ไดอะล็อคด้านมืด



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2558

ปีนี้เป็นปีดีแน่ๆ สำหรับชีวิตผม เป็นปีที่เพื่อนเก่าๆ กลับมาคืนดี ถึงวันนี้ก็นับได้สองราย ที่จริงจะว่าให้เป็นปริมาณก็หาไม่ หากเลขสองก็มากกว่าเลขหนึ่ง และสองก็อาจก่อประกอบเป็นแบบแผนเล็กๆ ได้ เช่นอาจจะกล่าวได้ว่า ปี ๒๕๕๘ เป็นปีแห่งการคืนดี ทำให้ผมอยากพูดถึงเรื่องไดอะล็อคด้านมืด (dark side) หรือถอดบทเรียนไดอะล็อคด้านมืดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อย ที่จริงอาจจะเป็นเพียงการตั้งต้น และจะไม่สมบูรณ์หากคนที่นิยมไดอะล็อคด้านมืดไม่ได้มาถอดบทเรียนเองหรือมาร่วมกันถอดบทเรียนด้วยกัน


การตัดสิน

เรื่องหนึ่งที่ผมจะนำเสนอไดอะล็อคด้านมืดก็คือ การตัดสินผู้อื่น หรืออีกนัยหนึ่ง การพูดความจริง (อาจจะเป็นคำเรียบง่ายเกินไปในไดอะล็อคด้านมืด) แล้วลองเอามาเทียบเคียงกับคำว่า “การโยนตัวกวน” ของงานกระบวนการว่า จริงๆ แล้วคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ไดอะล็อคเป็นการพูดคุยที่มีวินัยเข้ามากำกับ จะสำเร็จเป็นผลดีต้องเป็นวินัยที่มาจากภายใน และจะยิ่งดียิ่งขึ้น ถ้าวินัยนั้นได้ซึมซับเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของผู้พูดแล้ว และวินัยที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการห้อยแขวนการตัดสิน พูดภาษาชาวบ้านคือการไม่ตัดสินเพื่อนๆ ในวง และไม่เพียงแต่ไม่ตัดสินโดยการกล่าวออกมา หากไม่ตัดสินแม้ในใจเลยทีเดียว เพราะหากเราตัดสินในใจแล้ว การฟังของเราจะไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้ฟังเอาเลย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แม้เป็นเพียงการพยายามไม่ตัดสินคนอื่นในใจของเรา ความเป็นไดอะล็อคก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว


คุณค่าของไดอะล็อคด้านมืดและจุดบอด

ไดอะล็อคด้านมืดน่าจะมีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่ด้วย มิฉะนั้น คงไม่มีเสน่ห์และดำรงอยู่อย่างคงทนมาจนถึงทุกวันนี้

คุณค่าหนึ่งที่ผมเห็นคือ การลอกคราบเปลือกนอกที่เราต้องประนีประนอมยอมความตามมารยาทสังคม โดยใช้คำพูดดีๆ ส่งผ่านกันไปมา แต่ก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้คุยอะไรกันเลย เพราะมีแต่คำป้อยอกันไปมา ประโยชน์ของไดอะล็อคด้านมืดก็คือ ลอกคราบเปลือกนอกของสังคมเหล่านี้ออกมา

องค์ประกอบหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ไดอะล็อคด้านมืดเป็นไปได้อย่างมีพลังก็คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย เพราะไปปลดล็อคตัวห้าม ที่เรียกว่า inhibitor ไม่ให้หักห้ามสิ่งที่เราจะได้อาย หรือไปปลดล็อคสิ่งที่เป็นกรอบประนีประนอมของขนบทางสังคมทั้งหลายส่วนหนึ่ง แต่การลอกคราบซึ่งกันและกัน หรือการปลดล็อคอาจจะไปได้ไกลกว่านี้ คือไปถึงการช่วยกันตีหรือชี้จุดบอดของกันและกัน

จุดบอดของคนแต่ละคนตามความหมายของคำศัพท์นี้ คือจุดที่เรามองไม่เห็น เป็นความยึดมั่นในตัวตนของเราที่คนอื่นจะเห็นได้ แต่เรานั่นแหละที่ไม่สามารถเห็นจุดบอดของตัวเอง เมื่อมีคนอื่นมาชี้จุดบอดให้แก่เราได้ ย่อมเป็นพรอันประเสริฐใช่ไหม?

แต่เราจะพูดได้ด้วยไหมว่า ไดอะล็อคด้านมืดนี้ อาจจะไม่ใช่สิ่งดีงามสำหรับทุกคน หรือทุกวง เช่น บางคนอาจจะไม่พร้อมกับการถูกลอกคราบตัวตนในระดับเปล่าเปลือยในจังหวะเวลานั้นๆ หรือในวงสนทนาอาจจะไม่มีสัตบุรุษ หรือความเป็นสัตบุรุษ (eldership) เพียงพอต่อการช่วยเปิดจุดบอดอย่างเห็นแก่ประโยชน์ของคนคนนั้นจริงๆ อาจจะไม่ใช่การตีจุดบอดอย่างพอดีๆ แต่ล่วงล้ำกล้ำเกินไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและการเป็นปฏิปักษ์ ก่อให้เกิดความโกรธเกลียดกันอย่างปราศจากปัญญาได้ด้วยหรือไม่


ความสลับซับซ้อนของไดอะล็อคด้านมืด

เริ่มแรกเลย ผมนึกถึงประเด็นเรื่องศักดิ์กับความเท่าเทียม เรื่องสัตบุรุษกับคนที่ดำรงอยู่ในความปั่นป่วน ซึ่งจะหมายถึงการหลงยึดอยู่ในอัตตาของตัวเอง ที่เรียกว่าอัตวาทุปาทาน

หากเราไม่ทำงานกับศักดิ์หรือศักดิ์ศรีของตัวเอง เวลาเราปั่นป่วน หรือมีใครมาสะกิดปมของเราเข้า ในความปั่นป่วนนั้น เราจะใช้ศักดิ์ของตัวเองกดข่มคนอื่นมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเท่าเทียมก็งอกเงยขึ้นมาไม่ได้

เมื่อเราฝึกฝนตัวเองดีพอระดับหนึ่ง (ไม่ได้หมายถึงสำเร็จเสร็จสมบูรณ์) เราก็สามารถมีคุณสมบัติของสัตบุรุษที่มี “หน้าต่างของขันติธรรม” กว้างพอ เราทำงานกับบุคลิกภาพของตัวเองให้สามารถเคลื่อนย้ายตัวตนเข้าไปในบุคลิกภาพอันหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราหมั่นไส้ รำคาญ รังเกียจผู้คนน้อยลง เพราะเราล้วนมีบุคลิกภาพอันหลากหลายเหล่านั้นอยู่ในตัวเองด้วย เราจึงไม่คับแคบ เป็นได้ทั้งสุภาพชน นักเรียนแถวหน้า และอันธพาล นักเรียนแถวหลัง ได้อย่างสบายๆ เราไม่ได้คับแคบอยู่ในบุคลิกอันธพาล โดยรังเกียจรังงอนไม่ยอมรับสุภาพชน หรือเป็นสุภาพชนที่ยอมรับอันธพาลไม่ได้

สัตบุรุษย่อมทำงานกับความปั่นป่วนของตัวเอง โดยอาจผ่านพ้นไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนที่ยังไปพ้นไม่ได้ เมื่อความปั่นป่วนเข้ามา ก็ให้ตระหนักรู้ และไม่กระทำการใดๆ ออกไปจากความปั่นป่วนนั้นๆ หากรู้เท่าทัน และรู้ว่าสัญญาหรือการรับรู้ของเราจะวิปลาสหรือบิดเบี้ยวเพียงไร และให้ความปั่นป่วนนั้นผ่านพ้นไป อย่างไม่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

ดีกว่านั้นขึ้นไปอีก แทนที่เราจะลอกคราบเพื่อนๆ เรากลับหันมาลอกคราบตัวเอง โดยเอาความสั่นไหวเปราะบางของตัวเองออกมาแสดง ออกมาสาธิตให้วงไดอะล็อคได้คุยกัน ที่ผมอยากเห็นคือ บรรดานักเลงไดอะล็อคด้านมืดทั้งหลาย เอาตัวเองออกมาเล่นหรือให้คนอื่นเล่น เพื่อค้นหาและข้ามพ้นจุดบอดของตัวเอง

ในบรรดากิเลสมนุษย์ นอกจากเรื่องอำนาจที่มากับโทสะหรืออาการโกรธเกรี้ยวแล้ว นับว่าความโลภเป็นกิเลสที่ใหญ่หลวงอีกประการหนึ่ง บางทีเมื่อเราทำงานกับด้านที่เป็นความไม่เพียงพอในตัวเรา มันจะกลายมาเป็นจุดบอดที่มีคนชี้ให้เราเห็น และเราอาจมองไม่เห็นความน่าเกียจด้านนี้ของตัวเอง ในด้านกลับกัน บางคนก็งำกิเลสตัวนี้ของตนเองได้อย่างแนบเนียน แต่ที่จริงแล้วยังติดยึดหลงอยู่ในทั้งลาภยศและชื่อเสียงทั้งหลาย

หากเรายอมรับว่ามันมีอยู่ และทำงานกับความปั่นป่วนต่อความกลัวจนยาก ความเป็นคนอัตคัดขัดสนอย่างเปิดเผยมากขึ้น บางทีเราอาจจะทะลุเรื่องเช่นนี้ได้อย่างงดงาม หากเราทราบว่า ลึกลงไป ทั้งๆ ที่เรามีมากพอแล้ว เรายังโหยหาวัตถุสิ่งของ และความมีหน้ามีตา อาจจะเป็นได้ไหมว่า เรายังไม่เข้าใจเรื่องความรัก และยังไม่ได้ทำงานกับมันอย่างพอเพียง

Back to Top