด่วนสรุป ไม่เอาความรู้หนึ่งใดมาข่มหรืออยู่เหนือความรู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้แบบลดทอนของตะวันตก หรือความรู้แบบองค์รวมของตะวันออก หรือความรู้เฉพาะของกลุ่มชน (Indigenous Knowledge) ที่หลากหลายในโลก โดยมีเป้าหมายร่วมคือ การแสวงหาและพัฒนาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความรู้อื่นๆ เพื่อการพัฒนาโลกแบบยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง

Back to Top