ขี้อายอย่างมีพลัง



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558

มีครั้งหนึ่งผมต้องไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่งจำนวนกว่า ๑๕๐ คน พูดตามตรงด้วยประสบการณ์หลายปีก่อน งานอบรมขนาดกว่าร้อยคนนี้ ถือว่าเป็นงานที่ผมไม่ถนัดเอาซะเลย เพราะปกติมักจะจัดแต่กลุ่มเล็กๆ ประมาณ ๓๐ คน รวมถึงมีความท้าทายด้วยว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมที่มากทั้งอายุและประสบการณ์ ทำให้ผมรู้สึกกังวลและประหม่าอยู่ไม่น้อย

ผมรู้สึกกับตัวเองบ่อยครั้งว่า ถึงจะทำอาชีพวิทยากรหรือกระบวนกร (Facilitator) จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้คนนับพันมานานหลายปี แต่ผมกลับรู้สึกลึกๆ ว่า ตัวเองยังมีความขี้อายอยู่ไม่น้อย เมื่อต้องยืนหน้าเวทีต่อหน้าผู้คนจำนวนมากๆ หลายครั้ง ผมตั้งคำถามและสงสัยว่าผมจะต้องทำอย่างไรกับด้านนี้ของตัวเอง

ส่วนใหญ่การพูดต่อหน้าชุมชน พูดบนเวที หรือแม้กระทั่งการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เรามักจะถูกสอนว่าต้องทำตัวให้มั่นใจ อย่าแสดงความตื่นเต้นหรือประหม่าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ เรียกได้ว่า เราถูกสอนตั้งแต่เด็กให้ปฏิเสธความขี้อายของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจพูดได้ว่า ความขี้อายนั้นเป็นสัญชาตญาณและธรรมชาติที่งดงามอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อเราต้องเข้าไปในโลกที่ไม่คุ้นชิน และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก บางครั้งเราก็อาจมีบางด้านที่ไม่ต่างจากสัตว์ป่า เพียงเมื่อพบเจอผู้คน เขาก็อาจวิ่งหนีหายลับไป


จากมุมมองของจิตวิทยางานกระบวนการ (Process Oriented Psychology หรือ Process Work) ที่ผมศึกษาต่อเนื่องมาหลายปีเชื่อว่า ทุกประสบการณ์ในตัวเรานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย แม้ด้านที่เราไม่ชอบหรือพยายามปฏิเสธก็ตาม หากสืบค้นลึกลงไป เราจะค้นพบแก่นสารสำคัญที่สามารถเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองและผู้คนรอบข้างได้ ในงานกระบวนกรก็เช่นกัน เราสามารถใช้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนนี้ ให้เป็นประโยชน์กับกลุ่มได้ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) ผู้พัฒนาจิตวิทยางานกระบวนการ เรียกเคล็ดลับนี้ว่า “Use your experience as a part of the field” จงใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ในฐานะที่เป็นดั่งส่วนหนึ่งของสนามพลัง (field - ในที่นี้หมายถึงกลุ่มหรือผู้คนรวมถึงบรรยากาศ ณ สถานที่นั้น) หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การที่เราสามารถนำเอาประสบการณ์ภายในเชื่อมโยงเป็นประตูเข้า (Doorway into the process) ให้กับกระบวนการด้านในของผู้คนและกลุ่มได้

เมื่อถึงวันอบรม ผมได้นำเรื่องนี้มาทดลองใช้กับตัวเองและงานเวิร์คช็อปกลุ่มใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานกระบวนกรที่อยากเขียนเล่าให้ฟัง

ในเช้าวันเปิดการอบรมหลังจากกล่าวสวัสดีและแนะนำตัวเสร็จ ผมได้พูดเปิดเวิร์คช็อปที่ถือว่าแปลกที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต


"สวัสดีครับ ผู้บริหารทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้มารับหน้าที่วิทยากรและ Facilitator จัดกระบวนการเรียนรู้ในวันนี้

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่า ผมตื่นเต้นมากที่ต้องมาจัดอบรมให้กับกลุ่มใหญ่ขนาด ๑๕๐ คนแบบนี้ ปกติผมถนัดทำกับกลุ่มเล็กๆ แค่ ๒๐-๓๐ คน

และถ้าพูดตามตรง แม้ว่าผมจะมีอาชีพที่ต้องยืนพูดต่อหน้าผู้คนมาหลายปี แต่ผมกลับพบว่าตัวเองเหมือนมีเด็กน้อยขี้อายคนหนึ่งอยู่ในตัว อายุสัก ๕ ขวบ เขามักจะรู้สึกเขินอายและตื่นเต้นเวลาที่ต้องอยู่ต่อหน้าผู้คน และถ้าเลือกได้ก็อยากจะวิ่งไปหลบหลังเวทีเสียมากกว่า ปกติแล้ว เวลาที่เราจะต้องมายืนพูดหน้าห้อง ต้องเป็นวิทยากร หรือต้องพูดต่อหน้าชุมชน เรามักจะถูกสอนว่า ต้องทำตัวให้มั่นใจ และอย่าแสดงความประหม่าหรือเขินอายออกมา จะดูไม่เป็นมืออาชีพ เรียกได้ว่า เราถูกสอนให้ต้องเอาเด็กน้อยขี้อายเก็บไว้หลังเวที หรือขังไว้ที่บ้านทีเดียว

แต่วันนี้ ผมจะทำสิ่งที่แตกต่าง ... ผมจะพาเด็กน้อยขี้อายมาอยู่หน้าเวทีกับผมด้วย เพราะผมยอมรับว่าเขาเป็นธรรมชาติด้านหนึ่งของผมและมีชีวิตอยู่ในตัวผม และเชื่อว่าบางทีเขาอาจจะช่วยผมในงานวันนี้ด้วย เวลาที่ผมต้องพูดกับกลุ่มใหญ่ บางขณะผมอาจพูดผิดๆ ถูกๆ ไม่ค่อยมั่นใจ ดูเหมือนเด็กขี้อายบ้าง ก็ขอให้พวกเราอย่าได้แปลกใจ

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ในเวิร์คช็อปนี้ ผมอยากจะเชื้อเชิญเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้นำพาเด็กน้อยของเราออกมาพูดคุยรู้จักกันบ้าง จะเป็นอย่างไรถ้าเวิร์คช็อปครั้งนี้ เราไม่ต้องทำตัวสุภาพเป็นทางการ แต่สามารถคุยกันแบบสนุกสนานผ่อนคลาย สบายๆ ได้แบบเด็กๆ เหมือนสมัยที่เราอยู่กับแก๊งเพื่อนๆ ประถมหรือมัธยม …”

เชื่อไหมครับ พอผมพูดจบ น่าแปลกใจว่า บรรยากาศของผู้เข้าร่วมในห้องเปลี่ยนไปทันที จากเดิมทุกคนในห้องดูเคร่งขรึมสไตล์ผู้บริหาร กลับกลายเป็นบรรยากาศที่หลายคนเริ่มแซวหยอกล้อกันสนุกสนานเหมือนเด็กๆ เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ไม่ต่างจากห้องเรียนสมัยมัธยมทีเดียว ผู้บริหารคนหนึ่งยกมือพร้อมกับชี้มือไปที่เพื่อนที่นั่งข้างๆ และบอกกับผมว่า “อาจารย์ครับ เพื่อนผมคนนี้ยังเป็นเด็กอยู่ครับ เขาชอบแย่งลูกเล่นเกมในไอแพด เมียบ่นประจำ” ทุกคนในห้องฮา ขำ สนุกสนานกันใหญ่ บทสนทนาในห้องดำเนินไปอย่างเป็นกันเองและมีสีสัน ถึงจุดหนึ่งผู้เข้าร่วมคนหนึ่งบอกกับผมว่า เขารู้สึกมานานแล้วว่าบรรยากาศในการประชุมหรือสัมมนาที่ผ่านมาเคร่งเครียดเกินไป อยากให้การสัมมนาผู้บริหารมีบรรยากาศการพูดคุยที่สนุกผ่อนคลายแบบนี้บ้าง เขาเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนอยากมาและมีความสุขกับการทำงานร่วมกันมากขึ้น

ผมสังเกตอีกอย่างว่า ผู้บริหารระดับสูงหลายท่าน แม้ว่าจะมีประสบการณ์ทำงานมากว่า ๓๐ ปี อายุเกือบ ๖๐ ปีก็ตาม แต่พอต้องพูดออกไมค์ กลับมีความขี้อายไม่ต่างจากเด็กๆ เหมือนกัน ด้วยกระบวนการของเวิร์คช็อปนำพาไป วันนั้นผู้เข้าร่วมหลายคนได้อนุญาตให้เด็กน้อยของตัวเองออกมาทำความรู้จักและพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน มีความสุข และเต็มไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ใช่หรือไม่ว่า เราทุกคนต่างมีเด็กน้อยขี้อายอยู่ในตัว และอีกหลายๆ ด้านที่เราพยายามปฏิเสธและไม่ยอมรับมัน แต่หากเราได้สืบค้นดำดิ่งลึกลงไป ทุกประสบการณ์ในตัวเราล้วนเปี่ยมไปด้วยความหมาย ไม่ว่าจะเป็นความขี้อาย หรือความกลัว ขอจงโอบกอดและยอมรับประสบการณ์เหล่านั้น เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ใหม่กับชีวิต …ขอให้ทุกคนรักความขี้อายของตัวเอง และจงขี้อายอย่างมีพลัง

Back to Top