ความกรุณาของหมาไร้บ้าน และผู้อพยพลี้ภัยที่มีชื่อเสียงของโลก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2558

(๑)


หลายปีก่อน ข้าพเจ้าพบลูกหมาวัยรุ่นตัวหนึ่ง เซซังมาจากไหนไม่รู้ได้ แต่ความเป็นลูกหมาที่ไร้ฝูง ท่าทีระแวงระวังไม่ไว้วางใจใครหรืออะไร ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า เจ้าลูกหมาตัวนี้พลัดหลงกับแม่ กระเซอะกระเซิงไปอย่างไม่รู้ทิศ ถูกไล่จากตรงโน้นตรงนี้ จนกระทั่งมาถึงละแวกอาคารที่พักของข้าพเจ้า ซึ่งมีหมาอยู่แล้วหลายตัว มีจ่าฝูงตัวผู้คอยกำหนดระเบียบ

เจ้าลูกหมาหน้าใหม่ไม่ได้เข้าอยู่ในฝูง จะด้วยเพราะฝูงเดิมไม่ยอมรับ หรือมันไม่รู้จักพิธีกรรมเข้าไปซูฮกเคารพนบน้อมก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่-แน่ มันพบที่ซุกหัวนอนและอาหาร ไม่มีใครมาไล่ตะเพิด กลายสภาพจากหมาไร้บ้านเป็นหมามีหลักแหล่ง หน้าตามอมแมมดูมีสง่าราศีขึ้น แต่มันก็ไม่สนิทสนมกับใคร เดินวิ่งอยู่หลังตึก ใครจะให้อาหาร ต้องวางไว้และเดินออกไปไกล-ไกล มันถึงจะย่องเข้ามากิน

ด้วยความสงสัยว่า เจ้าหมาวัยรุ่นตัวนี้สันโดษโดยนิสัยสันดาน หรือว่าเป็นโรคระแวงเนื่องจากเป็นเหยื่อจากการกระทำรุนแรงในวัยเด็ก ข้าพเจ้าก็เลยทำการทดลอง ด้วยการซื้อลูกชิ้นบ้าง หมูปิ้งบ้าง เอามาให้เจ้าหมาตัวนี้ทุกเย็น วางไว้ แล้วก็นั่งห่างออกไปสักสิบกว่าเมตร ไม่เรียกมันเข้ามากิน ไม่เรียกให้มันเข้ามาหา ไม่มองหน้ามัน นั่งเล่นอยู่คนเดียวของข้าพเจ้าไปสักสิบหรือสิบห้านาทีแล้วก็ลุกไป

หมาทั่วไปเมื่อได้รับอาหารครั้งหนึ่งแล้ว พอเจอหน้าก็จะวิ่งมาประจบทักทาย แต่เจ้าหมาตัวนี้ไม่เคยทำเลย ในวันที่สี่และห้าก็โผล่หน้ามาหลังจากวางอาหารและข้าพเจ้าขยับออกไป พอวันที่หกข้าพเจ้าก็เริ่มคุยกับมัน ฉีกอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ วางไว้ให้มันเดินขยับมากินใกล้ตัวมากขึ้น และวันที่เจ็ดนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ลูบหัวลูบตัวมันได้


สรุปผลการทดลองก็คือ หมาตัวนี้วิ่งมาทักทายทุกครั้งที่เจอหน้า แม้จะไม่มีอาหารให้ และท่าทางก็เป็นหมาร่าเริง เพราะสามารถหาอะไรเล่นได้ด้วยตัวเอง และรู้วิธีขออาหารจากคนอื่นแทนที่จะนั่งรอให้ใครเอามาวางให้

ข้าพเจ้าเกือบคิดว่ามันเป็นแค่ลูกหมาร่าเริงที่หลงทางมา และเป็นหมาไร้บ้านที่ขาดความรัก จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่เห็นมันใช้วิธีไปเดินเมียงมองขอขนมปังจากผู้ชายคนหนึ่ง วิธีขอของมันเรียบร้อย ผู้ชายตัวใหญ่ยังต้องใจอ่อนแบ่งขนมปังในมือให้มันไปชิ้นใหญ่ มันคาบและกำลังเดินออกมาหามุมนั่งกิน ปรากฏว่าขณะนั้นเอง แม่หมาผอมโซกำลังเดินกะปลกกะเปลี้ยเข้ามา แม่หมาตัวนี้เพิ่งออกลูกมาครอกใหญ่ ลูกหมาเกือบสิบตัวอยู่ในโพรงขุดใต้ดินไม่ไกลจากแถวนั้นมากนัก แม่หมาตัวนี้มักขู่เจ้าลูกหมาวัยรุ่นเวลาเดินเข้าไปใกล้ๆ อารมณ์ประมาณว่า ถึงเอ็งจะเป็นลูกหมาหลงมา แต่ฉันก็มีลูกหมาของตัวเองที่ต้องดูแล เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาตีซี้

แม่หมาที่ผอมจนซี่โครงโผล่และกำลังหมดหวังที่ชายคนนั้นแบ่งขนมให้หมาตัวอื่นไปแล้ว ต้องประหลาดใจพอ-พอกันกับข้าพเจ้า เมื่อเจ้าหมาวัยรุ่นที่กำลังคาบของกินชิ้นใหญ่ไว้ในปากและเดินสวนออกไป เดินกลับเข้ามาหาแม่หมาแล้วก็วางของกินนั้นไว้ใกล้ๆ แล้วก็เดินจากไป – แม่หมากินอย่างไม่รั้งรอ

วันนั้นเอง - ข้าพเจ้าได้เป็นประจักษ์พยานในความกรุณาของหมาตัวหนึ่ง หมาที่ไร้บ้าน ขาดญาติขาดมิตร ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียนหมาเพื่อเรียนรู้ธรรมเนียมเหมือนหมาที่มีฝูง ขาดความมั่นคงทางอาหารและรายได้ แต่พร้อมจะแบ่งปันให้กับหมาที่ลำบากยากไร้กว่า แม้จะไม่เคยมีไมตรีต่อกันมาก่อนก็ตาม

(๒)


ชาวพุทธสายวัชรยานที่เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก คือท่านทะไล ลามะ – ท่านต้องอพยพลี้ภัยออกจากทิเบตมาอยู่ที่อินเดีย ความโศกเศร้าจากการละทิ้งบ้านเกิด รากเหง้าทางวัฒนธรรม และความโกรธเคืองต่อรัฐบาลจีน ถือเป็นต้นทุนแห่งการภาวนาว่าด้วยปัญญา กรุณา และการให้อภัย ของพระธรรมดาที่เรียบง่ายท่านนี้ ท่านยืนยันว่า การอพยพลี้ภัยเป็นโอกาสที่ทำให้ชาวพุทธทิเบตเปิดหูเปิดตาเห็นโลกกว้าง และก็เป็นโอกาสในการนำพระพุทธศาสนาไปสู่โลกตะวันตก

เช่นเดียวกันกับติช นัท ฮันห์ ธรรมาจารย์สำคัญของชาวพุทธมหายาน ซึ่งต้องอพยพลี้ภัยจากเวียดนามอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ที่เมืองไทย ก่อนไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และพยายามเจรจาสันติภาพให้ยุติสงครามเวียดนาม ปัจจุบัน เครือข่ายวัดพลัมของท่านเป็นสถานที่สอนและฝึกฝนการภาวนาวิถีพุทธที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจอย่างมาก

เพื่อหนีภัยสงคราม ชาวเวียดนามจำนวนมากต้องละทิ้งบ้านเรือน ออกเดินทางไปสู่ดินแดนใหม่ กลายเป็นมนุษย์เรือ (boat people) ผจญภัยธรรมชาติ และจากมนุษย์ด้วยกันเอง เรือบางลำถูกปล้นโดยโจรสลัดไทย เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนและโยนลงทะเล ในปีพ.ศ. ๒๕๒๑ ติช นัท ฮันห์เขียนบทกวี “โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” อันโด่งดัง ซึ่งเปิดเผยความทุกข์ของผู้อพยพลี้ภัย ความโหดร้ายรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ และปัญญาญาณอย่างลึกซึ้งในการทำความเข้าใจเหตุปัจจัยดังกล่าว

ผู้อพยพลี้ภัยชาวพุทธทั้งสองท่านนี้ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของยุคสมัย ที่ประกอบด้วยความกรุณา สติปัญญา และความกล้าหาญ อย่างคงเส้นคงวา

เมื่อครั้งที่รัฐบาลจีนปราบปรามนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ท่านทะไล ลามะก็ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลจีนยุติการใช้ความรุนแรง และแม้ว่าจะเป็นการละทิ้งโอกาสทางการทูตระหว่างตัวท่านกับรัฐบาลจีนในกรณีทิเบตในครั้งนั้นก็ตาม

เช่นเดียวกัน กรณีเหตุการณ์ ๑๑ กันยา และรัฐบาลสหรัฐประกาศสงครามกับอัฟกานิสถาน ติช นัท ฮันห์ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลสหรัฐ เพื่อชี้ให้เห็นโทษของสงคราม และเรียกร้องให้ใช้หนทางแห่งสันติภาพในการยุติความขัดแย้งรุนแรง แม้ว่าสานุศิษย์หลายคนจะพยายามทัดทาน เพราะเกรงจะถูกมองว่าเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับประเทศที่ไปก่อตั้งวัดเพื่อเผยแผ่ศาสนา

ล่าสุด ท่านทะไล ลามะ ออกมาร้องขอให้เพื่อนที่เคยรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอย่างอองซาน ซูจี พูดหรือทำอะไรบางอย่าง ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยชาวพุทธเถรวาทในพม่า

(๓)


ในประวัติศาสตร์โลก ทั้งมนุษย์และสัตว์ล้วนมีการย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่โดยหลักพื้นฐานก็คือ ความปรารถนาในชีวิตที่ดีกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์คือ เกลียดทุกข์รักสุข

ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยเป็นปัญหาร่วมของยุคสมัย – ในช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อเดือนก่อน ประชาชนชาวไทยระดมความช่วยเหลือไปช่วยเพื่อนข้ามประเทศ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ยุโรปก็กำลังเผชิญวิกฤตผู้ลี้ภัย มีผู้อพยพลี้ภัยสงครามจำนวนมากจากอาฟริกาล่องเรือมาและพยายามขึ้นฝั่งประเทศสเปนและอิตาลี ด้วยความหวังว่าจะใช้ประเทศเหล่านี้เป็นทางผ่านไปสู่ประเทศพัฒนาอื่น ภาพและข่าวที่ปรากฏในยุโรปช่วงนั้นก็คือ ความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยเหล่านั้นด้วยวิธีการและมาตรการต่างๆ มีกรณีเรือล่ม และผู้คนจำนวนมากว่ายน้ำออกไปช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยที่กำลังจมน้ำ สหภาพยุโรปเรียกประชุมเร่งด่วนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนในสังคมย่อมมีความตระหนักถึงเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดผู้อพยพลี้ภัยขึ้น และมองเห็นความเกี่ยวข้องของตนเองในการสร้างปัญหาเหล่านั้น ดังเช่น สงครามกลางเมืองในอาฟริกาก็มีธุรกิจค้าอาวุธซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง กระทั่งสงครามเวียดนามที่ผู้คนล้มตายจำนวนมากข้างบ้านเรา ประเทศไทยก็ยอมให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อปฏิบัติการทางสงคราม จะเห็นว่า คู่กรณีในการก่อสงครามนั้นแม้จะเห็นได้จากการถืออาวุธ แต่ผู้เกี่ยวข้องที่แม้จะไม่ถืออาวุธเลยก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

คงคล้ายกันกับกรณีผู้อพยพลี้ภัยบังกลาเทศและหรือคนไร้รัฐอย่างมุสลิมโรฮิงญาในพม่า ในทางหนึ่งก็ต้องเห็นว่า รัฐบาลในอาเซียนล้วนเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าที่จะแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลพม่าและหรือบังกลาเทศ นัยยะหนึ่งก็คือการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันคนให้ออกมาเป็นผู้อพยพลี้ภัยนั่นเอง

การช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยนั้นทำได้หลายขั้นตอน ที่มีสติปัญญามาก กรุณามาก ก็ต้องลงแรงมากเป็นธรรมดา บุญมาก กุศลมาก ก็ล้วนเกิดจากการทำเรื่องยาก-ยาก สติปัญญาละเอียดมาก-มากนี้เอง

Back to Top