สนทนา ศรัทธา และความรู้

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2547

เคยลองสังเกตบ้างไหมครับว่า เวลาเราพูดคุยกันเพื่อให้ได้ทั้งความรื่นรมย์และความรู้ใหม่ๆ อะไรคือเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยเหล่านี้มักดำรงอยู่เวลาเราหันหน้ามาพูดกัน

ประการแรก ชุดภาษาที่เลือกใช้ บ่อยครั้งทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความหมายร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความรู้ก็ตาม เช่น หากพูดเรื่องป่าหรือระบบเกษตร ชาวบ้านจะมีความรู้เยอะ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการ ดังนั้น แม้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อใช้ภาษาไม่เหมือนกัน ก็จำต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือความหมายร่วมในการสนทนาเสียก่อน

ประการที่สอง มิติเชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในทัศนคติของบุคคลและกลุ่ม อำนาจที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะมีอำนาจ หรือเพื่อกดทับการแสดงออกทางความรู้ของกลุ่ม มิติเชิงอำนาจนั้นไม่มีตัวตนในทางวัตถุ แต่ดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับ เช่น ในวงสนทนาที่มีเจ้านายกับลูกน้อง ครูใหญ่กับครูน้อย หรือคนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่สาม วิธีการถ่ายทอดความคิดออกไป โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นการนำเสนอด้วยความมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นเช่นนั้นจริง เป็นสัจจะ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่อยากให้เปลี่ยน ทั้งที่โดยทั่วไป ความคิดจะตั้งอยู่บนกรอบคิดหรือสมมติฐานหนึ่งๆ เสมอ

ประการที่สี่ การถือว่าความคิดเห็นเป็นของตน มีเจ้าของ ปัญหาจึงอยู่ที่ความคิดเห็นนั้นถูกยึดว่า “เป็นของ” เป็นสมบัติที่ต้องได้รับการปกป้อง หวงแหน ราวกับชีวิตตัวเอง

แต่หากวงสนทนานั้นๆ รู้เท่าทันและพยายามเป็นอิสระจากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ย่อมมีโอกาสก่อประกอบความรู้หรือปัญญาใหม่ๆ ร่วมกัน บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจ ความปรารถนาดีและความศรัทธา

เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องศรัทธากับการแสวงหาความรู้เท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่าศรัทธาเป็นผลมาจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงต้องอาศัยแรงศรัทธาในการต่อกรกับความไม่รู้ ยิ่งในทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม ศรัทธาเป็นอุปสรรคต่อความรู้เลยทีเดียว เพราะเป็นการเลือกเปิดให้กับความรู้บางชุด (ที่ศรัทธา) และปิดความรู้ชุดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด แต่ในทางศาสนานั้น ศรัทธาเป็นที่มาของประสบการณ์ตรงอันเป็นความรู้ของจิต จึงเป็นกิริยาที่ช่วยเปิดประตูเพื่อเข้าถึงความรู้ชุดหนึ่งซึ่งมีลักษณะกว้างใหญ่กว่าความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของความคิดหรือคำพูด คือเป็นอวจนปัญญานั่นเอง

จากมุมมองของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ในฐานะผู้เรียนรู้ เราไม่สามารถปลอดพ้นไปจากทัศนะใดๆ ได้ แต่มักจะมีกรอบหรือสมมติฐานในการมองเรื่องต่างๆ ซึ่งมีส่วนในการกำหนดตัวความรู้ที่เกิดจากการตีความของเรา ไม่มีความรู้ที่ปราศจากการตีความ ลักษณะที่ว่า เห็นอย่างเป็นเช่นนั้นเอง หรือ อย่างเป็นตถตา นั้น คงต้องฝึกกันอย่างมากเพื่อให้เท่าทันสมมติฐานของตัวเอง

แล้วศรัทธามันมาเกี่ยวอะไรกับการสนทนาเพื่อหาความรู้ล่ะ ก็ในการสนทนาแบบสืบค้นร่วมกัน (collective inquiry) หรือที่ตอนนี้เรียกกันอย่างคุ้นหูว่าสุนทรียสนทนานั้น ความสามารถในการเดินทางหรือนำพาตัวเองเข้าสู่พรมแดนของความไม่รู้นั้น จำต้องอาศัยความอดทนและศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า การเดินทางนั้นจะสิ้นสุดลงที่ใด เนื่องจากเป้าหมายของการสนทนาในลักษณะนี้ไม่ต้องการให้ไปพบที่สิ้นสุดของขอบแดนแห่งความรู้ หากต้องการเดินออกจากพรมแดนของความรู้อันจำกัดที่มีมาแต่เดิมมากกว่า

ดังนั้น การดำรงอยู่ในความไม่รู้นั้น จึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการเดินทาง การที่เรายังไม่สามารถหาข้อสรุปรวบยอดได้นั้นไม่เป็นไร หรือแม้จะไม่มีความจริงสูงสุดหรือสัจจะ แต่ก็กระทำการแบบเดินไปค้นหาไป ยิ่งค้นหาความหมายร่วมกับคนอื่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก็ยิ่งไม่เปล่าเปลี่ยว หากแช่มชื่นและมีพลัง เหมือนกับการเดินเก็บก้อนกรวดของเด็กน้อย ดังกวีบทข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายรักการแต่งงานของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ได้กล่าวถึงศรัทธาไว้อย่างชัดเจนว่า

ยังมีอะไรอีกมากรอให้เราค้นหา
เหมือนเด็กน้อยเดินเก็บก้อนกรวด
ฉันมีความสุขเหลือเกิน
เพราะเธอคือต้นธารแห่งปีตินั้น
เพราะเธอส่องรัศมีสว่างใส

ประตูนี้เปิดคอยเธออยู่
เพียงเธอก้าวเท้าเข้ามา
เธอก็จะพบความสัตย์ซื่อที่จริงใจ

ศรัทธานั้นสำคัญยิ่ง
อะไรอื่นก็ช่างมัน
เพราะศรัทธาคือช่องทางสู่ทุกสิ่ง

มาสิที่รักของฉัน
เริ่มต้นด้วยกัน
เผชิญการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เธอจะไม่มีวันเปล่าเปลี่ยว
ถ้าเราจูงมือไปด้วยกัน


เมื่อเปิดใจให้กับความไม่รู้ ให้ความหมายใหม่กับความไม่รู้ของเรา ว่าเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ยินดี มากกว่าเป็นความขาดพร่องที่จำต้องเติมเต็ม หรือกลบเกลื่อนปิดช่องโหว่ด้วยกลัวเสียหน้า หากสร้างความไว้วางใจว่า เมื่อสืบค้นร่วมกันแล้วก็จะไม่เปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ในจองจำของความรู้เดิม เราก็จะพบกรวดก้อนสวย สีสันแปลกตาแปลกใจออกไปเรื่อยๆ

Back to Top