การเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพื่อเรียนรู้



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังปีใหม่ ข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปเยือนอีสานร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อร่วมเรียนรู้กับกัลยาณมิตรท่านอื่นอีกเกือบสามสิบคนในฐานะนักเรียน คศน. รุ่น ๕

ในมิติการเดินทางในโลกกายภาพ การเดินทางไปอีสานถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของข้าพเจ้า เพราะแทบไม่เคยไปเที่ยวหรือมีเหตุให้ไปอีสานเลย ภาพอีสานในหัวตั้งแต่วัยเด็กก็คือร้อนและแล้ง ผิวดินแตกระแหง ก่อนเดินทางจึงต้องเปิดแผนที่และนั่งอ่านข้อมูลของจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสถานที่ที่จะไปในคืนก่อนเดินทาง และข้อค้นพบแรกของตนเองก็คือ มีความรู้เรื่องอีสานและประเทศไทยอยู่ในระดับแค่หางอึ่งเท่านั้น

เนื้อหาการเรียนรู้ในครั้งนี้แบ่งเป็นมิติประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง สอดคล้องตามชื่อหัวข้อกระบวนการเรียนรู้ “การเดินทางสู่ผืนแผ่นดินอีสาน เรียนรู้วัฒนธรรม ตามรอยประวัติศาสตร์ ถอดรหัสการเมืองอีสาน”

การรู้จักกับอีสานในมิติประวัติศาสตร์ผ่านชั่วโมงอีสานศึกษาบนรถกับการเยี่ยมชมโบราณสถานและสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้ความเข้าใจเรื่องอีสานจากเดิมที่เป็นเสมือนภาพแบน-แบนสองมิติในหัวเริ่มถูกสลักสกัดให้เป็นประติมากรรมสามมิติ เมื่อบวกมิติที่สี่ คือเวลาทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของแผ่นดินอีสานมากขึ้น

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพชรบูรณ์ กับปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ บุรีรัมย์ ทำให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรโบราณต่อภูมิภาคแถบนี้ชัดเจน นารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี ก็ทำให้เราตื่นใจกับการเชื่อมต่อของภูมิภาคนี้กับโลกภายนอก เห็นการค้าระหว่างประเทศยุคก่อนโลกาภิวัตน์ที่ก้าวหน้าไปถึงการรับจ้างเป็นขุนนางและทหารรักษาพระองค์ และเห็นประวัติศาสตร์ของพระราชาที่เต็มไปด้วยการเมืองแห่งความไม่ไว้วางใจ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่วัดพระธาตุศรีสองรัก พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน บ้านเจ้าแม่เทียม เลย วัดทุ่งศรีเมืองและวัดสุปัฎน์ อุบลราชธานี ก็ทำให้เห็นร่องรอยการต่อสู้คัดง้างทางอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดการวัฒนธรรมของรัฐผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะความเชื่อหรือศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจของชุมชน


ประเด็นการจัดการกับกบฏผีบุญหรือผู้คนท้องถิ่นที่ต้องการสรรค์สร้างยูโทเปียของตนเองและปฏิเสธอำนาจการปกครองแบบรัฐชาติแบบรวมศูนย์ ประเด็นเผยแผ่อุดมการณ์รัฐชาติในอีสานผ่านสถาบันศาสนาอย่างธรรมยุติกนิกาย และประวัติศาสตร์ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงเล่าถึงความพยายามที่จะหลอมรวมแผ่นดินอีสานให้กลายเป็นไทยมากกว่าลาว ซึ่งรวมทั้งกรณีมรณสักขีแห่งสองคอน มุกดาหาร และสถานที่ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ดูมีชีวิตใกล้เข้ามาจนแทบจะหายใจรดที่ตัวก็คือ อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ สกลนคร ภูหินร่องกล้า พิษณุโลก และอนุสรณ์สถานวีรชนประชาชน อีสานใต้ บุรีรัมย์ ซึ่งสองแห่งหลังนี้เราได้พบกับอดีตสหาย ผู้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าของคนเล็กคนน้อยที่เคยคิดและต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ตามวิถีที่เขา/เธอเชื่อ ได้ย้อนอดีตไปยังในบรรยากาศแห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง มีโศกนาฏกรรมหลายเรื่องในนั้น แต่ก็ยังมีชีวิตในประวัติศาสตร์ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในการเมืองไทยปัจจุบันด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การได้เยือนภูหินร่องกล้า พิษณุโลก ได้เห็นความงามและความมหัศจรรย์ในทางธรณีวิทยาของลานหินปุ่มและลานหินแตกก็ทำให้ตระหนักได้ว่า ประวัติศาสตร์มนุษย์อันเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อสู้ฆ่าฟันกันมาทุกยุคทุกสมัยนั้นดูเล็กกระจ้อยร่อยยิ่งนักเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์นับล้านปีของก้อนหิน และตัวเราเองก็กำลังดำรงอยู่ท่ามกลางยุคสมัยของความขัดแย้งอันน่าหัวเราะนี้เสียด้วย ความท้าทายของคนรุ่นเราก็คงเป็นการรักษาความสามารถที่จะหัวเราะไว้ให้ได้กระมัง

ในแง่ของการเดินทางภายใน ข้าพเจ้าพบว่าการเดินขึ้นเขาที่วัดภูทอก บึงกาฬ ทำให้เห็นหัวใจตัวเองชัดเจนเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหัวใจทางกายภาพ ที่เพียงแต่เดินขึ้นบันไดไปไม่กี่ขั้นหัวใจก็เต้นแทบจะกระเด็นออกมาจากอกและทำให้เหนื่อยอย่างสุดแสน นี่คงเป็นผลกรรมของการไม่ยอมออกกำลังกาย แม้ว่าแขนขาจะมีแรง และมีเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะขึ้นไป สติปัญญาขณะนั้นจำได้แต่ว่า กล้ามเนื้อหัวใจเป็นประเภทอัตโนมัติ ไม่รับคำสั่งจากสมอง เราจึงไม่มีสิทธิ์จะสั่งให้หัวใจเต้นช้าเต้นเร็วได้ แต่ว่าเราสามารถกำหนดลมหายใจได้ จึงใช้วิธีหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปาก ปรากฏว่าเหนื่อยน้อยลง เมื่อใส่ใจแต่ลมหายใจเข้าออก ก็ไม่ต้องใส่ใจเรื่องจำนวนก้าว จำนวนขั้น ภายในสิบห้านาทีก็เดินถึงชั้นหก

บันไดเวียนรอบเขาในชั้นนี้ เป็นบันไดแคบราวหนึ่งเมตรติดกับหน้าผาที่สูงจากระดับน้ำทะเลราวสามร้อยเมตร หัวใจทางกายภาพไม่เต้นแรงหนักหน่วงแล้ว แต่ใจกลับสั่นไหววิบ-วิบ ความสูงขนาดนี้ และแผ่นไม้กระดานบาง-บางและดูเก่าในหลายจุด ต้องค่อย-ค่อยก้าวเท้าเดิน และไม่สามารถจะเดินทอดน่องชมทิวทัศน์และถ่ายรูปได้ในพร้อมกัน ความคิดทั้งหลายก็ดูเหมือนจะประเดประดังเข้ามาโดยฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อสะพานไม้ การคิดวางแผนที่จะวางเท้าในตำแหน่งต่างๆ ความอยากจะบันทึกภาพทิวทัศน์จากที่สูงให้คุ้มกับความเหนื่อยยากจากการเดินขึ้นมา ความกังวลว่ามือจะสั่นและทำกล้องพลัดหลุดจากมือ ความหงุดหงิดคับข้องที่ไม่มีเพื่อนร่วมทางมาร่วมทุกข์ด้วย ฯลฯ เมื่อความคิดเหล่านี้มากเข้าก็กลายเป็นอันก้าวเท้าไม่ได้ต้องหยุดสงบจิตสงบใจและตั้งใจใหม่ให้อยู่กับการเดิน เข้าใจแนวปฏิบัติว่าด้วยการเดินของวัดพลัมมากขึ้นก็คราวนี้ ที่ว่าเดินก็คือเดิน หยุดก็คือหยุด ชมทิวทัศน์ก็คือชมทิวทัศน์ ถ่ายรูปก็คือถ่ายรูป

ช่วงเวลาที่เดินอยู่บนบันไดเวียนเหนือหน้าผารอบภูทอกนี้กลับกลายเป็นเวลาที่รู้สึกว่าได้ผ่อนพัก กลับมามีแรง และมีความสดชื่นเบิกบานที่สุด ในระหว่างการเดินทางร่วมกับผู้คนจำนวนมาก การกลับมาอยู่กับตัวเองจึงไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ปลีกวิเวกและนั่งสมาธิ หากอยู่ที่การพยายามขโมยเวลาปัจจุบันที่เรามักอุทธรณ์ว่าเป็นของคนอื่นให้กลับมาเป็นของตัวเราเองให้ได้บ้างทีละน้อย จนกลายเป็นบ่อยๆ และต้องพยายามเข้มงวดกับตนเองให้มากขึ้น

มีผู้ตั้งคำถามกับคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ครูใหญ่ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ของ คศน. ว่า ทำไมมาอีสานแล้วจึงไม่ลงพื้นที่พบกับชาวบ้านที่กำลังต่อสู้กับประเด็นความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรในพื้นที่ คุณหมอตอบคำถามแทบจะในทันทีว่า ได้คิดถึงเรื่องนี้อยู่ และเคยทำไปแล้ว แต่ก็มาคิดทบทวนอีกหลายครั้งว่า ด้วยข้อจำกัดของเวลา การไปพบปะกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาในพื้นที่จริงนั้น ผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ย่อมได้รับประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเรียนรู้ของเรา และเราจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของชาวบ้านได้อย่างไร – คำตอบนี้สำหรับข้าพเจ้าถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างมากในความประณีตละเอียดอ่อนของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่คำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก เพราะจะว่าไปแล้ว ข้าพเจ้าคลุกคลีกับนักวิจัยอยู่จำนวนหนึ่ง และการลงพื้นที่พบปะกับเจ้าของประเด็นในหลายครั้งก็มักจะถูกถามว่า มาเรียนรู้แล้วได้อะไร? ชาวบ้านจะได้อะไร? ซึ่งคำตอบจะเป็นอย่างไรนั้นคงยังไม่สำคัญเท่ากับเราควรจะพยายามขบเคี้ยวคำถามทั้งสองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพ้นไปจากการตอบว่า “เรียนรู้เพื่อเรียนรู้” ให้ได้

Back to Top