โดย
นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2556
เมื่อวันที่ ๙ - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มีงานประชุมวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาวะของคนสองงาน งานแรกคือ อรุโณทัยแห่งหัวใจที่เยียวยา (Dawn of Palliative Care) จัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ งานที่สองคือ การประชุมนานาชาติ The 10th Asia-Pacific Hospice Conference (APHC 2013) จัดที่บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้มาเข้าร่วมประชุมในงานแรกเกือบหกร้อยคน และในงานที่สองมีกว่าพันคน ทั้งสองงานนี้มีสาระทางวิชาการเหมือนกันคือ “การบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Palliative Care
ถึงแแม้จะเป็นงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้มาเข้าร่วมส่วนใหญ่กลับมิใช่แพทย์ หากแต่มีพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร ทันตแพทย์ บุคลากรสุขภาพสาขาอื่นๆ และมีประชาชนหลายสายอาชีพที่สนใจมาเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีแม้กระทั่งนักบวช พระ นักการศาสนา มาเข้าร่วมด้วย แสดงว่าเนื้อหาสาระของหัวข้อนี้ มิได้ถูกจำกัดวง หรือถูกรับรู้ว่าเป็นวิชาจำเพาะของแพทย์แต่อย่างใด กลับเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สนใจ ใครๆ ก็รู้สึกว่า “นี่เป็นเรื่องของฉัน ฉันก็มีอะไรที่ต้องทำกับเรื่องนี้”
ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปเพียงไร สัจจธรรมคือมนุษย์มิได้เป็นอมตะ ทุกคนต้องตาย ความตายอยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นทุกขณะจิต ทุกแห่งทุกหน เพียงแต่ว่าเราจะ “เลือก” ที่จะมองเห็น ได้ยิน และให้ความสนใจหรือไม่เท่านั้น ที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมองเห็นอะไร ได้ยินอะไร และให้ความหมายว่าอย่างไรทั้งสิ้น แต่ที่เราไม่ได้สนใจในบางเรื่องตลอดเวลา เพราะว่ามนุษย์สามารถเลือกได้ บางเรื่องทำให้เราสบายใจมีความสุข เราก็อยากจะอยู่กับเรื่องนั้นเป็นเวลานานๆ บางเรื่องทำให้เราจม และอยู่กับความทุกข์ เราอาจไม่อยากจะคิดถึง ไม่อยากจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกนั้น เราก็หนีออกมาจากที่นั้นเสีย
ทว่าเมื่อเราจัดการประชุมขึ้น พลังประการหนึ่งของงานประชุมคือ “พลังมวลชน” จะมีผู้ที่สนใจมารวมกันอยู่ในที่แห่งเดียว มนุษย์นั้นหยิบยืมพลังชีวิตจากกันและกันได้เสมอ และเมื่อมีคนที่คิดเหมือนเรา สนใจในเรื่องคล้ายกับเรา จะพบว่าพลังของเราสามารถเพิ่มขึ้นได้ และในเรื่องบางเรื่อง พื้นที่บางแห่ง อารมณ์ความรู้สึกบางประการที่เราอาจจะไม่กล้าเข้าไปค้นหา เราจะพบว่าพลังที่เพิ่มขึ้นมาจากการอยู่รวมกันหลายๆ คน จะทำให้เราสามารถครุ่นคิดและใคร่ครวญในเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาได้
เมื่อมนุษย์เลือกที่จะใช้เวลาทุ่มเทใคร่ครวญกับเรื่องราว จิตอันละเอียดอ่อนที่ทุกคนมี ค่อยๆ คลี่สยาย สัมผัสกับบางแง่มุมที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยเห็นมาก่อน วลีสั้นๆ บางคำเมื่อเราใช้จินตนาการสานต่อ ภาพคนเบื้องหน้าเราก็เปลี่ยนแปลงไป
“ผมเป็นทหารเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน ได้รับบาดเจ็บจนต้องลาออก” คำพูดของคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ที่ดูเผินๆ เหมือนกับเป็นเพียงวลีสั้นๆ แต่อาจารย์หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ชวนผู้เข้าร่วมประชุมจินตนาการถึงภาพอดีตทหารอเมริกันที่ปฏิบัติงานในสงครามเวียดนาม เกร็ดรายละเอียดของความโหดร้ายในสงครามที่พวกเราเคยได้รับรู้ จากข่าวสารบ้าง จากภาพยนตร์บ้าง ทำให้พวกเราเริ่มมองเห็นที่มาของความรู้สึก และการกระทำบางประการของผู้ป่วยทหารเก่ารายนี้ รวมไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเขาเมื่อวาระสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามา
ในงานประชุมนานาชาติ APHC 2013 มีผู้มาเข้าร่วมจาก ๒๔ ประเทศทั่วโลก หลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เพียงแต่การงานที่แตกต่างกัน แต่พื้นฐานชีวิต ฐานะ การศึกษา ศรัทธาและความเชื่อก็มีความหลากหลายที่สุด แต่เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเข้ามารับฟังคำบรรยายของพระไพศาล วิสาโล เรื่องราวของวิถีพุทธในการเผชิญกับความทุกข์ที่สุดแห่งชีวิต ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ อย่างมีสมาธิ ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา มิได้เป็นอุปสรรคต่อมนุษย์ในการที่จะสัมผัสกับเรื่องราวที่ทุกๆ สังคมพบเห็นกันเป็นประจำแต่อย่างใด นั้นคือ ความตาย และชีวิตที่ดำเนินมาถึงระยะท้าย
สิ่งที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ “ความรู้” เท่านั้นที่มีการแลกเปลี่ยน แต่ “ภูมิปัญญา” ที่แฝงเร้นในเรื่องราวมากมายที่ผู้เข้าร่วมนำพามาด้วย ทำให้เกิดการเติบโตหลายมิติในตัวบุคคล และบางคนก็ได้รับการเยียวยาจากเรื่องราวเหล่านี้ หลายคนกลับไปพร้อมกับประกายตาที่แจ่มใสขึ้น มุ่งมั่นมากขึ้น แม้ความยากลำบากที่รอคอยอยู่จะไม่น้อยลงไป แต่ทว่ามีการค้นพบว่า บนเส้นทางการดูแลเพื่อนมนุษย์นั้น เรามิเคยอยู่โดดเดี่ยวหรือทำอยู่เพียงลำพังเลย มีอะไรอีกมากที่เราจะได้เรียนรู้ มีเพื่อนอีกไม่น้อยที่เรายังจะได้พบเจอ และสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ทุกคนได้รับทราบก็คือ คนทุกคนมีสิทธิที่ได้รับความรัก ความเมตตา ความเกื้อกูลจากกันและกัน ทั้งจากสมาชิกในครอบครัว จากเพื่อนบ้าน จากสังคมทุกสังคม เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในสังคมที่จะต้องตระหนักรู้ว่า ความทุกข์ หรือสุขภาวะนั้น มิได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใด หรือใครบางคน แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสะท้อนว่าจิตสำนึกของคนในสังคมนั้นๆ รับรู้ถึงหน้าที่ของตนเองแล้วหรือไม่ และเมื่อมนุษย์ตระหนักในหน้าที่ เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสิทธิพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ อันได้แก่การได้รับความรัก ความเมตตา ต่อดวงวิญญาณของเราทุกคน
แสดงความคิดเห็น