วิกฤตสามวิ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2558

เคยสังเกตไหมว่าเวลาที่เด็กหกล้ม เขาจะหันไปมองคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ และในสามวินาทีนั้น ถ้าหากพ่อแม่ทำหน้าตกใจ เด็กจะร้องไห้โฮออกมาทันที แต่กลับกัน ถ้าทำเฉยๆ หรือยิ้มให้แล้วอาจจะพูดว่า "เป็นไงไหวไหมจ๊ะ" เด็กก็อาจจะลุกขึ้น ปัดฝุ่นแล้วบอกว่าไม่เป็นไรครับ/ค่ะ แล้ววิ่งเล่นต่อไป

ช่วงเวลาสามวินาทีนั้น กำหนดพฤติกรรมของเด็ก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เด็กยังไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร หรือควรจะมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น พวกเขาจึงหันมาที่ผู้ใหญ่เพื่อมองหา "สัญญาณ" บางอย่างที่ตัวเองจะจับไปใช้สำหรับการแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น และเมื่อได้ทำแบบนั้นบ่อยเข้า ก็จะเกิดเป็นแบบแผนของนิสัยประจำตัวที่เอาไว้ใช้เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเพราะเด็กพึ่งพา "ความรู้สึก" มากกว่าผู้ใหญ่ซึ่งมักจะใช้ "ความคิด" เป็นหลักในการเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ต่างๆ

ฟังๆ ดูเหมือนกับผมกำลังจะบอกว่าปฏิกิริยาของเด็กที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ นั้น เด็กเฝ้าดูจากสังคมเป็นเกณฑ์ แทนที่จะสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเอง อันนี้เราต้องแยกว่าปฏิกิริยาที่พูดถึงสามารถแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกก็คือความรู้สึก และส่วนที่สองคือพฤติกรรม


ในส่วนของความรู้สึก ความรู้สึกของเด็กเป็นสากล เช่น การหกล้ม ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเป็นสากล ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เจ็บเหมือนกัน แต่พฤติกรรมที่แสดงออกนั้น เป็นขั้นตอนต่อมา พฤติกรรมเช่นการร้องไห้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้และเลือกใช้ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นการเลือกโดยที่เด็กรู้สึกตัว เอาเข้าจริงมันเป็นพิมพ์เขียวซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทางสมองเรียกว่าเป็นการสร้างข่ายใยของเซลล์สมอง ซึ่งเมื่อใช้ไปบ่อยครั้งเข้าพฤติกรรมนั้นก็ง่ายที่จะเกิดขึ้นอีก จนกลายเป็นนิสัยของเด็กที่เปลี่ยนได้ยาก

แล้วพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นแบบนี้ไหม? แน่นอน ไม่แตกต่างกัน

จิตวิทยาแนวพุทธบอกกับเราว่า เมื่อมีอารมณ์ (external stimulus) มากระทบจิตใจเรา ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึก ต่อจากนั้นเราจะเกิดการกระทำทางใจ ที่เรียกว่า มโนกรรมติดตามมาด้วยความเร็วมาก แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวกำหนดการกระทำของจิตใจเสมอไป เช่น ถ้าหากมีใครต่อว่าหรือพูดจาเสียดสีเราไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือต่อหน้าก็ตาม จะมีความรู้สึกซึ่งภาษากระบวนกรเรียกว่า "จี๊ด" คือ ความทุกข์ที่เกิดกับใจของเรานั่นเอง ซึ่งบางทีแสดงออกเป็นอาการทางกายให้เราสัมผัสได้ เช่น หัวใจเต้นถี่ หายใจกระชั้น หน้าแดง ฯลฯ ดังนั้น ความทุกข์ก็คือ "ความรู้สึก" ที่สัมผัสได้จริงกับร่างกายและจิตใจ

ถัดมา สิ่งที่จะเกิดกับใจของเราก็คือ มโนกรรม เช่น "ความไม่ชอบใจ" หรือ "ความชอบใจ" เพราะคงไม่มีใครชอบใจที่ถูกต่อว่า แต่สิ่งที่คนทั่วไปไม่ทราบก็คือ "ความไม่ชอบใจนั้นไม่ใช่ความรู้สึก" (ความรู้สึกมีสุข ทุกข์ และเฉยๆ)

แต่เป็นการกระทำของจิต (Mind Action) ซึ่งเกิดจากความคุ้นชินในการรับมือกับอารมณ์ที่เข้ากระทบจิต เช่นเดียวกับเด็กที่หกล้ม ถ้าเรามีแนวโน้มที่จะฉุนเฉียวเวลาได้ยินคำพูดเสียดสี หรือต่อว่า เราก็จะทำอย่างนั้น วงจรทางจิตที่ถูกทำซ้ำๆ จนกลายเป็นแบบแผนฝังลึก (Hard Wired) ก็จะทำให้เราถูกกระตุกด้วยอารมณ์ที่เข้ามากระทบได้ง่าย

แล้วสามารถแก้ไขวงจรนี้ได้ไหม?

ได้ แต่ไม่ง่าย!! มันอยู่กับเรามานาน การแก้วงจรมีทางเดียวคือ การสร้างแบบแผนพฤติกรรมใหม่ จัดเรียงโครงสร้างของเซลล์ประสาทใหม่ แต่ช้าก่อน สำหรับคนที่กำลังคิดว่าจะสะกดจิตตัวเองโดยการฟังเทป หรือท่องบ่นมนตราทุกเช้าเย็น ผมจะบอกว่าวิธีการแบบนั้นใช้ไม่ได้ในระยะยาว เพราะเหตุว่าการสะกดจิตตัวเองด้วยวิธีการเช่น NLP นั้น มันไม่ได้เป็นการจัดเรียงอะไรใหม่ แต่เป็นการไปเพิ่มโปรแกรมให้รันคู่ขนาน ลองคิดดูว่าการเปิดวิทยุไปพร้อมๆ กันสองเครื่อง ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร

วิธีการที่ได้ผลกับผมและสังฆะ "ตกตั้งใหม่" ก็คือ การ "ตัดวงจร" ให้สั้นลง ยกตัวอย่างเรื่องความโกรธ ความขุ่นมัว เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ไม่มีมนุษย์ปุถุชนคนไหนจะหยุดกระบวนการที่รู้สึก "จี๊ด" นี่ได้ ส่วนจะมีมากหรือน้อยก็แล้วแต่บุคคล ที่แน่นอนก็คือ เราไม่อาจหยุดความรู้สึกของเราไม่ให้เกิดได้ กระบวนการที่ช่วยบรรเทาก็คือ ไม่ปล่อยให้มันลุกลาม เพราะความรู้สึกจี๊ดจะให้พลังกับความโกรธ และมันจะรุมกินโต๊ะ โดยพนักงานก็แสนจะขยันเสริฟ "ความคิด" แย่ๆ อย่างไม่ยอมให้หยุดพัก กว่าเจ้าตัวจะรู้สึกตัว ก็ถูกมันเล่นงานจนอ่วมเสียแล้ว

การตัดวงจรต้องอาศัยความเข้าใจกระบวนการอ้วนขึ้นของความโกรธเสียก่อน ถ้าเราเข้าใจว่าแม้แต่ความคิดก็เป็นอาหารของความโกรธ เราต้องฝึกตัวเองให้มีความสามารถพิเศษ เรียกว่า ความสามารถในการดักจับ "ความคิด" ของตัวเอง จากประสบการณ์ของนักปฏิบัติในนิกายเซน ได้บอกกับเราว่า ในขณะคิดเราจะไม่รู้ตัวว่าคิด ดังนั้น เราจะรู้ไม่ได้ว่าตัวเองกำลังคิด อันนี้เป็นเรื่องยอกย้อน เราจึงไม่อาจตัดวงจรความคิดได้ด้วยความคิด คำถามคือ ถ้าอย่างนั้นแล้วจะให้ทำอย่างไร

ต้องอาศัยความ "รู้สึกตัว"

เมื่อรู้สึกตัวชัดๆ กระบวนการคิดจะหยุดชะงัก ถ้าทำบ่อยๆ จิตเราอาจจะมีประสิทธิภาพจดจำได้ว่า เมื่อสักครู่นี้เราคิดอะไร ถ้าจริงใจกับตัวเอง เราจะรู้ว่าความคิดเรามักวนเวียนอยู่กับเรื่องแย่ๆ ยิ่งรู้สึกตัวได้เร็วเท่าไหร่ เราจะออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้เร็วเท่านั้น

เช่นเดียวกับเรื่องเด็กร้องไห้ คุณมีเวลาไม่มากนักแค่สามวินาทีเท่านั้น เมื่อใจหกล้ม ใจจะเริ่มตกไปสู่การคร่ำครวญ และวงจรอุบาทว์ของความคิดผนวกความชิงชังจะเริ่มทำงาน ถ้าเราไม่ต่อเรื่องราวความคิดด้วยการหาเหตุผลและกลับมาที่ความรู้สึกตัว วงจรก็จะถูกตัดรอน และเราจะกลับสู่โหมดปกติ

สามวินาทีไม่ได้มากมายอะไร มันไม่ใช่การไปนั่งหลับตาทำสมาธิเป็นชั่วโมงอย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้ามถ้าคุณนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง แต่เมื่อเรื่องราวมากระทบใจ คุณกลับไหลตามมันไป คุณก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ไม่ได้ฝึกจิตเลย

มีคนถามผมว่า ทำไมคนนั่งสมาธิแต่กลับโกรธรุนแรงกว่าคนทั่วไป

คำตอบก็คือ เขาไม่ได้ฝึกรับมือกับช่วงเวลาวิกฤตสามวินาที นั่นเอง

Back to Top