โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2558
มีเรื่องเล่าของนักเดินเรือในทศวรรษที่สิบเก้า ว่าได้พบเจอหมีขั้วโลกบางตัวเวลาออกล่าแมวน้ำ มันจะลื่นไถลไปบนน้ำแข็งโดยนอนคว่ำหน้า และเมื่อใกล้จะถึงเป้าหมาย มันจะพรางตัวโดยการยกขาหน้าของมันมาปิดจมูกเอาไว้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตะปบเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
ในย่อหน้าที่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่อ่านต้องนึกเห็นภาพหมีขาวตัวเบ้อเริ่มกำลังนอนเอาท้องแปะบนพื้นน้ำแข็ง แล้วยกขาหน้ามาแปะจมูกตัวเองเอาไว้อย่างทุลักทุเล ซึ่งเป็นภาพที่น่าขบขัน หรือไม่ก็น่าเอ็นดู และถึงแม้ไม่ได้มีการพูดถึงสีสัน ภาพในจินตนาการของผู้อ่านก็จะต้องเป็นหิมะขาวโพลน หมีสีขาวขนปุย และที่แน่ๆ จมูกของมันต้องเป็นสีดำ
ความรู้ทางประชานศาสตร์ หรือ วิทยาการเรียนรู้ (Cognitive Sciences) บอกเราว่า การสร้างจินตภาพเหล่านี้จำเป็นต่อความเข้าใจเวลาที่เราอ่านหรือฟังเรื่องราวอะไรก็ตาม ผมขอเรียกกระบวนการนี้ว่าอัตนิมิต (Embodied Simulation)
การค้นพบเรื่องอัตนิมิตทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเรื่องกระบวนการ “ทำความเข้าใจ” ของมนุษย์ผ่านภาษา เพราะได้ค้นพบว่ามนุษย์เราใช้มุมมองจากร่างกายของตนเองเป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างโลกแห่งความเข้าใจภายใน เช่นประโยคที่ว่า ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด ถ้าหากไม่มองเป็นสำนวน แต่ให้นึกถึงช้างตายจริงๆ เราก็คงนึกถึงภาพช้างทั้งตัวนอนอยู่ และมีใบบัวใบหนึ่งวางอยู่บนตัวมัน (และแน่นอนว่าปิดไม่มิด) พวกเราส่วนใหญ่คงต้องเห็นภาพแบบนี้ คงไม่มีใครนึกเป็นภาพในระยะใกล้จนเห็นขนตาช้าง หรือเป็นภาพระยะไกลจนเห็นช้างตัวเท่ามด (ไม่ใช่สำนวน) เพราะเราต่างใช้ประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ซึ่งในอัตนิมิตของเรา ภาพที่สบายต่อการจินตนาการก็คือภาพของช้างในระยะเหมาะสมที่เราจะเห็นด้วยตา พูดง่ายๆ เราไม่ได้มองโลกผ่านสายตาของพระเจ้า คือมองเห็นหมดทุกมุมของช้าง หรือสายตาของไส้เดือน (ถ้ามันมีตา) คือมองจากด้านใต้ผืนโลกขึ้นมา เราเลือกมุมที่จะมอง และมุมนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ และนักประชานศาสตร์ค้นพบว่ามันเกี่ยวโยงกับภาษาที่เราใช้อย่างแยกไม่ออก
มนุษย์เราคิดเป็นภาษาที่ตนคุ้นเคย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การเรียนภาษาใหม่จึงคล้ายเป็นการเปิดโลกอีกใบที่เราไม่รู้จัก ภาษาช่วยทำให้เราเข้าใจมโนทัศน์ที่ซับซ้อนของโลก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นข้อจำกัด คล้ายนิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง เพราะมันทำให้เราต้องมองโลกผ่านมุมมองหนึ่งๆ และบางทีเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้จักช้างตัวจริงๆ เนื่องจากคลำอยู่แค่อวัยวะเพียงบางส่วน
ความรู้เรื่องอัตนิมิตยังบอกกับเราต่อไปว่า มนุษย์เราตัดสินสิ่งที่เราอ่านหรือฟังตลอดเวลา และถ้าปราศจากกระบวนการตัดสิน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนถามเราว่า “มีดอยู่ไหน” แล้วเราตอบว่า “มีดอยู่ในครัว หยิบชามมาให้ด้วย” สามารถเข้าใจได้ว่า ผู้พูดกำลังบอกผู้ฟังว่ามีมีด(หั่นเนื้อ)อยู่ในครัว และให้หยิบชาม(และมีด) ออกมาด้วย แต่ถ้าเรามีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเผอิญมีชื่อว่า “มีด” ประโยคนี้อาจจะเป็นการบอกว่าคนที่ชื่อ “มีด” นั้นกำลังอยู่ในครัว โดยทั่วไป เมื่อคนได้ยินคำว่า “มีดอยู่ในครัว” ส่วนใหญ่ก็ต้องนึกถึงเครื่องครัวที่เอาไว้หั่นผักหั่นเนื้อ แต่ในวินาทีต่อมาเราจะเปลี่ยนการตัดสินของเราเมื่อนึกขึ้นได้ว่า มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อมีดกำลังทำกับข้าวง่วนอยู่ในครัว
ดังนั้นมันจึงทำให้เราต้องตั้งคำถาม สำหรับนักจิตวิวัฒน์ที่ใช้กระบวนการสุนทรียสนทนาในการสร้างความรู้ใหม่ โดยอ้างอิงข้อความของเดวิด โบห์มที่ว่าให้ “ห้อยแขวน” การตัดสิน แต่วิทยาการเรียนรู้ทำให้เราเข้าใจว่า การทำเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าปราศจากการตัดสินตามลำดับขั้น (Incremental Simulation) เราจะไม่อาจเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้เลย
นักวิทยาการเรียนรู้ไม่ได้มาถึงข้อสรุปด้วยการคาดเดา พวกเขาใช้การทดลองที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ รวมทั้งการสแกนคลื่นสมอง ผลจากการสแกนคลื่นสมองทำให้พบความรู้ใหม่ที่บอกกับเราว่า ภาษามนุษย์แม้แต่ที่เป็นระดับนามธรรมหรืออุปมาอุปมัย ล้วนเกี่ยวข้องกับสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย และถ้อยคำที่ใช้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ในประโยค เช่น “
จับใจความ” “
ยกตัวอย่าง” “
ยื่นความจำนง” “
ถ่วงเวลา” “
กดราคา” ฯลฯ ล้วนส่งผลให้เซลล์ประสาท (นิวรอน) ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเกิดการยิงสัญญาณไฟฟ้าออกมาโดยสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ทำจริงๆ ด้วยร่างกาย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เวลาเราขับรถจึงไม่ควรพูดโทรศัพท์ไปด้วย เพราะในภาษาพูดซึ่งใช้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอันเดียวกันมันแฝงฝังการกระทำอยู่
ความรู้นี้บอกกับเรากลายๆ หรือไม่ว่า ถ้าหากเราต้องการจะยกระดับปัญญาฐานคิดที่ปฏิบัติการเชิงนามธรรม เราต้องให้ความสำคัญกับปัญญาฐานกาย หรือประสบการณ์ตรงด้วย เพราะทั้งสองอย่างเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออก ในขณะที่นักวิทยาการเรียนรู้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องปัญญาฐานใจ หรือความรู้สึก เพราะเป็นสิ่งที่อาจจะวัดผ่านสมองไม่ได้หรือไม่ชัด แต่ผมเชื่อว่าปัญญาฐานใจหรือเรื่องความรู้สึกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญญาทั้งสองฐานที่กล่าวมาแล้ว ดังจะเห็นได้ว่ามนุษย์บางคนชอบใช้ภาษาคิด หมายถึงใช้ภาษาที่มีลำดับขั้นของความเป็นนามธรรมสูง (เช่น ภาษาวิชาการ) บางคนถนัดใช้ภาษาใจ ซึ่งพูดเรื่องความรู้สึกที่วัดได้ด้วยใจ (อารมณ์ ความรู้สึก) แต่บางคนถนัดที่จะใช้ภาษาของฐานกาย เช่น พวกกระทิง ที่มักจะออกคำสั่งให้ผู้อื่นทำนั่นนี่ ด้วยถ้อยคำที่บ่งชี้ถึงการกระทำ (action words) แต่มาวันนี้ เราได้รู้ว่ามันไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เกี่ยวข้องกันแบบบูรณาการ จะดีแค่ไหนถ้าเราตระหนักตรงนี้และเลือกใช้โหมดภาษาให้เหมาะกับบุคคลที่เราต้องการสื่อสารได้โดยอิสระ
ผมเห็นมิตรสหายบางคนใช้แต่ภาษาทางวิชาการในการสื่อสารทุกเรื่อง แต่ภาษาในลักษณะนี้ชาวบ้านร้านตลาดฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมีระดับความเป็นนามธรรมสูง และบางครั้งตัวเขาเองก็ไม่มั่นใจ ต้องมาถามผมหลังจากการเสวนาทางวิชาการว่า เขาพูดรู้เรื่องไหม ผมก็บอกไปตามตรงว่าไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งๆ ที่การเรียบเรียงประโยคถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์หมด แต่ทำไมมันไม่เกิดผลกระทบกับใจคน แต่เวลาผมฟังเทพกีตาร์ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่อยู่กับโลกของเสียงเพลงมากกว่าเสียงพูด คือถนัดใช้ภาษาใจมากกว่าภาษาคิด การเรียบเรียงประโยคของเขาก็เป็นแบบอินดี้ คือบางทีก็ไม่มีประธาน บางทีก็ไม่มีกรรม และขาดแหว่งเป็นห้วงๆ แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับฟังรู้เรื่อง และสิ่งที่เขาพูดกระทบใจผมมากกว่า
เวลาทำละคร ผมจะพบเจอคนหลายแบบ แต่คนที่ใช้โหมดภาษาคิด และไม่มีพัฒนาการด้านภาษาใจและภาษาจากฐานกาย เวลาเล่นละครจะเห็นชัดว่าพวกเขามีบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมชาติ ดูแข็งกระด้าง เพราะพวกเขาไม่มีภาษาที่จะบรรยายความรู้สึกด้านใน ส่วนพวกที่ใช้ภาษาจากฐานใจมากเกินไป ก็อาจจะขาดภาษาในระดับปฏิบัติการที่จะบอกถึงเจตจำนง หรือความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน ส่วนพวกที่ชอบใช้ภาษาฐานกาย (รวมทั้งชอบใช้ร่างกาย) จะรู้สึกไม่โอเคที่จะต้องมีบทพูดบอกเล่าเรื่องราวเชิงนามธรรมยาวๆ หลายบรรทัด
ศาสตร์แห่งวิทยาการเรียนรู้ ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ในอนาคตน่าจะมีการค้นพบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการทำความเข้าใจของมนุษย์ ซึ่งความรู้ในแขนงนี้ อย่างน้อยได้บอกกับเราว่า พวกเราน่าจะออกแบบห้องเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ เสียใหม่ โดยลดเรื่องการท่องจำถ้อยคำ แต่หันมาเน้นความเข้าใจที่เกิดจากประสบการณ์ตรง หรือผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น การตีความวรรณกรรม ซึ่งนักวิทยาการเรียนรู้พบว่า ได้ผลคล้ายกับการมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง และถ้าจะให้ดี ในโรงเรียนทุกแห่งควรจะมีโรงละคร เพื่อให้เด็กได้ทดลองมีประสบการณ์ตรงเพื่อพัฒนาภาษาฐานกายและภาษาใจ ถ้าเราเชื่อว่าแต่ละประสบการณ์ตรงจะก่อให้เกิดต้นทุนอันอุดม ซึ่งส่งผลทำให้เด็กสามารถพัฒนาอัตนิมิตของตัวเองได้อย่างรุ่มรวย การเรียนรู้ในเชิงนามธรรมในลำดับขั้นอุดมศึกษาจะไม่ใช่เรื่องยาก และใครจะไปรู้ ฟิสิกส์กับละครเวทีอาจจะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ขัดกันแบบที่เคยเข้าใจกันมาแต่ก่อนหน้านั้นก็ได้
ย้อนกลับมาที่หมีขาวขั้วโลกในย่อหน้าแรก เผื่อคุณสนใจและจะไปค้นหาในยูทิวบ์ น่าเสียดายที่ว่าหลังจากบันทึกในศตวรรษที่สิบเก้าแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าได้พบเห็นพฤติกรรมการปิดจมูกเพื่อพรางตัวของหมีขาวขั้วโลกอีก เราจึงอาจสรุปได้ว่า เรื่องนี้เป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นสนุกๆ เท่านั้น
แสดงความคิดเห็น