เสื้อนี้สีอะไร? : มุมมองจิตวิวัฒน์



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มีนาคม 2558

เร็วๆ นี้มีข่าวในโลกโซเชียลมีเดียที่ดูเหมือนเป็นเรื่องชวนหัวที่เอาไว้หยอกกันเล่นแล้วก็ผ่านไป แต่อันที่จริงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ต่อความเข้าใจทางด้านจิตวิวัฒน์อย่างน่าฉกฉวยเอามาสนทนาก่อนที่จะจืดจางไปในเวลาไม่นานเช่นเดียวกับเรื่องอื่นใดในโลกโซเชียลมีเดีย

เรื่องนั้นก็คือเรื่องของสีเสื้อปริศนา สำหรับรูปประกอบในคอลัมน์นี้อาจจะไม่เห็นเป็นสี แต่เชื่อว่าทุกคนสามารถพิมพ์ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้โดยใช้คำค้นว่า “เสื้อนี้สีอะไร” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าโดยแท้จริงแล้วเสื้อนี้สีอะไร แต่อยู่ที่ว่าคนในโลกนี้มองเห็นสีเสื้อที่อยู่ในภาพไม่เหมือนกัน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกเห็นเสื้อนี้เป็นสีขาว-ทอง อีกกลุ่มหนึ่งเห็นเป็นสีน้ำเงิน-ดำ และเมื่อเรื่องนี้เริ่มเข้ามาเป็นกระแส ฝ่ายที่เห็นไม่เหมือนอีกฝ่ายต่างก็เกิดอาการสับสน บางคนสงสัยว่าอีกฝ่ายล้อตนเองเล่น หรือแกล้งปดว่าเห็นเป็นสีอื่น ต้องใช้เวลาอยู่นานทีเดียวจึงจะยอมรับตามข้อมูลที่ได้มาจากหลายแหล่งว่า คนในโลกนี้ล้วนมองเห็นภาพนี้เป็นสีต่างกัน แต่ในเมื่อมองกี่ครั้งก็ยังเห็นสีเหมือนเดิม ผมคนหนึ่งก็อดจะคิดไม่ได้ว่าคนที่มองเห็นไม่เหมือนเรานั้นมีความผิดปกติ ส่วนเรานั้นเป็น “คนปกติ” เพราะเป็นเรื่องปกติที่คนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองเอาไว้ก่อน


ผลกระทบในเรื่องนี้ต่อผู้อ่านซึ่งเป็นนักจิตวิวัฒน์มีมากเหลือเกิน เรื่องแรกก็คือมันจะพาให้เราไปศึกษาค้นคว้าเรื่อง จิตสมานกาย (Embodied Mind) ซึ่งได้อิทธิพลจากงานของนักวิชาการอย่างเช่น ฟรานซิสโก เจ. วาเรลา (Francisco J. Varela) หรือ จอร์จ เลกอฟ (George Lakeoff) ก็ดี

จิตสมานกายคืออะไร?

จิตสมานกาย จัดให้อยู่ในคลื่นลูกที่สองของวิทยาการปัญญา (Cognitive Science) ซึ่งมองว่าความรู้ทั้งหมดของมวลมนุษย์ชาติไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยพ้นไปจากกายเนื้อของเรา แต่ความรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่แยกออกไม่ได้จากการ “รับรู้” และการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราด้วยร่างกาย ด้วยอายตนะทั้งหมดของเรา

ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อความเข้าใจ อยากชวนให้ผู้อ่านลองมองภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ เช่น เวลาที่ใครพูดว่า “เงินเยนลงอีกแล้วนะ ไปแลกซื้อหรือยัง” หรือ “เมื่อวานหุ้นตัวนั้นขึ้นไป ฉันเลยเคาะขาย กำไรอื้อซ่าเลย” คำว่า “ลง” หรือ “ขึ้น” เราใช้กันเป็นปกติธรรมดาโดยแทบไม่ได้สังเกตเลยว่ามันบอกถึงทิศทาง ดังนั้น ทิศทางในแนวดิ่ง สามารถนำไปใช้บอก “ปริมาณ” หรือ “คุณค่าราคา” อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ถ้าพูดว่า “แมวตัวนั้นมันหลบอยู่หลังต้นไม้” ทุกคนย่อมรู้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีหลังไม่มีหน้า เพราะส่วนใหญ่แล้วมันเจริญเติบโตออกไปในแนวรัศมีจากจุดศูนย์กลาง แต่ทำไมเราจึงบอกว่า “แมวอยู่หลังต้นไม้” นั่นเป็นเพราะว่าเราเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ของเรามี “หน้า” และ “หลัง” เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้สมมาตร (หมายถึงเราไม่ได้มีตารอบตัว และหลังของเราก็ไม่เท่ากับด้านหน้า) ความเป็นมนุษย์ของเราจึงตัดสินลงไปเลยว่า แมวอยู่หลังต้นไม้ ดังนั้นเราจึงให้ความหมายกับทุกสิ่งทุกอย่างโดยอ้างอิงตัวเราเป็นศูนย์กลาง แล้วทำเท่อ้างอิงอย่างมีอคติ (bias) โดยใช้การรับรู้ของเราเป็นเกณฑ์เสียด้วย

กลับกัน ถ้ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แบนราบ หมายถึงไม่มีมิติด้านสูงต่ำ (แกน Y) และมีความสมมาตร หมายถึงเราเป็นแผ่นแบนๆ และกลมเหมือนเหรียญอะไรสักอย่าง เราก็จะไม่สามารถพูดได้ว่าหุ้นขึ้น หุ้นตก เพราะการขึ้นและตก หรือระยะทางในแนวดิ่งไม่มีปรากฏอยู่ในจักรวาลของเรา เราก็จะไม่สามารถสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้เลย เช่นเดียวกัน เราก็จะไม่สามารถพูดได้ว่า เพื่อนของเรานั่งอยู่ทาง “ซ้ายมือ” ของเรา เพราะเราไม่มีมือ และด้วยความสมมาตร เราจึงไม่มีอะไรอ้างอิงได้ว่าตรงไหนเป็นซ้าย หรือขวา หน้าหรือหลัง จึงสรุปได้ว่าความเข้าใจในโลกและจักรวาลของเราเกี่ยวข้องกับฟอร์มหรือร่างกายและการรับรู้อย่างแยกไม่ออก

ผลกระทบของการศึกษาเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อรากฐานปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ มันปฏิเสธความคิดของนักปรัชญาตัวเขื่องแบบถอนรากถอนโคน อย่างเช่นความคิดในเรื่องรูปแบบที่บริสุทธิ์ของเปลโต ถ้าเชื่อในเรื่องจิตสมานกาย รูปแบบที่บริสุทธิ์ก็ไม่อาจจะมีอยู่จริงและแยกจากร่างกายอันสกปรกโสมมอันแสนจะธรรมดานี้ได้ และมันยังไปหักล้างความคิดที่จะยกจิต ยกความคิด ให้เป็นสิ่งสูงส่งพ้นไปจากร่างกาย ดังประโยคของเดกการ์ตที่ว่า “เพราะฉันคิดฉันจึงมีอยู่” ควรจะถูกพูดเสียใหม่ในแง่ของจิตสมานกายว่า “เพราะฉันมีอยู่ฉันจึงคิด”

กลับมาที่รูปถ่ายปริศนา ตกลงว่าเราคงไม่ต้องถกเถียงกันว่ามันเป็นสีอะไรกันแน่ ถ้าเข้าใจเรื่องจิตสมานกาย ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าใจด้วยว่า เป็นเพราะการรับรู้ของมนุษย์นั่นเองทำให้เรามองเห็นสีแตกต่างกัน ไม่ได้มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดปกติ เพราะสีไม่ได้มีอยู่ที่ตัวเสื้อผ้า และการเห็นสีก็เป็นการประมวลผลทางระบบประสาท หรือทางจิต ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็เท่านั้น

ในความเป็นจริง การเห็นสีเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ขณะที่ผมพูดคุยกับน้องคนหนึ่งเรื่องเสื้อชุดนี้ ผมถามเขาว่า “สีมันอยู่ที่ไหน สีอยู่ที่เสื้อผ้า หรือสีอยู่ในแสง หรือมันเกิดในหัวสมองเรานี่” เขาก็ตอบไม่ได้ หลายคนอาจจะคิดว่าสีมันอยู่ในวัตถุ และแสงไปตกกระทบพาเอาสีเหล่านั้นมาเข้าตาเรา แต่จริงๆ นั่นเป็นคำตอบที่ผิด ส่วนบางคนก็มองว่าสีเป็นสิ่งที่สมองสร้างขึ้นเอง วัตถุไม่ได้มีสีในตัวเอง ก็ยังไม่ถูกอีกเช่นกัน แท้จริงแล้วการมองเห็นสีเป็นเรื่องที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอกประกอบกัน วัตถุต่างๆ ไม่ได้มีสีอยู่ในตัวเอง วัตถุต่างชนิดกันมีความสามารถในการซึมซับแสงในคลื่นความถี่ต่างๆ ได้ไม่เท่ากัน นั่นทำให้แสงที่มากระทบตาของเรามีคลื่นความถี่บางอย่างมาก บางอย่างน้อย ซึ่งไปมีผลต่อเซลล์รูปกรวย ๓ ชนิดในดวงตาของเรา ซึ่งรับคลื่นความถี่แสงในคนละช่วงความถี่ และเมื่อแปลความหมายด้วยสมอง หรือจิตเราแล้ว ก็จะเห็นออกมาเป็นสี ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ว่าสีไม่ได้มีอยู่ในวัตถุก็คือท้องฟ้า เพราะท้องฟ้าไม่มีพื้นผิวที่สะท้อนแสงเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะการหักเหและดูดซับแสงของชั้นบรรยากาศจึงทำให้คลื่นแสงเพียงบางส่วนสะท้อนเข้าตาเรา และแปลผลเป็นสีฟ้า ดังนั้นการมองเห็นเสื้อเป็นสีต่างกันก็เป็นเพราะการทำงานของกรวยสีในเรติน่าในดวงตาของเราแตกต่างกันก็เพียงแค่นั้น

ความรู้เรื่องจิตสมานกายบอกกับเราว่า ความสามารถในการใช้ปัญญาของเรานั้นส่วนใหญ่เป็นความรู้ชนิดฝังลึก (tacit knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นไปโดยเราไม่รู้ตัว (unconscious) ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมี “อคติ” ที่ฝังแน่นมาตั้งแต่เกิด และตั้งแต่ก่อนจะใช้ภาษาพูดเสียด้วยซ้ำ การตระหนักรู้ถึงอคตินี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นเราอาจจะเอาความเชื่อของเราไปทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นเห็นสีเดียวกันกับเรา มองเห็นโลกแบบเดียวกันกับเรา หรือแย่ที่สุดก็คือการบังคับให้คนอื่นก้มหัวให้กับหลักการสูงส่งบริสุทธิ์ ในขณะที่ตนเองละเลยกับความเป็นมนุษย์ซึ่งแปดเปื้อน (colored) ไปด้วยการคัดกรองข้อมูลโดยความไม่รู้ของตัวเอง

Back to Top