สังคมที่ “แคร์” สังคมที่ “แฟร์”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558

สังคมกระแสหลักมักให้คุณค่าต่อเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ในการสนทนาอย่างเป็นทางการอารมณ์ความรู้สึกจะถูกผลักออกไปจากพื้นที่บนโต๊ะประชุม

การให้คุณค่าต่อเหตุผลเหนืออารมณ์ความรู้สึกนี้ปรากฏตัวอย่างชัดแจ้งในภาพยนตร์ร่วมสมัยอย่างเรื่อง ลูซี (Lucy) ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์สามารถดึงศักยภาพทางสมองของตนเองมาใช้อย่างเต็มที่ มนุษย์จะกลายเป็นมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งเหตุผลและปราศจากอารมณ์ความรู้สึกในที่สุด นี้แสดงให้เห็นว่า กระทั่งศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ก็คือความมีตรรกะเหตุผล และ - อารมณ์ความรู้สึกเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ดี เมื่ออันโตนิโอ ดามาสิโอ นักประสาทวิทยา ได้ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ก็พบว่า แม้ผู้คนเหล่านี้จะมีความสามารถในการคิดคำนวณเชิงตรรกะเหตุผลได้ดี แต่มีการตัดสินใจที่แย่มาก-มาก ทั้งในชีวิตครอบครัวและการงาน ความแปลกแยกกับผู้คนในครอบครัวและที่ทำงานนี้ทำให้ชีวิตล่มสลาย

งานวิจัยของดามาสิโอยืนยันว่า อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ช่วยกำกับทิศทางของการใช้เหตุผล และยังคงท้าทายแนวคิดกระแสหลักจนถึงปัจจุบัน

โจนาธาน ฮายด์ท นักจิตวิทยาจริยธรรม (Moral Psychology) ก็นำเสนอแนวคิดสนับสนุนดามาสิโอผ่านหนังสือเรื่อง The Righteous Mind: Why Good People are Divided by Politics and Religion โดยอธิบายผ่านงานวิจัยหลายชิ้น เช่น เมื่อมนุษย์อยู่ในที่กลิ่นดี สภาพแวดล้อมดี การตัดสินเชิงคุณค่านั้นให้ผลต่างไปจากการอยู่ในที่กลิ่นเหม็น สภาพแวดล้อมแย่ หรือเมื่อเปรียบเทียบฆาตกรโรคจิตกับเด็กทารกแล้วพบว่า ฆาตกรมีเหตุผลแต่ไร้ความรู้สึก ส่วนทารกมีความรู้สึกแต่ไม่มีเหตุผล

ฮายด์ทสรุปว่า มนุษย์ถูกขับเคลื่อนจากอารมณ์ความรู้สึกเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยตามมาด้วยการให้เหตุผลทางจริยธรรม ขณะเดียวกัน การให้เหตุผลทางจริยธรรมของคนคนหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการเกิดอารมณ์ความรู้สึกของอีกคนหนึ่งด้วย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการให้เหตุผลทางจริยธรรมของเขา/เธอในลำดับถัดมา

โดยเหตุนี้ ฮายด์ทเสนอว่า วิธีการโน้มน้าวใจคน หรือเปลี่ยนวิธีคิดของคน ไม่ได้อยู่ที่การพูดเอาชนะคะคานกันด้วยเหตุผล หากต้องทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ซึ่ง – กำกับการให้เหตุผลของผู้คนอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นเอง การทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่นำไปสู่การให้คุณค่าความหมายต่อสิ่งต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ


ข้อค้นพบหนึ่งจาก ปริทัศน์งานศึกษาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย โดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ก็คือ ““ความรู้สึก” หรือ “ความตระหนัก” ต่อการไม่ได้รับโอกาส ความแตกต่างของสิทธิ และความไม่เท่าเทียมทางสังคม ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับความเหลื่อมล้ำให้กลายเป็นความไม่เป็นธรรม”

ดูเหมือนว่า การทำความเข้าใจต่อความรู้สึกของผู้คนที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรม น่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษามากกว่าการทำความเข้าใจเชิงเหตุผลว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นจากการมีแนวคิดความเป็นธรรมที่ต่างกัน และพยายามอธิบายแต่เพียงว่ากลุ่มหนึ่งเชื่อเรื่องทุนนิยมเสรี กลุ่มหนึ่งเชื่อเรื่องอรรถประโยชน์นิยม กลุ่มหนึ่งเชื่อเรื่องเสรีนิยม ฯลฯ

งานของฮายด์ทยังพยายามทำความเข้าใจต่อไปว่า ทำไมพรรคการเมืองหรือศาสนาจึงดึงดูดผู้คนให้เข้ามารวมกลุ่มกัน ขณะเดียวกันก็แปลกแยกแตกต่างจากกัน?

ฮายด์ทแสดงให้เห็นว่า ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก ล้วนตั้งอยู่บนระบบคุณค่าหลักร่วมกันหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องของความเกื้อกูล ความเป็นธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีอำนาจหน้าที่ เสรีภาพ และความศักดิ์สิทธิ์

พรรคการเมืองและศาสนาเป็นสถาบันที่เกิดจากการยำหรือผสมคุณค่าเหล่านี้เข้าหากันในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป และดึงดูดผู้คนให้เข้ามารวมตัวกันเป็นกลุ่ม

ผู้คนที่เข้ามารวมตัวกันนั้น แม้จะมีความรู้สึกเชื่อมโยงต่อการให้คุณค่าต่างๆ ร่วมกันกับผู้คนในกลุ่มเดียวกับตัวเอง แต่ก็มักจะมองข้ามคุณค่าอื่นๆ ของผู้คนในกลุ่มอื่น – ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนที่อยู่ต่างพรรคการเมือง ต่างศาสนา จึงมักจะมองว่าพรรคการเมืองของตนเอง ศาสนาของตนเอง มีความดีงามและประเสริฐเลิศเหนือกว่าของพรรคการเมืองของคนอื่น ศาสนาของคนอื่น

อย่างไรก็ดี ฮายด์ทก็ยืนยันว่า แม้ว่าธรรมชาติของการแบ่งกลุ่มเป็นฝักฝ่ายโดยความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนา จะนำไปสู่การมืดบอดมองไม่เห็นคุณค่าความดีงามของอีกฝ่าย แต่มนุษย์ก็มีธรรมชาติที่จะโน้มนำไปสู่คุณค่าร่วมที่ว่าด้วยความถูกต้องดีงาม เพียงแต่ต้องมองให้เห็น Matrix ของการให้คุณค่าของคนกลุ่มอื่นด้วย

หากผู้คนกลุ่มหนึ่งให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อหน้าที่ และรับไม่ได้กับการคอรัปชัน ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งให้คุณค่ากับความเป็นธรรมและรับไม่ได้กับความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง คุณค่าที่ผู้คนทั้งสองกลุ่มให้ความสำคัญก็ล้วนมุ่งไปที่ความถูกต้องดีงาม เป็นส่วนเติมเต็มกันและกันมากกว่าจะขัดแย้งกัน

หากเราใส่ใจคุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกอีกฝ่ายมากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ทำงานกับความรู้สึกของผู้คนมากขึ้นกว่าการเอาชนะคะคานกันด้วยตรรกะเหตุผล แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมของแต่ละฝ่ายก็จะเป็นไปได้มากขึ้น และเป็นไปในทิศทางที่ขยับที่ทางของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างกันได้จริง

หากผู้คนทั้งสองกลุ่ม “แคร์” (Care) กันมากขึ้น สังคมที่ “แฟร์” (Fair) ก็น่าจะปรากฏตัวได้เร็วขึ้น

Back to Top