จิตตปัญญาศึกษาคือทางรอดของเราจริงๆ



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2551

ทุกวันนี้สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ทำให้มนุษย์ต้องคิดหนักซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเอาตัวให้อยู่รอด เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองหรือของเผ่าพันธุ์สปีชีส์นั้นๆ ให้อยู่รอดตามไปด้วย แต่น่าเสียดายและน่าเสียใจที่สภาพโลกที่อยู่เบื้องหลังสังคมเราที่เปลี่ยนไปมากนี้กำลังเสื่อมสลาย ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความล่มสลายของโลกธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงจริงๆ นั้น เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราแท้ๆ ดังที่นักวิทยาศาสตร์ของคณะทำงานไอพีซีซีกว่า ๒,๕๐๐ คนจากมากกว่า ๑๐๐ ประเทศบอกเรา เรา - โดยเฉพาะในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตามการสำรวจโพลเมื่อเร็วๆ นี้ ต่างพากันไม่เชื่อว่า โลกร้อนจะเกิดจากความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยที่เรามีด้วยเทคโนโลยีเพื่อหนีความทุกข์ ส่วนใหญ่มากๆ เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ แต่กลับคิดว่า เป็นไปตามจังหวะหรือวัฏจักรธรรมชาติธรรมดาๆ ของโลก นั่นคืออันตรายจากการไม่รู้แต่คิดว่ารู้ของเราที่คิดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัตถุนิยมจะสามารถช่วยรักษาเผ่าพันธุ์ของเราให้อยู่รอดได้ แต่จงอย่าลืมว่า ข้อมูลจากแหล่งที่มามากมาย รวมทั้งจากองค์การสหประชาชาติ ต่างชี้บ่งเหมือนๆ กันว่าประชากรของชาติด้อยและกำลังพัฒนานั่นเอง จะเป็นสังคมที่จะได้รับความทุกข์ทรมานจากภัยต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความล่มสลายหายนะของสิ่งแวดล้อม และจากเทคโนโลยีเพื่อความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยแต่เฉพาะแต่รูปกายเรา โดยไม่รู้ว่าความสุขแท้จริงเป็นความสุขจากภายในที่ชี้นำ

ในระยะสี่ห้าปีมานี้ บ้านเราหรือทั้งโลกได้กำลังเผชิญอยู่กับหลายต่อหลายปัญหาซึ่งได้กลายเป็นวิกฤตชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน หรือไม่เราก็ผลักไปให้ผู้อื่นหรือโทษคนอื่นกระทั่งชาติอื่น เพราะว่า “ตัวกูของกูกระทั่งชาติกู” ไม่เคยผิด นั่นเป็นวิกฤตและปัญหาชนิดที่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นที่ใดและภูมิภาคไหนของโลกในขณะหนึ่งขณะใด ต่างก็มีกันทั้งนั้น คือ รู้สึกว่าปัญหาของสังคมมนุษย์เพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าใครจะเป็นคนพูดคนเขียนและพูดเขียนที่ไหนเมื่อไหร่? นั่น – แปลว่าอย่างไร? สำหรับผู้เขียน นั่น – แปลว่า ระบบและโครงสร้างของสังคมโลกที่เรามีอยู่ รวมทั้งวิถีชีวิตที่เราใช้นำชีวิตนั้น มันผิดมาทั้งหมดเลย อย่างน้อยก็ผิดมาตั้งแต่การรับรู้ (perceive) โลกและเรียนรู้ชีวิตจากองค์ความรู้ที่ตั้งบนวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมแยกส่วน แต่กระนั้นเราก็ยังไม่รู้สึก ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ โดยรังแกธรรมชาติมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดธรรมชาติทนต่อไปไม่ไหว และเริ่มตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยภัยต่างๆ มากขึ้นและรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าวิกฤตได้เดินทางมาถึงจุดจบจุดสิ้นสุดในช่วงปัจจุบันวันนี้แล้ว โดยที่เราหมดหนทางหมดปัญญาที่จะแก้ไขหรือแม้แต่จะบรรเทาให้เบาบางลงได้ด้วยความคิดและประสบการณ์เก่าๆ ของเรา ตามที่ไอน์สไตน์ว่าไว้

โดยเฉพาะหลังจากความแตกแยกของประชาชนคนไทยซึ่งเห็นได้ชัดเจน ชนิดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซ้ำเติมมหาภัยอื่นๆ อย่างที่เรารู้ๆ กัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เริ่มต้นด้วยระบบการเมือง “ระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงวิธีเดียว หรือเราจะเรียกว่าประชาธิปไตยเฉยๆ ก็ได้” ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนคิดว่า คำว่าประชาธิปไตยเฉยๆ หมายถึงการผ่านการเลือกตั้งหรือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทน “อันทรงเกียรติ” เท่านั้น ซึ่งมักจะได้คนเก่าๆ เดิมๆ ในกลุ่มผู้สมัครราว ๓,๐๐๐ คนของประชากรของประเทศไทยร่วม ๖๕ ล้านคน หรือคนที่เป็นวงษาคณาญาติ เช่น ภรรยาสามีของผู้แทนคนเก่าคนเดิมที่ไม่มีโอกาสสมัครผู้แทนได้อีก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด

นั่นคือระบบที่มักอ้างกันว่าดีที่สุด แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์นักสำหรับการเมืองการปกครองของสังคมมนุษย์โลกในปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ต้องแสดงความคิดความเห็นกับเขาบ้าง ในฐานะนักคิดนักเขียนที่เขียนแต่เรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าทั้งไกลตัว หรือค่อนข้างหนักๆ มานาน จริงๆ แล้วในความคิดเห็นส่วนตัว ระบบประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงครั้งเดียว หรือประชาธิปไตยเฉยๆ ที่ใช้อยู่นี้ เป็นกระบวนการที่ผิดธรรมชาติอย่างแรงมากๆ เพราะเป็นการมองหรือประเมินตามที่ตาเห็นว่า หากว่าเป็น “คน” ที่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ใหญ่ที่เกิดในสังคมนั้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะซื่อบื้อ หรือเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่แต่กับอบายมุข หรือเป็นนักเลงโตคนชั่วร้าย แต่จับไม่ได้เพราะไม่มีใบเสร็จ ฯลฯ แล้ว ย่อมมีสิทธิที่เท่าเทียมกันทั้งหมด และมีสิทธิที่จะเลือกตั้งได้โดยการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสำหรับบ้านเรา จะจัดให้มีขึ้นเพียงครั้งเดียว นั่นเป็นสังคมมนุษย์รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันอันเกิดจากกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผิดธรรมชาติ ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติที่มีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สรุปเท่าที่เขียนมาวันนี้ รวมทั้งหลักๆ ที่ผู้เขียนเขียนมาตลอดเวลาอันยาวนาน คือ มนุษยชาติกำลังแย่ลงมากขึ้นทุกๆ วัน จนบัดนี้ได้มาถึงปลายทางกำลังจะตกเหวอยู่รอมร่อ โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหน้าสุดจากการผลักดันของผู้ที่อยู่ข้างหลัง คือ ผู้ยากจนและผู้ยากไร้ในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ยังขาดวุฒิภาวะหรือไร้โอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และผู้ที่ยังเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีจังหวะของมัน “อีกหน่อยสิ่งต่างๆ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม” (เมืองนอกเขาจะเรียกว่า BAU หรือ Business as usual) ซึ่งขอยืนยันว่า “ไม่มีทาง”

ส่วนสาเหตุที่เราเลือกที่จะเดินทางเส้นนี้ เพราะว่าเราทั้งเผ่าพันธุ์เลย ยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ยังไม่แตกพานด้วยซ้ำดังที่ ดเวน เอลยิ่น ว่า คนส่วนใหญ่มากๆ ในโลก มากกว่าครึ่งค่อนที่ยืนอยู่ที่ปากเหวเหล่านี้ อะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวของตัวเองหรือโลกรอบๆ ตัวก็ไม่รู้สักอย่าง นอกจากเรื่องที่เป็นความสุขสนุกสะดวกสบายและความปลอดภัยแล้ว ก็ไม่สนใจหรือรับรู้อะไรทั้งนั้น เพราะเชื่อว่ากูรู้หมดแล้วจึงไม่มีทางเชื่อใคร คนเหล่านี้จึงช่วยไม่ได้ที่ต้องตกเหวตายกันทั้งหมด

ส่วนที่เหลือไม่มากนัก คือผู้ที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และแสวงหาข้อมูลอย่างไม่หยุดหย่อน และข้อมูลการเรียนรู้หนึ่งในนั้นคือ จิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน (Transformation education) สร้างสรรค์ปัญญาที่ได้จากการภาวนา (Wisdom or Intuition) ซึ่งขณะนี้มีสถาบัน มีชมรม มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น มหิดล จุฬาฯ อาศรมศิลป์ ฯลฯ ที่เปิดสอนอยู่ในขณะนี้หรือในเร็วๆ นี้ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

อย่าลืมว่าการสร้างสรรค์จิตสู่จิตวิญญาณ เพื่อการผ่านพ้นหรือก้าวล่วง (Spirituality and transcendence) นั้น เป็นสาระที่สำคัญที่สุดและเป็นแก่นแท้ของทุกๆ ศาสนาและวัฒนธรรมโลก นั่นคือบันไดที่นำมนุษย์ไปสู่วิมุตติ การ “รู้แจ้ง” ที่เชื่อว่านั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาล

ผู้เขียนรู้ว่า จักรวาลวิทยาใหม่ไม่ได้มีสิ่งใดที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของจักรวาลได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ได้ ความรู้ที่เป็นความจริงตามที่มนุษย์สังเกตทั้งด้วยตากับเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดหรือยอมรับกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้น มีจำนวนมากเหลือเกินที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นชิง ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอายุของอุบัติกาลของจักรวาลกับอายุของกำเนิดการทางชีววิทยาของเผ่าพันธุ์สปีชีส์ของมนุษย์ สัดส่วนจะเท่ากับประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ : ๑ คือ จักรวาลมีขึ้นเมื่อร่วม ๑๔ พันล้านปี ในขณะที่มนุษย์ (โฮโมซาเปียนส์) มีขึ้นมาในโลกเพียง ๑๕๐,๐๐๐ ปี คิดคร่าวๆ ตามหลักสถิติคือประมาณ ๑ แสนเท่า

ริชาร์ด ก็อตต์ นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษ ทำนายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถึง ๙๕ % ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท ว่ามนุษยชาติจะหายสาปสูญไปทั้งเผ่าพันธุ์ (Richard Gott: Gott’s Prediction, Wall Street Journal, Jan.1 2000) ภายในอย่างน้อย ๕,๑๐๐ ปี (อย่างมากเกือบๆ แปดล้านปี) โดยคำนวณจากความน่าเป็นไปได้อย่างที่สุดจากความสัมพันธ์ระหว่างอายุของจักรวาลกับอายุที่โลกมีมนุษย์คนแรกขึ้นมา อีกตัวอย่างหนึ่งโดยเหตุผล ด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง สสารวัตถุที่ประกอบเป็นจักรวาล น่าจะถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดเข้ามาหากันและสุดท้ายรวมกันแน่นหดเล็กๆ ลงๆ เรื่อยๆ จนหดฟุบแฟบ หรือระบิดเป็นซุปเปอร์โนวา (Collapsed-supernova) แต่ทว่าแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดสสารวัตถุให้เข้ามาหากันนั้น มันเกิดพอดีกับแรงผลักจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการเทอร์โมนิวเคลียร์จากภายในดวงดาว (เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา) ราวๆ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ล้านดาว ซึ่งจักรวาลของเรามีเท่านั้นพอดี

อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีค่าตัวคงที่ (Natural constant) ที่ทำให้เราสามารถคำนวณและเรียนรู้จักรวาลได้อย่างที่ยอมรับกัน แต่จากข้อมูลจากคณิตศาสตร์ที่เรามีในขณะนี้ ตัวคงที่อันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาให้เราค่อยๆ ค้นพบนั้น ซึ่งทุกวันนี้เราค้นพบมาเรื่อยๆ นับเป็นร้อยๆ ตัวแล้ว จะมีค่าคงที่ที่กำหนดและควบคุมการเปลี่ยนแปลง (หรืออนิจจตา) ของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหมดของจักรวาล แต่เราไม่รู้เลยและเป็นไปได้ที่เราไม่มีทางจะรู้ไม่ว่าเมื่อไร? ถึงเหตุผลว่าทำไม? มันจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นคือ ทำไม? สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของโลกของจักรวาลถึงได้ไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกับทั้งหมด เว้นแต่ค่าตัวคงที่ของธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่กำหนดควบคุมให้มีการเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจตานั้นๆ หรือว่าจะมีสิ่งที่เป็นที่สุด คอยกำหนดและควบคุมสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลที่คงที่และเสถียรตลอดกาล หรือเป็นธรรมชาติของธรรมชาติ ซึ่งแน่นอน จะต้องมีสิ่งที่เป็นที่สุดของที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ เราจะเรียกว่าอะไร? เป็นนิพพานหรือพุทธะ เป็นเต๋า หรือเป็นพระเจ้าในนามใด??

มีตัวอย่างเช่นนี้อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีเหตุผลจริงๆ ทั้งจะอธิบายด้วยความขี้เกียจหรือเห็นไกลตัวว่าบังเอิญก็เกินไป เพราะว่ามันมีเป็นพันเป็นหมื่น สู้เรื่องของความแตกแยกกันของคนในชาติไม่ได้ หรือเรื่องของประชาธิปไตยตัวแทนและระบบรัฐสภา คือประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ กับการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ไม่ได้ความทั้งคู่ไม่ได้ว่า เราจะเอาอันไหน? หากว่าการแสวงหาการแก้ไขที่ทุกคนทั้งในชาติและในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้รอดจริง มีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องมีเงินหรือทรัพย์สินเลย หรือโยนทิ้งไปเสียทั้งหมดซึ่งระบบทุนนิยมเสรีที่เน้นการ “บริโภคโยนทิ้ง” ที่แม้จะยากสุดยาก ก็เป็นไปได้ แล้วหันไปสู่ความสำคัญที่ภายในจิตตปัญญาศึกษา (Comtemplative education) ความสุขที่อิ่มเอมสงบสงัดที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงของตนเอง (Transformative learning) ซึ่งโดยหลักการก็คือ การทำสมาธิฝึกสติที่มีปฏิบัติกันอยู่ในทุกๆ ศาสนาทุกๆ วัฒนธรรมที่เสมอๆ กัน - รวมทั้งที่นายบารัก โอบามา ที่อยากทำหรืออยากปฏิวัติเปลี่ยนสังคมของอเมริกาจนได้เป็นประธานาธิบดี - ไม่มีใครเหนือกว่าใคร โดยไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

Back to Top