กระตุ้นต่อมจิตสำนึกใหม่: ภาวะโลกร้อนกับชะตาคนไทย

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2550

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Change) มีผลกระทบโดยตรงต่อสรรพสิ่งในโลก และโดยเฉพาะมนุษย์

เพราะสรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

เมื่ออุณหภูมิของโลกถั่วเฉลี่ยค่อยๆ ร้อนขึ้น มนุษย์ได้เห็นสัญญาณเตือนภัย (Harbingers) ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ วิกฤติการณ์น้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่ม ไฟไหม้ป่า พายุบ้า...ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นเหล่านี้ มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นภาวะที่มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงหรือไม่

ลองมาพิจารณาสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ดู

มีการพูดถึงภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกกันมากขึ้นโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะมีผลทำให้เมืองหลายเมืองทั่วโลกจมหายไปในอนาคตที่ไม่ไกลเกินรอ

มีการค้นพบว่า การแข็งตัวของน้ำแข็งขั้วโลกช้าลง แต่ละลายเร็วขึ้น ส่อสัญญาณอันตรายต่อหมีและสัตว์ขั้วโลก

ความสูงของเทือกเขาหิมาลัยลดลงทุกปีเพราะหิมะที่ปกคลุมยอดภูเขาละลาย อุณหภูมิเฉลี่ยของบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ประเทศภูฐานและประเทศเนปาลสูงขึ้นประมาณ ๑ องศาเซลเซียส ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโลกร้อนว่าได้เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เฉพาะที่ทวีปเอเชียมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการร้อนขึ้น ของโลกปีละประมาณ ๑ แสน ๗ หมื่นคน ปัญหานี้จะทวีเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีดำเนินชีวิตโดยรวมหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ

ภัยธรรมชาติ หากเกิดขึ้น ยิ่งรุนแรงหรือเกิดบ่อยเท่าไหร่ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ที่ต้องพึ่งธรรมชาติก็จะยิ่งลำบาก เพราะขาดรายได้ สูญเสียที่ทำกิน เป็นหนี้สิน กลายเป็นปัญหาของรัฐบาล กระทบกับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยทั่วไป

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

สำหรับประเทศไทย หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรงและนานขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศเช่นในภาคกลาง ประกอบกับมีความแห้งแล้งต่อเนื่องในบางพื้นที่เช่นในภาคอีสาน ประเทศไทยจะยังคงเป็นอู่ข้าวอู่อาหารหลักของโลกได้หรือไม่

สัญญาณเตือนภัยสำหรับประเทศไทยมีมากมายพอควรที่นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารวบรวมไว้

พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน บริเวณกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา กำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง บ่อกุ้งและบ้านถูกน้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๒ กิโลเมตร

บางพื้นที่พื้นดินชายฝั่งทะเลสูญหายไป เช่นที่ชายทะเลบางขุนเทียน พื้นดินจมหายไปปีละประมาณ ๑๒ เมตร จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ๕ จังหวัดตอนบน ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะทาง ๑๐๖.๕ กิโลเมตร ถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งไปแล้วกว่า ๑๓,๗๐๐ ไร่

เฉพาะที่ชายทะเลบางขุนเทียน ชุมชนคลองประมง กว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ซึ่งเคยอยู่ห่างจากชายทะเล ประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันต้องถอยร่นประตูระบายน้ำ เพื่อใช้เลี้ยงกุ้งมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการย้ายประตูระบายน้ำแต่ละครั้งต้องลงทุนนับแสนบาท บางพื้นที่เคยมีแนวป่าชายเลนหนาแน่น มีต้นแสมหลายไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลซัดกัดเซาะอย่างรุนแรง ขุดรากถอนโคนต้นแสมจนหมด น้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการลงทุนนำหินมาถมเป็นเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะ แต่น้ำทะเลก็ยังทะลักท่วมที่ดินเข้ามา ๒๐๐-๕๐๐ เมตร ทำให้ต้องมีหนี้สินมากขึ้น บางครอบครัวต้องย้ายบ้านหนีน้ำถึง ๓ ครั้ง

วัดหงส์ทอง ตำบลสองคลอง ซึ่งมีโบสถ์อยู่กลางน้ำ เดิมทีที่ดินของวัดในโฉนดระบุว่ามีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลกัดเซาะเหลืออยู่เพียง ๘ ไร่เท่านั้น

ที่ชลบุรี ก็พบว่า ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ ระดับน้ำทะเลในจังหวัดชลบุรี เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณศาลาชายทะเลรวมใจ ในเขต อ.เมือง จ.ชลบุรี ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติเป็นอันมาก

ที่ภาคเหนือประสบกับปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดเป็นเวลานาน ส่งผลให้ดินบนภูเขาถล่มลงมาปิดเส้นทางคมนาคมหลายๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับพื้นที่ภายนอกได้ บ้านเรือนหลายแห่งหายไปกับสายน้ำ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เด็กๆ หลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องด้วยเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ประชาชนตื่นตระหนกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นระยะๆ

ในแง่ของสุขภาพอนามัย สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบ โรคภูมิแพ้ เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อันเนื่องมาจากความแห้งแล้ง เกิดไฟป่า ทำให้มีควันไฟปกคลุมไปทั่ว บางพื้นที่ก็เกิดภาวะทุโภชนาการเพราะมีความแห้งแล้งยาวนาน เป็นโรคขาดอาหารและน้ำ ผู้คนต้องอพยพหนีความลำบากเข้ามาหางานทำในเมือง บางพื้นที่มีน้ำท่วมใหญ่ ก็มีปัญหา โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า ท้องเดินท้องเสีย และโรคที่มากับน้ำอื่นๆ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรร่วมมือศึกษา วิจัย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบครบถ้วนเท่าที่มี แล้วเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบที่เป็นไปได้ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ มีการคาดการณ์แนวโน้ม และภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของโลกและสังคมไทย ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน มิใช่เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่เพื่อให้ตื่นตัว และตระหนักถึงอนาคตที่ตนเองมีส่วนร่วมสร้าง ร่วมทำลาย

มิใช่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพียงเพื่อการเตรียมตัวเผชิญ หรือหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เพื่อร่วมสร้างอนาคตร่วมกันอย่างมีสติ มีปัญญา และมีความรับผิดชอบต่อโลก ต่อประเทศ ต่อตนเองและสรรพสิ่ง

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

การเริ่มต้นวันนี้ ถึงแม้ว่าค่อนข้างจะช้า ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มต้น เพราะไม่มีโอกาสจะได้เริ่ม ขอให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของเวลาที่แต่ละคนมีเหลืออยู่ คิดและทำสิ่งดีๆ ให้กับโลก สังคมไทย ครอบครัว ตนเอง และสรรพสิ่ง เพื่อผ่อนคลายและพ้นภัยจากภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่สวยงาม สังคมดีมีสันติธรรม คนมีความสุข

ได้เห็นและชื่นชมความงามที่หลากหลายของธรรมชาติ มีอากาศที่บริสุทธิ์สำหรับหายใจ มีน้ำที่ใสสะอาด สำหรับดื่ม มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สำหรับทุกชีวิตอย่างพอเพียง บนโลกใบเดียวกันนี้

Back to Top