“ใช้กรรม” หรือ “ทำดี”?



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2558

“เจี๊ยบ” มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น ปีแรกๆ พี่ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ๆ ก็เริ่มขาดๆ หายๆ ทั้งๆ ที่ฐานะยังดีอยู่ เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ แต่พี่ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่ บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย

วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม ส่วนพี่ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย

เธอได้ฟังก็ทั้งผิดหวังและงงงวยว่า ทำไมเพื่อนจึงคิดเช่นนั้น ที่จริงเธอคงไม่รู้ว่า คนที่คิดอย่างเพื่อนของเธอนั้นมีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชอบเข้าวัดทำบุญ และจำนวนไม่น้อยก็เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติธรรม

น่าคิดอย่างมากทีเดียวว่า การดูแลพ่อแม่ในยามชราหรือยามเจ็บป่วยนั้น ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นความกตัญญูอย่างหนึ่ง ถือเป็นความดีในพุทธศาสนา แต่เหตุใดทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยจึงมองว่าเป็นการใช้กรรม (ซึ่งมีนัยยะของการถูกลงโทษ) ทัศนะเช่นนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งแพร่หลายมากในหมู่ชาวพุทธปัจจุบัน นั่นคือ เวลาเห็นใครประสบความเหนื่อยยากลำบาก ก็มักจะ “ฟันธง” ทันทีว่าเขากำลังใช้กรรม อันเป็นผลสืบเนื่องจากบาปในชาติที่แล้ว ส่วนใครที่สุขสบาย ก็เป็นเพราะเขากำลังเสวยผลแห่งความดีที่ได้ทำไว้ในชาติก่อน

ทัศนคติดังกล่าวเป็นการมองแบบเหมาคลุมมาก เพราะความเหนื่อยยากลำบากนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดีก็ได้ ขณะที่ความสุขสบายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการไม่ทำความดี เพิกเฉยหน้าที่ที่พึงกระทำ ยกตัวอย่างเช่น เด็กหญิง ก. เป็นคนที่เอาใจใส่ในการเรียน ขณะที่เด็กชาย ข. เป็นเด็กขี้เกียจ เป็นธรรมดาที่เด็กหญิง ก. ย่อมเรียนหนักกว่าเด็กชาย ข. แทนที่จะเที่ยวเล่นสนุกสนานหรือนั่งดูโทรทัศน์ก็ต้องตรากตรำทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ใครที่บอกว่าเด็กหญิง ก. เรียนหนักเพราะกำลังใช้กรรม ส่วนเด็กชาย ข. สุขสบายก็เพราะชาติที่แล้วทำกรรมดี แสดงว่าคนนั้นย่อมมีความเห็นผิดอย่างแน่นอน เป็นความคิดที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ

แน่นอนคงไม่มีชาวพุทธคนใดคิดว่าเด็กหญิง ก. กำลังใช้กรรม ตรงกันข้ามย่อมเห็นตรงกันว่าเธอกำลังทำความดี แต่เหตุใดเมื่อคนอย่างเจี๊ยบเหน็ดเหนื่อยจากการดูแลแม่ คนจำนวนไม่น้อยจึงคิดว่าเธอกำลังใช้กรรม ทำไมจึงไม่คิดว่าเธอกำลังสร้างกรรมดี ในทำนองเดียวกันเมื่อพี่ๆ ของเจี๊ยบสุขสบายเพราะไม่สนใจดูแลแม่ ทำไมชาวพุทธหลายคนจึงคิดว่าเขาเหล่านั้นกำลังรับผลจากการทำความดี เหตุใดจึงไม่คิดว่าที่พวกเขาสุขสบายเพราะละเลยการทำความดีต่อแม่บังเกิดเกล้า

การทำความดีนั้นคือการสร้าง “เหตุ” ส่วนการใช้กรรมนั้นคือการรับ “ผล” สองอย่างนี้แตกต่างกันมาก แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่อาจแยกแยะสองสิ่งนี้ได้ กล่าวคือถ้าใครประสบความเหนื่อยยาก ก็คิดว่าเขากำลังใช้กรรม ไม่ใช่เพราะกำลังเพียรทำความดี ถ้ามองให้ลึกลงไปก็จะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงทัศนคติที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การละเลยที่จะทำความดี หรืออาจถึงขั้นแยกไม่ออกระหว่าง การทำความดี กับ การทำความชั่วด้วยซ้ำ

กรณีของเจี๊ยบสะท้อนชัดเจนว่า ทั้งๆ ที่พี่ๆ ของเธอไม่สนใจดูแลแม่ที่กำลังป่วย แทนที่หลายคนจะมองว่านี่เป็นการละเลยหน้าที่ต่อบุพการี อันเป็นสิ่งที่ควรตำหนิ กลับมองว่าเป็นโชคของเขา (เพราะชาติที่แล้วเขาทำดี ชาตินี้จึงสบาย ไม่ต้องเหนื่อยกับการดูแลแม่) ส่วนเจี๊ยบซึ่งดูแลแม่ตัวเป็นเกลียว แทนที่จะผู้คนจะมองว่านี้คือการทำความดีที่ควรสรรเสริญ กลับมองว่าเธอกำลังรับโทษทัณฑ์อันเป็นผลจากบาปกรรมในอดีต

ถามว่าความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่ทัศนคติที่มองเห็นความเหน็ดเหนื่อยว่าเป็นเรื่องไม่ดี และมองเห็นความสุขสบายว่าเป็นเรื่องดี ทัศนคติเช่นนี้หากสืบสาวไปก็อาจพบว่าเป็นอิทธิพลของบริโภคนิยมที่เชิดชูความสะดวกสบาย ใฝ่เสพมากกว่าใฝ่ทำ เมื่อผู้คนมีความรู้สึกดีกับความสุขสบาย เวลาเห็นใครสุขสบาย ก็พยายามหาคำอธิบายแบบสำเร็จรูป และคำอธิบายส่วนหนึ่งก็คว้ามาจากคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะกฎแห่งกรรมตามที่ตนเข้าใจ

ผลก็คือ เวลาใครมีชีวิตที่สุขสบาย ก็ฟันธงว่าเป็นเพราะเขาทำกรรมดีในอดีตชาติ ทั้งๆ ที่หากใคร่ครวญดูดีๆ ก็จะพบได้ไม่ยากว่า ความสุขสบายของเขานั้นเกิดจากการละเลยหน้าที่ หรืออาจเกิดจากการทำความชั่วด้วยซ้ำ เช่น คดโกง หรือคอร์รัปชั่นด้วยซ้ำ

ในทางตรงข้าม เมื่อมีความรู้สึกลบกับความเหนื่อยยากลำบาก ก็เอากฎแห่งกรรมมาอธิบายอย่างง่ายๆ หยาบๆ ว่า เป็นเพราะเขาทำกรรมไม่ดีในชาติที่แล้ว ข้อสรุปดังกล่าวเท่ากับหนุนส่งให้ผู้คนไม่อยากทำความเพียร เพราะขึ้นชื่อว่าความเพียรแล้วย่อมหนีไม่พ้นความเหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานหนัก ผลก็คือชาวพุทธจำนวนมากกลายเป็นคนที่หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เอาแต่ทำบุญเพื่อหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลให้ร่ำรวยมีเกียรติยศ จะได้สุขสบายโดยไม่ต้องเหนื่อย ในทำนองเดียวกันหากทำความดีแล้วเหน็ดเหนื่อย ก็เลิกทำเช่นกัน

หากทัศนคติดังกล่าวแพร่หลาย ก็น่าห่วงว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร

Back to Top