บันไดจิตวิวัฒน์ ๕ ขั้น



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2554

สมัยหนึ่ง ผมสนใจคุณ อับราฮัม มาสโลว์ มาก เพราะเขาเป็นผู้ที่พยายามอธิบายให้ผมเข้าใจในภาษาง่ายๆ ว่าทำไมมนุษย์เราจึงลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างที่พวกเราทำกันอยู่ทุกวันนี้ คุณลุงมาสโลว์บอกให้ผมเข้าใจว่าคนเรานั้นมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตเป็นลำดับขั้น โดยมีทั้งหมดอยู่ ๕ ขั้นด้วยกัน เริ่มจากขั้นแรกคือความต้องการพื้นฐานเช่นเรื่องปากท้อง สวัสดิภาพ การยอมรับและความรักจากคนใกล้ชิด ชื่อเสียงเกียรติยศ และสุดท้ายคือความต้องการไปสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้ซึ่งเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

คุณมาสโลว์บอกว่าคนเราจะมีความต้องการสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ก็คือเมื่อ "พอเพียง" กับลำดับขั้นนั้นแล้วก็จะขยับขึ้นไปยังลำดับขั้นต่อไป แต่คุณมาสโลว์ไม่ได้บอกผมว่าเพราะเหตุใดคนจึงไม่พอใจกับสิ่งที่ได้รับแล้ว และทำไมคนเราจึงไม่ขยับขึ้นไปสู่ระดับสุดท้ายซึ่งไปพ้นจากความต้องการทางโลก และกลับมาเรียนรู้เรื่องจิตใจของตน

ถ้าคุณมาสโลว์ยังอยู่ผมจะต้องถามเขาว่า "รวยแล้วยังโกง" "เป็นพระแล้วยังมั่วสีกา" "เป็นวัดแต่ใช้การตลาดนำ" "ผู้หญิงที่มีฐานะและการศึกษาพร้อมแต่สมัครใจจะอยู่เป็นโสด" นั้นมันจัดอยู่ตรงไหนในลำดับขั้นของทฤษฎีเรื่องแรงจูงใจของเขา

ตัวอย่างนั้นอาจจะไกลตัวไป ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเธอเป็นคนธัมมะธัมโม ชอบพิมพ์หนังสือธรรมะแจกจ่ายให้คนอื่นอยู่เสมอ แต่เมื่อผมทักเธอเรื่องครูบาอาจารย์และหลักธรรมที่เธอควรจะตอบได้ แต่เธอกลับไม่ยักตอบแถมยังเคืองหาว่าผมลบหลู่เธอ

อีกตัวอย่าง ในเฟสบุ๊กมีพระรูปหนึ่งแสดงความเห็นว่าคำถามของผมเกี่ยวกับข้อธรรมไม่สุภาพ และกล่าวเป็นเชิงว่าบุคคลซึ่งจบมาจากสถาบันอันทรงเกียรติ ไม่น่าจะกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น เช่นเดียวกันสำหรับผมท่าน "ควรจะ" มุ่งไปถึงความหลุดพ้น แต่กลับมาติดอยู่ที่มารยาททางสังคม ซึ่งเป็นเพียงลำดับที่สาม ที่สี่ของลำดับความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์เท่านั้น

ผมไม่ใคร่จะพอใจกับมาสโลว์เสียแล้ว จึงขอนำเอานั่นนี่มาตัดแปะกลายเป็นทฤษฏีกระจอกงอกง่อยของผมเอง ซึ่งอาจหาญนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของคนทั้งโลก ขอเรียกมันว่าบันได ๕ ขั้นของการวิวัฒน์จิตก็แล้วกันเพื่อให้เข้ากับชื่อคอลัมน์ ลองดูกันหน่อย ผมแบ่งลำดับขั้นเป็น ๕ ขั้นเหมือนมาสโลว์ แต่เปล่าหรอก แต่ละขั้นไม่ได้แบ่งกันอย่างเด็ดขาดเหมือนกับขั้นบันได หากค่อยเป็นค่อยไป สั่งสมไปทีละน้อย เหมือนกับการขึ้นลิฟต์ หากมนุษย์เรายังไม่วิวัฒน์ไปจนถึงขั้นสุดท้าย ระดับการตื่นรู้ก็ยังไม่สมบูรณ์ และถึงแม้จะไต่ระดับขึ้นไปที่สูงขึ้นแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะไหลลงมาสู่ระดับล่างๆ กว่าได้ตลอดเวลา เพียงแต่ความถี่บ่อยจะลดลงไป และการแสดงออกในลักษณะของขั้นที่ต่ำกว่าระดับจิตตนเองจะรุนแรงน้อยลง ในทางกลับกันก็คือเราสามารถจะแสดงคุณสมบัติของระดับจิตที่สูงกว่าได้บ้าง แต่ในลักษณะหยาบและชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

บันได้ ๕ ขั้นของจิตวิวัฒน์ ที่ผมจะนำเสนอมีดังนี้

๑. I-in-Me ระดับ จิตบำเรอตน การดำรงอยู่เป็นไปเพื่อการอยู่รอดของตัวเอง ถูกปัจจัยทั้งภายนอกและภายในลากไปให้วิ่งตามอารมณ์ที่น่าพอใจ และขจัดเสียซึ่งอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ระดับนี้มีแนวโน้มจะเชื่อโดยไม่หาเหตุผล พร้อมจะเชื่อถือโชคชะตา หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ตามที่สามารถดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดเสียซึ่งการได้พบพานสิ่งที่ไม่ปรารถนา

๒. I-in-Crowd ระดับ จิตจริยธรรม ดำรงอยู่โดยการฟังเสียงสังคม ทำในสิ่งที่ควร และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ควร โดยดูจากบรรทัดฐานของสังคมมาชี้นำ จิตยังไม่ตื่นรู้ หมายความว่าถูกลากจูงไปโดยง่าย เชื่อในสิ่งที่กลุ่มเพื่อนของตนเชื่อ หรือคนในฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับเดียวกับตนเชื่อ

๓. I-in-World จิตสากล ไปพ้นจากการชี้นำของพรรคพวกและเผ่าพันธุ์ของตน จิตแผ่ออกไปเห็นความเป็นองค์รวมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เชื่อในการพึ่งพาของธรรมชาติแต่อาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ

๔. I-in-Universe ระดับ จิตจักรวาล ขยายแผ่ออกไปอีกระดับหนึ่ง เห็นว่าชีวิตไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง แต่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลสรรพชีวิตในอนันตจักรวาล เชื่อในเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า เชื่อในหลักความดีที่เป็นสากล เชื่อในอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์

๕. I-in-Transience ไม่รู้จะสรรหาคำมาอ้างถึงได้อย่างไร จะเรียกว่าเป็นระดับ จิตสักแต่ว่าจิต ก็แล้วกัน ระดับจิตนี้ได้ศึกษาค้นคว้าทั้งได้รับการบอกกล่าวจากครูบาอาจารย์มา แล้วนำมาปฏิบัติเอง จนเห็นว่าจิตว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่มีตัวตนอะไร เป็นสภาวะธรรมหนึ่ง ที่เปลี่ยนรูปแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย

จิตระดับที่หนึ่งตกอยู่ในความ หลับใหล พวกเขาวนเวียนอยู่กับการแสวงหาความสุขทางโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของตัว แต่เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตใจ และไม่เคยฝึกจิตของตนให้มีกำลังจึงมักขุ่นข้องหมองใจอยู่เสมอ จิตระดับที่สองก็ไม่ต่างกับระดับหนึ่งมากนัก เพราะตกอยู่ในความ หลับใหลเช่นเดียวกัน จิตระดับนี้มักจะบอกว่าเขาไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น แต่ลึกๆ พวกเขาก็อยากให้คนรอบข้างหรือสังคมเป็นไปดั่งใจของเขา และขุ่นเคืองหากมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความสุขของเขาจึงฝากไว้กับปัจจัยภายนอกหรือคนรอบตัว ซึ่งแน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์คือเอาแต่ใจตัว พวกเขาจึงมักจะพบกับความผิดหวังอยู่เสมอ

จิตระดับที่สามถึงแม้ไปพ้นจากเสียงสังคมที่มีอยู่ แต่ก็ไปติดอยู่กับเสียงของความดีที่เป็นสากลอยู่ดี พวกเขาจึงกลายเป็นพวกมาตรฐานสูง การดำรงอยู่จึงเต็มไปด้วยคำตัดสินและการวิพากษ์วิจารณ์ การเปรียบเทียบและความไม่ยอมลงเอยกับตัวเอง แต่ถ้าพัฒนาแล้วก็จะกลายเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

จิตระดับที่สี่นั้นมีเมตตาธรรม หรือความรักที่ปราศจากเงื่อนไขให้กับผู้คน พวกเขาให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีศรัทธาแรงกล้าในความเชื่อทางศาสนา หรือหลักที่ใช้ดำเนินชีวิต ผมเข้าใจว่าศาสนาทุกศาสนาที่มีพระเจ้าดำเนินมาถึงจุดนี้ รูปเคารพบางอย่างเช่นพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ชาวพุทธบางนิกายนับถือเช่น ฉือจี้ ของประเทศไต้หวัน ก็เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่มีประมาณนี้ จีซัสไครซ์ แห่งนาซาเรส ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้มนุษย์โลกจำนวนมากรู้จักความรักที่ประเสริฐบริสุทธ์ยิ่ง การเข้าถึงระดับจิตนี้ได้ต้องอาศัยศรัทธาในระดับที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ เพราะจิตใจมนุษย์เปรียบเหมือนกระแสน้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ การ "ให้" ในระดับนี้สั่นสะเทือนจิตใจมนุษย์ ดูอย่าง แม่ชีเทเรซา มหาตมาคานธี ในหลวงของเรา เป็นต้น จิตระดับนี้คือ "จิตใหญ่" ที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี มักจะกล่าวถึงอยู่เสมอ

ระดับจิตสุดท้ายก้าวถึงจุดที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการทำงานของจิต และเข้าใจถึงความเป็นไปของสรรพสิ่ง จิตระดับนี้ถูกพูดถึงโดยปรัชญาเมธีในอดีตเช่นเต๋า หรือคำสอนในบางศาสนา แต่เป็นเพราะปัญญาของผมยังไม่อาจทำความเข้าใจหรือเข้าถึงจิตระดับนี้ จึงขอสงวนความเห็นเอาไว้เพราะเกรงจะผิด

ปัญหาของโลกเรานั้นจะหมดไปถ้าหากคนเข้าถึงระดับจิตลำดับที่สี่เป็นต้นไป เหตุเพราะจิตระดับนี้ไม่มีการเบียดเบียนกัน แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในระดับจิตที่หนึ่งถึงสาม ซึ่งยังเบียดเบียนกันเพราะความ หลับใหล คนบางคนเข้าใจว่าตนเองอยู่ระดับที่สี่ ที่ห้าแต่แท้จริงแล้วยังไม่ได้ข้ามมา จึงวนเวียนอยู่ในระดับที่หนึ่ง สอง สาม แถมยังเก่งในการหลอกตัวเอง บุคคลจำพวกนี้น่ากลัว และถ้าหากเกิดไปหลอกผู้อื่นด้วย ก็ยิ่งมีอันตรายมาก

ผมจะลองใช้ลำดับขั้นของจิตวิวัฒน์มาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกนี้สักสองสามตัวอย่าง เช่นช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดสึนามิ เราคนไทยแสดงออกถึงความชื่นชมคนญี่ปุ่นที่เขาไม่แตกตื่น แต่เข้าแถวรับความช่วยเหลืออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้วอดหดหู่ใจไม่ได้ แต่ก็ให้รู้ไว้เถิดว่าแท้จริงแล้วระดับจิตของเขาอาจจะอยู่ในระดับขั้นที่สอง คือถูกกำหนดโดยจริยธรรมอันดีของสังคมของเขาซึ่งให้คุณค่ากับระเบียบวินัยมากกว่าเราอักโขนัก ความดีแบบจริยธรรมจึงไม่อาจเทียบข้ามบริบท อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าจิตระดับนี้ยัง หลับใหลอยู่เมื่อถูกกระตุ้นเร้าก็ย่อมตกลงไปในระดับที่หนึ่งคือตอบสนองความต้องการของตนเองอย่างสุดโต่งได้เหมือนกัน ดังเราจะเห็นว่าสื่อในเรื่องเพศของญี่ปุ่นก็มีความรุนแรงทางเพศอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจเมื่อดูจากวัฒนธรรมอันแสนจะสุภาพของคนญี่ปุ่น

อย่างกรณีรวยแล้วยังโกงของอดีตผู้นำหลายประเทศ อธิบายได้ง่ายมากเพราะระดับจิตของเขายังไม่ข้ามไปสู่ระดับที่ ๔-๕ อาจจะติดอยู่ในระดับที่สามซึ่งยังไม่ได้พัฒนา พร้อมที่จะกลับไปสู่หนึ่งและสองได้ตลอดเวลา ดังนั้นถึงแม้ว่าจะถ้อยคำของพวกเขาดูเหมือนว่าแสดงให้เห็นถึงสภาวะจิตในระดับสากล แต่แท้จริงอาจเป็นการแอบแฝงของจิตระดับสอง คือเพื่อพวกพ้อง หรือระดับหนึ่งคือเพื่อตัวเองเท่านั้น

ส่วนจิตดูเหมือนว่าขึ้นระดับสูงแล้ว แต่ก็ยังมีที่กลับไหลกลับคืนลงสู่ระดับที่ต่ำกว่า เหตุเพราะเชื้อของจิตในระดับต่ำลงมายังไม่ถูกถอดถอน ตัวอย่างเช่น พระภิกษุสงฆ์ซึ่งตามปกติมีเมตตากรุณาน่าเคารพนับถือ ถูกดึงกลับสู่ที่ต่ำด้วยอำนาจของตัณหาและราคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ หรือเรื่องผู้หญิงก็มีให้เห็นได้ออกบ่อย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าท่านจะแอบแฝงเหมือนตัวอย่างที่แล้ว เพียงแต่ท่านเกิด "พลาดพลั้ง" ถูกลากกลับไปสู่ระดับจิตที่ต่ำกว่าแล้วเกิดสภาวะติดหล่มอยู่ตรงนั้น

ในทางกลับกันคนที่อยู่ในระดับจิตที่ต่ำกว่าอาจจะสามารถสัมผัสกับประสบการณ์

ของสภาวะของจิตในระดับที่สูงกว่าได้บางโอกาส เช่นเราสามารถรู้สึกปลื้มปีติเมื่อได้เข้าพบครูบาอาจารย์ หรือบุคคลผู้ซึ่งเราเคารพนับถือในฐานะผู้ให้อย่างแท้จริง ส่วนสาธุชนบางหมู่เหล่าเมื่อสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าของเขาก็ได้เข้าถึงประสบการณ์พิเศษบางอย่าง ซึ่งทำให้ตอกย้ำความเชื่อศรัทธาในศาสนาหรือเครื่องยึดเหนี่ยวของตนให้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นไป ประสบการณ์นี้ผู้ที่อยู่ในระดับจิตที่หนึ่งถึงสามซึ่งปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งเหนือ "ธรรมชาติ" จะไม่อาจทำความเข้าใจได้ เราจึงพบว่าเพื่อนหลายคนของผมซึ่งจบปริญญาเอกมาจากต่างประเทศ เป็นผู้ที่คิดดี พูดดี ทำดี เสียสละเพื่อสังคมซึ่งน่าจะอยู่มีระดับจิตอยู่ในลำดับที่สามคือจิตสากลแล้ว แต่กลับมีสุขภาพจิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีความขัดแย้งต่อตนเอง ต่อกลุ่มเพื่อนและสังคมตลอดเวลา การที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ละทิ้งมิติทางวิชาการดาดๆ แล้วหันเหสู่การแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณด้วยตนเอง อาจจะบอกอะไรพวกท่านเหล่านั้นได้บางอย่างกระมัง

ในโลกนี้ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงเอาไว้ด้วย คือบุคคลพิเศษจำพวกข้ามพ้นแต่ยังปะปนอยู่ในหมู่พวกเรา เนื่องจากว่าเขาได้ผ่านการล่อลวงและการทดสอบในระดับที่ต่ำกว่ามาแล้วอย่างช่ำชอง จึงเป็นบุคคลประเภทที่ "ต้องกระแส" ของการข้ามพ้นไปยังอีกฟากฝั่ง เรื่องที่ยากสำหรับเราก็คือเขาเหล่านี้อาจจะพูดและทำอะไรที่ดูเหมือนจะ "แหก" บรรทัดฐานที่ยอมรับได้ในแต่ละระดับจิต เราจึงไม่อาจจะตัดสินคำพูดหรือการกระทำของพวกเขาด้วยบรรทัดฐานของเรา เพราะพวกเขาอาจจะเป็นคนบ้า หรือหลุดโลกในสายตาของเรา ตัวอย่างในอดีตก็คือพระเซนบางรูป หรืออาจจะมีกูรูทางจิตวิญญาณบางคนที่ดูเหมือนจะหลุดโลกอย่างสุดๆ แต่ก็มีผู้ติดตามมากมาย

ที่แย่ก็คือเราไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นคือคนบ้า หรือผู้ที่หลุดพ้นแล้ว จนกว่าจิตของเราจะเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับของท่านเหล่านั้น ได้สนทนาวิสาสะด้วยยิ่งดี ในทางกลับกันไม่ใช่คนที่ออกอาการเพี้ยนๆ หรือหลุดโลกจะเป็นผู้ที่หลุดพ้นหมดทุกคน และก็ไม่จำเป็นว่าผู้ที่อยู่ในระดับจิตสูงๆ จะต้องมีอาการหลุดโลก

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกของแท้ออกจากของเทียม ถ้าท่านยังรู้ไม่ว่าอะไรแท้ อะไรเทียม

Back to Top