COPAR: งานวิชาการที่ทำไปพร้อมกับการจัดตั้งชุมชน



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558

ช่วงเวลาหนึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์ทำงานในโครงการที่นำความรู้ทางมานุษยวิทยามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนนำความรู้ไปขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงงานที่ทำมีความแตกต่างจากชุดประสบการณ์เดิม ที่ถูกฝึกให้เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาที่เข้าไปสังเกตศึกษาเรียนรู้ชุมชนและตีความตามประสบการณ์ของตนเอง การทำงานช่วงแรกความเข้าใจที่มีต่อ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน” จึงเป็นไปอย่างตื้นเขินจนกระทั่งผ่านไประยะหนึ่งจึงเรียนรู้ว่าเมื่อเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนการเรียนรู้ร่วมกัน สามารถเกิดขึ้นได้และมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนโดยมาตระหนักในเวลาต่อมาว่า กระบวนการทำงานนี้ที่จริงแล้วก็คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหรือ PAR (Participatory Action Research) ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดนักวิจัย“คนใน” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนตนเอง

อย่างไรก็ตามการทำงานที่ผ่านมาผู้เขียนขาด “จิ๊กซอว์” ที่จะต่อภาพการทำงานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะสื่อสารในระดับโครงสร้างส่งผลให้โครงการไม่ได้ดำเนินงานต่อ และกลายเป็นประเด็นที่ครุ่นคิดมาตลอดว่าทำอย่างไรงานที่ใช้ความรู้เพิ่มอำนาจคนในชุมชน ถึงจะมีความยั่งยืนได้จริงจนกระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกสมาคมเพศวิถีศึกษาจึงพบว่า “จิ๊กซอว์” ที่หายไปคือกระบวนการวิจัยที่เรียกว่า “COPAR” อาจารย์สุชาดาอธิบายถึงกระบวนการวิจัยว่ามีหลายเฉดตั้งแต่ PR (Participatory Research) คือการอบรมให้ชุมชนเป็นผู้เก็บข้อมูล PAR (Participatory Action Research) คือกระบวนการฝึกคนในชุมชนให้ทำวิจัยเองและนำผลวิจัยนั้นมาแก้ปัญหาของชุมชนและ COPAR (Community Organizing Participatory Action Research) คือการใช้กระบวนการ PAR เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งชุมชนด้วยการปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนในชุมชน

จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรจัดตั้งชุมชนหรือ CO (Community Organizing) ซึ่งเป็นกระบวนการเสริมสร้างอำนาจให้กับผู้ที่ถูกกดขี่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมที่มินดาเนาประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังจากนั้นไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสหรัฐอเมริกาประกอบกับความสนใจในประเด็นสตรีนิยม (Feminism) ทำให้อาจารย์นำ COPAR มาใช้ทำงานเพิ่มอำนาจผู้หญิงในชุมชนด้วยจุดยืนที่“รักในมนุษยชาติไม่ใช่แค่ต่อสู้ว่าผู้หญิงต้องเท่ากับผู้ชายแต่คิดว่าทำเพื่อลดความทุกข์ของคนไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความเชื่อความคิดการปฏิบัติที่เกิดจากโครงสร้าง” กลุ่มที่ทำงานด้วยคือผู้หญิงหรือคนชายขอบเช่นผู้หญิงม้งพนักงานขสมก. ผู้หญิงมุสลิมผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

กระบวนการ COPAR แบ่งออกเป็นสามช่วงช่วงที่หนึ่งคือการปรับฐานคิดปรับมุมมองเรื่องเพศภาวะ (Gender) เพศวิถี (Sexuality) ความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจการปรับฐานคิดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่แกนนำชุมชนต้องอบรมก่อนเริ่มกระบวนการ PAR เพราะเป็นการ “สะเดาะกุญแจ” หรือปลดล็อกตนเองสิ่งที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงภายในตนเองคือมองปัญหาเพศวิถีเชื่อมโยงกับตนเองตระหนักว่าปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญนั้น เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเช่นประเพณีพิธีกรรมจารีตศาสนาไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลช่วงที่สองคือ กระบวนการทำวิจัยตั้งโจทย์สร้างทีมเก็บข้อมูลทำวิจัยและทำเวทีคืนข้อมูลช่วงนี้ กระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสองส่วนส่วนแรกคือการเก็บข้อมูลซึ่ง “นวด” วิธีคิดของคนในชุมชนสร้างพื้นที่พูดคุยสิ่งที่ไม่ได้พูดคุยกันในชีวิตประจำวันการพูดคุยจึงไม่ได้เป็นเพียงการเก็บข้อมูล แต่เป็นการเรียนรู้เรื่องราวความทุกข์ความสุขที่เกิดขึ้นของคนในชุมชนส่วนที่สองคือ เวทีคืนข้อมูลซึ่งมีความสำคัญและขาดไม่ได้นักวิจัยชุมชนจะเป็นผู้เตรียมวิธีการนำเสนอทั้งประเด็น และกระบวนการจัดเวทีเช่นการกำหนดกลุ่มผู้เข้าร่วมโดยเป็นการเลือกในเชิงยุทธศาสตร์เน้นหาพันธมิตรสนับสนุน และขับเคลื่อนงานต่อไปได้เช่นผู้นำชุมชนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เวทีคืนข้อมูลต้องเป็นเวทีเปิดเพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อตกลงร่วมกันในการทำงานต่อไป หลังจากนี้จะเป็นช่วงที่สามคือปฏิบัติการคนในชุมชนเป็นแกนหลัก ขับเคลื่อนงานกันเองทีมนักวิจัยนอกชุมชนจะถอยออกมา

ถึงแม้เริ่มงานจากฐานชุมชนแต่ COPAR เป็นการทำงานเชื่อมโยงกัน“สามเส้า” คือนอกจากชุมชนแล้วยังต้องมีนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่มาทำงานร่วมกันซึ่งสถานการณ์จริงยังเกิดขึ้นไม่มากนักเนื่องจากนักวิชาการที่สนใจ COPAR มีน้อยมากและแทบจะไม่มีเมื่อเฉพาะเจาะจงไปที่ประเด็นสตรีนิยมอีกทั้งนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็น “ตัวต่อ” ที่สำคัญก็พบว่ามีจำนวนน้อยเช่นกันที่มองเห็นศักยภาพชุมชนและมีวิธีทำงานแบบเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน COPAR จึงเป็นงานที่ละเอียดอ่อนยากใช้เวลาและท้าทายกรอบคิดของสังคมอีกทั้งกระบวนการทำงานที่เน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวคน มักถูกตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไรซึ่งอาจารย์อธิบายเป้าหมายของ COPAR ว่าเป็นการสร้างพลังร่วมของชุมชนภาพสุดท้ายที่อยากเห็นคือแกนนำในชุมชนกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสามารถยกระดับไปสู่การเป็น Resource person หรือคนที่มีศักยภาพสร้างคนรุ่นใหม่ได้เองสามารถขยายงานได้เองในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งแสวงหาแหล่งทุนและทรัพยากรในการทำงานได้ ซึ่งเป็นการทำงานที่ยั่งยืนลดการรวมศูนย์อำนาจสร้างและเปิดโอกาสให้กับองค์กรชุมชน (Community Based Organization: CBO) COPAR จึงเป็นงานจัดตั้งชุมชนที่ต่างจากงานจัดตั้งขององค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐตรงที่ใช้ฐานงานความรู้มาเพิ่มอำนาจให้กับชุมชนหัวใจของ COPAR อยู่ที่การปรับฐานคิดและนำงานความรู้ที่สร้างจากกระบวนการมีส่วนร่วมมาทำให้คนที่ถูกกดขี่หรือคนชายขอบมีอำนาจในการจัดการตนเองและชุมชนได้ ซึ่งเป็นงานที่มีรากฐานทางความคิดมาจากการศึกษาเพื่อปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ของเปาโลแฟรร์ (Paulo Freire)

งานยากที่ต้องใช้เวลาความมุ่งมั่นและทุ่มเท ให้เกิดคำถามถึงอนาคตและความหวังของงานจัดตั้งชุมชนบนฐานของงานความรู้ “ถ้ายังทำงานแบบนี้แสดงว่ายังมองโลกในแง่ดีและยังมีความหวังการทำงานกับพื้นที่ ทำให้เห็นความปรารถนาดีของคนที่มีต่อคนอื่นมากมายเห็นคนที่อยากทำงานเพื่อส่วนรวมเวลาลงไปทำงาน จึงมีพลังเวลาเราลงชุมชนเราจะเห็นคนแบบนี้อยู่เยอะเพียงแต่เขาจะมีโอกาสไหมในการนำความปรารถนาดี ที่เขามีต่อคนอื่นออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่การทำงานอย่างนี้จึงเป็นการสร้างพื้นที่สร้างโอกาส” คำตอบของอาจารย์จึงสะท้อนถึงพลังและความหวังรวมทั้งเสริมสร้างกำลังใจให้กับนักจัดตั้งชุมชนได้เป็นอย่างดี

Back to Top