โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558
เกือบสองปีของการมีประสบการณ์ตรงในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ใน “โครงการประเมินโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินไปใช้ในการประเมินโครงการ
บอกได้อย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า การประเมินแนวใหม่นี้เหมาะมากกับการประเมินโครงการ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสำเร็จ และความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การปฏิบัติจริง ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ จึงขอนำมาเสนอเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ
ในฐานะที่ผมเป็นทีมประเมินที่ทำหน้าที่หลักในการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาไปเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งในช่วงของการประชุมเชิงปฏิบัติการสามฝ่ายระหว่างเจ้าของโครงการ (กรมชลประทาน) ทีมพัฒนา และทีมประเมิน และโดยเฉพาะในช่วงปฏิบัติจริงในเกือบสองปีที่ผ่านมา โดยส่วนตัวผมมีความสุขและสนุกกับโครงการนี้มาก เพราะมีความเชื่อเบื้องต้นโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนของชุมชนบุกเบิกทั้งสี่ชุมชนในสี่จังหวัดนำร่อง (พิษณุโลก กาญจนบุรี ศรีสะเกษ และมหาสารคาม) และมีโอกาสที่จะเป็นต้นแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพัฒนา ขยายฐานการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนให้กับชุมชนอื่นต่อไป
ในช่วงเริ่มต้นโครงการ สมาชิกส่วนใหญ่ในแต่ละฝ่ายทั้งสามฝ่าย ต่างสะท้อนในการประชุมร่วมกันและวงสุนทรียสนทนาว่า ตนเองยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าจิตตปัญญาคืออะไร ไม่คุ้นกับกัลยาณมิตรประเมิน จึงไม่แน่ใจว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมีหลักการ รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการอย่างไร จึงเกิดการประสานงานให้มีการประชุมร่วมกันสามฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่กรมชลฯ และที่จุฬาฯ โดยมีผมเป็นวิทยากรพูดให้ฟัง เปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นโดยยังไม่มีการทำกระบวนการ
ดูเหมือนทุกคนที่เข้าร่วมจะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) และความเป็นมาของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน ผ่านการฟังและการพูดคุยกับผม และจากการอ่านเอกสารบทความทั้งสองเรื่องที่ผมเขียนแจกในที่ประชุม
อย่างไรก็ตาม ในการลงมือทำจริงในช่วงแรก ทีมพัฒนาซึ่งจะต้องถูกตั้งใจเฝ้าสังเกต และประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รู้สึกอึดอัด สับสนมาก เพราะระหว่างที่ทำการพัฒนาชาวบ้าน จะมีทีมประเมินติดตามสังเกต และเมื่อเสร็จสิ้นในแต่ละวัน ผมก็จะเชิญทั้งทีมพัฒนา ทีมประเมิน และทีมกรมชล นั่งล้อมวงพูดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา ฟังกันอย่างลึกซึ้ง และมีการสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันโดยมีผมเป็นกระบวนกร
ทีมพัฒนา รวมถึงทีมประเมินต่างก็ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในลักษณะนี้มาก่อน ถึงแม้จะเคยฟังผมพูดอธิบายมาบ้างในที่ประชุมสามฝ่าย และในที่ประชุมของทีมประเมินเองก็ตาม
หกเดือนแรกของการทำงานร่วมกันในปีที่หนึ่ง จึงเป็นช่วงเวลาของความอึดอัด สับสน ระแวง เคลือบแคลง สงสัย จากระดับมากที่สุด แล้วค่อยๆ ลดลงไป
จากที่แปลกๆ ก็เริ่มคลี่คลาย ค่อยๆ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกัน สังเกตได้จากว่า ในทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ทีมพัฒนาจะช่วยกันจัดสถานที่และเรียกสมาชิกทีมพัฒนามาทำสิ่งที่ทีมพัฒนาเรียกว่า AAR (After Action Review) กับผมและทีมประเมิน
ด้วยท่าทีและบรรยากาศของการมีความเป็นกัลยาณมิตร การสานเสวนาผ่านสามกระบวนการหลักของจิตตปัญญา ทีท่า (สายตา สีหน้าท่าทาง วิธีการพูด ภาษาที่ใช้...) ของผมและทีมประเมินที่สะท้อนความเป็นกัลยาณมิตร ช่วยเอื้อให้ความเคลือบแคลง สงสัย คล้ายกับมีผู้มาคอยจับผิด และประเมินเพื่อตัดสินว่าดี ไม่ดี ผ่าน ไม่ผ่าน ค่อยๆ คืบคลานกลายมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง ที่คอยเฝ้าดูโดยไม่เข้าไปขัดจังหวะและแทรกแซงการทำกิจกรรมแต่ละครั้งของทีมพัฒนา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ให้ข้อคิด ให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อทีมพัฒนา โดยมีเจตนาที่จะให้การทำงานของทีมพัฒนาบรรลุเป้าหมาย นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนของโครงการอย่างแท้จริง
หกเดือนหลัง ทีมประเมินในแต่ละพื้นที่ มีการทำ BAR (Before Action Review) ร่วมกับทีมพัฒนาก่อนการทำกิจกรรมจริงเพิ่มขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และเพื่อทีมประเมินจะได้สังเกตและทำการประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ทีมประเมินยังได้ขอตารางการลงพื้นที่ และแผนการดำเนินการในช่วงหกเดือนหลังของทีมพัฒนา เพื่อศึกษาและวางแผนการทำงานของทีมประเมิน ในการประชุมร่วมสามฝ่าย มีการซักถามเพื่อความเข้าใจ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งในเชิงวิชาการและวิธีการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมทั้งหมดของโครงการ และการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง
การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกครั้งที่ผมเป็นผู้ดำเนินการ จะเป็นไปภายใต้บรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร ผ่านกระบวนการหลักสามประการของจิตตปัญญา ได้แก่ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้
ในช่วงหกเดือนหลัง ทีมประเมินมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกระบวนการจิตตปัญญาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำกิจกรรมของทีมพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทีมพัฒนาค่อยๆ ซึมซับแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญา และค่อยๆ นำกระบวนการทางจิตตปัญญาไปใช้กับ FA ของชุมชน
ในการทำงานร่วมกันในปีแรก ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องจิตตปัญญา แนวคิดและแนวปฏิบัติกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน ผมได้เรียนรู้จากทีมพัฒนาหลายประการ ในแง่ของการออกแบบโครงการพัฒนา และโดยเฉพาะรูปแบบ และวิธีการจัดกิจกรรมให้กับ FA ชาวบ้าน ผมได้เรียนรู้มากมายจากทีมประเมิน ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการวัดการประเมินโดยตรง ในแง่ของหลักการ รูปแบบ และวิธีการประเมิน
ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้เรียนรู้ว่า ทีมพัฒนา และทีมประเมิน รวมไปถึงทีมกรมชลฯ มีความเข้าใจไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์ทางวิชาการ และความหมายที่แตกต่างของแนวคิดหลักที่สำคัญบางประการ เช่นผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ความแตกต่างระหว่างวิทยากรกระบวนการ (FA) กับคณะทำงานในพื้นที่ การประเมินภายในกับการกำกับติดตามและการตรวจสอบภายใน การทำงานแบบมีส่วนร่วม และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กับการทำงานและการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา AAR กับ Learning Reflection (LR)
ข้อดีก็คือเราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจระหว่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวออกมาด้วยความจริงใจก็คือ ผมได้เรียนรู้จากทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทุกคนคือครูของผม ผมมีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการที่ดีงามนี้ ขอบคุณมากครับคุณครูทุกคนของผม ครูที่ช่วยให้ผม “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ ครูที่ช่วยให้ผมมีโอกาสพัฒนา “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
แสดงความคิดเห็น