มนุษยชาติผู้เสียสละ?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2554

ฝนตกเมื่อย่ำรุ่ง พายุโหมโถมกระหน่ำเสียจนต้นไม้ใหญ่น้อยลู่เอน ใบตกพับลู่ศิโรราบต่อแรงลม ฟ้าแลบแปลบไปทั่วเมือง ราวกับค้นหาว่ามีผู้กล้าทายท้าออกจากบ้านอันอบอุ่นในยามนี้ไหม

ยามรักษาความปลอดภัยหนุ่มเดินออกมาจากป้อมเข้ามายืนมองดนตรีฝนภายในตัวตึก สองมือยกขึ้นอุดหูราวกับทนทานเสียงฟ้าร้องอันต่อเนื่องนั้นมิได้

แสงไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านหน้าประตู คนขับใส่เสื้อกันฝนคลุมหัวและตัวมิด โน้มตัวไปเบื้องหน้าขณะขับฝ่าออกไปถนนใหญ่ในโมงยามที่ห่าฝนกำลังเทตัวลงมา

กลิ่นดินลอยขึ้นมาทักทายจมูก อากาศรอบตัวยังอุ่นอ้าว ต่อเมื่อละอองฝนมากระทบตัวและกลายเป็นความชื้นตกค้างที่เสื้อผ้าจึงค่อยรู้สึกถึงความเย็นของน้ำ

ไฟดับเป็นครั้งที่สอง และทำท่าจะไม่มีแสงสว่างนานกว่าคราวแรก เสียงฟ้าคำรามราวกำกับตอบย้ำความเข้าใจว่าใช่แล้ว

รอบตัวมืดมิด มีเพียงความคิดที่ตื่นอยู่ - อยู่ในละอองฟุ้งกระจายของสายฝน หมอบนิ่งรอตะปบคว้าหนูหลงทาง

- ๑ –


สึนามิอีกแล้ว หลายคนอุทานในใจ ภาพคลื่นน้ำสีขาวค่อยไหลคืบคลานเข้าสู่แผ่นดิน ผลัก-ไถ-ท่วมทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นราบที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์ไปอย่างไม่แยแส – มือของแม่ธรรมชาติดูมีพลังน่าครั่นคร้ามยิ่งนัก

ระเบิดที่โรงงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นหลังแผ่นดินไหว เป็นอุทานที่สะท้านสะเทือนยิ่งกว่าอุทานแรก เทคโนโลยีแสนสะอาดแทบจะระเหิดระเหยกลายเป็นพิษร้ายในอากาศว่างเปล่าไปในพริบตา ราวกับว่าสัตว์เลี้ยงแสนเชื่องกลายร่างเป็นสัตว์ป่าดุร้ายที่ไม่รู้จักชื่อ และราวกับว่าเรือไทแทนิก – อวตารเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งศตวรรษปัจจุบัน – แล่นไปชนภูเขาน้ำแข็งและจ่อมจมลงต่อหน้าต่อตา

เหตุการณ์ที่เกิดสั่นคลอนความมั่นอกมั่นใจที่ว่า - เทคโนโลยีของมนุษย์ ผลผลิตแห่งสติปัญญาอันเลิศ จักควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในมือได้ – อย่างรุนแรง เยอรมนีถึงกับประกาศนโยบายทบทวนระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมด

- ๒ –


นิตยสารชปีเกลของเยอรมันให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า แม้เยอรมนีจะมีนโยบายลดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในประเทศ เพราะประชาชนในประเทศไม่ค่อยยอมรับพลังงานนิวเคลียร์สักเท่าไหร่ แต่นิวเคลียร์ก็เป็นธุรกิจส่งออกสำคัญยิ่งของประเทศนี้

ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างราว ๑๗๐ แห่ง ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์ ๕๖๐ เตา บริษัทเยอรมันคาดการณ์ว่าจะได้รับส่วนแบ่งตลาดราว ๖๒๘ พันล้านยูโร (๒๘ ล้านล้านบาท) โดยมีผู้สนับสนุนคนสำคัญคือรัฐบาลเยอรมันที่สนับสนุนการลงทุนของบริษัทเยอรมันในต่างประเทศแบบมีหลักประกันการขาดทุน รวมทั้งธนาคารยักษ์ใหญ่ในเยอรมันก็เป็นผู้ปล่อยกู้เงินก้อนใหญ่ในธุรกิจที่มีผลกำไรมหาศาลนี้

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานนิวเคลียร์บนแหลม Olkiluoto ในฟินแลนด์ ซึ่งถือว่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากเหตุเชอร์โนบิล ครึ่งหนึ่งของบริษัทที่เกี่ยวข้องราว ๑,๖๐๐ แห่ง เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน

- ๓ -


ถ้าไม่ถามถึงกากพิษ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานจากฟอสซิล ที่ว่าสะอาดนั้นหมายถึงสะอาดต่อโลก เพราะปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศน้อย ไม่นำไปสู่ปัญหาโลกร้อน

สำหรับคนบางคน ดังเช่น เจมส์ เลิฟล็อก นักวิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีกายา – โลกมีชีวิต – เขาเป็นผู้สนับสนุนอันเข้มแข็งในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่คงด้วยเหตุและผลที่แตกต่างกันกับบริษัทผู้ผลิตนิวเคลียร์ เพราะเขายืนยันว่า แม้สารกัมมันตภาพรังสีจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่กลับไม่เป็นอันตรายต่อโลกเลย ฉะนั้นเอง เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ มนุษยชาติก็ต้องเสียสละบ้าง (ฮ่า)

อย่างไรก็ดี เจมส์ เลิฟล็อก อาจจะยังไม่เคยเห็นงานวิจัยของเซอร์ไมเคิล มาร์ม็อต นักวิชาการชาติเดียวกับเขา ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ตีพิมพ์หนังสือ Closing the Gap in A Generation รายงานผลวิจัย ๔ ปีว่าด้วยความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพที่น่าสนใจว่า ในประเทศเดียวกัน ผู้คนยิ่งจน ยิ่งป่วย และยิ่งอยู่ในประเทศยากจน ประชากรยิ่งอายุสั้นกว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว คณะทำงานวิจัยยืนยันว่า ทั้งหมดทั้งนั้น เกิดจากโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและอยุติธรรม

ทายสิว่า – มนุษยชาติส่วนที่ต้องเสียสละ น่าจะอยู่ในประเทศแบบไหน?

- ๔ -


นิวเคลียร์ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐกับชาวบ้าน หรือประชาสังคมกับผู้มีอำนาจ กระทั่งไม่ใช่แค่เรื่องถกเถียงแต่เพียงสะอาดไม่สะอาด ปลอดภัยไม่ปลอดภัย หากยังเป็นเรื่องของข่ายใยธุรกิจข้ามชาติอันซับซ้อน มีทุนมหาศาลหนุนหลัง และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของการให้คุณค่าบางอย่างเหนือบางอย่าง – ถามว่า แล้วอะไรถูกอะไรผิด? อะไรคือทางเลือก? และเป็นทางรอดของใคร?

จิตวิวัฒน์ไม่ได้สนใจผลลัพธ์ หากสนใจกระบวนการทางปัญญา นั่นคือ โดยเหตุที่เราไม่ใช่กระต่าย เราจำต้องตื่นตัวมากกว่าตื่นตูม ไม่เชื่อตามกันไปอย่างง่าย-ง่าย ไม่ผลักภาระหน้าที่แห่งการแสวงหาความรู้ ความจริง และการตัดสินใจไว้ที่คนอื่น ไม่ว่าเราจะตัดสินใจเลือกหรือทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ประโยชน์ท่าน และบางครั้งก็รวมถึงประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าอีกด้วย

อาจารย์ประสาน ต่างใจ ท่านยืนยันเสมอว่า ต่อให้มนุษยชาติจะเลือกหนทางแห่งความพินาศดับของเผ่าพันธุ์ตัวเอง แต่จิตวิญญาณก็จะยังคงดำรงอยู่ และจิตวิญญาณนั้นก็ยังมีหน้าที่จะต้องวิวัฒนาการต่อไป แม้ว่าจะไม่มีรูปกายแห่งมนุษย์แล้ว

Back to Top