เพื่อนและพี่น้องที่ไม่รู้จัก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2555


- ๑ -


รุ่งสางราวหกโมงเช้า ขบวนจักรยานในซอยค่อยทยอยเคลื่อนตัวออกไป เปล่าเลย ไม่ใช่ชมรมคนขี่จักรยานที่ไหน ประดาคนในเครื่องแบบเสื้อเหลืองกางเกงดำเหล่านี้เป็นพนักงานของบริษัทรับทำความสะอาดอาคารต่างๆ ในกระทรวงแห่งหนึ่ง เธอเหล่านี้มีนิวาศสถานอยู่ข้างกระทรวงฯ ต้องทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น จันทร์ถึงศุกร์ และหากมีการทำความสะอาดใหญ่ เช่น ขัดพื้น ลงน้ำยา ก็อาจจะต้องมาทำงานวันเสาร์ด้วย

ในวันที่พนักงานทำความสะอาดบางคนป่วยเป็นไข้ไม่สบาย หน่วยงานรัฐก็เพียงแต่โทรฯ หาบริษัทรับทำความสะอาด แล้วบริษัทฯ ก็จะส่งพนักงานคนใหม่มาทำงานแทนในวันนั้น และให้พนักงานที่ป่วยไปพัก เป็นกติการับประกันว่าสถานที่ทำงานนั้นจะสะอาดเอี่ยมอ่องทุกวัน อย่างไรก็ดี หากบริษัทฯ หาพนักงานมาแทนไม่ได้ พนักงานคนที่ป่วยก็จะถูกบังคับให้ทำงานต่อในวันนั้น

พนักงานที่ป่วย หากบริษัททำประกันสุขภาพให้ หรือทำประกันสังคมร่วมกัน ก็พอจะมีเงินไปหาหมอและซื้อยาได้บ้าง และหากต้องล้มหมอนนอนเสื่อนาน ถ้าโชคดี บริษัทก็จะต้องอนุญาตให้ลาป่วย ไม่หักเงินเดือน และไม่ไล่ออกเพราะป่วย อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ควรจะเป็นโชค หรือควรจะเป็นเรื่องนายจ้างใจดีมีมนุษยธรรม หรือควรจะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกันแน่?


- ๒ -


คนขับแท็กซี่อายุย่าง ๖๐ ปีมีอยู่มากมายทีเดียวบนท้องถนน บางคนผ่อนชำระรถแท็กซี่ได้เป็นคันที่สามแล้ว คันก่อนหน้านำไปทาสีใหม่ จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ยกให้กับลูกสาวที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีและทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง

ในชีวิตของเขาเหล่านี้ ไม่มีนิยามคำว่าวันหยุด เพราะหยุดขับรถเมื่อไหร่ รายได้ก็หายไปทันที และสำหรับบางคนภาระค่าผ่อนรถยังคงอยู่ ส่วนค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลานั้นยิ่งไม่รู้จัก เพราะถ้าขับรถได้ไม่พอค่าเช่าหรือค่าผ่อนรถรวมกับค่าแก๊สหรือน้ำมัน กระทั่งค่ากินข้าวในวันนั้น ก็ถือว่าเกิดหนี้สะสมขึ้นมาทันที

พวกเขาเหล่านี้ไม่มีกำหนดเกษียณอายุการทำงาน เพราะหากหยุดทำงาน ก็ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินเกษียณอายุ และลูกหลานก็ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลได้

ทำไมคนที่ทำงานโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา ทำงานตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่มีโอกาสใช้ชีวิตเป็นคนแก่ที่มีเงินเกษียณดูแล?


- ๓ -


บ่ายวันหนึ่ง มีคนงานตกตึกอีกแล้ว พวกเขาขึ้นไปทำความสะอาดเช็ดกระจกด้านนอกอาคาร สลิงขาดไปเส้นหนึ่ง หล่นลงไปตายทันทีสามคน อีกสองคนรอดมาได้

โดยหลักการแล้ว งานเสี่ยงอย่างนี้ อันตรายอย่างนี้ ระบบความปลอดภัยต้องสูง ค่าตอบแทนต้องมาก แต่ในความเป็นจริงไม่เคยเป็นเช่นนั้น

อาคารสูงระฟ้ามีมากมายในบางกอก เป็นความสำเร็จทางวิศวกรรม เป็นความสำเร็จอันน่าปลาบปลื้มของนักลงทุน เป็นพื้นที่โฆษณาใหม่น่าสนใจ แต่ – คนเช็ดกระจกอาคารตกตึก – เป็นความล้มเหลวของใครบ้าง?

ทำไมคนทำงานในอาชีพสุจริตกลุ่มหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการทำงานมากกว่าคนอื่น? การทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยในขณะทำงานเป็นสิทธิหรือความกรุณาของสังคม?


- ๔ -


ที่ชายแดนไทย-พม่าแห่งหนึ่ง เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ และส่วนใหญ่แล้วเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขาและเธอทำงานให้กับนายจ้างไทย ทำงานที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำ รายได้ต่ำกว่าและจำนวนเวลาทำงานก็มากกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด

สามีภรรยาแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีลูกด้วยกันหลายคน เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว ตึกคลอดในโรงพยาบาลบางแห่งเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ หรือให้ละเอียดชัดเจนขึ้นก็คือ แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิง เป็นเมีย เป็นแม่ และส่วนใหญ่ผิดกฎหมายการเข้าเมือง

เคยมีข้อเสนอให้ส่งแรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์กลับประเทศต้นทาง – แต่นี่ไม่ควรเป็นคำตอบ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว หากแต่เพราะแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเหล่านี้กินนอนอยู่บนแผ่นดินไทย โดยเสียค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินค่าอยู่ต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าเขาและเธอเสียภาษีในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ ให้กับแผ่นดินไทยอยู่ตลอดเวลา


- ๕ -


ทำไมคนทำงานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสร้างเศรษฐกิจให้กับสังคมและประเทศ จึงไม่ได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย ตั้งครรภ์ อุบัติเหตุ เกษียณอายุ?

พวกเขาและเธอเหล่านี้ไม่ใช่คนขี้เกียจ เพราะการขี้เกียจไม่ก่อรายได้ และการไม่มีรายได้หมายถึงการอดอยาก เป็นความเป็นความตายในชีวิตของเขาและเธอทีเดียว

ในสังคมเสรีประชาธิปไตยบางแห่งที่เชื่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ภราดรภาพ” ด้วย ภราดรภาพในที่นี้ก็คือ การดูแลกันและกันอย่างเสมือนเป็นเพื่อนพี่น้องต่อกัน การดูแลกันและกันนั้นก็คือ หากมองเห็นว่าเพื่อนของเรา พี่น้องของเรา ยังลำบากในเรื่องไหน โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ความปลอดภัยในการทำงาน การเจ็บป่วย การตั้งครรภ์ การศึกษาของเด็ก การใช้ชีวิตผู้สูงอายุอย่างมีความสุข ฯลฯ ก็จำเป็นต้องเข้ามาเกื้อกูลดูแลกัน และด้วยการสร้างระบบ ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์เป็นรายไป

แต่การจะเกิดภราดรภาพ มองเห็นคนที่เราไม่รู้จักเป็นเพื่อนของเรา เป็นพี่น้องของเรา อาจจะต้องเริ่มจากการปรับเลนส์สายตา ให้มองเห็น “คน” ใกล้ตัวเราให้มากขึ้น เห็นชีวิต เห็นความสุขความทุกข์ของเขาและเธอได้ การมองเห็นนี้ต้องอาศัยความละเอียด ซึ่งหากเราไม่กลับเข้ามาสู่จังหวะของความช้า สู่ความสงบนิ่ง ดวงตาและใจย่อมไม่เห็นอะไรได้แจ่มชัด เทคนิคและวิถีของจิตวิวัฒน์ทั้งหลายที่ว่าด้วยการยกระดับจิตก็เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อดวงจิตอันเป็นสุขสงบของเราคนเดียว หากดวงจิตอันสุขสงบนั้นยังต้องทำให้เกิดกรุณามองเห็นความทุกข์ของเพื่อนและพี่น้องที่เราไม่รู้จักเหล่านี้ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

Back to Top