โดย
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กันยายน 2558
“เราคือใคร” เป็นคำถามที่มีนัยเชิงปรัชญาที่หลายครั้งมนุษย์ใช้ถามกับตัวเองเพื่อนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ ทบทวนชีวิต ซึ่งคำถามนี้มักจะเกิดขึ้นในยามที่มนุษย์เผชิญกับสภาวะที่ไม่แน่นอนหรือกำลังเปลี่ยนผ่าน จึงย้อนไปตรวจสอบความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตในอดีต เพื่อนำมากำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต
จากคำถามที่ปัจเจกใช้ถามตัวเอง “เราคือใคร” ได้กลายเป็นประเด็นคำถามที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในวงคุยของเอ็นจีโอและนักกิจกรรมสังคมตัวจริงเสียงจริงหลายรุ่นหลายวัย*ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการสนทนาในครั้งนี้
ความน่าสนใจของกระบวนการคุยคือการนำเส้นเวลา (Timeline) การทำงานขับเคลื่อนสังคมในรอบ 50 ปี มาให้คนในวงคุยใช้ทบทวน โดยจัดทำข้อมูลที่เป็น “หมุด” ทางประวัติศาสตร์ไว้ก่อนที่เส้นเวลา เช่น การเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504เหตุการณ์ทางการเมือง เช่น 14 ตุลา 2516 ประกอบกับข้อมูลการขับเคลื่อนงานสังคมที่มีการรวบรวมมาส่วนหนึ่ง เช่น การตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2516และที่สำคัญ คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมสนทนาได้เพิ่มเติมเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำ และที่เกิดจากการสนทนาร่วมกันเข้าไปในเส้นเวลาด้วย
บทบาทของเส้นเวลา (Timeline) จึงไม่ได้เป็นแค่การรวบรวมเรื่องของคนทำงานภาคสังคมในรอบ 50 ปีเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำ และก่อประกอบชิ้นส่วนเรื่องราวนับร้อยนับพันที่อยู่กระจัดกระจายให้เป็นรูปร่างบางอย่าง ซึ่งผู้เขียนสังเกตว่า เป็นตัวตนที่ชัดเจนร่วมกันของพวกเขา นั่นคือการเป็น “ผู้ท้าทายและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม”
เรื่องเล่าในวงแสดงให้เห็นความท้าทายเกิดขึ้นใน 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับสังคม ซึ่งเปรียบเหมือนพื้นที่วงกลมที่ซ้อนกันอยู่สามวง ปัจเจกเป็นวงในสุด วงถัดไปคือองค์กร และวงนอกสุดคือสังคม คนทำงานภาคสังคมมีบทบาทที่ท้าทายสลับสับเปลี่ยนอยู่ในพื้นที่วงกลมทั้งสามระดับนี้
ในระดับบุคคล จากการทบทวนและบอกเล่าประวัติชีวิตของคนทำงานภาคสังคมหลายคน ต่างมีความตั้งใจที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนเองมาทำงานเพื่อสังคม เช่น การมีความมุ่งมั่นว่าหลังจากเรียนจบจะทำงานช่วยเหลือชุมชนเมืองการเป็นครูอาสาในชุมชนเมือง การใช้ความรู้ด้านดนตรีสร้างวงดนตรีของกลุ่มแรงงาน การใช้งานทางวัฒนธรรม เช่น งานพิพิธภัณฑ์ สร้างความเข้าใจเรื่องแรงงานรวมถึงการใช้ความรู้หรือทักษะที่เรียนรู้เพิ่มเติมผ่านประสบการณ์ชีวิตมาทำงานขับเคลื่อนสังคม เช่น การเป็นนักสื่อสารประเด็นแรงงาน
ความท้าทายที่เกิดขึ้นในระดับองค์กร เช่น คนทำงานภาคสังคมในองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือเด็ก แต่ตัดสินใจขยายบทบาทของตนเองให้ครอบคลุมถึงการสร้างองค์กรชาวบ้านในชุมชนที่ไปทำงานด้วย การพาเพื่อนในองค์กรไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นความท้าทายที่มุ่งหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับชุมชน
การท้าทายระดับสังคมของคนทำงานขับเคลื่อนสังคม คือ การท้าทายวาทกรรมที่แฝงด้วยอคติด้วยการเสนอวาทกรรมใหม่มาทดแทน เช่น การใช้คำว่า “ชุมชนเมือง” ที่สร้างขึ้นมาแทน “แหล่งวิบัติ” “สลัม”หรือ “ชุมชนแออัด” การใช้ “แรงงานข้ามชาติ” แทน “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งการท้าทายกับสังคมด้วยวาทกรรมที่สร้างใหม่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประดิษฐ์คำขึ้นมาเท่านั้น แต่เป็นการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาในการพิสูจน์วาทกรรมใหม่เหล่านี้ด้วย เช่น การทำงานกับชุมชนเมืองที่ใช้เวลาเกือบ 30 ปี ขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างตัวตนและการยอมรับกับสังคม
ปฏิบัติการเพื่อสร้างวาทกรรมของคนทำงานภาคสังคมในหลายๆ เรื่อง คนทำงานภาคสังคมต่างเห็นร่วมกันว่าได้กลายเป็นนวัตกรรมของสังคม เช่น การศึกษาทางเลือกเกษตรยั่งยืนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรกลุ่มออมทรัพย์การมีตัวตนของคนจนเมืองการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหภาพ และประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็น คือการท้าทายทั้งสามระดับของคนทำงานภาคสังคมมีความเชื่อมโยงกันคือ “เจตนารมณ์ ” ที่ต้องการสร้างเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีบทบาทในการกำหนดอนาคตตัวเอง
การทบทวนบทบาทการทำงานขับเคลื่อนสังคมจากชีวิตของตนเอง และทบทวนร่วมกันกับวงคุยเพื่อหาจุดร่วม ถือเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่การ “กรุยทาง” ที่จะไปต่อในอนาคต ซึ่งความท้าทายในก้าวต่อไปคือคนทำงานภาคประชาสังคมมาถึงจุดที่จะต้องเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรนั้นไม่มีสูตรตายตัว เนื่องจากต่างก็มีความรู้ ความถนัดในแบบของตนเอง “ใครอยู่ในสนามไหนก็ต้องชกในสนามนั้น” ไม่จำเป็นต้องทำงานขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบเดียวกันหมด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหลากหลายของคนทำงานภาคสังคมต่างเห็นตรงกันว่าโจทย์ร่วมที่รอท้าทายอยู่ คือการพูดคุยสื่อสารกันให้มากขึ้นในกลุ่มคนทำงาน เพื่อก้าวข้ามพื้นที่ กลุ่มเป้าหมาย ประเด็น นำไปสู่การสร้างขบวนที่มีพลังในการเสนอทางเลือกให้กับสังคม เหมือนที่เคยเป็นมาในรอบ 50 ปี
แสดงความคิดเห็น