พัฒนาการทางจิตตามแนวคิดของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มีนาคม 2553

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คีแกน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่ามนุษย์มี ๕ ระดับจิต พัฒนาตามวัยจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ โดยแต่ละระดับจิตจะสร้างความหมายและความจริงของเขาขึ้นมาภายในโลกนั้นๆ

คีแกนพบว่าการสร้างความหมายของมนุษย์เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ (subject-object relation) โดย “จิตผู้รู้” หมายถึง โครงสร้างจิตที่ทำหน้าที่เรียบเรียงสิ่งที่ถูกรู้เข้าด้วยกัน เพื่อให้กลายเป็นเรื่องราวที่มีความหมาย “สิ่งที่ถูกรู้” หมายถึง สิ่งที่ถูกสังเกต ถูกจัดการ ถูกเชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ด้วยกัน เมื่อจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้สัมพันธ์กัน ความหมายและความจริงก็ถูกประกอบสร้าง (constructive) ขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างความหมาย/ความจริงของจิต ยังเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างหนึ่งไปยังอีกโครงสร้างหนึ่งตามลำดับพัฒนาการ (developmental) โดยมีกระบวนการพัฒนาจิตที่อธิบายว่า จิตผู้รู้ในระดับหนึ่ง เคลื่อนตัวกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ของจิตผู้รู้ในระดับถัดไป เมื่อจิตเกิดการเคลื่อนตัวแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง เพิ่มความสามารถในการรองรับความซับซ้อนของโลกได้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีจิตวิทยาของคีแกนจึงเรียกว่า จิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้าง (Constructive-Developmental Psychology) ซึ่งทำหน้าที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ ในสองลักษณะคือ ๑) ความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ที่สร้างความหมาย/ความจริงให้กับมนุษย์แต่ละคน และ ๒) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของจิตมนุษย์ (transformation) ที่จิตผู้รู้กลายไปเป็นสิ่งที่ถูกรู้ของจิตผู้รู้ใหม่

ระดับจิตแต่ละขั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ระดับจิตที่หนึ่ง: จิตตามสิ่งเร้า (Impulsive Mind)

เป็นโครงสร้างแรกของความสัมพันธ์ระหว่างจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก โดยที่มีจิตผู้รู้เป็นไปตามสิ่งเร้า (impulse) หรือตามการรับรู้ (perception) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ และสิ่งที่ถูกรู้ คือการสัมผัสและการเคลื่อนไหวทางกายภาพ กล่าวคือ เด็กสามารถจัดการกับการเคลื่อนไหวทางกายภาพหรือการสัมผัสได้ แต่มีการจัดการไปตามสิ่งเร้าหรือการรับรู้ที่ชักนำไปในขณะนั้นๆ เรามักพบระดับจิตนี้ในเด็กช่วงอายุ ๒-๖ ปี โลกของเขาเป็นโลกแห่งจินตนาการ เช่น เด็กรับรู้ว่าเมฆวิ่งตามเขา เด็กเข้าใจว่าถ้าเขย่าถุงขนมแล้วจะทำให้ขนมเพิ่มมากขึ้น เด็กเข้าใจว่าถ้าเปิดตาเขาแล้วคนอื่นก็จะมองเขาไม่เห็นเช่นกัน น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยทำให้น้ำหดตัวน้อยลง เป็นต้น เด็กซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากคนใกล้ชิด เช่น ความร่าเริง รอยยิ้ม ความโกรธ ถ้าคนอื่นมีความเห็นต่างไปจากการรับรู้ของเขา เด็กจะเกิดความสับสน งงงวย

ระดับจิตที่สอง: จิตตามใจตน (Imperial Mind)

จิตตามใจตนเกิดเป็นจิตผู้รู้ใหม่ ไปรู้และสัมพันธ์กับจิตตามสิ่งเร้าที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไปแล้ว ณ ระดับนี้ กล่าวคือ จิตตามใจตนสามารถเชื่อมโยงการรับรู้เป็นส่วนๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นมุมมอง (points of view) และสามารถเชื่อมโยงสิ่งเร้าเป็นครั้งๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นความชอบส่วนตัว (preferences) ตัวอย่างเช่น เขาสามารถบอกได้ว่า น้ำในแก้วทรงสูงเมื่อถูกเทไปยังแก้วทรงเตี้ยยังมีปริมาณเท่าเดิม เพราะสามารถเชื่อมโยงการรับรู้ระหว่างน้ำในแก้วทรงเตี้ยกับทรงสูงได้ หรือสามารถบอกได้ว่า ของมีขนาดเท่าเดิมแม้ว่าจะเดินเข้าไปใกล้กับเดินออกมาห่าง นั่นคือ เขาสามารถตระหนักถึงและเชื่อมโยงการรับรู้ต่างเวลาและระยะทางได้

ระดับจิตนี้มักพบในเด็กโตถึงวัยรุ่นตอนต้นช่วงอายุ ๗-๑๒ ปี1 เราจะเห็นได้ว่าเด็กวัยนี้สามารถรับรู้ได้ว่า คนอื่นมีมุมมองและความชอบส่วนตัว แยกต่างหากจากมุมมองและความชอบของเขา เด็กวัยนี้จะเริ่มมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาจะรวมตัวกับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีมุมมองและความชอบส่วนตัวคล้ายกัน หรือสนับสนุนกัน โลกของเด็กในระดับจิตนี้ มีตัวฉันเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวอย่างความเห็นที่สะท้อนระดับจิตนี้ได้แก่ “ฉันขโมยของคนอื่นได้ ก็เพราะฉันต้องการของชิ้นนั้น แต่คนอื่นจะมาขโมยของฉันไม่ได้ เพราะฉันก็ต้องการมัน” เป็นต้น

ระดับจิตที่สาม: จิตตามสังคม (Socialized Mind)

จิตตามสังคมเป็นจิตผู้รู้ และมีจิตตามใจตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตตามสังคมจะจัดการกับมุมมองและความชอบส่วนตัว ทั้งของตนเองและคนอื่น ให้อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของสังคม ไม่ว่าสังคมจะมีขนาดเล็กระดับครอบครัว ขนาดปานกลางระดับชุมชน หรือขนาดใหญ่ระดับประเทศ คนระดับจิตนี้สามารถระงับความชอบส่วนตัว เพื่อรักษาประเพณี กติกา ศีลธรรมจรรยา หรือกฎหมายที่สังคมกำหนด ดังนั้นในโลกของคนระดับจิตนี้ คนแต่ละคนจึงมีบทบาทและหน้าที่ภายในสังคม ทุกคนควรพยายามอย่างเต็มความสามารถ เพื่อผดุงคุณงามความดีของการดำรงอยู่ร่วมกันไว้ ด้วยเหตุนี้เอง คนในระดับจิตนี้จึงมักยึดถือบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และจะใช้บทบาทนั้นในทุกสถานการณ์ เช่น บุคคลที่มีบทบาทเป็นครู ก็จะสวมบทบาทครูทั้งในโรงเรียนและในบ้าน เป็นต้น งานวิจัยพบว่า ร้อยละ ๔๓-๔๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี มีจิตอยู่ในระดับจิตที่สาม หรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างระดับจิตที่สามกับสี่
ระดับจิตที่สี่: จิตประพันธ์ตน (Self-authoring Mind)

ณ ระดับจิตที่สี่ จิตประพันธ์ตนเป็นจิตผู้รู้ใหม่ และจิตตามสังคมกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตประพันธ์ตนจะวางระบบการจัดการที่เป็นกลางจากข้อตกลงเฉพาะกลุ่ม สามารถสร้างและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ นโยบาย และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ระบบทำงานบรรลุผล มีหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีในการปฏิบัติงาน สามารถประเมินผลงานและกระบวนการทำงานได้อย่างเป็นระบบ การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เกิดจากการเลือกวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสังคม เขามีสิทธิ์ในการเลือกชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเขาเอง โดยไม่ถูกชี้นำจากสังคม โลกของคนระดับจิตนี้จึงมักมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ เป้าหมาย และการสัมฤทธิ์ผล งานวิจัยพบว่าร้อยละ ๑๘ – ๓๔ ของผู้ใหญ่ระหว่างอายุ ๑๙-๕๕ ปี สร้างความหมายและความจริงตามระดับจิตนี้

ระดับจิตที่ห้า: จิตวิวัฒน์ตน (Self-transforming Mind)

เป็นโครงสร้างจิตที่มีความสลับซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่งานวิจัยค้นพบในปัจจุบัน ณ ระดับจิตนี้ จิตวิวัฒน์ตนเป็นจิตผู้รู้ และจิตประพันธ์ตนเป็นสิ่งที่ถูกรู้ โดยจิตวิวัฒน์ตนจะเชื่อมโยง ประสาน ข้ามกระบวนทัศน์ ข้ามระบบความสัมพันธ์ต่างๆ เนื่องด้วยเล็งเห็นว่า ความชัดเจนจากการวางระบบในบางครั้งอาจกลายเป็นกรอบที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และยากต่อการปรับตัว เมื่อเกิดสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ความสามารถในการถักร้อยระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ใหม่ บางครั้งอาจหมายถึงการวิวัฒน์ไปสู่ระบบความสัมพันธ์ใหม่ โลกของคนในจิตระดับนี้ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกันคนละระบบ แต่ทั้งหมดต่างก็ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นทางรอดของสังคม ชุมชน และตนเอง สรรพสิ่งมีความสมบูรณ์และเป็นองค์รวมในตัวมันเอง การจะเข้าใจความสมบูรณ์ได้ อาศัยการวิวัฒน์ตนเองให้สอดคล้องไปกับการวิวัฒน์ของจักรวาลที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและสร้างสรรค์ งานศึกษาของคีแกนยังไม่พบหลักฐานว่ามีใครอยู่ที่ระดับจิตห้าอย่างเต็มขั้น พบแต่เพียงหลักฐานบุคคลที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากระดับจิตที่สี่ถึงระดับจิตที่ห้ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๓ - ๖ ของผู้ใหญ่อายุระหว่าง ๑๙-๕๕ ปี

เมื่อคีแกนวางรากฐานทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ-ประกอบสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาและลาเฮเพื่อนนักวิจัยของเขา ได้ร่วมกันคิดค้นว่า เขาจะช่วยให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิตได้อย่างไร ยี่สิบกว่าปีของการทดลอง นำมาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพอใจ กลายเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยให้คนปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริง แปรเปลี่ยนจากความตั้งใจอย่างจริงใจ ให้กลายเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำได้จริง แบบฝึกหัดดังกล่าวเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลง” (Immunity to Change)

เขาพบว่าการพาคนให้พบกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด (optimal conflict) ภายในตัวเอง จะช่วยให้คนเติบโตและเปลี่ยนแปลงระดับจิต เหตุผลที่เรียกว่าความขัดแย้งที่ดีที่สุด ก็เพราะว่าความขัดแย้งนั้นทำให้เรา ๑. เกิดความสับสน งงงวย ลังเล กลับไปกลับมา มาอย่างยาวนาน ๒. จนทำให้เรารู้สึกได้ถึงข้อจำกัดของวิธีการรับรู้ของเรา ๓. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้ชีวิตในบางด้านที่เราใส่ใจ และ ๔. มีเหตุปัจจัยรองรับอย่างเพียงพอ ที่ทำให้เราไม่สามารถหลุดออกจากความขัดแย้งนั้นได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถหลีกหนีหรือปฏิเสธมันได้

ความขัดแย้งที่ดีที่สุดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรายังคงดำรงอยู่ในจิตระดับหนึ่งๆ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไประดับถัดไป การมีแบบฝึกหัดที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องฉายแสงเอ็กซเรย์เข้าไปในจิตใจ จนเห็นทะลุปรุโปร่งถึงการทำงานของความขัดแย้งที่ดีที่สุด จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่ออกจากกับดักของความขัดแย้งนั้น

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำเสมอไป ภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลงที่ถูกสร้างขึ้นในตัวมนุษย์ ก็มีเหตุผลของตัวมันเอง ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ในโลกได้อย่างสมดุล เพียงแต่เมื่อใดก็ตาม ที่จุดสมดุลนั้นไม่อาจรองรับความซับซ้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป มนุษย์ก็จำเป็นต้องเคลื่อนตัวไปสู่ความไร้สมดุล เพื่อพบกับจุดสมดุลทางจิตที่รองรับความซับซ้อนใหม่ได้

เอกสารอ้างอิง: 1. Kegan, R. (1982) The Evolving Self: Problem and Process in Human Development. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 2. Kegan, R. (1994) In Over Our Head: The Mental Demands of Modern Life. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.; 3. Kegan, R. and Lahey, L. (2009) Immunity to Change: How to Overcome it and Unlock the Potential in Yourself and Your Organization. Cambridge, Mass: Harvard University Press.

Back to Top