พลังของการอนุญาต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2558

เวลาที่คุณไปหาหมอฟันเพื่อกรอฟัน คุณทำอย่างไร? นอนลงเหยียดยาว อยู่ใต้แสงไฟสว่างจ้าที่ยื่นออกมาจากแขนกล โต๊ะทำฟันเหมือนกับหุ่นยนต์แอนดรอยด์ในนิยายวิทยาศาสตร์ คุณกำลังถูกนักวิทยาศาสตร์ชั่วร้ายที่แอบอยู่หลังหน้ากากและชุดอันปกปิด ยื่นอุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กเข้ามาในปากที่ถูกบังคับให้เปิดอ้าด้วยเครื่องมือกล ปากของคุณถูกอ้าไว้อย่างนั้นในท่าที่ไม่สบาย กรามของถูกจัดวางอยู่ในมุมที่ปกติแล้วจะใช้เมื่อเวลามองเห็นพลุไฟเจิดจ้าบนท้องฟ้ามืดสนิทในคืนวันเฉลิมฉลอง แต่อนิจจา ตาของคุณมันใช้การไม่ได้เสียแล้ว เพราะผ้าบ้าๆ ที่จู่ๆ ก็เอามาวางทับไว้บนหน้าตาของคุณ อย่างช้าๆ เครื่องมือเหล็กนั้นเล่ามันรุกล้ำเข้ามาอย่างไม่ประนีประนอมกับเนื้อเยื่ออันอ่อนนุ่มในปากของคุณ

คุณกำลังถูกล่วงล้ำ...

แต่แล้วคุณทำอย่างไร...ในวินาทีที่เครื่องมือจักรกลทำเสียงดังหวือ และมันกำลังจะกระทบกับฟันซี่ที่ปวดเสียวแม้กระทั่งการกลืนน้ำลายเพียงหยดเดียว...

บางคนสวดมนต์ หรือภาวนาพุทโธ บางคนใช้การนึกถึงสถานที่ผ่อนคลายเช่น การไปเที่ยวทะเล หรือภูเขา พยายามจะนำสิ่งที่นักการละครเรียกว่า Emotion Memory หรือความทรงจำของอารมณ์แห่งความสุขกลับคืนมา บางคนพยายามจะกลับมาที่ลมหายใจแต่พบว่ามันยากเกินไปที่จะสังเกตลมหายใจในท่าที่อ้าปากแบบนั้น น้ำลายของคุณกระเด็นซ่านออกจากปากและโปรยละอองลงบนผ้าผืนที่ใช้ปิดหน้า ปิดตาของคุณ

ทั้งหมดมันยากเกินไป...

เพราะความเจ็บปวดทำงานอย่างต่อเนื่อง จี๊ดตรงนั้นที จี๊ดตรงนี้ที เวลาก็ดูจะผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน คุณพยายามโยกย้ายความเจ็บไปอยู่ที่อื่นโดยจิกเล็บเข้ากับกำมือของคุณ แต่ก็มีเสียงจากมนุษย์ต่างดาวบอกเป็นระยะๆ

“คนไข้ อย่าเกร็งสิคะ”

คุณอาจสบถอยู่ในใจ “XXXเอ๊ย ก็คุณไม่ใช่ผมนี่หว่า หมอสนุกมั๊ย เล่นกับไอ้ดิลโดเหล็กในมือนั่น ผมเป็นมนุษย์นะ ทุกอย่างที่ผมเป็นไม่ได้อยู่ในปากเอี้ยๆ นี่” ในที่สุดมาตรการสุดท้ายที่คุณพยายามจะใช้ก็ถูกปฏิเสธ คุณต้องกลับมาที่ศูนย์ใหม่ และรับความเจ็บปวดนั้นต่อไป

ในช่วงวินาทีแบบนี้ ที่ผมนึกถึงคำพูดของแมนนี่ “มันกำลังเกิดอยู่ เห็นมันหรือเปล่า” จริงสิ ไอ้ผมมัวแต่สรรหาสรรพวิธีในการบริหารจัดการความเจ็บ ทำให้ผมไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับความเจ็บปวดที่กำลังเกิดขึ้นว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ ผมพยายามที่จะเอาความหวานเคลือบความขมขื่นเอาไว้ และพยายามใช้ความคิดกลบเกลื่อนความรู้สึก

ผมไม่กล้าเผชิญ...

อีกนัยยะหนึ่ง ผมไม่เคย “อนุญาต” ให้ความเจ็บได้เดินทางเข้ามาทำความรู้จักกับผมอย่างซื่อๆ สำหรับความเจ็บแล้ว ผมก็เป็นผู้หญิงที่โคตรกระบิดกระบวนและมากมารยา

เชอร์เกียม ตรุงปะ กล่าวไว้ในหนังสือชัมบาลาว่า “ความไม่หวั่นกลัวเป็นผลมาจากความน้อมตนอย่างยิ่งยวด มันคือการยอมให้โลกได้เข้ามาเคล้าคลึงกับหัวใจอันเปล่าเปลือยของคุณ”

“อนุญาต” ต่างจากการสยบยอมต่ออำนาจภายนอก คำว่าอนุญาต หมายถึงความกล้าหาญที่ สตาร์ฮอว์ค เรียกว่า “อำนาจภายใน” ในการเลือกอย่างรู้ในเหตุและผลแห่งการเลือกของตน แมนนี่พูดถึงการรับผิดไม่รับชอบ เขาบอกว่า “ชอบไม่ต้องรับก็ได้ เพราะใครๆ ก็อยากรับ แต่ผิดน่ะต้องรับด้วย ถึงแม้จะไม่อยากรับ”

อนุญาตจึงเกิดจากเจตจำนง เกิดจากสภาวะความรู้สึกตัว ไม่ได้เกิดจากการชักจูงใจ หรือการทำตามๆ กันไปแบบที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู เรียกว่า “อัตโนมัติที่หลับใหล” มันเป็นสภาวะภายใน เพราะแม้แต่ขณะที่ผมกำลังถูกขึงพืดอยู่บนโต๊ะทำงานของทันตแพทย์ ผมก็ยังสามารถอนุญาตได้ ผมสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ

นอกจากความเจ็บปวด เราสามารถใช้การอนุญาตกับเรื่องอื่นๆ อีก ผมได้แนะนำผู้เข้าร่วมอบรมเรื่องการฟัง “หนึ่งวันสบายสนทนา” กับ ภินท์ ภารดาม* ให้รู้จักการ “อนุญาต” ให้ตัวเองได้ฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดและสื่อสารกับเรา มันดูเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะเราเองก็ได้ยินได้ฟังเป็นปกติอยู่แล้ว และเราก็เลือกไม่ได้ว่าเสียงไหนจะมากระทบหูของเรา แล้วเพราะเหตุใดจึงต้อง “อนุญาต” ให้ตัวเองได้ฟัง

เพราะการอนุญาตคล้ายกับการจัดเรียงอนุภาคภายในของร่างกายเสียใหม่ เป็นการตระเตรียมจิตใจอย่างกล้าหาญต่อสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟัง บางสิ่งบางอย่างที่เขาพูดอาจจะไม่ถูกใจเรานัก แต่เป็นเพราะเราอนุญาตแล้ว จิตใจของเราจึงไม่แข็งขืนปฏิเสธ เมื่อเราไม่ตกอยู่ในโหมดปกป้อง การฟังก็เกิดขึ้นได้โดยไม่สูญเสียพลังงาน เราจึงฟังได้โดยไม่ร้อนรนจนเกินไป ไม่หงุดหงิดจนเกินไป และเมื่อนั้นเอง การเรียนรู้และการคลี่คลายจะเกิดขึ้นเองตามที่ธรรมชาติของปัญญาจะจัดสรร

Back to Top